ทำไมไม่มีสมาธิ รายงานโดย :หนูดี-วนิษา เรซ: เคยมีใครรำคาญตัวเองไหมคะ เวลาที่ต้องฟังบรรยายหรือจดจ่อสมาธิกับงานอะไรสักอย่าง แล้วเราไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ก็ทำได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ใจลอย เดี๋ยวก็คิดนั่นคิดนี่ เดี๋ยวก็ฝันกลางวัน หรือที่แย่กว่านั้นคือ ลุกไปทำอย่างอื่นแล้วไม่กลับมาทำงานที่ควรทำอีกเลยเป็นเวลานาน คนส่วนมากมักจะเคยเป็นค่ะ เพราะนี่เป็นภาวะปกติธรรมดามากของสมอง ถ้าใครจดจ่อสมาธิได้นานๆ ต่อเนื่องไม่มีหยุดพักเลยได้เป็นสามสี่ชั่วโมงนั่นสิคะ ถึงจะถือว่าผิดปกติ เพราะธรรมชาติของสมองเรานั้น ได้ถูกสร้างมาให้จดจ่อกับข้อมูลต่างๆ ได้ก็จริง แต่ต้องเป็นเวลาไม่นานเกินไปเท่านั้นค่ะ วิธีคำนวณว่า “นานเกินไป” คือเท่าไร ก็ง่ายๆ ค่ะ สำหรับสมองของเด็กๆ ก็คือ เวลาจดจ่อเป็นนาทีเท่ากับอายุของเขา เช่น ถ้าอายุ 5 ขวบ ก็จดจ่อได้ 5 นาที ถ้า 7 ขวบ ก็ 7 นาที ส่วนผู้ใหญ่อย่างพวกเรานั้น จะนับนาทีตามอายุก็ได้ แต่เฉลี่ยแล้วจะตกอยู่ที่ประมาณไม่เกินครึ่งชั่วโมง หรือ 50 นาทีหรอกค่ะ ถ้านานเกินกว่านี้ต่อให้เรานั่งนิ่งๆ ตรงนั้นเพื่ออ่านหรือฟังข้อมูลต่อก็แทบไม่มีประโยชน์อะไร เพราะสมองของเรา “ตัดสวิตช์” ไปเรื่องอื่นเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่ข้อมูลวิจัยเรื่องความต่อเนื่องของสมาธินี้จะได้ถูกลำเลียงจากห้องวิจัยทางสมอง มาสู่โรงเรียนและสถาบันการศึกษานั้น สมัยโบราณบรรดาครูๆ ก็เคยเชื่อว่า เด็กที่นั่งฟังครูได้นาน จดจ่อกับเลกเชอร์วิชาหนึ่งได้ต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ นั้นคือนักเรียนที่ดี ตอนนี้เรารู้แล้วว่า พวกเขาคือ “นักแสดง” ที่ดีต่างหาก พอรู้แบบนี้แล้ว หนูดีรู้สึกมีความสุขมากเลยค่ะ เพราะเมื่อก่อนจะโมโหตัวเองเป็นประจำเวลาที่นั่งพิมพ์งานอยู่แล้วเริ่มรู้สึกว่าสมองตื้อ สมองล้า อยากเริ่มคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ อยากลุกไปพัก แล้วก็ต้องบอกตัวเองว่า “อย่าเพิ่ง” ทำงานให้เสร็จก่อน หรือเรียนๆ อยู่ก็เริ่มใจลอย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เริ่มหยิบกระดาษมาเขียนโน้ตหาเพื่อน ล้อเล่นกันไปมา เริ่มส่งข้อความทางโทรศัพท์แก้อาการเบื่อ หรือถือโอกาสโมเมเดินหายไปเข้าห้องน้ำเป็น 10 นาที แม้หลายครั้งจะหาข้ออ้างได้ว่า ครูสอนไม่สนุก แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ใช้กันได้บ่อยๆ การใช้สมองแบบคนใช้เป็น คือ การเริ่มต้นยอมรับก่อนว่า สมองของเราไม่ได้สมบูรณ์แบบและหลายครั้งเขายังทำงานได้ไม่ถึงใจเรา แต่ต่อให้เราบังคับเขาแค่ไหน เขาก็ทำได้แค่ที่ทำได้เท่านั้นเองค่ะ จะฝืนธรรมชาติก็ทำได้ไม่มาก และได้ผลไม่ดีเสมอไปเสียด้วย รู้แบบนี้แล้ว หนูดีก็มาปรับชีวิตในเรื่องการใช้สมาธิทั้งกับเด็กที่โรงเรียน ทั้งกับชีวิตตัวเองและคนรอบตัว ให้ลักษณะการใช้งานสมอง “ไม่หลอกตัวเอง” มากที่สุด พูดง่ายๆ ว่า เราจะไม่แอบใจลอยอีกต่อไป แต่เราสร้างเวลาล่วงหน้าสำหรับการใจลอยไว้เลย ฟังดูแล้วเหมือนเราต้องเปลี่ยนกิจกรรมบ่อยๆ ทุกๆ 15 นาที หรือครึ่งชั่วโมงใช่ไหมคะ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้นหรอกค่ะ เราไม่ถึงขนาดต้องลุกขึ้นย้ายที่หรือขยับท่าทางกันตลอดเวลา แต่สิ่งที่เราต้องทำและจำเป็นมากก็คือ การเปลี่ยนกิจกรรมในสมองของเราต่างหาก ถ้าเป็นสำหรับเด็กๆ ในห้องเรียนหรือเวลาทำการบ้าน ก็คือการใช้เขาได้หยุด แล้วเปลี่ยนกิจกรรมที่เขาทำกับความคิดของเขาค่ะ เช่น ถ้าเราขอให้เด็กประถมหนึ่งอ่านหนังสือในใจเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเงียบๆ แต่พอเวลาผ่านไปยี่สิบนาที (รับรองค่ะ ต่อให้น้องประถมหนึ่งที่เก่งที่สุดในห้อง ก็ยังต้องมีอาการ “แวบ” นิดๆ ในช่วงครึ่งชั่วโมงแน่นอน) คุณครูก็อาจจะให้หยุด แล้วหันไป “แบ่งปันความคิด” เบาๆ กับเพื่อนข้างๆ ในเรื่องที่เพิ่งอ่านไปสักสองสามนาที เสร็จแล้วก็ค่อยให้เด็กหันกลับไปอ่านต่ออีกสิบนาที เท่านี้ก็เป็นการอ่านในใจที่ได้เต็มครึ่งชั่วโมงตามที่คุณครูตั้งใจไว้ โดยแทนที่จะปล่อยให้เด็ก “ใจลอย” เองตามธรรมชาติ คุณครูก็รู้เท่าทันธรรมชาตินั้นแล้ววางแผนรับมือล่วงหน้าไว้เลย หนูดีชอบคุยกับครูว่า วางแผนสอนเด็กก็เหมือนวางแผนปล้นแบงก์นะคะ ต้องมีแผนหนึ่ง แผนสอง แผนสาม แถมยังต้องคิดล่วงหน้าเผื่อไว้ก่อนเลยว่าจะเกิดความผิดพลาดได้ตรงไหน เพราะอะไรที่พลาดได้ จะต้องพลาดแน่ๆ ค่ะ และยังจะพลาดตรงที่เราคิดไม่ถึงอีกด้วย ความเป็นครูและเป็นพ่อแม่นี่ถือเป็นอาชีพที่ตื่นเต้นเร้าใจจริงๆ และสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ทำงานออฟฟิศและการพักเบรกไม่ได้มีเป็นเวลาที่ชัดเจนขนาดนั้น ยกเว้นเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันยิ่งต้องดูแลตัวเองเรื่องนี้ใหญ่เลยค่ะ เพราะจะไม่มีใครทำให้เราได้นอกจากเราทำให้ตัวเอง วิธีหนึ่งที่ได้ผลก็คือ ทุกๆ 20 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง ให้จัดเวลาเบรกเล็กๆ อาจจะหันจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปดูสวน หันไปจิบน้ำ พักสมอง เดินไปเข้าห้องน้ำ รับประทานขนม รับประทานผลไม้ และถ้าเป็นเบรกใหญ่คือ ช่วง 50 นาที ให้ลุกเดินออกจากจุดที่นั่งทำงานอยู่เลยค่ะ หายไปเลยสักสิบหรือสิบห้านาทีแล้วค่อยกลับมาใหม่ แล้วคราวนี้ลองสังเกตตัวเองค่ะ เรามักจะกลับมาพร้อมพลังงานที่สูงขึ้นอีกมากมาย เรื่องการ “ไม่มีสมาธิ” ในเวลาที่เราควรมีสมาธิที่สุดนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดามากของสมอง และเราไม่จำเป็นต้องรำคาญอาการเหล่านี้ ถ้าหากเรารู้วิธีแก้ และเตรียมตัวรับมือก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดได้ เพราะรับรองได้เลยค่ะว่า วันๆ หนึ่งนั้น สมองของเราเดินทางท่องเที่ยวไปในเรื่องต่างๆ เยอะมาก...มากกว่าที่เราต้องการไม่รู้กี่เท่า ดังนั้นรู้ตัวล่วงหน้า และวางแผนรับมือไว้ก่อน ก็จะใช้สมองได้คุ้มค่าตลอดทั้งวันค่ะ เหนื่อยนักก็พักบ้างนะคะ |