การดูแลเครื่องทอง การดูแลเครื่องทอง ในบรรดาสิ่งต่อไปนี้ คุณคิดว่าอะไรถูกขูดขีดง่ายที่สุด กระจก เปลือกหอย ทองบริสุทธิ์ เงินบริสุทธิ์ คำตอบก็คือ ทองบริสุทธิ์ กระจกมีความแข็งแรงมากกว่าทองบริสุทธิ์ประมาณ 100 เท่า เปลือกหอยแข็งกว่าทองประมาณ 3-4 เท่า เงินบริสุทธิ์แข็งกว่าทองเล็กน้อย เวลาเก็บเครื่องประดับที่ทำด้วยทอง ควรหุ้มด้วยผ้านิ่ม ๆ หรือสำลี ห่อแยกแต่ละชิ้น อย่านำมากองรวม ๆ กัน ยิ่งทองกระรัตสูงยิ่งถูกขูดขีดได้ง่าย การทำความสะอาด ตัวเรือนที่ทำด้วยทองอย่าใช้แปรงขัด เพราะขนแปรงจะขูดขีดหน้าทองเปอร์เซ็นต์สูงได้ ให้ใช้ผ้านุ่ม ๆ เช็ดฝุ่นละอองออก วิธีที่ดีที่สุดคือ แช่ลงในน้ำอุ่นที่ผสมน้ำยาซักล้างอย่างอ่อน อย่านำไปต้มเป็นอันขาด เพราะหากมีพลอยอยู่ด้วยอาจทำให้พลอยร้าว หรือกรณีพลอยย้อมสีอาจทำให้พลอยซีดจางได้ บางคนใช้น้ำยาแอมโมเนียซึ่งไม่ทำอันตรายต่อทอง แต่ต้องระวังเพราะแอมโมเนียจะทำลายผิวของไข่มุก หากเครื่องประดับของคุณมีมุกอยู่ด้วยห้ามใช้แอมโมเนีย อย่าใช้ยาสีฟันทำความสะอาดทอง เพราะในยาสีฟันมีผงขัดซึ่งค่อนข้างแข็ง จะขูดผิวทองและพลอยเนื้ออ่อนได้ นอกจากนี้สารเคมีหลายชนิดอาจทำให้เครื่องประดับนั้นสึกกร่อนหรือเปลี่ยนสี สารเคมีที่เราต้องระวังได้แก่ 1. คลอรีน เป็นสารมีฤทธิ์กัดกร่อนค่อนข้างสูง อาจละลายผิวของโลหะ หรือทำให้เขี้ยว (หนามเตย) ที่เกาะเกี่ยวพลอยคลายออก หรือบริเวณตัวเรือนหักหรือแหว่ง อย่าใส่เครื่องประดับทำด้วยทองลงว่ายน้ำในสระน้ำ หรืออ่างน้ำวนแบบจาคูซซี่ อย่าจุ่มเครื่องประดับที่มีน้ำยาฟอกสี เช่น น้ำยาไฮโปซึ่งใช้กับเครื่องซักผ้า 2. โลชั่นและเครื่องสำอาง ทำให้เกิดชั้นไขมันคลุมผิวหน้าของเครื่องประดับทำด้วยทอง ความแวววาวของทองจะลดลง ยิ่งกระรัตต่ำจะเห็นได้ชัด เวลาแต่งตัวให้แต่งหน้าฉีดสเปรย์ผมเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงสวมเครื่องประดับทีหลังสุด 3. น้ำยาดัดผม ทำให้ทอง 10 K หรือบริเวณรอยเชื่อมของตัวเรือนที่บัดกรีโดยใช้ทองเกรดต่ำ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ 4. ยาบางชนิด อาจซึมออกมากับเหงื่อเวลาสวมเครื่องประดับทำจากทองเปอร์เซ็นต่ำ จะทำให้เกิดสีดำบนผิวหนัง ข้อควรปฏิบัติเมื่อคุณเป็นเจ้าของเครื่องทอง 1. อย่า สวมเครื่องประดับทำด้วยทองเวลาเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะกับผู้อื่น หรือทำงานหนัก เช่น ทำสวน ซ่อมอุปกรณ์ กิจกรรมเหล่านี้อาจทำให้ตัวเรือนและพลอยเสียหายได้ 2. อย่า ถอดเครื่องประดับออกเวลาเข้าห้องน้ำล้างมือ หากถอดวางไว้ใกล้อ่างล้างมือ ต้องแน่ใจว่าคุณปิดจุกตรงท่อระบายน้ำแล้ว หรือวางของไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด 3. ทำ ความสะอาดเครื่องประดับอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้น้ำยาอ่อน ๆ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาแรง ๆ เพื่อทำลายสิ่งสกปรกที่หมักหมมอยู่บนเครื่องประดับของคุณมาเป็นเวลานาน 4. นาน ๆ ครั้ง ให้สำรวจว่าพลอยของคุณยึดกับตัวเรือนแน่นหนาดีหรือไม่ นำมาเขย่าใกล้ ๆ หู หากได้ยินเสียงขลุกขลักเหมือนมีอะไรกระทบกัน ให้นำไปให้ช่างซ่อมแซมทันที 5. อย่าให้เครื่อง ประดับของคุณที่อยู่ในที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกระทันหัน เช่น สวมเครื่องประดับเข้าห้องอบไอน้ำ หรือแช่น้ำร้อนในอ่างจาคูซซี่ แล้วออกมาอาบน้ำเย็นในทันทีอาจทำให้พลอย หรือตัวเรือนแตกร้าวได้ 6. ถ่ายรูปเครื่องประดับของคุณตลอดจนรายละเอียดของเครื่องประดับชิ้นนั้น ๆ เอาไว้ เวลาหายหรือถูกขโมย จะติดตามกลับคืนได้ง่ายขึ้น 7. นำเครื่องประดับของคุณไปเช็คกับช่างเจ้าประจำที่ไว้ใจได้ อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ดูแลกันอย่างนี้แล้ว รับรองเครื่องทองของคุณจะสวยไปตลอดกาล |