ศาสตร์ในการอ่านใจคน ด้วยหลักจริต 6
คำว่า "จริต" ในที่นี้หมายถึงสภาวะจิตของคนตามธรรมชาติ
จากการแบ่งจริตมนุษย์เป็น ๖ ประเภทใหญ่ๆ เรามาดูกันว่าคุณติดในจริตแบบไหนบ้าง
แนวคิดเกี่ยวกับประเภทของจริตมนุษย์ในหนังสือเล่มนี้มีรากฐานมาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งผู้ประพันธ์เชื่อกันว่าเป็นพระอรหันต์ชาวลังกา ในคัมภีร์ดังกล่าวได้อธิบายถึงสภาวะจิตหรือนิสัยมนุษย์ว่ามีอยู่ด้วยกัน ๖ ประเภท ได้แก่
1.ราคะจริต คือสภาวะจิตที่หลงติดในรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัสจนเป็นอารมณ์
2.โทสะจริต หรือสภาวะจิตที่โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย เพียงพูดผิดสักคำ ได้เห็นดีกัน
3.โมหะจริต หรือจิตที่มักอยู่ในสภาพง่วงเหงาหาวนอนหรือซึมเศร้าเป็นอาจิณ
4.วิตกจริต หรือสภาวะจิตที่กังวล สับสนและวุ่นวายฟุ้งซ่านแทบทุกลมหายใจ
5.ศรัทธาจริต คือสภาวะจิตที่มีปรัชญาหรือหลักการของตัวเองและพยายามผลักดันให้ตัวเองและผู้อื่นบรรลุถึงจุดหมายนั้น
6.พุทธิจริต คือสภาวะจิตที่เน้นการใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง คิดหาเหตุหาผลมาแก้ปัญหาต่างๆในชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน รวมทั้ง มีความสนใจ เรื่องการยกระดับและพัฒนาจิตวิญญาณ
1. ราคะจริต
กิริยาท่าทางมีจริตจะก้าน สุภาพ พูดจานุ่มนวลไพเราะ หน้าตาดีสะอาดสะอ้าน จิตใจเมตตากรุณา ขี้สงสาร รู้จักกาละเทศะ สนใจเรื่องรูปรส กลิ่นเสียงสัมผัส หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ชอบเรื่องหนักๆ หรือการปะทะ ทะเลาะเบาะแว้ง แต่งตัวเนี้ยบมีรสนิยม ชอบของแบรนด์เนม ไปที่ไหนคนชอบคนรัก มีปฏิภาณไหวพริบ หัวไวเข้าใจสิ่งต่างๆ
ได้โดยง่าย เก็บข้อมูลเก่ง ในกรณีที่พบคนที่ถูกใจดวงตาจะหวานหยาดเยิ้มกิริยาเปลี่ยนแปลงไปในทันที และเนื่องจากมีความอ่อนไหว เจ้าอารมณ์ ชอบปรุงแต่ง เปรียบเทียบจึงทำให้เป็นคนที่อิจฉาริษยา ชอบนินทา ชิงดีชิงเด่น โกหกเก่ง เจ้าชู้ เจ้าคารม แต่ปากกับใจไม่ค่อยตรงกัน สติแรงแต่สมาธิต่ำ มีความยึดมั่นถือมั่นสูง บางครั้งจึงไม่ค่อยมีคุณธรรมหรือหลักการอะไรมากนัก
จุดแข็งคือ มีเสน่ห์ พูดจาเข้าสังคมเก่ง ไกล่เกลี่ยการทะเลาะวิวาทได้อย่างรวดเร็วจึงเหมาะที่จะทำงานในส่วนของการต้อนรับ การนำเสนอผลงาน หรือการประสานงาน การพูดจากับลูกน้องราคะจริตจะต้องพูดดีๆ นุ่มนวล และชื่นชมเป็นระยะๆ ราคะจริตสามารถปรับปรุงพัฒนาตัวเองโดยการศึกษาเพิ่มเติมเรื่องหลักการคุณธรรมเพิ่มเติม
หัดจริงจังกับชีวิตไม่ควรล่องลอยไปวันๆ ในกรณีที่อกหักให้มองโลกในแง่ดีว่าสวรรค์อาจจะกำลังช่วยให้เราเจอคนที่ดีกว่าก็ได้ และให้มองตามความเป็นจริงว่าสิ่งไหนเป็นของเราก็เป็นของเราสิ่งไหนไม่ใช่ก็ไม่ใช่
2. โทสะจริต
หน้าตาดุดัน บึ้งตึง จริงจัง มักไม่สวยไม่หล่อ จุดเดือดต่ำ โกรธง่าย มีสมาธิแรง เสียงดังฟังชัด หากมีสิ่งใดไม่พอใจจะตำหนิติเตียนทันทีโดยไม่มีการไว้หน้า มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์ รักษาคำพูด มีระเบียบวินัย ไม่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ใจร้อนอยากให้งานเสร็จเร็วๆ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ ใจกว้าง จริงใจ และเนื่องจากมีสมาธิจึงสามารถขบคิดอะไรได้ค่อนข้างลุ่มลึก
อย่างไรก็ตาม โทสะจริตจะมีอัตตาตัวตนสูง ชอบชี้ถูกชี้ผิด อารมณ์รุนแรง ย้ำคิดย้ำทำ อาฆาตพยาบาท และมักจะเผลอดูถูกผู้อื่นอยู่บ่อยครั้งโดยไม่รู้ตัวเพราะคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลจึงทำให้มีปัญหาทะเลาะแว้งกับผู้อื่นอยู่เป็นประจำ มีโรคภัยไข้เจ็บเพราะเคร่งเครียดอยู่เสมอ มีศัตรูรอบด้านเพราะชอบพูดจาเชือดเฉือนจิตใจคนอื่นจนเป็นนิสัย
ผู้ที่เป็นโทสะจริตสามารถปรับปรุงตัวเองได้โดยการเจริญเมตตาเพื่อตนเองจะได้รู้จักปล่อยวาง ให้อภัย ให้รู้จักสงสารคนอื่นบ้าง และให้รู้จักรักตัวเองด้วย อย่าจริงจังมากนักกับชีวิตเพราะร่างกายจะเจ็บป่วย เงินทองชื่อเสียงลาภยศตายไปก็เอาไปไม่ได้ และให้พิจารณาโทษของความโกรธ โทษของโรคภัยไข้เจ็บ และโทษของการมีศัตรูรายล้อมอยู่รอบตัว
แต่ถ้าเรามีลูกน้องเป็นโทสะจริตเราต้องพูดจากับเขาดีๆ ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชมากนักเพราะเขามีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้ว และถ้ามีหัวหน้าเป็นโทสะจริตเราควรจะเน้นที่การทำงานเป็นหลักไม่ต้องสนใจกิริยาวาจาของหัวหน้า เตรียมงานไปดีๆ ไม่ต้องพูดมากเพราะเขาจะรำคาญ
ในกรณีที่มีลูกค้าเป็นโทสะจริตเราจะต้องตรงไปตรงมาไม่หลอกลวง และถ้าเราซื้อใจโทสะจริตได้เราจะได้การรับการบอกต่อไปสู่เพื่อนพ้องและญาติมิตรของเขาอย่างแน่นอนเพราะเขาเป็นคนกตัญญูรู้คุณคนเมื่อได้รับสิ่งดีก็คิดอยากจะตอบแทนคืน
3. โมหะจริต
เป็นคนดี ไม่ทำร้ายใคร ชอบลงมือปฏิบัติ ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายงานโดยไม่ปริปากบ่น ไม่ปรุงแต่ง อดทน แต่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง เงียบๆ เศร้าๆ ซึมๆ หน้าหนักๆ มีความเบื่อหน่ายเป็นอาจิณ ค่อนข้างหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พูดช้าๆ ตอบสนองช้า ไม่ชอบคิด ชอบอยู่กับความหลังครั้งเก่าๆ ชอบอยู่ที่มืดๆ ทึมๆ รู้สึกว่าตนเองโดนโลกเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ทำอะไรก็ไม่ค่อยเจริญ
โมหะจริตสามารถพัฒนาตัวเองโดยการเจริญมรณานุสติให้พิจารณาว่า หากจะต้องมีชีวิตอีกไม่นาน เราอยากทำอะไรจริงๆ อยากเป็นอะไรจริงๆ เราพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้แล้วหรือ และให้หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อ่านหนังสือใฝ่หาความรู้
หัดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คบเพื่อนใหม่ๆ ไปในที่ใหม่ๆ ลูกน้องประเภทนี้เหมาะกับการทำงานประจำซึ่งไม่ต้องพบปะผู้คนมากนัก และในการสั่งงานเราต้องบอกอย่างชัดเจนไปเลยว่าเขาควรทำอะไรบ้างอย่างไร และต้องให้ระยะเวลานานหน่อยเพราะทำงานค่อนข้างช้า
ในทางกลับกัน ถ้าเรามีหัวหน้าเป็นโมหะจริตเราก็จะทำงานสบาย ไม่ค่อยมีแรงกดดัน แต่เราก็จะไม่ค่อยเจริญก้าวหน้าเท่าใดนักเพราะหัวหน้าประเภทนี้สอนงานไม่ค่อยเป็น
4. วิตกจริต
พูดจาน้ำไหลไฟดับ พูดจาไร้สาระ กังวลและว้าวุ่นใจตลอดเวลา คิดไม่หยุด หน้าไม่มีรอยยิ้ม พูดเก่ง ซึ่งแรกๆ จะฟังดูดีแต่ภายหลังจะพบว่าไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะโกหกเก่งและชอบเปลี่ยนแปลงจุดยืน จับผิดเก่ง มองโลกในแง่ร้าย ไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตนมี ดูถูกดูแคลนคน หน้าไหว้หลังหลอก จิตใจไม่เคยสงบ ชอบใฝ่หาความรู้เพื่อไปใช้ข่มคนอื่น มีสิ่งที่อยากจะทำเต็มไปหมดแต่ไม่เคยได้ลงมือทำสักที หรือไม่ก็ทำแล้วแต่ก็ไม่เสร็จสักอันเพราะจับจด ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ฟุ้งซ่าน จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังไม่ค่อยเป็น
ฉะนั้น เราจึงพบเห็นอยู่บ่อยครั้งว่าวิตกจริตที่แม้จะขยันขันแข็งแต่งานที่ออกมักจะผิดประเด็น ทำให้พวกเขาต้องทำงานหนักเกินความจำเป็นอยู่เสมอ ทำให้สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงเช่น เป็นไมเกรน โรคทางเดินหายใจ โรคปวดข้อ โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น
ข้อดีคือมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีแรงอึดสูง มีความกระตือรือร้น และหากเราจะนำเสนอโครงการอะไร เราจะต้องรู้จุดอ่อนของโครงการทั้งหมดก่อน วิตกจริตซึ่งเป็นนักจับผิดตัวยงเขาจะบอกเราได้ในจุดนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิตกจริตค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายจึงมักทำให้ที่ประชุมป่วนอยู่เสมอ
วิธีการทำให้วิตกจริตหยุดพูดคือถามว่าประเด็นอยู่ตรงไหนและทางแก้คืออะไร เขาจะหยุดพูดเอง ลูกค้าวิตกจริตมักจะไม่ค่อยซื่อสัตย์และมักจะเปลี่ยนใจไปซื้อสินค้าของที่อื่นหากมีผลประโยชน์ตอบแทนที่ดีกว่า
หากมีลูกน้องประเภทนี้ต้องระวังเพราะไม่ค่อยน่าไว้วางใจ จึงไม่ควรสอนอะไรมากนักเพราะเขาจะทำได้ทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์หรือสิ่งที่เขาต้องการ
หากมีเจ้านายประเภทนี้ก็ยากที่จะเจริญและอาจจะโดนหักหลังอีกด้วย วิตกจริตสามารถปรับปรุงแก้ไขตนเองโดยการฝึกความสงบในจิตใจด้วยวิธีอานาปาณสติฝึกลมหายใจ หัดอ่านหนังสือธรรมะ และรักษาศีล พูดดีทำดีคิดดี ฝึกลดละวางความชั่วร้ายในจิตใจ พิจารณาโทษแห่งความฟุ้งซ่านและโทษแห่งความเครียดที่ทำให้มีสุขภาพร่างกายที่เสื่อมโทรม
5. ศรัทธาจริต
นักทำกิจกรรม มีอุดมการณ์ พูดจามีพลัง โน้มน้าวจิตใจคนเก่ง มีความเชื่อและอารมณ์รุนแรงซึ่งบ่อยครั้งก็อยู่เหนือเหตุผล มีความยึดมั่นถือมั่นในความคิด ความเชื่อ หรือตัวบุคคล เชื่อคนง่าย ถูกหลอกง่ายเพราะไม่ค่อยชอบคิด ใครก็ตามที่มีความคิดแตกต่างไปจากตนหรือสิ่งที่ตนเชื่อคนนั้นจะเป็นศัตรูทันที วิธีแก้ไขปรับปรุงคือ รับฟังแต่ห้ามเชื่อ หัดคิดพิจารณาและหัดมองโลกหลายๆ ด้าน อย่าคิดว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิมตลอดไป และใช้หลักกาลามสูตรคือ
1) ห้ามเชื่อเพราะตามกันมาเช่น ข่าวลือ ข่าวโคมลอย
2) ห้ามเชื่อเพราะเป็นศาสดา
3) ห้ามเชื่อเพราะฟังดูแล้วมีเหตุมีผล และ
4) ห้ามเชื่อเพราะเหมือนที่เราคิดไว้เลยเพราะเราอาจจะคิดผิดก็ได้
ถ้ามีหัวหน้าประเภทนี้ก็ให้ยอมรับแต่ไม่ได้ให้เสแสร้งเป็นพวกเดียวกันแต่ให้พูดในแง่ที่ว่าเราเข้าใจและยอมรับได้ในสิ่งที่เขาเชื่อหรือในสิ่งที่เขาเป็น ถ้ามีลูกน้องศรัทธาจริตเราก็ควรพูดในสิ่งที่เขาศรัทธาเพื่อให้เขารู้สึกว่าเราเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งของเขาเพื่อที่ว่าเราจะได้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น
6. พุทธิจริต
คนที่มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม มีความสามารถ มีสติสมาธิสูง มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรมค่อนข้างสูง สั่งสอนได้ มีจิตใจเปิดกว้าง ชอบพัฒนาตนเอง แต่บางครั้งก็ไม่ค่อยได้นำสิ่งที่ตนเองศึกษามาปฏิบัติตามเท่าใดนัก จึงทำให้เอาตัวเองไม่รอดในบางครั้งหรือไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากเท่าที่ควร
หากมีลูกน้องเป็นพุทธิจริตเราต้องใช้เหตุผลในการอธิบาย มีความตรงไปตรงมา และหัวหน้าจะต้องเปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช้อำนาจเข้าบังคับเพื่อให้เขายอมรับเพราะเขาจะรับไม่ได้และลาออกไปในที่สุด หากได้ทำงานกับหัวหน้าพุทธิจริตจะโชคดีมากเพราะท่านจะชอบที่จะสอนงานและมีความสามารถสูง
7. วิธีการสั่งสอนลูกตามจริตต่างๆ
หลักการสอนที่พ่อแม่ควรจะมีเพื่อใช้ในการสั่งสอนบุตรธิดาคือ
1) ชี้โทษคือการชี้ให้เห็นโทษของนิสัยที่ไม่ดีของจริตที่ลูกเป็น
2) ชี้แนะคือการแนะนำวิธีการออกมาจากวังวนของนิสัยไม่ดีนั้นๆ และ
3) ชี้ให้เห็นคือการพูดจาโน้มน้าวให้ลูกเห็นความสำคัญ และอยากจะปฏิบัติตาม วิธีการดังกล่าว มีดังนี้
กรณีที่ลูกเป็นราคะจริต- พยายามสอนให้มองตามความเป็นจริงมากกว่าทำตามความอยากมีอยากเป็นอยากได้หรือทำตามกระแสสังคมไปวันหนึ่งๆ สอนให้ลูกรู้จักคิด และสอนให้ลูกสวดมนต์ทำสมาธิ เวลาพูดจากับลูกราคะจริตต้องพูดดีๆ ใจเย็นๆ อย่าตวาด อย่ารำคาญ หรือพูดเสียงดัง สอนให้มีจุดยืนและคุณธรรม อย่าเจ้าชู้หลอกลวงคน
กรณีที่ลูกเป็นโทสะจริต- พูดจาใจเย็นๆ ค่อยๆ พูด ห้ามอารมณ์เสีย ใช้ความคิดที่ถูกต้องและชัดเจนเข้าสั่งสอน ในขณะที่สอนให้คิดว่าลูกเป็นเพื่อนจะได้ไม่กดข่มลูกซึ่งเขาจะไม่ยอมรับฟัง สอนให้ลูกพูดจาสุภาพเรียบร้อย มีความเมตตา และสอนให้รู้จักการให้ สอนให้ลูกเห็นถึงโทษของการถูกคนรุมเกลียด สอนให้ลูกเลิกบังคับโลก และหมั่นพูดดีทำดีคิดดี
กรณีที่ลูกเป็นโมหะจริต- ให้ลูกไปเล่นกีฬา ออกกำลังกาย สอนให้มีเป้าหมายในชีวิต พาไปเปิดหูเปิดตา ให้สวดมนต์เพื่อเพิ่มพลังสมาธิ อย่าให้กินแป้งมากนัก ให้อยู่ในที่สว่างๆ ให้ความรักและกำลังใจเพราะเขาไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง
กรณีที่ลูกเป็นวิตกจริต- ให้ลูกฝึกสมาธิด้วยวิธีจับลมหายใจ สอนให้ลูกมีสติ รู้ว่าทำอะไร กำลังพูดอะไร พูดไปทำไม จะเกิดผลอะไร อย่าโกหก อย่าพูดมาก สอนให้ลูกมีความสุภาพเรียบร้อย ให้ลูกอ่านหนังสือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมความดี หรืออาจจะให้ไปเรียนดนตรีหรือศิลปะเพื่อพัฒนาสมองด้านขวา
กรณีที่ลูกเป็นศรัทธาจริต- ต้องสอนว่าอย่าเชื่อใคร มิฉะนั้น จะเสียใจในภายหลัง ให้หัดมองโลกหลายๆ ด้าน เปิดใจรับฟังแต่อย่าเพิ่งเชื่อ หรืออาจจะให้ลูกศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปเลยก็ได้เพราะถ้าห้ามให้เชื่อไม่ได้ก็ต้องใส่ความเชื่อที่ถูกต้องเข้าไปแทน
กรณีที่ลูกเป็นพุทธิจริต- มักเป็นเด็กดีแต่รับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ค่อยได้ ก็ต้องสอนลูกให้รับได้กับความสมหวังผิดหวัง มีได้มีเสีย มีสุขมีทุกข์ และมีสรรเสริญก็มีนินทา
วิธีการอ่านและวิเคราะห์จิตใจคน
ในสังคมปัจจุบันไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะภาพใดหรือประกอบอาชีพใด ต่างต้องมีการติดต่อสื่อสารพบปะพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเพิ่มความสัมพันธ์กับผู้อื่นให้ดียิ่งขึ้น และหัวใจที่ทำให้เราประสบความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงาน ,ในด้านครอบครัว เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ก็คือ " การรู้เท่าทันความคิดของผู้อื่น "
การรู้เท่าทันผู้อื่น เพื่อเราจะได้ปรับพฤติกรรมของเราให้เข้ากับ พ่อ แม่ หรือสมาชิกในครอบครัว, เพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้ง
ตามที่เคยนำเสนอ ศาสตร์ในการอ่านใจคน ด้วยหลักจริต 6 ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เรารู้แนวโน้มพฤติกรรมของผู้อื่นอย่างกว้าง ๆ และเพื่อให้เราเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น Dr.Dimitrius ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการคัดเลือกคณะลูกขุนเข้าร่วมพิจารณาคดีดัง ๆ มากมาย ในสหรัฐอเมริกา ได้เสนอหลักในการอ่านความคิด,แรงจูงใจและพฤติกรรมของผู้อื่น ณ จุดเวลานั้น เช่น อ่านคนจากน้ำเสียง, จากวิธีการพูดจา เป็นต้น
แต่การอ่านความคิดมนุษย์เป็นเรื่องที่ละเอียดสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีกรอบความคิดที่ชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสน เพราะเบื้องหลังพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์แสดงออกมาย่อมเกิดจาก แรงกระตุ้น ที่ต่างกันไป
ดังนั้น เพื่อง่ายต่อการปรับประยุกต์ใช้ Dr. Dimitrius จึงให้หลักเกณฑ์พื้นฐาน 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1. มองหารูปแบบของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ
พฤติกรรมซ้ำ ๆ หมายถึง รูปแบบการกระทำที่ใช้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกหรือสถานการณ์เกิดขึ้นเป็นประจำจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิสัย เช่น เป็นคนกระตือรือร้น หรือเฉื่อยชา, เป็นคนชอบท่องเที่ยวหรือชอบอยู่เฉย ๆ เป็นต้น
ดังนั้น เราไม่ควรสรุปผู้อื่นจาก
- พฤติกรรมในครั้งแรกที่รู้จักกัน ( First Impression )
- พฤติกรรมในทาง Negative ที่นาน ๆ เกิดครั้งหนึ่ง
2. หาพฤติกรรมที่เป็นนิสัยของเขาจริง ๆ ( เกิดขึ้นตามธรรมชาติ )
ตามหลักพื้นฐาน พฤติกรรมของมนุษย์สามารถ แยกได้ 2 ประเภท คือ
1. พฤติกรรมที่สร้างขึ้น อาจจะเพื่อบทบาทหน้าที่การงานในสังคม หรือ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเอง เป็นต้น
2. พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คือ พฤติกรรมที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็น " นิสัย " อาจมีสาเหตุจากการเลี้ยงดู หรือถูกหล่อหลอมจากสภาพสังคม เป็นต้น
คำถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพฤติกรรมที่คน ๆ นั้นแสดงเป็นของจริงหรือสร้างขึ้น ?
สังเกตจาก " ระดับความเข้มข้นของพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน " ปกติคนเราอาจมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปบ้าง แต่จะไม่ต่างจากลักษณะนิสัยเดิม ๆ มากนัก
แต่ถ้าเบี่ยงเบนแบบสุดกู่ แสดงว่าเป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่ถูกสร้างขึ้น เมื่อแยกได้แล้ว ไม่ต้องสนใจพฤติกรรมที่สร้างขึ้น ให้คอยสังเกต " จุดเปลี่ยน " เพื่อที่เราจะได้เลือกพฤติกรรมที่จะแสดงออกได้อย่างเหมาะสม
3. ต้องสรุปให้ได้ว่าบุคคลผู้นั้น " คบได้ " หรือ " ไม่น่าคบ "
- ลักษณะของคนที่น่าคบ มีนิสัยที่จัดอยู่ในประเภท " คนเมตตาผู้อื่น " คือ ใจกว้าง, ยุติธรรม, ดูจริงใจ, พร้อมที่จะให้อภัยผู้อื่น เป็นต้น
- ลักษณะของคนที่ไม่น่าคบ หรือคบได้แต่ต้องระวัง คือ พวกที่ทำอะไรหวังผลประโยชน์เพื่อตัวเองฝ่ายเดียว, มีความอาฆาตต้องการลงโทษผู้อื่น เป็นต้น
ข้อสังเกต : คน ๆ หนึ่งจะเป็นได้เพียงหนึ่งลักษณะเท่านั้น คือ เมตตา หรือ ไม่เมตตา
4. มองหาจุดแตกต่าง
ต้องแยกให้ออกว่า การกระทำหรือบุคลิกลักษณะภายนอกอะไรบ้างที่ขัดแย้งกับภาพรวมทั้งหมดของคน ๆ นั้น เพราะภายใต้ความแตกต่างนั้น ย่อมมีเหตุสำคัญบางประการ และถ้าเราค้นพบที่มาของความแตกต่างนั้นได้ จะทำให้เรารู้จักคน ๆ นั้นได้อย่างลึกซึ้งและถูกต้องตามความจริง
สรุป : การที่เราจะอ่านความคิดผู้อื่นได้ถูกต้องตามสถานการณ์ หรือ ณ เวลานั้น ๆ
เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า อะไรคือพฤติกรรมซ้ำซากแท้จริงที่ถูกหล่อหลอมจน กลายเป็น " นิสัย " ของเขา
เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถอ่านความคิดของผู้อื่นได้จากรายละเอียดดังต่อไปนี้
การอ่านคนจากน้ำเสียง และการพูดจา
1. ระดับความดังของเสียง
1.1 คนเสียงดังผิดปกติ แต่มีรูปร่างเล็ก
- ชอบใช้อิทธิพล หรืออำนาจไปควบคุมผู้อื่น
- ขาดความอดทน หรือ
- เป็นผู้ที่มีความมั่นใจสูง
1.2 เสียงเบา และมีโทนเสียงต่ำ
- เป็นผู้ที่มีความสงบภายใน
- มั่นใจในตัวเอง
ข้อสังเกต : จุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
1. จากปกติพูดเสียงเบา >>> พูดเสียงดังผิดปกติ
- มีแนวโน้มว่าช่วงนั้นอาจตื่นเต้น
2. จากปกติพูดเสียงดัง >>> พูดเสียงเบาผิดปกติ
- มีแนวโน้มว่าอาจมีปัญหาในชีวิต มีความทุกข์ทางกายหรือทางใจ
2. จังหวะของเสียง
1.1 พูดเร็วมาก ๆ แบ่งได้ 2 ขั้ว
- เป็นคนใจร้อน, มุ่งมั่น หรือ
- Self-esteem ต่ำ จะพูดเร็วแต่ไม่ชัดถ้อยชัดคำ หรือพูดติดอ่างเพราะตั้งใจให้คนฟังไม่ทัน
1.2 พูดช้ามาก ๆ แบ่งตามรูปร่าง
- ถ้าเป็นผู้ที่มีรูปร่างไม่เล็ก : อาจป่วย หรือ เป็นคนที่ Negative มากจนเกิดอาการอ่อนเพลีย
- ถ้าเป็นผู้ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ : ชอบดูถูกผู้อื่น คิดว่าตัวเองเก่งกว่า และมักมีสายตาเหยียดผู้ฟัง
ข้อสังเกต : จุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
- จากปกติพูดช้า >>> พูดเร็ว : กำลังโกรธ หรือกำลังโกหก
- จากปกติพูดเร็ว >>> พูดช้า : กำลังคิดหาคำพูดที่จะสื่อความให้เราเข้าใจเร็วขึ้น
3. พูดจาติด ๆ ขัด ๆ
แนวโน้มลักษณะนิสัย แบ่งได้ 2 ขั้ว
- ไม่จริงใจ พยายามหาเหตุผลต่าง ๆ เพื่อพูดเข้าข้างตัวเอง
- จริงใจ สรรหาคำพูดเพื่อให้คนฟังเข้าใจ
ข้อสังเกต : ให้สังเกตจากร่างกาย
- ท่าทาง ไม่นิ่ง ขาแกว่งไปมา ไม่สงบ ตัวสั่น >>> ไม่จริงใจ
- ท่าทางสงบ สายตานิ่งสงบ >>> จริงใจ
4. น้ำเสียงที่มีการดัด หรือไม่เป็นธรรมชาติ
แนวโน้มลักษณะนิสัย ต้องการแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ
มีปัญญา ความสามารถสูงกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งความจริงไม่ใช่
5. น้ำเสียงออดอ้อน แนวโน้มลักษณะนิสัย มี 2 ขั้ว
- เป็นผู้ที่น่าคบ ชอบเป็นผู้ตาม
- คนที่ชอบใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อให้ผู้อื่นทำตาม แต่ไม่อยากให้ผู้อื่นรู้ว่าถูกหลอกใช้
อ่านคนจากลักษณะการพูดจา
1. วิธีการตอบคำถาม
- นิ่ง : ผู้ที่ถูกกล่าวหาแล้วนิ่งให้สงสัยไว้ก่อนว่า มีส่วนในความผิดนั้นจริง
- พูดยืดยาว : แสดงว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่รู้เรื่องนั้น
2. พูดจาหยาบคาย หรือชอบสาบานตลอดเวลา
- เป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ หรือตื่นเต้นตกใจง่าย
- จิตใจโหดร้าย, ชอบข่มขู่ผู้อื่น
3. เปลี่ยนเรื่องพูด อาจมาจากสาเหตุ ดังนี้
- เบื่อเรื่องที่กำลังสนทนาอยู่
- ปกปิดความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้นจึงไม่อยากพูด
ข้อสังเกต : ความเกี่ยวโยงของเรื่องที่เปลี่ยน ถ้าไม่มีความเชื่อมโยงของเรื่องที่เปลี่ยนแสดงว่ากำลังปกปิดความจริง
4. คนที่เปิดเผยตัวมาก
- เขาสนใจเราจึงยอมเปิดข้อมูลเยอะ หรือ
- อาจต้องการสร้างภาพ
5. คนที่ชอบพูดคำว่า " ลุย
- เป็นคนค่อนข้างก้าวร้าว
ภูเขาสามารถถล่มมาเป็นถนน
แม่น้ำสามารถเปลี่ยนทางเดิน
แต่นิสัยใจคอคน ยากแท้ที่จะเปลี่ยน!
ที่มาจากหนังสือ.......จริต ๖ ศาสตร์ในการอ่านใจคน
โดย ดร. อนุสร จันทพันธ์
ดร. บุญชัย โกศลธนากุล
:: khonmuang.com ::
อ่านหนังสือออก................ สำคัญ
อ่านเหตุการณ์ออก...... สำคัญกว่า
อ่านคนอื่นออก.............. สำคัญยิ่ง
อ่านตนเองออก......... สำคัญที่สุด
|