1
2

วิถีแห่ง "ซามูไร" วิถีแห่งนักรบ "บูชิโด"


Japan: Memoirs of a Secre...: The Way of the Samurai
<


วิถีแห่ง "ซามูไร" วิถีแห่งนักรบ "บูชิโด"

ภาพถ่ายซามูไรในชุดเกราะ ถ่ายในช่วงทศวรรษที่ 1860 โดย เฟรีเช บีอาโต

ถ้าให้ดูรูปภาพข้างบนแล้วถามว่านี่รูปคืออะไร?
ส่วนใหญ่คงตอบว่าซามูไร แล้วไอ้เรียกว่าซามูไรมันคืออะไรล่ะ?
คงมีคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทหารญี่ปุ่นโบราณ” แต่ถ้าถามที่มาที่ไปของซามูไร คงจะมีน้อยคนนักที่จะตอบได้ เพราะขนาดที่มาของทหารบ้านเรายังไม่มีใครจะรู้เรื่องเลย แต่เอาเหอะเดี๋ยวนี้มันยุคโลกาภิวัฒน์แล้ว อีกอย่างเราก็ได้พบเห็นในหนังภาพยนตร์บ่อยๆ เรียนรู้ไว้ก็ไม่น่าจะเสียหาย เผื่อเราจะได้นำแนวคิด ปรัญชาของซามูไรบางอย่างไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของเราก็เป็นได้ เรามารู้จักซามูไรกันก่อนดีกว่า



ซามูไร (侍 Samurai ออกเสียงแบบญี่ปุ่นว่า ซะหมุไร )
คือทหารประเภทหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีในยุคก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น คำว่า ซามูไร มีต้นกำเนิดจากคำว่า ซะบุระอุ ซึ่งเป็นคำกริยาในภาษาญี่ปุ่นโบราณ ที่มีความหมายว่า รับใช้ ฉะนั้นซามูไรก็คือ  ผู้รับใช้แก่เจ้านายข้าแผ่นดินหรือเหล่าขุนนางผู้ที่มีตำแหน่งสูง” นั่นเอง


ประวัติศาสตร์ ของนักสู้ซามูไร เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 11 เมื่อรัฐบาลฟูจิวาราขุนนางศักดินาอ่อนแอลง จึงไปขอความค้ำจุนจากมินาโมโตกับทาอิรา ซึ่งเป็นเผ่านักรบที่เข้มแข็ง หากทว่าทั้งสองเผ่านี้ก็ไม่ถูกกันและเกิดการปะทะกันเนืองๆ มิหนำซํ้ายังเป็นนักรบเถื่อนที่ไร้วินัย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน ดังมีบันทึกหนึ่งจารึกไว้ว่า 


"นักสู้หลายคนถือโอกาสทำการตามใจชอบโดยไม่กลัวเกรงกฎหมาย ซ่องสุมกำลังข่มขู่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองตลอดจนราษฎร ยํ่ายีลูกเมียชาวบ้าน ตีชิงเอาสัตว์เลี้ยงไปจากชาวไร่ชาวนา จนไม่อาจทำการเกษตรได้ เที่ยวเดินถือธนูและลูกศรเพ่นพ่านไปทั่วราวกับโจรร้าย"


เมื่อชาวบ้านไม่อาจพึ่งพาให้รัฐคุ้มครองได้ จึงสามัคคีกันจัดตั้งกองกำลังขึ้นรับมือ โดยรวบรวมจากเหล่าเพื่อนบ้าน และลูกหลาน แต่แรกนั้นก็เป็นกองกำลังเล็กๆ มีอาวุธตามมีตามเกิด เพราะตระกูลฟูจิวารา ผู้ปกครองประเทศ คอยกดดันอยู่ พวกชาวบ้านจึงหาทางออกอีกครั้ง ด้วยการไปขอพึ่งบารมีจากขุนนางที่มีอำนาจ


ซึ่งเหล่าขุนนางก็พอใจ ที่มีกองกำลังมาสนับสนุน จึงเลี้ยงดูนักสู้เหล่านี้อย่างดี จนมีนักสู้เกิดขึ้นมากมายในนาม "ซามูไร" ซึ่งแปลว่า "ผู้รับสนอง"



นักสู้ซามูไร จะรับใช้เจ้านายโดยตรงของตนแต่ผู้เดียวด้วยความจงรักภักดี กระทำตามคำบัญชาทุกประการโดยไม่มีการลังเลอิดเอื้อน ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเป็นอุปสรรคกีดกั้นแม้แต่ความรักเมียหรือลูก เหนืออื่นใดก็คือความ ไม่กลัวเกรงต่อความตายในหน้าที่ต่อผู้เป็นเจ้านาย


ความเป็นอยู่ของซามูไร ก็ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้านายครับ ถ้านายรวย ซามูไรก็มีม้าขี่ มีเสื้อเกราะอย่างดีที่ทำด้วยเหล็กแถบแคบๆ ผูกเชื่อมติดกันด้วยเชือกหรือลวด มีอาวุธอันทรงอานุภาพ นั่นคือดาบยาวอันคมกริบ ซึ่งซามูไรจะกุมไว้ด้วยสองมือ ราวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 
อาวุธนี้ชาวบ้านที่มียศศักดิ์ตํ่ากว่าซามูไรจะเอาไปใช้ไม่ได้เป็นกฎข้อห้ามที่รู้กันทั่วไป

Samurai helmet with a half-face

Samurai helmet with a half-face mask, Metropolitan Museum of Art in New York.

Edo period samurai armor with an eboshi style helmet "kabuto"

Samurai armour, Topkapı Palace, Istanbul, Turkey.

Nanban (Western)-style samurai cuirass, 16th century.

Japanese samurai armor (Ō-yoroi) (Tosei Gusoku, of the Hachisuka clan)












KANATAดาบคาตานะ (ญี่ปุ่น: 刀 katana ) อาวุธหลักของซามูไร

เมื่อมีขุนนางเลี้ยงดู ชีวิตก็มั่นคง ชาวไร่ชาวนาจำนวนมากจึงวางคันไถ และเข้ามาฝึกฝนอาวุธและการยุทธ์ต่างๆ เพื่อสวามิภักดิ์ขอเป็นซามูไรรับใช้ กาลเวลาผ่านไปก็มีสิ่งอื่น ที่เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิตซามูไร


นอกเหนือไปจากดาบและเกราะ นั่นคือวิถีปฏิบัติตนแบบมีวินัย มีกฎภายใต้ชื่อ "บูชิโด" หรือ "วิถีแห่งนักสู้ (The Way Of The Warrior)" ซึ่งซามูไรจะยึดถือเคร่งครัดราวศาสนา สิ่งหนึ่งซึ่งนักสู้ซามูไรถือเป็นคติประจำใจก็คือ การตายเยี่ยงวีรบุรุษในสงครามนั้น เป็นจุดหมายอันทรงเกียรติสูงสุด!

Samurai around the 1860s

"ถ้าเจ้าคิดที่จะรักษาชีวิตตนเอง เจ้าก็อย่าออกรบเสียเลยจะดีกว่า"

นี่เป็นถ้อยคำที่ซามูไรทุกคนถูกอบรมมา

ถึงกระนั้นก็ตาม ใช่ว่าซามูไรจะละเลยในการรักษาชีวิตของตน ในการออกศึก ซามูไรจะแต่งองค์ ทรงเครื่องครบครัน เพื่อป้องกันอาวุธศัตรู ขั้นตอนการสวมใส่เสื้อเกราะนั้นพิถีพิถันมาก เริ่มแรกจะต้องใส่ชุดชั้นใน ซึ่งมีผ้าเตี่ยวแบบพิเศษ ชุดกิโมโนที่ทำด้วยผ้าลินินอย่างดี กางเกงทรงโปร่งขายาว จากนั้นจึงจะนำเสื้อเกราะเหล็กมาสวมทับ




แต่สิ่งที่จะคุ้มครองชีวิตได้ดีนั้นก็คงอยู่ที่ฝีมือแหละครับ พวกเขาจึงต้องฝึกต่อสู้กันตลอดทั้งปี ฝึกออกกำลังอย่างหนัก เพื่อให้มีกล้ามเนื้อและพละกำลัง นอกจากจะต้องเก่งกาจในด้านธนูและดาบแล้ว เขาจะต้องทรหดอดทน สามารถ อดทนต่อความหิวโหย ใช้เท้าเปล่ายํ่าหิมะอันเย็นเยือกได้ไกลๆ โดยไม่ ปริปากบ่นแม้แต่คำเดียว
"ในยามที่ท้องของเขาว่างเปล่า มันจะน่าอับอายมาก หากเขาแสดงความหิวโหยให้เห็น"



ธนูยาว (ยึมิ) (ญี่ปุ่น: 弓 Yumi )

การต่อสู้นั้นเป็นชีวิตของซามูไร เขาจึงต้องพร้อมอยู่เสมอที่จะจับอาวุธหรือสวมใส่เกราะด้วยความรวดเร็ว

มีตำนานซึ่งเล่าถึงเรื่องของนักสู้หนุ่มผู้หนึ่ง เขาได้ไปกราบกรานขอเป็นศิษย์ซามูไรอาวุโสระดับเกจิอาจารย์ แต่แม้จะฝึกฝนเท่าไรก็ไม่ค่อยคืบหน้า จนในวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังหุงข้าว อาจารย์ได้เข้ามาทางด้านหลังและเอาดาบไม้หวดเขาอย่างแรงจนร้องลั่น และหลังจากนั้น ทุกขณะที่เผลอตัว อาจารย์ก็จะเอาดาบหวดเขา ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน กระทั่งในที่สุด หนุ่มผู้ประสงค์จะเป็นซามูไร ก็เรียนรู้ในการที่จะระวังรักษาตัวในทุกวินาที และเขาก็ได้เป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง



"ซามูไรจะต้องอยู่และตายโดยมีดาบอยู่ในมือ จงกล้าหาญและพร้อมรบในทุกสถานการณ์"

ในการต่อสู้แบบตัวต่อตัวนั้น บางครั้งเมื่อสังหารคู่ต่อสู้แล้ว ซามูไรจะตัดหัวเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก (ในกรณีที่คู่ต่อสู้มีศักดิ์ศรีเหนือกว่า) ด้วยเหตุนี้ นอกจากจะมีดาบยาวไว้สำหรับการต่อสู้แล้ว ซามูไรยังมีดาบสั้นไว้สำหรับการนี้ และซามูไรบางคนจะสวมใส่ปลอกคอพิเศษรอบคอ เพื่อกันไม่ให้ศัตรูตัดศีรษะของตน


หมวกเหล็ก (เฮลเม็ท) มีไว้ป้องกันอาวุธ ส่วนหน้า- กากเหล็ก จะออกแบบให้แลดูถมึงทึง ขู่ขวัญคู่ต่อสู้ ซามูไรบางคนจะเผาเครื่องหอม ในหมวกเฮลเม็ท เพื่อว่าเวลาถูกตัดหัว หัวของตนจะได้มีกลิ่นหอมติดไปด้วย



สำหรับกติกาทั่วไประหว่างซามูไรมีว่า
ก่อนจะหํ้าหั่นกันนั้น ทั้งสองฝ่ายจะทำความเคารพกัน และแจ้งชื่อของตน ตลอดจนชื่อของบิดา มารดา รวมทั้งวีรกรรมที่ผ่านมาของตนว่า ได้ต่อสู้ชนะใครมาบ้าง พอสังเขป และหลังจากการต่อสู้สิ้นสุดลง ผู้ชนะจะกล่าวสรรเสริญความกล้าหาญของผู้แพ้... ก่อนจะตัดเอาหัวไป


ความนิยมในนักรบซามูไรผู้เก่งกาจ และสุภาพเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งขุนนางยศสูงสุดทุกคน ต้องมีซามูไรไว้ประดับบารมี ในศตวรรษที่ 11-18 หรือประมาณ 700 ปีก่อนนั้น พระจักรพรรดิญี่ปุ่นมิได้มีอำนาจแต่อย่างใด

โชกุนโทกุงาวะ อิเอยาซุ (ญี่ปุ่น: 徳川 家康)

ผู้ที่มีอิทธิพลในการปกครองประเทศ ก็คือ อัครมหาเสนาบดีที่เรียกกันว่า "โชกุน" ด้วยเหตุนี้ เหล่านักรบซามูไรของโชกุนจึงพลอย มั่งมีศรีสุขในช่วงเวลาหลายร้อยปีนั้นด้วย

กระทั่งล่วงมาถึงราว ค.ศ.1840 อเมริกาและยุโรปเริ่ม แผ่ขยายการค้ามายังเอเชีย แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมรับ อเมริกาจึงส่งเรือปืน 4 ลำ คุมโดย นายพลแม็ทธิว เปอร์รี่ มาบีบบังคับญี่ปุ่นที่อ่าวอูรากา ในการนี้ ซามูไรหลายพันคนได้มาเตรียมพร้อมต่อสู้ หากทว่าดาบ หรือจะสู้ปืนเรืออันทรงอานุภาพได้ ญี่ปุ่นจึงต้องยอมเปิดประเทศ

เมื่ออารยธรรมตะวันตกขยายเข้ามา คนญี่ปุ่นก็เริ่มต้องการ ให้จักรพรรดิทรงมีอำนาจแท้จริง แทนที่จะเป็นหุ่นเชิดของโชกุน และมองเห็นซามูไรที่เดินถือดาบ กร่างไปมาบนถนนนั้นป่าเถื่อน แรงต่อต้านนี้เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดโชกุนก็ต้องลาออก และถวายอำนาจคืนสู่องค์จักรพรรดิในปี ค.ศ.1868




หลังจากนั้นในช่วงแรกๆ ก็ยังคงมีซามูไรเดินถนนให้เห็นอยู่ประปราย กระทั่งมีกฎหมายห้ามพกพาอาวุธในปี 1876 ซามูไรจึงต้องจบบทบาทไปโดยสิ้นเชิง หลายคนขอเข้าเป็นทหารในกองทัพ หลายคนต้องขายเสื้อเกราะและอาวุธให้นักท่องเที่ยวหรือนักค้าของเก่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากายภาพของนักสู้ซามูไรจะหายไป หากทว่าจิตวิญญาณ "บูชิโด" ยังคงมีอยู่ ในตัวของชายชาติญี่ปุ่นทุกคน และแสดงออกให้เห็นในวาระที่ประเทศชาติต้องการ ดังเช่นฝูงบินกามิ-กาเซ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังกล่าวแล้ว

ความตายนั้นมิใช่สิ่งที่น่ากลัวแต่อย่างใด... สำหรับพวกเขา.



บูชิโด: วิถีแห่งนักรบ
โดย อัยการเคนจิ

"บูชิโด" แปลว่า "วิถีแห่งนักรบ" เป็นหลักการที่พัฒนาขึ้นในญี่ปุ่นช่วงศตวรรษที่ ๙-๑๒ สมัยเฮ-อัน และโตกุกาวะ ถือเป็นหลักการและแนวปฏิบัติของซามูไร


ที่ ยึดหลักความจงรักภักดี การเสียสละ ความละอาย ความมีมารยาท ความอ่อนน้อม เกียรติยศ และความรักผูกพัน เป็นแนวในการปฏิบัติตน

บูชิโด มีจุดกำเนิดจากการผสมผสานความเชื่อทางพุทธศาสนานิกายเซน คำสอนของขงจื้อ และศรัทธาในลัทธิชินโต ศาสนาพุทธเชื่อเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่ ผู้ยึดถือบูชิโดโดยเฉพาะซามูไรจึงไม่กลัวอันตรายและความตาย นิกายเซนเน้นการทำสมาธิเพื่อบรรลุนิพพาน เซนสอนให้คนรู้จักตนเองและไม่ยึดติดกับตัวตน ซามูไรใช้เซนในการฝึกเพื่อขับไล่ความกลัว ความไม่แน่นอนใจและความผิดพลาด


ชินโต สร้างความจงรักภักดีและความรักชาติให้แก่บูชิโด ชินโตบูชาบรรพบุรุษและนับถือจักรพรรดิดุจเทพเจ้า ซามูไรจึงจงรักภักดีต่อจักรพรรดิและเจ้านาย ชินโตเชื่อว่าแผ่นดินญี่ปุ่นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และที่สถิตของเทพและวิญญาณของบรรพบุรุษ ซามูไรจึงมีความรักชาติและศรัทธาที่จะปกป้องแผ่นดิน


ขงจื้อ สอนให้เชื่อในโลกของมนุษย์ สิ่งรอบตัวและครอบครัว
โดยเน้นคุณธรรมความสัมพันธ์ ๕ ประการ ระหว่าง เจ้านายกับลูกน้อง พ่อกับลูก สามีกับภรรยา พี่กับน้อง และเพื่อนกับเพื่อน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ซามูไรยึดถือ


นอกจากคุณธรรมต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
บูชิโด ยังประกอบด้วยหลักความยุติธรรม ความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริต และการควบคุมตนเอง ความยุติธรรมถือเป็นหลักการสำคัญอันหนึ่งของซามูไร ความกะล่อนและการประพฤติมิชอบเป็นการกระทำที่ต่ำช้าของมนุษย์ ซามูไรเชื่อว่าความจริงใจและความซื่อสัตย์ทำให้ชีวิตมีคุณค่า


มีคำพูดที่ว่า "บูชิ โนะ อิชิกง" แปลว่า "วาจาของซามูไร" มีความหมายถึง ความเชื่อใจและความจริงใจ ซามูไรจึงมีสัจจะวาจาเป็นศักดิ์ศรีแห่งตน 


ซามูไรต้องควบคุมตัวเองไม่อ่อนไหว ไม่แสดงอาการไม่ว่าเจ็บหรือยินดี ไม่บ่นไม่ร้องไห้ ต้องสงบนิ่งทั้งการกระทำและจิตใจ ซามูไรที่ยึดถือและปฏิบัติบูชิโดโดยครบถ้วนนับเป็นนักรบที่แท้จริงและสมบูรณ์แบบ


ในสมัยปฏิรูปของจักรพรรดิเมจิ นักรบซามูไรเริ่มสลายตัว ซามูไรคนสุดท้ายที่เป็นที่ยอมรับ คือ ไซโก้ ทาคะโมริ ซึ่งมีการนำชีวิตเขาไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เรื่องเดอะลาสต์ซามูไร นำแสดงโดย ทอม ครุยส์ แม้นักรบซามูไรจะหายไปในสมัยต่อมา แต่ปรัชญาบูชิโดยังดำรงอยู่ในสังคมญี่ปุ่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นักบินหน่วยกามิกาเซะ ซึ่งแปลว่า ลมแห่งเทวะ ได้ฝึกบูชิโดฝังความจงรักภักดีต่อชาติในจิตใจของนักบินกามิกาเซะทำให้สามารถสละชีวิตเพื่อแผ่นดินเกิดได้

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นถูกสลายตัว
เกิดนักรบรุ่นใหม่คือ นักรบธุรกิจ ที่ยึดถือบูชิโด และทำงานให้บริษัทอย่างจงรักภักดี ซามูไรพันธุ์ใหม่จะอุทิศตนและเวลาให้แก่องค์กรเสียยิ่งกว่าครอบครัวของตน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่เคยเห็นคนญี่ปุ่นเอาเวลางานไปรับลูกส่งเมีย แต่กลับทำงานหามรุ่งหามค่ำถึงห้าทุ่มเที่ยงคืนเป็นปกติ

ผุ้เขียนเคยมีโอกาสไปดูงานที่บริษัทมัตซึชิตะ เมืองโอซาก้า ซึ่งผลิตสินค้ายี่ห้อเนชั่นแนล-พานาโซนิค เขามีวิธีฝึกบุคลากรให้ภักดีต่อบริษัทอย่างหนึ่งคือ ทุกเช้าก่อนเริ่มทำงาน ๙ โมง พนักงานทุกคนจะต้องมาถึงบริษัทเข้าประจำแผนกของตนเวลา ๘.๔๕ น. แล้วบริษัทจะเปิดเพลงมาร์ชมัตซึชิตะ กระจายเสียงตามสาย พนักงานทุกคนจะลุกขึ้นยืนและร้องเพลงมาร์ชพร้อมกัน หลังจากนั้นพนักงานจะหมุนเวียนกันวันละหนึ่งคนมากล่าวสนทนาให้เพื่อนร่วมงานในแผนกได้รับรู้ความคิดความเห็นของตนทั้งเรื่องงานและเรื่องทั่วไป ในฐานะคนนอกผู้เขียนรู้สึกประทับใจกับความพรักพร้อมและเอาจริงเอาจังเพื่อบริษัทของพนักงานมัตซึชิตะเป็นยิ่งนัก

การสร้างความภักดีต่อองค์กร (organizational loyalty)
ประการหนึ่ง องค์กรคงต้องหาสัญลักษณ์ขององค์กรมาเป็นเครื่องผูกพันและหล่อหลอมบุคลากรให้เป็นหนึ่ง บางองค์กรอาจใช้เพลงมาร์ช หรือธง หรือคติพจน์ หรือโลโก้ หรือทั้งหมดรวมกัน อัยการญี่ปุ่นก็มีสัญลักษณ์คือ เข็มกลัดเครื่องหมายอัยการติดปกเสื้อ (badge) ใครที่เคยดูหนังซีรี่ส์ญี่ปุ่น ทางไอทีวี เรื่อง ผม..ฮีโร่นะครับ ที่เล่าเรื่องการทำงานของอัยการคุริว แห่งสำนักงานอัยการโตเกียว คงเห็นความผูกพันและความภูมิใจที่เหล่าอัยการมีต่อเข็มกลัดอัยการของตน

ผู้เขียนก็มีเพื่อนอัยการญี่ปุ่นคนหนึ่ง เธอเล่าให้ฟังว่า สำนักงานอัยการสูงสุดญี่ปุ่นจะทำเข็มกลัดอัยการมีรหัสประจำตัวมอบให้ทุกคน ทุกคนจะให้ความสำคัญกับเข็มกลัดอัยการ จะใส่ว่าความในศาลและออกงานสังคมเป็นประจำ โดยถือเป็นสัญลักษณ์แห่งศักดิ์ศรีและความภูมิใจของอัยการ ตัวเธอเองเคยทำเข็มกลัดประจำตัวหายซึ่งถือเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรง เธอต้องทำหนังสืออย่างเป็นทางการขอขมาต่ออัยการสูงสุด

ความภักดีต่อองค์กร เป็นแก่นหนึ่งของบูชิโดที่สร้างพลังให้แก่ซามูไร
ดังนั้นองค์กรที่ต้องการประสิทธิภาพและพลังความก้าวหน้าอย่างแท้จริง คงต้องให้ความสำคัญและศึกษาหาวิธีการฝังความภักดีต่อองค์กรให้แก่บุคลากรกันอย่างจริงจัง

เมื่อเรามองลึกลงไปในวิถีการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่น เราจะพบปรัชญาของศาสนาพุทธนิกายต่างๆที่แฝงอยู่ในรูปของภาษาและวัฒนธรรม เมล็ดพันธุ์แห่งวัฒนธรรมที่งดงาม มีชื่อเสียงดังขจรขจารไปทั่วโลกเหล่านี้ เติบโตและงอกงามออกมาจากผู้ปลูกที่มีจิตใจงดงาม ที่มองเห็นและเข้าใจโลกว่า ทุกสิ่งอย่างต้องเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหรือไม่ดีนั้นไม่ใช่เกิดจากธรรมชาติที่เป็นผู้เปลี่ยน 


แต่กลับเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์ (แปลว่า ผู้มีใจสูง)” เป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลกนั้นเอง เราทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้ควรตระหนักว่า เราทุกคนล้วนมีส่วนทำให้ทุกอย่างมันเป็นไปอย่างนั้น ฉะนั้นจงเริ่มที่เปลี่ยนตัวคุณเองก่อนซะ ตั้งแต่วันนี้



บูชิโด คือ จรรยาของชนชาติทหาร ที่ช่วยให้ญี่ปุ่นมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน


บูชิโด สอนให้คนมีความกล้าหาญ มีความเป็นสุภาพบุรุษ มีความรักชาติ มีความรักครอบครัวและเคารพต่อบรรพบุรุษ บูชิโดจึงเป็นดวงวิญญาณ เป็นธรรมจริยาของนักรบ อยู่เหนือการศึกษาทั้งหลายของญี่ปุ่น


บูชิโด สอนและฝึกให้คนมีความอดทนต่อความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและทางใจ จะต้องสามารถซ่อนความรู้สึกไว้ภายในใบหน้า ไม่มีความมักได้ รู้จักข่มใจตนเอง ไม่ยอมปล่อยร่างกายตกเป็นทาสของความต้องการ ไม่ยอมย่อท้อต่อความยากลำบาก มีความเห็นว่า อนาคตของเด็กทุกคนต้องอยู่ในความรับผิดชอบของพ่อแม่ นิยายหรือนิทานใดๆ ที่จะนำมาเล่าให้เด็กฟังนั้น ต้องเป็นเรื่องแสดงความกล้าหาญของเหล่าทหารและบุรพชนของตน การฝึกให้เด็กไม่มีความหวั่นไหวต่ออันตรายโดยฝึกให้เด็กเดินไปสู่ที่มืดในตอนกลางคืนตามตรอก ซอย ต่างๆ ที่เปลี่ยว ป่าช้า หลุมฝังศพ และอื่นๆ


บูชิโด ได้สอนให้คนญี่ปุ่นมีความพยายามทำสิ่งต่างๆ ด้วยความชั่งใจอันเด็ดเดี่ยว อะไรควรทำก่อน อะไรควรทำทีหลัง เมื่อได้ทำการใดๆ ลงไปแล้วก็ต้องทำจริงๆ จนกว่าจะสำเร็จ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติก็ยอมอุทิศชีวิตเพื่อสิ่งนั้น

General Akashi Gidayu preparing to commit Seppuku
after losing a battle for his master in 1582.
He had just written his death poem.
เมื่อต้องเสียเกียรติยศแล้วต้องเลือกเอาความตายเป็นปลายทาง นั่นคือ ฮาราคีรี


 คุณสมบัติทั้ง 7 ของลัทธิบูชิโด
1. ความยุติธรรม
2. ความกล้าหาญ
3. ความเมตตากรุณา
4. ความนับถือซึ่งกันและกัน
5. ความซื่อตรง
6. ความมีเกียรติ
7. ความจงรักภักดี

 นอกเหนือจาก 7 ข้อนี้แล้ว บางครั้งยังมีเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ ได้แก่
1. ความศรัทธาอย่างแรงกล้าในครอบครัว และเผ่าพันธุ์
2. ความมีสติปัญญาเฉียบแหลม
3. ดูแลสุขภาพของตนเอง

หลักการที่สำคัญบางประการของบูชิโด มีดังต่อไปนี้
1. ความตายเท่านั้น ที่จะล้างความเสียชื่อเสียงได้ ดังนั้น เมื่อเสียเกียรติยศ จงเตรียมตัวตาย ตราบใดที่วางใจที่จะตายได้ ชีวิต่จะเที่ยงตรงมีความเป็นธรรมดา หาได้ยากตราบนั้น
2. ผู้รับใช้ที่ดี ได้แก่ผู้รับใช้ทั้งในเวลาที่นายดีและนายร้าย คนที่รับใช้แต่ตอนที่นายดี และไม่รับใช้ตอนที่นายร้าย เขาจะเป็นคนรับใช้ที่ไม่มีค่า
3. เมื่อท่านจะเดินลุยน้ำในลำธาร จงพิจารณาถึงความลึกตื้นของลำธารนั้น มิฉะนั้นท่านอาจะตกเหวลึกและจมน้ำตายได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าท่านจะทำหน้าที่รับใช้เจ้านายแล้ว จะทำให้ท่านถึงความพินาศได้
4. ชีวิตนี้สั้นนัก จงก้าวไปข้างหน้า อย่าหยุดยั้งในสิ่งที่ท่านพอจะทำได้
5. จะรู้จักคนได้ดีก็ตอนที่เขาดื่ม
6. หากคนชั่วกลายเป็นคนดีได้ เพราะการแก้ไขของท่าน เชื่อกันว่าท่านได้ทำประโยชน์แก่หมู่คณะและเจ้านายของท่าน
7. หากท่านยังไม่เข้าใจในเรื่องใด จงปรึกษาผู้ที่มีสติปัญญาดีกว่าท่าน แล้วท่านก็จะเป็นคนมีใจกว้าง และไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว
8. การยกโทษให้แก่คนที่ทำงานผิดอยู่เรื่อยไป เขาจะทำความผิดมากขึ้น และเขาจะทำผิดต่อไปตามที่เคยทำมาแล้ว
9. อายุ 50 ปี เป็นเวลาที่ดีที่สุดของการเริ่มต้นชีวิต เพราะเป็นช่วงชีวิตที่มีความมั่นคงและแน่นอน จงก้าวหน้าไปทีละน้อยไม่รวดเร็วนัก จะทำให้ท่านยืนยึดอยู่บนพื้นที่อย่างมั่นคง ถ้ารีบร้อนเกินไป ในที่สุดก็จะสะดุดและล้มลง
10. ความดีที่ผู้อื่นได้กระทำแก่ตน แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ย่อมมีค่าใหญ่โต จงพยายามหาทางที่จะตอบแทนความดีของบุคคลผู้นั้น
11. ผู้ที่จะก้าวขึ้นสู่ที่สูง จะต้องรู้สึกตัวเสมอว่า ตนเองยังสูงไม่พอ
12. ท่านจะเป็นใหญ่ไม่ได้นาน ถ้าท่านไม่มีการฝึกฝนอยู่เสมอ
13. การศึกษานั้น เป็นการยกใจของตนให้สูงขึ้นก็จริง แต่ผู้ที่ได้รับการศึกษา มักจะ “เกิน”อยู่เสมอ ความคิดที่เต็มไปด้วยการศึกษา มักจะเป็นความคิดที่มีเล่ห์เหลี่ยมอยู่ไม่ว่าเวลาใด


ศึกในเชิงกลยุทธ์:
กุญแจแห่งความสำเร็จทางธุรกิจของญี่ปุ่น
มันเป็นเรื่องบูชิโดผสมเซน และรวมคัมภีร์ ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เข้ากัน
โดย ชูเกียรติ กาญจนชาติ
นิตยสารผู้จัดการ

คนตะวันออกพยายามค้นหากุญแจแห่งความสำเร็จในการทำธุรกิจของญี่ปุ่น
หลายคนมองที่เทคนิคการบริหาร เช่น เทคนิคการตัดสินใจในลักษณะเห็นพ้องต้องกันโดยกลุ่ม บรรษัทญี่ปุ่นจำกัด (Japan Inc.) การจ้างงานตลอดชีพ การมองเห็นการณ์ไกลด้วยการวางแผนระยะยาว การบริหารโดยกลุ่มสร้างงานที่เรียกคิวซีเซอเคิล

บางคนบอกว่า น่าจะมาจากวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีในการทำงานรวมไปถึงหลักพุทธศาสนานิกายเซน หรือชินโต และลัทธิบูชิโดก็สุดแล้วแต่ คนอเมริกันบางคนเรียกว่าเป็นนักมายากลไปเสียเลย แท้จริงแล้วมันอาจจะมีอะไรหลายต่อหลายอย่างที่นอกเหนือไปจากสิ่งทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว และมีอยู่สิ่งหนึ่งที่น่าคิดก็คือ การใช้ความคิดในเชิงกลยุทธ์เพื่อเอาชนะในเวทีสงครามการตลาด

ผมเองทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นมาเกือบสี่สิบห้าปี มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้สังเกตเห็นการทำงานของคนญี่ปุ่นหลายต่อหลายคน ถ้าจะบอกว่า คนญี่ปุ่นแต่ละคนก็มีสไตล์ในการทำงานคนละอย่างก็จริง แต่ส่วนใหญ่แล้วมีหลายสิ่งหลายอย่างเป็นแบบฉบับเดียวกัน


และบอกได้เลยว่า แบบแผนการบริหารงานหลายอย่างเป็นแบบญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนตะวันตก

และในบรรดาหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นและเรียกว่าเป็นจอมมายากลก็คือ การเป็นนักคิด นักวางแผนในเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นแบบฉบับของคนตะวันออกโดยเฉพาะ ไม่ใช่นักวางแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจแบบอเมริกันหรือตะวันตก ความแตกต่างเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งครับ

ถ้าคุณถามคนญี่ปุ่นว่า “คุณเรียนการบริหารธุรกิจมาจากโรงเรียนไหน?”
เขาจะตอบคุณว่า “ไม่เคย เพราะไม่มีโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งสอนทางบริหารธุรกิจโดยเฉพาะ” (อาจจะมีก็เพียงแห่งเดียวที่มหาวิทยาลัยโคเอะ ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาดแห่งสหรัฐอเมริกา) และบรรดานักบริหาร หรือนักวางแผนส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำเรียนทางการบริหารธุรกิจ หรือแม้แต่เคยอ่านหนังสือทางด้านการวางแผนกลยุทธมาก่อน
“ยิ่งกว่านั้นในบริษัทญี่ปุ่นทั่วๆ ไปมิได้มีคณะวางแผนเป็นเรื่องเป็นราวแบบของอเมริกัน”

เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งของผม แกอธิบายให้ฟังอย่างนี้ครับ
“เราได้รับสาระสำคัญของการศึกษาเรื่องกลยุทธจากสัญชาตญาณโดยตัวของเราเองครับ เราศึกษาปรัชญา และหลักจิตวิทยาของกลยุทธจากประสบการณ์ในการฝึกหัดคิดและตั้งใจในการที่จะเข้าถึงชีวิตของตนเองก่อน จึงจะไปประยุกต์เข้ากับทุกสิ่งที่เราทำอยู่หรือเข้าใจบุคคลอื่น ดังนั้นปรัชญาในเรื่องกลยุทธการสงคราม หรือในธุรกิจก็ตาม หลักการรู้เขา รู้เรา จะประสบชัยชนะนั้นเราคิดไม่เหมือนคนอื่นคิด กล่าวคือ เราจะรู้จักคนอื่นได้ดีไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้จักตัวเองเป็นอย่างดีก่อน


อันนี้เป็นความสำคัญประการแรกที่ทำให้เรามี การหยั่งรู้ (Insight) ทำให้เรามีแบบแผนความคิดที่จะมองบริษัท ลูกค้า สภาวะการแข่งขันได้อย่างใสแจ๋วเหมือนผลึก ถ้าเรามีการหยั่งรู้ลึกซึ้งมันจะเกิดความคิดแผงๆ ความคิดริเริ่ม ความคิดที่จะทำให้มันแตกต่างไปจากสถานการณ์เดิม การมีความคิดสร้างสรรค์ การมีพลังเพื่อจูงใจเอาชนะ และมุ่งความสำเร็จสูง รวมทั้งการมีความตั้งใจจริง ทำให้กลยุทธที่วางไว้ส่งผลกระทบในเชิงการแข่งขันสูง สูงทั้งคุณค่าและความแปลกแหวกแนว”

ดังนั้นนักบริหารการตลาดชาวญี่ปุ่นจะไม่ค่อยเข้าหารายละเอียดของข้อมูลตัวเลขมากหรอกครับ พวกเขามีความคิดว่า การเป็นนักวางแผนกลยุทธที่ดีต้องเป็นนักวิเคราะห์ที่ดีก็จริง แต่นักวิเคราะห์จะถูกสอนให้ยึดถือ หลักเหตุและผล จึงยึดถือข้อมูลเป็นหลักสร้างสรรค์


“เราชนะตรงจุดที่คนอื่นไม่ได้คิด นักวางแผนกลยุทธแบบอเมริกันมักจะยึดถือหลักเหตุและผลด้วยข้อมูลตัวเลขจนเกินไป เขาเป็นนักวิเคราะห์ที่ดี การวางแผนธุรกิจก็จะต้องเก็บข้อมูล มีการพยากรณ์ ใช้หลักหรือตัวแบบทางการสถิติมากมาย วางแผนพร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ กำหนดการปฏิบัติและการควบคุมหน้าที่สำคัญๆ ต่างๆ รวมทั้งวิเคราะห์ความเสี่ยงไว้พร้อมเป็นระบบที่วางไว้อย่างดีมาก แต่ขาดความคิดริเริ่มและความยืดหยุ่น การเป็นนักวางแผนกลยุทธทางธุรกิจได้อาศัยการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนอย่างเดียว แต่ต้องอาศัย สภาวะทางจิตอีกระดับหนึ่ง คือจิตหยั่งรู้ จิตที่มีความคิดจินตนาการ และมีอะไรแผงๆ แต่มีพลังผลักดันมุ่งความสำเร็จ

“คุณหมายถึงใครล่ะ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดหรือผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้ที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์และเป็นนักวางแผนกลยุทธแบบที่คุณว่า” ผมถาม

ซามูไรของกลุ่มซัตสึมะ ในช่วงสงครามโบชิง ถ่ายโดย เฟรีเช บีอาโต

“คุณเคยได้ยินไหม กลุ่มซามูไรหนุ่มบ้างไหม? (Young Samurai Concept)”
ระบบการบริหารของญี่ปุ่นเป็นระบบข้างล่างคิดวางแผนเสนอขออนุมัติจากเบื้องบน
เมื่อได้รับอนุมัติแล้วลงมือปฏิบัติเองเป็นแบบ
Ringi หรือ Bottom up Management หรือ หลักบริหารแบบข้างล่างขึ้นข้างบน”
(ตรงข้ามกับแบบไทย คือ ข้างบนออกคำสั่งและตัดสินใจลงมาลูกเดียว...ผู้เขียน)

ระบบนี้เป็นทีมคนหนุ่มเล่นบทสองบทคือ พยายามคิดวางแผนเพื่อให้งานในแผนกหรือในทีมประสบความสำเร็จ พวกนี้เป็นนักวางแผนกลยุทธตัวจริง ผู้บริหารเบื้องบนจะปล่อยให้เป็นอิสระใช้จินตนาการหรือวาดมโนภาพในการทำงานมุ่งสำเร็จอย่างเต็มที่ ใช้ความคิดความหลักแหลมทำงานเสมือนหนึ่งเป็นกิจการของตนเอง

ในขณะเดียวกันพวกนี้จะเป็นนักวิเคราะห์รวบรวมข้อมูลหาสาเหตุของปัญหา ทางแก้ปัญหาทำการทดลองทดสอบจากแนวความคิด หาความถูกต้อง คือทำหน้าที่เป็นเสนาธิการช่วยผู้จัดการผู้รับผิดชอบ (Line Manager) และนำแผนที่ได้รับอนุมัติไปปฏิบัติ สิ่งนี้เองเป็นสูตรสำเร็จในการวางแผนกลยุทธแบบญี่ปุ่น

“ถ้าอย่างนี้แล้ว ผู้จัดการหรือผู้บริหารจริงๆ ทำอะไร” ผมข้องใจ

“บริษัทเปรียบเสมือนหนึ่งบ้าน ผู้จัดการหรือผู้บริหารเปรียบเสมือนพ่อ ที่มีลูกทุกคนช่วยกันทำงาน ทำเพื่อบ้านเพื่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล” ผู้เป็นพ่อหรือผู้จัดการ เป็นผู้ให้คำแนะนำ เพราะมีประสบการณ์มามาก ผ่านชีวิตการทำงานมาหลายๆ แผนกในบริษัท รอบจัดพอสมควร พวกนี้จะปล่อยให้คนเบื้องล่างเสนอแนวความคิดในการทำงานต่างๆ ตนคอยตัดสินคอยชี้แนะ บางครั้งไม่เห็นด้วยก็มี ถ้าไม่เห็นด้วยจะบอกว่าลองไปคิดดูใหม่ให้รอบคอบ เพราะเรื่องนี้มีข้อเสียอย่างนี้ ข้อดีอย่างนี้ ไปหาข้อมูลมา เช่นนี้เป็นต้น”

“ที่จริงก็เป็นการบริหารแบบทุนคนมีส่วนร่วมนั่นเอง” ผมเสริม

“ใช่ แต่ทุกคนต้องทำเต็มที่ มีความผูกพันและรับผิดชอบ เพราะเป็นความคิดของพวกเขา เขาจึงต้องทุ่มเททุ่มความพยายามเต็มที่” เพื่อนผมตอบ

“เป็นวิธีพัฒนาจิตใจและสร้างนักบริหารที่ยอดเยี่ยมมาก ดังนั้นทุกคนจึงเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ที่ดี มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ใหม่ๆ เป็นการใช้ไฟแรงจากคนหนุ่มที่ถูกต้อง” ผมสรุปเชิงสรรเสริญ

“มันก็เป็นวิธีบริหารรูปแบบหนึ่งที่เราทำมันอาจจะมีดีและไม่ดีในตัวของมัน แต่นี่ไม่ใช่สูตรลับ หรือมายากล ที่พวกอเมริกันเรียกเรา เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาเท่านั้น”

ท่านผู้อ่านคงได้แนวความคิดแล้วนะครับ ว่าญี่ปุ่นเขาสร้างนักวางแผนกลยุทธ์กันอย่างไร?

ที่คิดในเชิงกลยุทธ์หรือใช้ความคิดที่แยบยลนั้นเขาคิดกันอย่างไร? (Strategic Thinking)

ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเล็กในทัศนะของคนญี่ปุ่น ทุกอย่างเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันหมด เหตุนี้คนญี่ปุ่นจึงซีเรียสกับทุกๆ เรื่อง เราไม่มีคำว่า “ไม่เป็นไร” เหมือนที่พวกคุณคนไทยชอบใช้ทุกอย่างต้อง เป็นไรหมด ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ คุณอย่าลืมว่า รูเล็กๆ เท่าตามด ก็อาจทำให้เรือล่มได้ทาเคนาก้าซังเพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งซึ่งพูดภาษาไทยเป็นน้ำเคยตอบคำถามของผมว่า ทำไมคนญี่ปุ่นชอบซีเรียสกับเรื่องงานในทุกๆ เรื่อง

คนญี่ปุ่นชอบคิด และชอบแก้ปัญหา แม้แต่สถานการณ์ปกติธรรมดา เราก็ไปค้นปัญหาขึ้นมาจนได้ เพราะเราคิดว่า อะไรที่มันดีอยู่แล้ว ก็น่าจะทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เราเชื่อว่า ปัญหาทำให้เกิดความก้าวหน้า อย่างน้อยเราก็ต้องไปหาข้อมูลไปแก้ปัญหามันให้ได้ ที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในตลาดทั่วโลกได้ อาจเป็นเพราะสิ่งนี้กระมัง เราคิดเราแก้ปัญหากันตลอดเวลาแบบที่เรามีรายการประชุมกันแทบทุกวันนั่นแหละ เราคิดถึงลูกค้าของเราว่าเขาน่าจะต้องการอะไร แล้วเราจะตอบสนองความต้องการเขาได้อย่างไร ไม่ว่าเขาจะเป็นคนอเมริกัน คนไทย คนแขก เราพยายามเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสินค้าให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของลูกค้าได้หมดโดยเน้นคุณภาพและราคายุติธรรมเป็นหลัก คุณดูรถยนต์ซิ ที่เมืองไทยเราสั่งเข้ามาประกอบไม่กี่แบบโดยมุ่งเน้นที่คุณภาพและราคาถูก แต่ในอเมริกา โตโยต้าเองมีแบบให้เลือกเป็นสิบแบบ มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในครบครันและเน้นคุณภาพสูงมากเช่นนี้เป็นต้น

“คุณพูดถึงตลาดอเมริกัน ผมอยากทราบว่าทำอย่างไรพวกคุณถึงเข้าไปล้วงคอเขาได้ ทั้งๆ ที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ของเจ้าบ้านเขาเก่งจะตาย?” ผมเข้าหาจุดไคลแมกซ์

เราคิดทุกๆ อย่างในเชิงกลยุทธ์ตลอดเวลาพูดง่ายๆ คือ คิดเอาชนะให้ได้ในเชิงการแข่งขัน มิฉะนั้น เราจะค้าขายทั่วโลกได้อย่างไร การค้าต่างประเทศเป็นเส้นชีวิตเส้นเดียวของญี่ปุ่น ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรอะไรเลยนอกจากคน ดังนั้นต้องค้าขายให้ชนะลูกเดียวทาเคนาก้าซังตอบ

“แล้วคุณมีเทคนิคในการคิดอย่างไร เพื่อเอาชนะ” ผมถามดื้อๆ เพราะอยากรู้ความลับตรงจุดนี้

“คุณรู้เรื่อง พุทธศาสนานิกายเซ็นไหม?
คุณรู้หลักของบูชิโดไหม?
คุณเคยได้ยินคัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้าของมิยาโมโต้ มูซาชิ ที่เขาเขียนไว้ในราวคริสตศวรรษที่ 16 ไหม?
คัมภีร์ทั้ง 5 มี ดิน น้ำ ลม ไฟ และความว่าง
คัมภีร์น้ำ สอนให้ รู้จักตนเอง
คัมภีร์ลม สอนให้รู้จักศัตรู
คัมภีร์ไฟ กล่าวถึงกลยุทธ์ในการผสมผสานความรู้จากคัมภีร์น้ำและลมเข้าด้วยกัน นี่เป็นแนวความคิดของเซ็นที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมและความเชื่อของเรา โดยเน้นถึงการรู้จักตนเองให้มาก่อนอื่น เหตุนี้จึงทำให้เราขวนขวายหาความรู้ และอันนี้ก็เป็นเหตุผลอีกอันหนึ่งที่เราเป็นนักเก็บข้อมูลที่ดี 
{อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ::คัมภีร์ 5 ห่วง::}

ส่วนลัทธิบูชิโด สอนให้เราถือศักดิ์ศรี มีความอดทน ไม่เผยไต๋ตัวเองให้ใครรู้ก่อน สิ่งเหล่านี้เราฝึกจนอยู่ในสายเลือด ส่วนเรามีเทคนิคในการใช้ความคิดในเชิงกลยุทธอย่างไร คุณลองลำดับเหตุการณ์ และขั้นตอนเอง เพราะคุณมีประสบการณ์กับเรานี่ คุณต้องรู้ ทาเคนาก้าโยนลูกพร้อมทั้งปิดประตูทันที


หลักการคิดในเชิงกลยุทธ์ หรือความคิดแยบยล
เป็นความคิดที่จะเอาชนะหรือมองหาความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน หลักการส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการระดมความคิดสร้างสรรค์มาใช้อิงบนข้อมูลที่มีการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของคู่แข่งขันและของตัวเรา

วิเคราะห์หาโอกาสหรือดูว่าอะไรเป็นโอกาสและสิ่งคุกคาม ตัดสินใจทันทีหากพบทางเลือกที่แปลกแหวกแนว ยิ่งสร้างเซอร์ไพร์สให้เกิดขึ้นกับคู่แข่งยิ่งได้ผลทางจิตวิทยา วิธีการทั่วๆ ไปมักจะใช้การระดมสมองกันในกลุ่ม วิธีการจะทำอย่างนี้ครับ:-

1) เมื่อเผชิญกับปัญหา เหตุการณ์หรือแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงจากสภาวะปกติก็ตาม นักคิดในเชิงกลยุทธ์จะรวบรวมสถานการณ์หรือเหตุการณ์เหล่านั้นทั้งหมดที่คิดว่าจะเป็นสาเหตุของปัญหา อาจจะโดยวิธีการระดมสมองจากผู้รู้หลายคน เพื่อช่วยกันคิดในหลายๆ แง่ หลายๆ มุม
2) จัดกลุ่มของเหตุการณ์หรือสาเหตุของปัญหาเป็นกลุ่มๆ ที่คาดว่ามาจากสาเหตุเดียวกัน
3) ทำการชี้ประเด็นหรือแยกประเด็นปัญหาให้ชัด
4) กำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาต่างๆ
5) วิเคราะห์ทางเลือกเหล่านั้นอย่างลึกซึ้งแล้วแยกว่าอันใดใช้ได้ ใช้ไม่ได้
6) ทดสอบอันที่คิดว่าใช้ได้ แล้วกำหนดผลสรุปทางแก้ปัญหา
7) ร่างปัญหาแผนปฏิบัติการ
8) ดำเนินตามแผน


http://learners.in.th/blog/sumeth/391211

http://www.j-doramanga.com/lesson_detail.php?id=71
http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=32467

http://en.wikipedia.org


Rare vintage photograph of an onna-bugeisha, 
one of the female warriors of the upper social classes in feudal Japan 
(emerged before Samurai)























1
2

Wish You Happinessss

Success is not the key to happiness. Happiness is the key to success. 
If you love what you are doing, you will be successful. 

~ Albert Schweitzer ~

 คัมภีร์ 5 ห่วง  วิถีแห่ง "ซามูไร" วิถีแห่งนักรบ "บูชิโด"   แนวคิดของตัวเม่น   GOOD LUCK สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความสำเร็จ ในชีวิตและธุรกิจด้วยตัวคุณเอง    Why complicate life ?   3 x 8 = เท่าไหร่ ?????   "ฉันชื่อ..โอกาส"

Wish You Happinessss