1
2

การแต่งกายแบบไทย




ชุดไทยๆ สวยๆ อินเทรนด์ 2010




การแต่งกายของไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติที่เป็นของตนเองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะไทย มารยาทไทย ภาษาไทย อาหารไทย และชุดประจำชาติไทย
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีคุณค่า มีความงดงามบ่งบอกถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็น "ไทย" ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่คนในชาติ
การแต่งกายของไทยโดยเฉพาะในยุครัตนโกสินทร์ซึ่งมีอายุยาวนานมากกว่า 200 ปีนั้น ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ
นับตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนกลาง ยุคเริ่มการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ ยุค "มาลานำไทย" และ จนปัจจุบัน "ยุคแห่งเทคโนโลยีข่าวสาร"
แต่ละยุคสมัยล้วนมีรูปแบบการแต่งกายที่เป็นของตนเองซึ่งไม่อาจสรุปได้ว่า แบบใดยุคใดจะดีกว่า หรือ ดีที่สุด เพราะวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม ล้วนต้องมีการปรับเปลี่ยนบูรณาการไปตามสิ่งแวดล้อมของสังคมแล้วแต่สมาชิกของสังคมจะคัดสรรสิ่งที่พอเหมาะพอควรสำหรับตน พอควรแก่โอกาส สถานที่และกาลเทศะ




สมัยน่านเจ้าจนถึงปลายสมัยอยุธยา

สมัยน่านเจ้า(พ.ศ. ๑๑๖๑–๑๑๙๔)
เมื่อชนชาติไทยอพยพเคลื่อนที่ลงมาสู่แหลมอินโดจีนโดยลำดับ จนได้ตั้งอาณาจักรไทยน่านเจ้าขึ้นเป็นอาณาจักรไทยแห่งหนึ่งที่หนองแสตาลีฟู หญิงไทยคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีทางการแต่งกายของตนไว้ ไม่ใช้ฝุ่นผัดหน้าหรือเขียนคิ้ว ใช้น้ำกลั่นจากต้นหม่อนทาผม หญิงผู้ดีนุ่งซิ่นไหม ใช้ผ้าไหมอีกผืนหนึ่งคาดเอวไว้ ผมมุ่นสูง บางทีถักเป็นเปียห้อยลงสองข้าง ใช้ต่างหูทำด้วยไข่มุก ทับทิมหรืออำพัน นิยมใช้รองเท้าฟาง



สมัยเชียงแสน(พ.ศ ๑๖๖๑–๑๗๓๑)
อาณาจักรน่านเจ้าสิ้นสุดลง ชนชาติไทยเคลื่อนสู่แหลมอินโดจีนรวบรวมกันเป็นอาณาจักรใหม่ เรียกลานนาไทย หรือเชียงแสน ราว พ.ศ. ๑๖๖๑–๑๗๓๑ เนื่องแต่เข้ามาอยู่ในเขตร้อน หญิงไทยจึงนุ่งซิ่นถุง แต่การทอผ้ามีลวดลายตกแต่งประดับประดา เช่น ซิ่นทอลายขวาง เกล้าผมสูง ปักปิ่นประดับผม

สมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๗๘๑–๑๘๒๖)
อาณาจักรสุโขทัยเริ่มราว พ.ศ. ๑๗๘๑ เป็นระยะเวลาใกล้กับที่ไทยอีกพวกหนึ่งเรียกตัวเองว่า ปงหรือปา ไปก่อตั้งอาณาจักรอาหม บัดนี้คือมณฑลอัสสัมในอินเดีย พ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย ทรงคิดตัวอักษรไทยขึ้น อิทธิพลทางวัฒนธรรมพราหมณ์และขอมแพร่มาถึงสตรีไว้ผมเกล้าสูง อย่างที่เรียกว่า โองขโดง คือรวบขึ้นไปเกล้ามวยกลางกระหม่อม มีเกี้ยวหรือพวงมาลัยสวม สนมกำนัลแต่งกรัชกายนุ่งห่มผ้าลิขิตพัสตร์ ผ้าสุวรรณพัสตร์ ประดับเครื่องอลังกาภรณ์ มีจดหมายเหตุบันทึกการแต่งกายสตรีว่า หญิงนุ่งผ้าสูงพ้นดิน ๒ - ๓ นิ้ว (กรอมเท้า) สวมรองเท้ากีบทำด้วยหนังสีดำสีแดง



สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
พระมเหสีเทวีแต่โบราณเสวยพระกระยาหารต่างเวลากับพระมหากษัตริย์ ย่อมโปรดให้ข้าหลวงตั้งเครื่องเสวยของพระองค์เองก่อนหรือภายหลัง เพื่อมีเวลาถวายปรนนิบัติพระราชสวามีได้เต็มที่ เครื่องทรงเป็นภูษาจีบห่มผ้าปัก มีเครื่องประกอบยศขัตติยนารี

ต้นสมัยอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓– ๒๑๓๑)
พระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ศิลปะการดนตรีขับร้องและกลอนเพลงเฟื่องฟู ไทยเริ่มนุ่งโจงกระเบน แปลงจากทรงหยักรั้งอย่างขอม หญิงนุ่งจีบห่มสไบ มีผ้าห่มชั้นในอีกผืนหนึ่งห่มอย่างผ้าแถบสไบชั้นนอกใช้ผ้าเนื้อหนาก็ได้ ตามกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถระบุว่า “เมื่องานใส่เศียรเพชรมวย” คือเกล้าไว้ที่ท้ายทอย "เกล้าหนูนยิกเกี้ยวแซม" คือ ผมเกล้าสูงไว้บนกระหม่อม

สมัยอยุธยา (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๐๑)
ในสมัยอยุธยารัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ วรรณคดีไทยเฟื่องฟูมาก เช่น มีกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งได้ใช้ขับเห่เรือพระที่นั่งมาจนปัจจุบัน การแต่งกายสตรีตามภาพพจน์นิพนธ์กล่าวว่า


“คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร”

และ “ผมเผ้าเจ้าดำขลับ แสงยับยับกลิ่นหอมรวย
ประบ่าอ่าสละสลวย คือมณีสีแสงนิล”

แสดงว่าสตรีนิยมไว้ผมยาว เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ได้นิพนธ์บทละครเรื่อง ดาหลังและอิเหนา ขึ้น ตามเค้าเรื่องที่ข้าหลวงเชื้อชาติมลายูเล่าถวาย


สิ้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ประเทศไทยต้องทำศึกสงคราม การแต่งกายของสตรีจึงเปลี่ยนแปลงไป ผมที่เคยไว้ยาวประบ่าก็ต้องตัดสั้น เพื่อสะดวกในการปลอมเป็นชายอพยพหลบหนี ห่มผ้าคาดอกแบบตะเบงมานรวบชายผูกเงื่อนที่ต้นคอ แสดงถึงหญิงไทย แม้จะเป็นเพศอ่อนโยนสวยงาม แต่ก็อาจปรับตัวรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ งานบ้านปรกติก็ต้องทำ เช่น ฝัดข้าวไว้หุง แต่พอมีสัญญาณภัยก็วางกะด้ง คว้าดาบ พร้อมที่จะสู้ได้ทันที



ยุคต้นรัตนโกสินทร์

วัฒนธรรมการแต่งกายในสมัยนี้ ทั้งทรงผม เสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ ยังคงลักษณะบางอย่างที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา แต่มีแตกต่างกันไปตามชุมชนทั้งในเมืองและท้องถิ่นต่าง ๆ
การแต่งกายตามประเพณีนิยมในภูมิภาคต่าง ๆ ของราษฎรจะแตกต่างไปจากประเพณีนิยมของราษฎรในเขตราชธานีภาคกลาง แม้แต่สังคมของคนกรุงเทพฯ ยุคนั้นการแต่งกายของราษฎรทั่วไปยังต่างกันไปตามชนชาติซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในขณะนั้น กลุ่มชนชาติต่าง ๆ อันมีพวกมอญ จาม ฝรั่ง ส่วนใหญ่รับราชการประจำกองทัพ คนจีนรับราชการในด้านกิจการค้าของรัฐในสังกัดกรมท่า คือการค้าสำเภาและการเก็บภาษีอากรภายใน


การแต่งกายโดยทั่วไปของคนในสมัยนี้




ชาย
ไว้ผมตัดสั้นที่เรียกว่า “ผมมหาดไทย” นุ่งผ้าโจงหรือ จีบ ตามธรรมดา ไม่นิยมสวมเสื้อ ยกเว้นในเทศกาลเข้าร่วมในงานพระราชพิธีต่างๆ







หญิง
ห่มสไบ นุ่งผ้าโจงหรือผ้าจีบ เครื่องประดับชายหญิงและเด็กรวมทั้งเครื่องแต่งกายนั้น มีมากน้อยแตกต่างกันไปตามฐานะของกลุ่มคนในสังคมซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มคนชั้นสูงและราษฎรสามัญ ลักษณะการแต่งกายตามแบบจารีตนิยมนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เมื่ออิทธิพลของชาติตะวันตกขยายตัวเข้ามาในดินแดนแถบนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการแต่งกายนี้ได้เกิดในกลุ่มชนชั้นนำก่อน


การแต่งกายของชนชั้นสูง
คนชั้นสูงในสังคมไทยต้นรัตนโกสินทร์ คือชนชั้นผู้นำ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำสูงสุด รองลงมาคือพระบรมวงศานุวงศ์ และถัดมาคือ ขุนนาง แบ่งฐานะเป็น ๒ ระดับตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ในระบบราชการคือ ขุนนางชั้นสูง ซึ่งเป็นขุนนางสัญญาบัตร ศักดินา ๔๐๐ ได้รับการถวายตัวในเวลาเข้ารับราชการ คนกลุ่มนี้มีตำแหน่งเข้าเฝ้าหน้าพระที่นั่งในเวลาเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน หรืองานพระราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งการต้อนรับแขกเมือง ทูตานุทูตต่างชาติ ขุนนางอีกระดับคือขุนนางผู้น้อย ศักดินาต่ำกว่า ๔๐๐ ไม่มีตำแหน่งในเวลาเข้าเฝ้า คนกลุ่มนี้นอกจากเป็นพวกเสมียนทนายประจำตัวของขุนนางผู้ใหญ่แล้วยังมีอีกพวกคือ กลุ่มคนจีนที่เข้ามาสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่มาประกอบการค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของภายในชุมชน หรือเป็นเจ้าภาษีนายอากรของรัฐเป็นผู้ควบคุมดุแลการค้ากับต่างประเทศ คือการค้าสำเภา คนกลุ่มนี้ได้รับพระราชทานตำแหน่งและยศศักดิ์ทางราชการ แต่มีศักดินาต่ำกว่า ๔๐๐ กลุ่มครอบครัวคนชั้นสูง ทั้งหญิงชายและเด็กที่เป็นเจ้านายและขุนนางเหล่านี้ มีวิถีชีวิตที่ถูกกำหนดด้วยแบบแผนและขนบธรรมเนียมทางราชการ การแต่งกายจึงเป็นไปตามรูปแบจารีตประเพณี


เครื่องทรงหรือเครื่องแต่งพระองค์ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เป็นแบบเครื่องพระองค์ที่กำหนดไว้ในกฏมณเฑียรบาล ซึ่งกำหนดไว้ลดหลั่นกันตามฐานะของเจ้านายเหล่านั้น ส่วนระเบียบเครื่องแต่งกายของขุนนาง กำหนดขึ้นแต่เฉพาะขุนนางชั้นสูงที่มีตำแหน่งเฝ้าเวลาเสด็จออกขุนนางเท่านั้น การแต่งกายของขุนนางในเวลาเข้าเฝ้าฯ ถึอเป็นพระราชนิยมที่ว่าไม่ทรงโปรดให้สวมเสื้อ แต่ต้องนุ่งผ้าสมปัก ซึ่งเป็นผ้าที่สวมได้เฉพาะเวลาเฝ้าเท่านั้น ห้ามนำไปนุ่งผิดกาละเทศะ คาดผ้ากรายแล้วเกี้ยวผ้าส่วนเวลาที่ขุนนางเหล่านี้ต้องตามเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนแห่เนื่องในพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีจองเปรียง พระราชทานพระกฐิน หรือเสด็จประพาสในที่ต่าง ๆ ขุนนางชั้นสูงเหล่านี้รวมทั้งภรรยาเอก ต้องแต่งกายตามประเพณีกำหนดด้วยเครื่องราชาปโภคตามลำดับยศและตามตำแหน่งขุนนางผู้นั้น

ในปีพุทธศักราช ๒๓๔๓ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงประกาศพระราชกำหนดระบุให้เครื่องแต่งกายบางอย่างเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะของขุนนางผู้ใหญ่ในกรมมหาดไทย กลาโหม จตุสดมภ์ เป็นต้นว่า ผ้าสมปักแบบปูมท้องนาก เครื่องแต่งกายของขุนนางตามแบบเก่านี้ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเมื่อสังคมไทยต้องติดต่อทางการค้าและการทูตกับประเทศตะวันตก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงประกาศแก้ไขระเบียบเครื่องแต่งกายของขุนนางในเวลาเข้าเฝ้าออกขุนนางให้ต้องสวม "เสื้ออย่างน้อย" (ดังเสื้อในรูป) ด้วย

การแต่งกายตามแบบกองทัพ
ในสังคมยุคนั้นเมื่อบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ชายไทยส่วนหนึ่งนิยมการศึกษาหาความรู้ด้านตำราวิชาอาคมและศาสตร์แห่งการต่อสู้ การแต่งกายของนักรบต้องจัดการให้ต้องตามตำรา เช่น นุ่งผ้าตามสีประจำวัน สวมเสื้อลงยันตร์ คาดเข็มขัด สวมมงคลบนหัว สวมแหวนถักพระพิรอด สะพายย่าม เป็นต้น

การแต่งกายของคนสามัญ
ราษฎรสามัญไทยมีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนาสวน และไร่ การแต่งกายจึงมีลักษณะทะมัดทะแมง กล่าวคือ นุ่งผ้าชิ้นเดียว ไม่สวมเสื้อ โพกผ้าที่ศีรษะ ไม่สวมรองเท้า ถ้าอยู่บ้านไม่ต้องทำงานก็นุ่งผ้าลอยชายหรือนุ่งโสร่งมีผ้าคาดพุง


ในฤดูเทศกาลงานพิธี เช่น พิธีเนื่องด้วยชีวิตประจำวันทางพุทธศาสนา ซึ่งจัดขึ้นที่วัดอันเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านชุมชน ในเวลาที่ชาวบ้านมาพบปะกัน การแต่งกายของชายจึงเรียบร้อยพิถีพิถันขึ้น มักนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นผ้าแพรสีต่าง ๆ และห่มผ้าคล้องคอ ปล่อยชายยาวทั้งสองข้างไว้ด้านหน้า หรือคล้องไหล่ทิ้งชายไว้ข้างหน้า หรือ พาดตามไหล่ไว้ ทัดดอกไม้ บุหรี่หรือ ยาดมไว้ที่หู ผัดหน้าด้วยแป้งหอม ตัดผมปีกหรือผมตัดแบบผู้ชายทั่วไป
สตรีชาวบ้านทั่วไปนุ่งผ้าจีบห่มสไบ ถ้าในเวลาทำงานหนักก็ใช้ห่มแบบตะแบงมาน ปล่อยชายหรือผูกชาย ถ้าเป็นเวลาอยู่บ้านก็ห่มเหน็บหน้าแบบผ้าแถบ ในเวลาออกจากบ้านจึงห่มสไบเฉียง ในฤดูหนาวห่มผ้าแพรเพลาะคลุมไหล่สีของผ้าชาวบ้านมักเป็นสีดำหรือเขียวตะพุ่น ผ้าห่มสีขาว ตัดผมปีก ถ้าเป็นคนวัยสาว ตัดสั้นเป็นแบบดอกกระทุ่ม แล้วปล่อยท้ายยาวงอนถึงบ่า ถ้าเป็นผู้ใหญ่ตัดผมปีกแบบโกนท้ายทอยสั้น สตรีที่แต่งงานแล้วเวลาอยู่บ้านอาจไม่ห่มสไบ หากเป็นสตรีชาวบ้านฐานะดีก็นุ่งผ้ายกทอด้วยไหมสีสดสวยกว่า ผู้ที่มีวัยสูงอายุ มักนุ่งห่มผ้าสีเรียบเป็นสีพื้น โดยเฉพาะผ้าตาขาวดำ ถือว่าเป็นสีสุภาพเหมาะแก่วัย



ยุครัตนโกสินทร์สมัยใหม่
(รัชกาลที่ ๕ - ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐)

นโยบายเปิดประเทศอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกาย เช่น โปรดให้ข้าราชการและเจ้านายสวมเสื้อเมื่อเข้าเฝ้า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ การเลิกไว้ผมทรงมหาดไทยของผู้ชายมาไว้ยาวแล้วตัดแบบชาวตะวันตกในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ต่อมาการติดต่อกับต่างประเทศมีมากขึ้น ทั้งด้านความสัมพันธ์ทางการทูต การขยายตัวทางการค้าของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่สั่งสินค้าจากตะวันตกเข้ามาขาย เพื่อรับกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวตะวันตก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวตะวันตกเข้ามามีส่วนสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการแต่งกายเดิม เชื่อว่าเป็นเพราะความนิยมใน "ความเจริญ” ของตะวันตก จึงรับเอาความคิดทางด้านความสวยงามตามทัศนคติของชาวตะวันตกเข้ามาด้วย

ในระยะต้นเป็นการดัดแปลงแบบตะวันตกผสมกับแบบการแต่งกายเดิม ราชสำนักเป็นแกนนำของความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะราชสำนักฝ่ายใน แต่การ “แต่งอย่างฝรั่ง” ก็เป็นที่ยอมรับเพียงเวลา “ออกการออกงาน” หรือเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เป็นพิเศษเท่านั้น ปกติยังคงแต่งกายตามประเพณีเดิม
นักเรียนไทยที่ได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เป็นแกนนำในการเผยแพร่แบบการแต่งกายของชาวตะวันตก ตลอดจนวิถีทางดำเนินชีวิตบางประการ เช่น การสังสรรค์ที่คลับสโมสร การจัดงานเลี้ยงที่เรียกว่า “ปาร์ตี้” (Party) ประกอบกับการสื่อสารกับประเทศตะวันตกและการสื่อสารภายในประเทศ การแต่งกายแบบ “สากลนิยม” จึงขยายตัวไปสู่กลุ่มชนชั้นกลาง


รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแก้ไขวัฒนธรรมการแต่งกายอย่างเป็น “การใหญ่” โดยเริ่มนำแบบการแต่งกายของชาวตะวันตกมาผสมผสานกับแบบการแต่งกายตามประเพณีเดิม โปรดให้เปลี่ยนการไว้ทรงผมจากทรงมหาดไทยมาไว้ผมยาวแล้วตัดแบบฝรั่ง เพื่อให้เหมาะสำหรับ "การเข้าสมาคมแบบฝรั่ง” เป็นการปรับปรุงตามประเพณีนิยมของชาวตะวันตกเป็นครั้งแรก

หลังจากการเสด็จประพาสอินเดียและพม่าในปีต่อมา ได้โปรดให้แก้ไขแบบการแต่งกายตั้งแต่ครั้งเสด็จสิงคโปร์นั้น เพื่อมากำหนดเป็น “ยูนิฟอร์ม” (UNIFORM)สำหรับเจ้านายและขุนนางเมื่อเข้าเฝ้า โดยแก้ไขแบบเสื้อ ซึ่งไม่เหมาะสำหรับอากาศเมืองไทย มาเป็นสวมเสื้อนอกสีขาวคอปิด ติดกระดุมห้าเม็ดแทน เรียกว่า "ราชแปตแตน” (RAJ PATTERN ภายหลังเพี้ยนเป็นเรียกว่า “ราชปะแตนท์” ) และยังคงนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมถุงน่องรองเท้า เหตุที่คงถุงน่องไว้เชื่อว่าเป็นเพราะเห็นเป็นเครื่องแต่งกายที่สุภาพ

ชายสามัญ โดยทั่วไปนุ่งโจงกระเบนผ้าลายผ้าพื้น หรือนุ่งผ้าลอยชายนิยมไม่ใส่เสื้อ ชายสูงอายุจะใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าชนิดอื่นพับแตะไว้ที่บ่า ส่วนคนหนุ่มจะใช้ผ้าคล้องไหล่ทิ้งชายมาข้างหน้า หรือห้อยคล้องคอโดยทิ้งชายไปข้างหลัง โดยสามารถใช้ประโยชน์เป็นทำผ้ากราบปัดยุงและยังคงไม่สวมรองเท้า


คนชั้นสูง เมื่อแต่งกายแบบลำลอง นุ่งผ้าลอยชายหรือผ้าโสร่ง สวมเสื้อคอกลมผ้าขาวบาง แขนเพียงศอก สมัยนี้ชายส่วนใหญ่เลิกไว้ผมทรงมหาดไทย มาไว้ผมยาวแล้วตัดอย่างฝรั่ง มีทั้งหวีแสกและหวีเสย นิยมตบแต่งร่างกายตามความนิยมแบบฝรั่งด้วย เช่น ห้อยสายนาฬิกาพกที่อกเสื้อ สวมหมวกรูปทรงแบบยุโรป คล้องไม้เท้าไว้ที่แขน ขุนนางบางคนไว้หนวดหนาปรกริมฝีปาก



การแต่งกายของสตรี โดยเฉพาะสตรีในราชสำนัก มีการดัดแปลงแก้ไขหลายครั้ง ต้นรัชกาลการภายในวังฝ่ายในขึ้นกับสมเด็จบรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓) ซึ่งโปรดให้เจ้านายฝ่ายในเปลี่ยนจากนุ่งโจงมานุ่งจีบห่มแพรสไบเฉียงตัวเปล่า ถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้แก้ไขใหม่คือ ให้คงการนุ่งจีบไว้เฉพาะเมื่อจะแต่งกับห่มตาดหรือสไบปัก ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายเต็มยศใหญ่ของสตรีในวังเท่านั้น ปกติให้นุ่งโจงใส่เสื้อแขนกระบอก แล้วห่มผ้าสไบเฉียงทับตัวเสื้อ และให้สวมรองเท้ากับถุงเท้าหุ้มตลอดน่อง สำหรับเสื้อแขนกระบอกในสมัยนี้ มีการดัดแปลงเป็นแบบต่าง ๆ แล้วแต่จะตบแต่งตามความพอใจของแต่ละบุคคล เชื่อว่า เมื่อเลิกนุ่งจีบห่มสไบตัวเปล่าเครื่องประดับแบบที่เหมาะกับการแต่งกายดังกล่าว เช่น สร้อยสังวาลย์ กำไลต้นแขน จี้ขนาดใหญ่ ก็มักจะไม่ได้นำออกมาใช้ จึงหันไปประดับเครื่องประดับอื่นแทน เช่น เข็มกลัดติดผ้าสไบ ทำรูปแบบอย่างเข็มกลัดติดเสื้อของสตรีตะวันตก


ต่อมาได้มีการดัดแปลงการห่มสไบมาเป็นสะพายแพรแทน โดยการนำเอาแพรที่จับตามขวางเอวมาจีบตามยาวอีกครั้ง จนเหลือเป็นผืนแคบตรึงให้เหมาะแล้วสะพายบนบ่าซ้าย รวมชายไว้ที่เอวด้านขวา เป็นที่นอยมกว่าการห่มสไบเฉียง อาจเป็นเพราะว่าแพรสะพายไม่ปิดบังความงามของเสื้อ เช่น การห่มสไบ เพราะตัวเสื้อได้มีการประดับประดามาก
หลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ได้มีการนำแบบอย่างการแต่งกายของสตรียุโรปมาดัดแปลงแก้ไข สตรีชั้นสูงเริ่มใช้เนื้อตัดตามแบบอังกฤษสมัยควีนวิคตอเรีย เป็นเสื้อแขนพองตรงไหล่ แขนยาว และบางครั้งก็นิยมแขนเพียงศอกเรียกว่า “เสื้อแขนหมูแฮม” หรือ “ขาหมูแฮม” ตัวเสื้อประดับประดาอย่างงดงามด้วยลูกไม้ หรือติดโบว์ระยิบไปทั้งตัว ตัวเสื้อพอดีตัว คอเสื้อนิยมคอตั้งสูง
แต่ยังคงนุ่งโจงกระเบนเป็นผ้าม่วง ผ้าลาย หรือผ้าพื้นเข้ากับสีเสื้อแล้วแต่โอกาส และสะพายแพรสวมถุงน่องรองเท้า


ตอนปลายรัชกาล แบบเสื้อได้เปลี่ยนไปอีก ช่วงนี้นิยมใช้ผ้าแพร ผ้าไหม และผ้าลูกไม้ตัดแบบยุโรปที่นิยมกันในสมัยนั้นคือ คอตั้งสูงแขนยาวฟูพองมีระบายลูกไม้เป็นชั้น ๆ รอบแขนเสื้อ เอวเสื้อจีบเข้ารูปหรือคาดเข็มขัด และยังสะพายแพรสวมถุงเท้าที่มีลายโปร่งหรือปักด้วยดิ้นงดงาม สวมรองเท้าส้นสูงสำหรับแพรสะพายไม่ใช้แพรจีบและตรึงอย่างแต่ก่อน แต่ใช้แพรฝรั่งระบายให้หย่อนพองามแทน เป็นผ้าที่สั่งเข้ามาสำหรับเป็นแพรสะพายโดยเฉพาะ เริ่มใช้เครื่องสำอางที่ส่งมาจากตะวันตกบ้าง เช่น น้ำหอม เครื่องประดับนิยมสร้อยไข่มุกซ้อนกันหลาย ๆ สาย ประดับเพชรนิลจินดามากกว่าแต่ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะออกแบบแล้วสั่งทำจากต่างประเทศ ส่วนหญิงชาวบ้านทั่วไปนั้น ยังคงนุ่งโจงกระเบน ส่วนมากเป็นผ้าพื้นและห่มผ้าแถบอยู่กับบ้านเช่นเคย สตรีในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ ๕ เลิกไว้ผมปีก แต่เปลี่ยนมาไว้ผมยาวประบ่าแทน ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม


การแต่งกายของทั้งชายและหญิงได้เปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากขึ้นในระยะต่อมา ข้าราชการและคนในสังคมชั้นสูงทั่วไปยังคงนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน ใส่เสื้อราชปะแตนท์ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อมีพระราชทานเลี้ยงในวัง โปรดให้เจ้านายและข้าราชการนุ่งโจงกระเบนสีกรมท่า แต่ใส่เสื้อราชประแตนท์สีดำแทนสีขาว จนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกายบางอย่างตามนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้มีการตราพระราชบัญญัติการแต่งกายพลเรือนให้ข้าราชการชายนุ่งกางเกงขายาวแทนผ้าม่วงโจงกระเบน แต่แบบเสื้อยังไม่มีการกำหนดให้ใช้แบบเสื้ออย่างชาวตะวันตก อย่างไรก็ตาม การนุ่งกางเกงก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในเวลานั้น

สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา การแต่งกายแบบลำลองของชาย เปลี่ยนจากการนุ่งผ้าลอยชายมาเป็นนุ่งกางเกงแพรลายสีต่าง ๆ เรียกว่า “กางเกงจีน” ยังคงใส่เสื้อคอกลมผ้าขาวบาง ถ้าจะออกนอกบ้านก็จะสวมเสื้อทับอีกชั้นหนึ่งและสวมหมวกเพื่อเป็นการสุภาพ
การแต่งกายของสตรีสมัยต้นรัชกาลที่ ๖ ยังคงนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อระบายลูกไม้ ต่อมาเริ่มนุ่งซิ่นตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๖ นิยมผ้าซิ่นมลายเชิงงดงาม แบบเสื้อจึงเปลี่ยนไปเพื่อให้เหมาะสำหรับใส่เข้าชุดกับผ้าซิ่น สตรีสมัยนี้ยังคงสวมถุงน่องและรองเท้าส้นสูง แต่ถุงน่องไม่นิยมที่เป็นผ้าโปร่งมีลวดลายหรือปัดดิ้นอย่างแต่ก่อน หันไปนิยมถุงน่องเป็นสีพื้นธรรมดา ให้เข้ากับสีฟ้าซิ่นหรือสีเสื้อแทน
ทางด้านทรงผมในระยะแรก มีพระราชดำริให้สตรีในราชสำนักปล่อยผมยาวแบบตะวันตกแทนการไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ต่อมาก็เกล้าผมยาวนั้นตลบไว้ที่ท้ายทอย เรียกว่า ข้าง ๆ ตัด“ผมโป่ง” บางคนนิยมไว้ “ผมบ๊อบ” คือตัดผมยาวเสมอคอ ผมข้าง ๆ ตัดให้ดูเป็นจอนหู ถ้าจอนใหญ่มากเรียกว่า“บ๊อบหู” ในสมัยนี้นิยมใช้เครื่องประดับคาดที่ศีรษะ ผู้ริเริ่มคือ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระวรกัญญาปทาน

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ แบบเสื้อต่าง ๆ ของสตรีแทบจะกล่าวได้ว่า ลอกมาจากหนังสือแบบเสื้อตะวันตกที่ส่งเข้ามาขายสนสมัยนั้น หรือลอกเลียนจากภาพยนตร์ฝรั่งที่เข้ามาฉาย แบบเสื้อสตรีสมัยนี้คือเสื้อตัวหลวมไม่เข้ารูป ตัวยาวคลุมสะโพก แขนเสื้อสั้นมากหรือไม่มีแขน นิยมตบแต่งชายเสื้อ ตรงเอวด้านซ้ายเป็นเหมือนโบว์ผูกทิ้งชายยาว นุ่งผ้าซิ่นโดยเปลี่ยนมาตัดเย็บเป็นถุงสำเร็จแทน คือเย็บผ้าซิ่นป้ายให้พอดีเอว ไม่ต้องคาดเข็มขัด ชายผ้าถุงสั้นขึ้นมาจนเหลือปรกเข่าเพียงเล็กน้อยหรือยาวพอดีเข่า เครื่องประดับนิยมสายสร้อยและต่างหูยาวแบบต่าง ๆ สวมรองเท้าส้นสูงและถุงน่องสีเข้ากับสีผ้าซิ่น สำหรับถุงน่องนั้น ต่อมานิยมเป็นถุงน่องไนล่อนตามที่ส่งเข้ามาขายด้านทรงผมสตรี ดัดเป็นคลื่นด้วยน้ำยาดัดผมที่ส่งเข้ามาขายแล้วหวีเรียบร้อย เรียกกันว่า “ผมคลื่น” ถ้าไม่ตัดผม ก็จะตัด “ผมบ๊อบ” เดิมนั้นให้สั้นเข้าที่ท้ายทอย จนเห็นเชิงผมสูงคล้ายผมผู้ชาย เรียกว่าทรง “ซิงเกิล”


ถ้าซอยเชิงผมให้สูงขึ้นไปมากและตัดผมเปิดให้เห็นใบหู จนดูเป็นทรงผมผู้ชาย เรียกว่าทรง “อีดันคร็อป” แต่นิยมเฉพาะผู้ที่ “ทันสมัย” บางคนเท่านั้น
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐ การแต่งกายของสตรีไทยได้วิวัฒนาการเป็นการนุ่งกระโปรงใส่เสื้ออย่างฝรั่งล้วนและเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มของแฟชั่นจากตะวันตก แต่เมื่ออยู่กับบ้านตามปกติยังคงนุ่งผ้าซิ่นใส่เสื้อธรรมดา


กล่าวโดยทั่วไป แม้การแต่งกายแบบตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงในสังคมไทยในช่วงนี้ แต่อิทธิพลนั้นก็ยังครอบคลุมเฉพาะชนบางกลุ่มเท่านั้น สามัญชนทั่วไปยังคงแต่งกายตามประเพณีเดิม กล่าวคือ ชายยังคงนิยมสวมกางเกงแพร หรือสวมกางเกงขาสามส่วนที่เรียกว่า “กางเกงไทย” ใส่เสื้อธรรมดาและไม่นิยมสวมรองเท้า สตรียังคงนิยมใส่เสื้อคอกระเช้า เก็บชายเสื้อไว้ในผ้าซิ่นหรือโจงกระเบน ถ้าจะออกนอกบ้านก็จะแต่งสุภาพขึ้น


สมัยรัฐนิยมและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ วัฒนธรรมการแต่งกายของไทยมีลักษณะเด่นด้านการนิยมแบบตะวันตกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงแรก (พ.ศ. ๒๔๘๑ -๒๔๘๗) มีนโยบายสำคัญในการสร้างชาติด้วยลัทธิชาตินิยม โดยได้มีการวางเป้าหมายปลูกฝังให้ประชาชนชาวไทยเป็นผู้มี “วัธนธัมดี มีศิลธัมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายเรียบร้อย มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี"
ด้านการแต่งกายรัฐได้วางระเบียบปฏิบัติ โดยเฉพาะ รัฐนิยมฉบับที่ ๑๐ ประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๔ มีใจความสำคัญคือ
เน้นการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเมื่อปรากฏตัวในที่ชุมนุมชน หรือสาธารณชน และแยกแยะประเภทเครื่องแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยสำหรับประชาชนชาวไทย โดยกำหนดการแต่งกายและทรงผมแบบใหม่ ขอให้สตรีทุกคนไว้ผมยาว เลิกใช้ผ้าโจงกระเบนเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงแทน เลิกการใช้ผ้าผืนเดียวคาดอกหรือเปลือยกายท่อนบน ให้ใส่เสื้อแทน

ชายนั้นขอให้เลิกนุ่งกางเกงแพรสีต่าง ๆ หรือนุ่งผ้าม่วง เปลี่ยนมาเป็นนุ่งกางเกงขายาวแทน กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ วางระเบียบเครื่องแต่งกายของข้าราชการในเวลาทำงานปกติ และทั่วไปเพื่อให้เป็นแบบอย่างอันดี ในเวลาทำงานปกติข้าราชการหญิงต้องใส่เสื้อขาวนุ่งกระโปรงสีสุภาพ หรือผ้าถุง และสวมรองเท้าหุ้มส้น ถุงเท้าสั้นหรือยาวก็ได้ และต้องสวมหมวก สีของเครื่องแต่งกายนั้นถ้าเป็นงานกลางแจ้งควรใช้สีเทา ถ้าเป็นงานในร่มหรือเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรใช้สีน้ำเงินเข้ม เป็นต้น


รัฐบาลได้จัดตั้งสถาบันและคณะกรรมการวางระเบียบเครื่องแต่งกายสตรีทั้งที่เป็นข้าราชการและที่มีตำแหน่งเฝ้า ต่อมาได้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ มีสาขา คือ สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง มีหน้าที่อย่างหนึ่ง คือ พิจารณาเครื่องแต่งกายในโอกาสต่าง ๆ และกำหนดเครื่องแต่งกายผู้ประกอบอาชีพบางจำพวก เช่น คนขายอาหาร พนักงานเดินโต๊ะอาหาร (พนักงานเสิร์ฟ) ช่างตัดผม หญิงตัดผม เป็นต้น มีการวางระเบียบปฏิบัติตลอดจนให้ความหมายของเครื่องแต่งกายอย่างละเอียด

การใส่หมวกของสตรีเป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญมาก ถึงกับมีคำว่า “มาลานำชาติไทย” มีการแบ่งหมวกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ประเภททั่วไป และประเภทพิเศษ
ประเภททั่วไป หมายถึง ประเภทที่ใช้ในการทำงานในชีวิตประจำวัน เพื่อความสุภาพเรียบร้อยสมกับประเพณีนิยม และเพื่อประโยชน์ในการกันแดด กันฝน กันน้ำค้าง มักเป็นหมวกมีลักษณะเรียบ ปีกเล็ก หรือไม่มีปีก สีไม่ฉูดฉาด

ทรงผมของสตรีไทยในสมัยนี้ เพิ่งจะเริ่มนิยมผมดัดด้วยไฟฟ้าเป็นลอนมากบ้างน้อยบ้าง นิยมไว้ผมยาวมากขึ้น มีการดัดยาวและดัดสลวยแบบหญิงตะวันตก สตรีสูงอายุมักนิยมเกล้ามวย ส่วนใหญ่เป็นมวยแบบเรียบ
ทรงผมของผู้ชายนั้น ทั่วไปนิยมทรงสั้นแบบรองทรงคือไว้ยาวมากขึ้นและตัดสั้นด้านข้างตามแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖

การแต่งกายของชายไทย

เครื่องแต่งกายของชายไทยนิยมแบบสากล ประกอบด้วยหมวก เสื้อชั้นนอกคอเปิดหรือคอปิด ถ้าเป็นคอเปิดต้องใส่เสื้อชั้นในคอปกมีผ้าผูกคอเงื่อนกลาสีหรือเงื่อนหูกระต่าย กางเกงขายาวแบบสากลสวมรองเท้าถุงเท้า

นอกจากกางเกงขายาวที่สวมปกติแล้วชายนิยมนุ่งกางเกงที่เรียกว่า “กางเกงขาสั้นแบบไทย” ด้วยคือ กางเกงที่นักเรียนใช้ หรือนิยมใส่เล่นกีฬาเป็นกางเกงขาสั้นเพียงแค่เข่า หรือใต้เข่าประมาณ ๑ ฝ่ามือ ถือว่าเป็นกางเกงสุภาพใช้ใส่ลำลอง หรือไปสโมสรก็ได้


เป็นที่นิยมมากในระหว่างน้ำท่วมครั้งใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ วิธีการปฏิวัติวัฒนธรรมการแต่งกายในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รัฐบาลพยายามให้มีการปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายแบบใหม่อย่างทั่วถึง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีการเผยแพร่คำขวัญที่ว่า “สวมหมวก ไว้ผมยาว นุ่งถุง สวมเสื้อ สวมถุงเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น” ชี้แจงเหตุผลว่านุ่งผ้าถุงประหยัดมากกว่าการนุ่งโจงกระเบน เป็นต้น





ระยะ พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๒๕

ในช่วงเวลานี้ได้มีวิวัฒนาการการแต่งกายแบบไทยที่สำคัญคือ การแต่งกายแบบไทยตามแนวพระราชนิยม คือ ชุดไทยพระราชนิยมสำหรับหญิง และชุดไทยพระราชทานสำหรับชาย ทั้งสองชุดนี้ได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นชุดประจำชาติของไทย

การแต่งกายชุดไทยพระราชนิยม
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวาระที่โดยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป และ สหรัฐอเมริกา โดยทีทรงมีพระราชดำริว่าไทยเรายังไม่มีชุดแต่งกายปะจำชาติที่เป็นแบบแผนเหมือนชาติอื่น ๆ และการเสด็จประพาสครั้งนี้ก็เป็นราชการสำคัญ จึงโปรดฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้หารือกับผู้รู้ทางประวัติศาสตร์ ค้นคว้าเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของไทยสมัยต่าง ๆ และโปรดให้คุณอุไร ลืออำรุง ช่างตัดฉลองพระองค์เลือกแบบต่าง ๆ มาดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสม จัดเป็นชุดไทยพระราชนิยมหลายชุด และกำหนดให้เลือกใช้ในวาระต่าง ๆ กัน คือ

ชุดไทยเรือนต้น สำหรับใช้ในโอกาสลำลอง เหมาะแก่งานที่ไม่เป็นพิธีการ เช่น งานกฐิน งานทำบุญต่าง ๆ ใช้ผ้าซิ่นฝ้ายหรือไหม มีริ้วตามยาวหรือขวาง หรือผ้าเกลี้ยงมีเชิงยาวจรดข้อเท้า ป้ายหน้า สีของเสื้อจะกลมกลืนหรือตัดกันกับผ้าซิ่นก็ได้ เป็นชุดคนละท่อน แขนสามส่วน ผ่าอกกระดุม ๕ เม็ด คอกลมตื้นไม่มีขอบ เครื่องประดับที่ใช้นิยมติดเข็มกลัดขนาดใหญ่พอสมควรเหนืออกเสื้อด้านซ้าย ตุ้มหูต้องเป็นแบบติดกับใบหู สร้อยคอประเภทไข่มุกหรือสร้อยทองสองสามสาย

ชุดไทยจิตรลดา คือ ชุดไทยพิธีกลางวัน ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิงหรือยกดอกทั้งตัว ผ้าซิ่นยาวป้ายหน้าคนละท่อนกับตัวเสื้อซึ่งแขนยาว ผ่าอก คอกลม มีขอบตั้งน้อย ๆ ใช้ในงานที่ผู้ชายแต่งเต็มยศ เช่น รับประมุขของประเทสที่มาเยือนเป็นทางการ พิธีสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษา หญิงไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เนื้อผ้าควรสวยงามมากให้สมโอกาส สำหรับงานพิธีนิยมเครื่องประดับที่หรูหราขึ้น


ชุดไทยอมรินทร์ คือ ชุดไทยสำหรับงานพิธีตอนค่ำ ไม่คาดเข็มขัด ใช้ผ้ายกไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งชุด ผู้สูงอายุอาจใช้คอกลมกว้าง ไม่มีขอบตั้งและแขนสามส่วนได้ เครื่องประดับเป็นชุดสร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือ ซึ่งเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานเฉพาะวันเฉลิมพระชนมพรรษา หญิงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย

ชุดไทยบรมพิมานใช้ในพิธีตอนค่ำที่ใช้เข็มขัด ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทองมีเชิงหรือยกทั้งตัวก็ได้ ตัดแบบติดกัน ซิ่นมีจีบยกข้างหน้าและมีชายพกใช้เข็มขัดไทยคาดซิ่นยาวจรดข้อเท้า เสื้อแขนยาว คอกลม มีขอบตั้งผ่าด้านหน้าหรือด้านหลังก็ได้ ชุดนี้ใช้ในงานเต็มยศหรือครึ่งยศ งานเลี้ยงอย่างเป็นทางการ เช่น งานอุทยานสโมสร งานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ใช้เครื่องประดับสวยงาม

ชุดไทยจักรีหรือชุดไทยสไบ ใช้ในพิธีเต็มยศ งานราตรี ผ้านุ่งจีบยกข้างหน้ามีชายพก คาดเข็มขัดไทยและห่มสไบ ผ้ายกเป็นแบบมีเชิงหรือยกทั้งตัว เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ทิ้งชายยาวด้านหลังพอสมควร เครื่องประดับงดงาม


ชุดไทยจักรพรรดิ์ เป็นแบบไทยแท้แบบหนึ่ง ตัวซิ่นใช้ผ้ายกทั้งตัว มีเชิงยกไหมทองหรือดิ้นทองจีบหน้านางมีชายพก ห่มแพรจีบแบบไทย สีตัดกับผ้านุ่งเป็นชิ้นที่หนึ่งก่อน แล้วใช้ผ้าห่มปักอย่างสตรีบรรดาศักดิ์สมัยโบราณ ห่มทับแพรจีบอีกชั้นหนึ่ง


ชุดไทยศิวาลัย เป็นแบบไทยแท้ เสื้อใช้ผ้าสีทองเหมือนสีเนื้อ ตัดแบบแขนยาว เสื้อใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง ตัดแบบติดกัน ซิ่นยาว จีบหน้านางมีชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาด ตัวเสื้อแขนยาว คอกลมมีขอบตั้งเล็กน้อย ผ่าหลัง ตัวเสื้อตัดติดกับซิ่นคล้ายแบบไทยบรมพิมาน แต่ห่มผ้าปักลายไทย ใช้ในโอกาสพิเศษ ที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ



ชุดไทยดุสิต สำหรับงานพิธีตอนค่ำ เน้นการปักตกแต่งตัวเสื้อเป็นลวดลวยด้วยไข่มุก ลูกปัด และเลื่อม ฯลฯ ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง มีจีบยกข้างหน้า และชายพก คาดชายพกด้วยเข็มขัดไทย ตัวเสื้อแบบคอกลมกว้าง ไม่มีแขน ผ่าหลังปักแต่งลวดลายที่ตัวเสื้อ เหมาะสำหรับการสวมสายสะพายในงานพระราชพิธีที่กำหนดให้แต่งเต็มยศ


ชุดไทยประยุกต์แบบต่าง ๆ ดัดแปลงมาจากชุดไทยจักรี นิยมใช้กันมาก ผ้าซิ่นยกมีเชิงหรือยกทั้งตัว จีบหน้านาง มีชายพก คาดเข็มขัดไทย เสื้อคอกลมหรือคอกว้าง ไม่มีแขน แต่นิยมปักเลื่อมลูกปัด ตกแต่งสวยงาม ใช้ในงานราตรีสโมสรหรือสำหรับเจ้าสาว








การแต่งกายแบบไทยชุดพระราชทาน

เดิมชายไทยนิยมแต่งกายแบบสากลนิยม ต่อมาได้มีการคิดค้นแบบเสื้อสำหรับชายไทยขึ้น เรียกว่า ชุดพระราชทานและค่อนข้างจะเป็นที่นิยมใส่กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากประหยัด เรียบร้อย กระทัดรัดดูสวยงามและสวมใส่สบาย ชนิดของผ้าเลือกใช้ตามความเหมาะสม แบบของเสื้อกำหนดเป็น ๓ แบบ คือ
๑. เสื้อชุดไทยแขนสั้น ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย ผ่าอกตลอด คอตั้งสูงประมาณ ๓.๕ – ๔ ซม. มีสาบกว้างประมาณ ๓.๕ ซม. ขลิบรอบคอ สาบอก และที่ปลายแขนซึ่งจะพับหรือไม่ก็ได้ ติดกระดุมหุ้มผ้าสีเดียวกับเสื้อ ๕ เม็ด กระเป๋าบนจะมีหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ามีต้องเป็นกระเป๋าเจาะด้านซ้าย ๑ กระเป๋า ด้านล่างมีกระเป๋าเจาะ ๒ กระเป๋า อยู่สูงกว่ากระดุมเม็ดล่างสุดเล็กน้อย มีขลิบที่กระเป๋า ชายเสื้อจะผ่าข้างที่ชายกันตึงก็ได้ ชุดนี้มักใช้สีเรียบจาง ลวดลายสุภาพใช้ในโอกาสธรรมดาในการปฏิบัติงานหรือพิธีกลางวัน ส่วนกลางคืนอาจใช้สีเข้ม

๒. ชุดไทยแขนยาว ส่วนอื่นเหมือนกับชุดไทยแขนสั้น แต่ตรงส่วนที่เป็นแขนยาวให้ตัดแบบเดียวกับเสื้อสากล มีขลิบที่ปลายแขนเสื้อ
๓. ชุดไทยแขนยาวคาดเอว ตัวเสื้อเหมือนแบบที่ ๒ แต่เพิ่มผ้าคาดเอวขนาดกว้างประมาณ ๑๐ - ๑๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๖ – ๗ ฟุต เวลาคาดเอวพับ ๓ หรือ ๔ ทบ
ชุดไทยพระราชทานแขนยาวนี้ ส่วนมากมักจะใช้ในพิธีที่กำหนดว่าเป็นชุดสากล หรือ ชุดราตรีสโมสร
ส่วนงานอื่น ๆ เช่น งานศพใช้ได้ทั้งเสื้อแขนสั้นและแขนยาว สีเสื้อจะเป้นสีขาวหรือดำก้ได้แต่ไม่ต้องติดแขนทุกข์


การแต่งกายแบบสากลนิยม
การแต่งกายสตรีในระยะ พ.ศ. ๒๕๐๐ – ปัจจุบัน กล่าวได้คือ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขอร้องให้สตรีนุ่งกระโปรง สวมหมวกและเลิกกินหมาก เพื่อจะได้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ราว พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา มีแฟชั่นกระโปรงนิวลุค (New Look)

ชุดกระโปรงได้มีวิวัฒนาการมาหลายขั้นตอน ได้เปลี่ยนเป็นกระโปรงสั้น ซึ่งมีแบบสั้นแค่เข่าและเหนือเข่าที่เรียกว่า มินิสเกิ๊ตและไมโครสเกิ๊ต (Mini skirt and Micro skirt) ต่อมามีกระโปรงชุดติดกันทรงเอไลน์ (A Line) ต่อมาชายกระโปรงยาวครึ่งน่องเรียกว่า ชุดมิดี้ (Midi) ถ้ายาวถึงกรอมเท้าเรียกว่าชุด แมกซี่ (Maxi)
นอกจากนี้ก็มีชุดแลลอด (See through) ส่วนมากใช้ผ้าซับในหรือชุดชั้นในสีเดียวกับผิวเนื้อคนสวมใส่ สำหรับชายกระโปรงภายหลังกลับหดสั้นขึ้นอีก ปัจจุบันอยู่ในระดับใต้หรือเหนือเข่าเล็กน้อย หรือเสมอเข่า
สำหรับแฟชั่นกางเกง เป็นที่กล่าวขวัญและสะดุดตามากก็คือทรงฮอทแพ้นท์ (Hot pants) ซึ่งเป็นกางเกงขาสั้นถึงสั้นมาก ใช้ได้ทุกโอกาส การนิยมกางเกงมีมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวกกระทัดรัดกว่ากระโปรง ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นยุคของกางเกงทรงจีบพองหรือรูดรอบๆ เอว ยาวแค่เข่าหรือข้อเท้า
รองเท้าเปลี่ยนไปตามแฟชั่นเสื้อผ้า เช่นกระโปรงนิวลุคสวมรับกับรองเท้าหัวแหลมทั้งส้นเตี้ยและสูง
ส้นเล็กแบบส้นเข็ม ข้อสังเกตก็คือ เมื่อใดชายกระโปรงยาวส้นรองเท้าจะเรียวเล็กลง ถ้าชายกระโปรงสั้นขึ้น รองเท้าจะมีส้นเตี้ยและใหญ่
สำหรับทรงผมนั้น การดัดผมทำให้เกิดทรงผมต่าง ๆ เช่น ผมทรงบ๊อบ ซิงเกิล ผมดัดเป็นลอน หรือ หยิกฟูทั้งหัว ทรงรากไทร ทวิกกี้ ผมเกล้าแบบต่าง ๆ หรือผมทรงแอฟโร (afro) สิ่งที่น่าสนใจในยุคนี้ได้แก่วิกผม ( Wig ) ซึ่งแพร่หลายมาจากโลกตะวันตก มีทั้งของบุรุษและสตรี มีราคาแพงแต่ช่วยประหยัดเวลาและสะดวกมาก

การแต่งกายของบุรุษนั้นยึดแนวตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างแต่ก็ไม่โลดโผนเหมือนสตรี เช่น เสื้อนิยมปกใหญ่ขึ้น พอเบื่อก็เปลี่ยนเป็นปกเล็ก เน็คไทเปลี่ยนขนาดจากเปลี่ยนจากใหญ่เป็นกลาง และเล็กตามสมัยนิยม มีหลายรูปแบบ ส่วนกางเกงนิยมทรงหลวมมีจีบบ้าง เรียบบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเครื่องแต่งกายสากลบางแบบไม่เหมาะกับสภาพพดินฟ้าอากาศ และสภาพแวดล้อมของเมืองไทย เมื่อมีการคิดแบบเสื้อพระราชทานขึ้นจึงเป็นที่นิยมสวมใส่กันแพร่หลาย
ในภาวะเศรษฐกิจและสังคมทุกวันนี้ “เสื้อสำเร็จรูป” ดูจะมีบทบาทที่เหมาะสมกับกาลเวลามากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่มีราคาถูก ประหยัดเวลาและสะดวกในการซื้อหา ทั้งฝีมือในการตัดเย็บก็ไม่เลวนัก เสื้อผ้าสำเร็จรูปมีทั้งของบุรุษ สตรีและเด็ก เป็นที่นิยมแพร่หลาย สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วไป และมีการผลิตเป็นสินค้าส่งออกนำรายได้เข้าประเทศปีละมาก ๆ ด้วย




ยุค ๒๕๒๕ - ๒๕๓๗ - ๒๕๔๔

หญิงไทยในยุคนี้จะแต่งกายตามสมัยนิยมและกล้าที่จะแต่งชุดที่ขัดกับวัฒนธรรมไทย เช่น นุ่งกระโปรงสั้นเหนือเข่าจนเห็นขาอ่อน (mini skirt ) ใส่เสื้อเปิดพุง หรือรัดรูป ฯลฯ บางแฟชั่นก็เป็นกระโปรงบานยาวกรอมเท้า ฯลฯ ตามแต่จะได้รับสื่อแฟชั่นจากทุกมุมโลก ซึ่งเข้าสู่สมัยเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน แฟชั่นการแต่งกายสมัยใหม่ระบาดออกไปสู่วัยรุ่นไทยทุกจังหวัดอย่างรวดเร็วผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะการแต่งกายเลียนแบบดารานักร้อง นักแสดงวัยรุ่น ค่านิยมของการแต่งกายเปลี่ยนแปลงไปตามอาชีพ ตามวัยและตามสภาวะแวดล้อม “แฟชั่นกางเกง” นับเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมในเกือบทุกวัยทุกอาชีพ การนุ่งกางเกงนับเป็นเรื่องปกติสำหรับหญิงไทย กางเกงผ้ายีนส์เข้ามามีบทบาทมากในกลุ่มวัยรุ่น
อาจกล่าวได้ว่าในช่วงนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีรูปแบบหรือไม่อย่างไร คงหมุนไปตามกระแสแฟชั่นของโลก

ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เริ่มดำเนินโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ และสืบทอดวัฒนธรรมไทยในสาขาต่าง ๆ


การส่งเสริมการใช้ผ้าไทย การแต่งกายแบบไทย เป็นนโยบายสำคัญที่ได้มีการสนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดขึ้นมานับตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ผลของการดำเนินตามนโยบายการใช้ผ้าไทยก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ทั้งเป็นการส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมงานหัตถกรรมพื้นบ้านประเภทสิ่งทอไทย เป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้า การออกแบบลายผ้า การมัดย้อมให้สวยงาม มีการนำผ้าไทยมากำหนดเป็นแบบเสื้อชุดไทยพระราชทานสำหรับบุรุษ นับว่าเป็นครั้งสำคัญที่ได้มีการกำหนดแบบเสื้อไทยสำหรับสุภาพบุรุษและกำหนดให้ใช้แทนชุดสากลได้ นับเป็นแบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์การแต่งกายแบบไทย ประหยัดและส่งเสริมหัตถกรรมของคนไทย อันเป็นการรณรงค์และสืบสานวัฒนธรรมด้านการแต่งกายได้อย่างดียิ่ง ในช่วงปีดังกล่าวการแต่งกายแบบไทยโดยใช้ผ้าทอที่ผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้รับการสนับสนุนให้นำไปสู่การปฏิบัติโดยเริ่มจากกลุ่มข้าราชการชาย หญิง และแพร่หลายออกไปสู่ประชาชนและสาขาอาชีพอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง มีการเลือกสรรผ้าไทยจากท้องถิ่นต่าง ๆ มาออกแบบ ตัดเย็บอย่างสวยงาม วงการแฟชั่นทั้งชาย หญิง ต่างยอมรับความงดงามของผ้าไทยและสนับสนุนผ้าไทยกันอย่างเต็มที่ นับได้ว่าการริเริ่มใช้ผ้าไทยตามโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ มานั้น ได้รับการสืบสานมาจวบจนปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๔) ในทุกสาขาอาชีพ
การแต่งกายยุคเทคโนโลยีข่าวสารหรือยุคไอที เปรียบเทียบกับการแต่งกายแบบไทยกับวัยรุ่นยุคไอที.........แบบใดจะยืนยงกว่า...น่าจะพิจารณาได้.



การเก็บรักษาและการใช้ผ้าไทยอย่างถูกวิธี
โดย นายสุจริต บัวพิมพ์

เมืองไทยจัดอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนชื้น มี ๓ ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน อาชีพในอดีตของคนไทยคือ การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ ว่างจากฤดูการทำไร่ ทำนา หญิงไทยก็จะทอผ้าหรือเย็บปักถักร้อย ตามแต่ละภูมิภาค ส่วนชายไทยก็อาจทำงานอื่น ๆ เช่น ตีเหล็กเพื่อทำมีด ขวาน จอบ เสียม จนมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า “หญิงทอผ้า ชายตีเหล็ก"
การทอผ้าไม่ได้ทำกันในทุกภูมิภาค ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสืบเชื้อสาย และวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น ในภาคเหนือหรือภาคอีสาน ต้นหม่อนเจริญงอกงามดี ก็จะมีการเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทอผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายและมีการสืบเชื้อสายในการทอผ้าจากญาติพี่น้องชาวลาว ซึ่งมีดินแดนติดต่อกันอยู่ ส่วนการที่ใครถนัดที่จะทอไหม ทอฝ้าย ใครถนัดที่จะมัดหมี่ น้ำไหล ขิด หรือจกก็ขึ้นอยู่กับการสืบทอดต่าง ๆ กันจาก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่สืบเชื้อสายอันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาในภาคใต้ ก็มีบางจังหวัดที่มีการทอผ้า เช่น เกาะยอ จังหวัดสงขลา หรือผ้าไหมที่อำเภอพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สืบเชื้อสายโดยชาวไทยอิสลามที่ยังคงยึดเป็นอาชีพปัจจุบันนี้

ส่วนภาคกลางเป็นภาคที่ประชาชนเป็นผู้บริโภคสิ่งทอดังกล่าวคือ ไม่นิยมทอผ้าใช้เอง แต่จะซื้อจากภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะภาคกลาง ภูมิประเทศเหมาะกับการเพาะปลูก เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน ชาวภาคกลางจึงประกอบอาชีพด้านการเกษตรและใช้สินค้าเกษตร แลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากับภูมิภาคอื่น แต่จะเห็นว่า บางจังหวัดในภาคกลางมีการทอผ้าเช่นกัน เช่น จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดลพบุรี เมื่อสืบประวัติและเชื้อสายแล้ว ปรากฏว่าเป็นผู้อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว ลาวพวน ไทยลื้อ ไทยทรงดำ เป็นต้น

ลวดลายของผ้าไทยในแต่ละภูมิภาคจะแสดงความเป็นเอกลักษณ์
แม้กระทั่ง สีก็เช่นเดียวกัน ดั่งเดิมสีที่ใช้ย้อมไหมหรือฝ้าย จะใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ รากไม้ ใบไม้ ลูกผลไม้ ฯลฯ ตามความนิยมของท้องถิ่น และสีที่ต้องการ


การดูแลรักษาและการใช้ผ้าไทย จึงเป็นไปอย่างค่อนข้างพิถีพิถัน ซึ่งบางคนกล่าวว่าดูแลยาก ใช้ยาก รีดยาก ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าว ถ้าหากรู้เคล็ดลับของการใช้ และคำกล่าวนั้นคงเกิดจากการเปรียบเทียบกับผ้าของต่างประเทศที่ซักแล้วแทบไม่ต้องรีด สีสดใส ดูดีมีราคา ก็เป็นค่านิยมที่กลายมาเป็นเครื่องวัดความมีฐานะ และมองผ้าไทยด้อยคุณค่าไป
ที่กล่าวถึงลักษณะของผ้าไทยมาตอนต้น เพื่อให้มองเห็นว่า เราผลิตเองใช้เอง และใยฝ้ายซับเหงื่อได้ดีในเมืองร้อน เช่นเมืองไทยเรา สีก็ใช้สีจากธรรมชาติไม่ใช้สีวิทยาศาสตร์ ไม่ใช้ใยสังเคราะห์ การดูแลรักษาจึงต้องรู้วิธีการพอสมควร



การใช้ผ้าฝ้าย

ในเบื้องต้นเมื่อซื้อผ้าฝ้ายมาใช้ ก่อนที่จะนำไปตัดจะต้องแช่น้ำสะอาดเสียก่อน (ในกรณีที่ใช้สีธรรมชาติย้อม Earth Tone) ไม่ต้องใส่ผงซักฟอกชนิดใด ๆ เลย แช่ให้น้ำท่วมผืนผ้า ใส่เกลือลงไปประมาณ ๑ ช้อนแกง เพราะเดิมผ้าที่ย้อมจะมีความเป็นด่างอยู่ในตัว จะทำให้สีตกน้อยและผ้าไม่กระด้าง แช่ผ้าทิ้งไว้อย่างน้อย ๑ คืน และเทน้ำทิ้ง จากนั้นก็แช่ด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่งสักครึ่งชั่วโมงก็ส่ายน้ำให้สีจาง ไม่ต้องบิด ใช้รวบตามทางยาวของผืนผ้าแล้วบีบให้น้ำตก สะบัดเบา ๆ ให้สะเด็ดน้ำ แล้วตากบนราวผ้า จับผ้าให้ตึงทั้ง ๔ มุม ห้ามตากให้โดนแสงแดดโดยตรง หามุมที่มีลมโกรกและกลับเอาด้านในของผ้าออก เมื่อผ้าแห้งดีแล้ว ลองดมดูถ้ามีกลิ่นอับ แสดงว่าซักน้ำไม่สะอาด (หากมีเครื่องอบก็จะหมดปัญหา) ก่อนจะนำไปตัดเย็บ ก็ต้องรีดให้เรียบเสียก่อน โดยใช้น้ำพรมให้ทั่วใช้กระบอกพรมน้ำเป็นฝอยจะทั่วดี) ม้วนผ้าไว้ก่อนให้น้ำซึมทั่วผืน (อย่าให้ชุ่มเกินไป) ทิ้งไว้ราว ๑๐ – ๒๐ นาที จึงรีด
เวลารีดผ้าฝ้ายให้รีดทางด้านในด้วยไฟแรง สังเกตจากปุ่มเตารีดเขียนว่า HOT หรือ COTTON รีดไปตามลายเส้นผ้า จนเรียบทั้งผืนจึงนำไปตัดเย็บ ผ้าฝ้ายไทยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาเคมีฉีดเวลารีดจะทำให้ผ้ากระด้าง หรือด่างเป็นจุด ๆ
เมื่อตัดเย็บ ช่างจะทราบดีว่า ปก ปลายแขน ขอบกระเป๋า ฝากระเป๋า จะต้องใช้ผ้าซับในป้องกันการย่น ตะเข็บที่เย็บจะไม่ใช้ตะเข็บถี่ ๆ ซึ่งจะทำให้ผ้าย่นได้ง่าย
เมื่อนำมาสวมใส่ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับตอนซัก ก่อนจะนำไปตัดเย็บ ทุกขั้นตอน แต่เว้นการใส่เกลือแกงไม่ต้องใส่ หากจะใช้ผงซักฟอกในกรณีที่รอยคราบที่ปก หรือปลายแขน ก็ใช้ยาสระผมชนิดอ่อนของเด็ก ๆ ผสมและขยี้เบา ๆ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาซักประเภทกัดสี หรือผงซักฟอกที่โฆษณาว่าซักผ้าได้ขาว จะมีผงเคมีกัดสีมาก การใช้แปรงถูตามปกไม่ควรใช้โดยเด็ดขาด จะทำให้เนื้อผ้ายุ่ยได้ง่าย

ข้อสังเกตที่ควรคำนึง การใช้ผ้าฝ้ายไทยตัดเย็บเสื้อผ้า ไม่ควรใช้แบบที่มีปก ควรเป็นแบบคอวี คอกลม คอเหลี่ยม มน เพราะถ้ามีปกตรงรอยพับจะด่าง และเป็นคราบเหงื่อสีจะซีดเร็ว เพราะเหงื่อเค็มจะกัดสี แบบควรเป็นแบบเรียบ ๆ เข้ารูป แยกแบบ ไม่ควรมีจีบ หรือระบายอื่น ๆ



การใช้ผ้าไหมไทย

การเลือกซื้อ ควรนึกถึงประโยชน์เสียก่อนว่าจะซื้อเอาไปตัดเสื้อหรือกระโปรงหรือตัดเป็นชุดสูท เพราะผ้าไหมมีข้อจำกัดและมีหลายชนิดให้เลือก เช่น มีชนิด ๑ เส้น ๒ เส้น ๓ เส้น ๔ เส้น หมายถึงเส้นไหมที่ใช้ทอจำนวนเส้นเท่าไร ถ้าเส้นมาก ๆ ก็จะหนา ราคาก็จะแพง แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะเอาไปตัดอะไร เช่น ตัดเป็นสูท ควรใช้ไหม ๔ เส้น เพราะจะมีน้ำหนักและดูเนียนตา เพิ่มซับในเข้าไปด้วย จะยิ่งเรียบสวย แต่ถ้าจะเอาไปทำผ้าพันคอก็ต้องไหมน้อยเส้น เพราะเวลาพันคอจะไม่กระด้าง ไม่แข็ง ดูไม่งาม
แต่สำหรับคนรูปร่างผอมบางควรใช้ผ้าไหมตัดกระโปรงจีบรอบตัว จะทำให้ดูอ้วน แต่ถ้าคนร่างใหญ่ ๆ ไม่เหมาะ จะทำให้ดูอ้วนมากขึ้น ควรตัดเข้ารูป การใช้ผ้าไหมตัดเย็บไม่ควรติดระบายหรือตกแต่งให้มาก เพราะธรรมชาติของผ้าไหม มีความงาม ความแวววาวอยู่ในตัว ถ้าจะตกแต่งก็อย่าให้เปรอะ และควรดูสีให้เหมาะสมกับผิวตัวเอง เนื่องจากเวลาเราเลือกแสงเงาของผ้ากับเวลาตัดแล้ว คนอื่นมองสีจะต่างกัน (ไม่นิยมตัดกางเกงเพราะจะโปร่งตรงหัวเข่าเวลานั่ง)
การนำผ้ามาตัดเย็บ ควรถามผู้ขายก่อนว่าไหมกี่เส้น และถามว่าอบมาหรือยัง (ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอบไว้ให้) ผู้ซื้อก็จะต้องนำมาจ้างเขาอบ เพื่อให้ไหมอยู่ตัวไม่กระด้าง โดยอาจให้ผู้รับจ้างตัดนำไปอบให้ด้วยหรือไม่ก็ไปจ้างอบเอง (ไม่ควรทำเอง) ราคาค่าอบอยู่ในราวชิ้นละ ๖๐–๘๐ บาท บางแห่งคิดเป็นเมตร เป็นหลา ก็อยู่ในราคาใกล้เคียงกัน ผ้าไหมที่อบมาแล้วจะนิ่งทิ้งตัว เรียบไม่กระด้าง เวลาช่างนำไปตัดก็ง่าย
การใช้เสื้อผ้าไหม ถ้าคุณซักเอง (ไม่ได้จ้างซักแห้ง) ก็ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ คือ ใช้ยาสระผม (SHAMPOO) ชนิดอ่อนของเด็ก ผสมน้ำพอให้เป็นฟอง ตีให้ยาสระผมเข้ากับน้ำ (อย่าแช่ผ้าแล้วเทยาสระผมจะด่าง) แล้วแช่เสื้อผ้าไหมลงไป พยามยามใช้กะละมังใบเชื่อง ๆ เพื่อให้แช่เสื้อโดยไม่ยับยู่ยี่ทั้งตัว กดให้ผ้าจมน้ำเปียกให้ทั่วตัว ทิ้งไว้ราว ๓๐ – ๖๐ นาที จึงซัก อย่าใช้แปรงแข็ง ๆ ถูตามปก ตามตัว (ไม่แนะนำให้ตัดแบบมีปกนอกจากสูท) ถ้ามีรอยเปื้อนค่อย ๆ ขยี้ ป้องกันไม่ให้เนื้อเส้นใยไหมคลายตัว พอสะอาดดีและเทน้ำทิ้ง แช่น้ำสะอาดจนหมดฟอง ยกเสื้อตรงไหล่ แขวนไม้ชนิดใช้แขวนสูท แล้วรวบชายเสื้อบีบเบา ๆ ให้น้ำตก จากนั้นจัดเสื้อให้เข้ารูป ดึงรอยย่นตามซับในจนดูดี ปล่อยให้น้ำตกไปจนแห้ง อย่านำไปตากแดดโดยตรง ให้ลมโกรก ความร้อนของอากาศพัดผ่านแห้งไปเอง แต่ถ้าจะรีดก็ควรรีดตอนผ้าไหมหมาด ๆ จะได้ไม่ต้องพรมน้ำอีก (ไม่ควรซักด้วยเครื่องซักผ้าและไม่ควรอบด้วยเครื่องอบ)
การรีดต้องใช้ไฟแรง เส้นใยไหมชอบไฟแรง ไม่จำเป็นต้องพรมด้วยน้ำยารีดผ้าเรียบ พรมด้วยน้ำสะอาด ใช้กระบอกฉีดเป็นฝอยจนทั่ว และไม่ชุ่มจนเกินไป น้ำยารีดผ้าเรียบจะทำให้ไหมกระด้างแข็ง เวลาใส่แล้วเหมือนหุ่น และผ้าไหมอาจด่างได้
การใส่ผ้าไหมไปงาน ควรนั่งรถปรับอากาศเพราะเหงื่อจะไม่ออก ถ้านั่งรถร้อน ๆ ไปเหงื่อออกตรงคอ ตรงรักแร้ จะด่างดูน่าเกลียด งานที่ไปควรเป็นงานกลางคืนเพราะผ้าไหมจะเล่นไฟสวย

ก่อนออกจากบ้านไม่ควรใส่หรือฉีดน้ำหอมลงบนผ้าไหมโดยตรง สารเคมีในน้ำหอมจะทำให้ผ้าไหมด่าง เป็นจุด ๆ เวลาซักก็ไม่หาย ควรฉีดน้ำหอมกับเสื้อชั้นในหรือฉีดที่ซับใน หรือตรงที่หนุนบ่าด้านในหรือฉีดตามผิวของผู้แต่งก็ได้ ในกรณีที่ไปงานเลี้ยงระมัดระวังกาแฟ อาหารหกรด ผ้าไหมจะด่างไม่งามและถ้ากลับบ้านแล้วยังดูเรียบร้อยดีอยู่ ก็ใส่ไม้แขวนเสื้อผึ่งไว้ให้หมดกลิ่นตัว หมดความขึ้น อาจเอาไว้ใส่ครั้งต่อไปได้อีก ไม้แขวนควรเป็นไม้ที่ใช้แขวนเสื้อนอก เพราะจะทำให้บ่าไม่ลู่ เวลาใส่จะดูงามดี






http://personal.swu.ac.th/students/fa501010137/index2.htm


ที่มาชุดไทยพระราชนิยม 8 ชุด

ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เมื่อพุทธศักราช 2503 ได้พระราชทานพระราชดำริว่า สมควรที่จะสรรค์สร้างการแต่งกาย
ชุดไทยให้เป็นไปตามประเพณีที่ดีงาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการศึกษา ค้นคว้าเครื่องแต่งกายสมัยต่าง ๆ
จากพระฉายาลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายใน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ แต่ให้มีการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมกับกาลสมัย ทรงเสนอรูปแบบที่หลากหลาย และได้ฉลองพระองค์เป็นแบบอย่าง ทั้งได้ พระราชทานให้ผู้ใกล้ชิดแต่งและเผยแพร่ให้กว้างขวาง
ยิ่งขึ้น เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ชุดไทยพระราชนิยม" มี 8 ชุด คือ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ์ และชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยพระราชนิยมเหล่านี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้ในโอกาส
และสถานที่ต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและชื่นชมกันทั่วไป ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

ชุดไทยเรือนต้น


เสื้อ แขน กระบอก นุ่งกับ ผ้าซิ่น ทอลาย ขวาง ใช้ได้ ในหลาย โอกาส เช่น เป็น ชุดเช้า ไว้ใส่ บาตร ไปวัด หรือ ไปงาน มงคล ต่าง ๆ ชุดไทยเรือนต้น คือ ชุดไทยแบบลำลอง ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมมีลายริ้วตามขวางหรือตามยาว หรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิงตัวซิ่นยาวจรดข้อเท้าป้ายหน้า เสื้อใช้ผ้าสีตามริ้วหรือเชิงสีจะตัดกับซิ่นหรือเป็นสีเดียวกันก็ได้เสื้อคนละท่อนกับซิ่น แขนสามสวนกว้างพอสบาย ผ่าอก ดุมห้าเม็ด คอกลมตื้น ๆ ไม่มีขอบตั้ง เหมาะไช้แต่งไปในงานที่ไม่เป็นพิธีและต้องการความสบายเช่น ไปงานกฐินต้นหรือเที่ยวเรือ เที่ยวน้ำตก


ชุดไทยจิตรลดา


เสื้อ แขน กระบอก นุ่งกับ ผ้าซิ่น ทอลาย ขวาง ใช้ได้ ในหลาย โอกาส เช่น เป็น ชุดเช้า ไว้ใส่ บาตร ไปวัด หรือ ไปงาน มงคลต่าง ๆ
ชุดไทยจิตรลดา คือ ชุดไทยพิธีก ลางวัน ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิงหรือ เป็นยกดอกหรือตัวก็ได้ ตัดแบบเสื้อกับซิ่น ซิ่น ยาวป้ายหน้าอย่างแบบลำลอง เสื้อแขนยาว ผ่าอก คอกลม มีขอบตั้งน้อย ๆ ใช้ในงานที่ผู้ชายแต่งแต็มยศ เช่น รับประมุขที่มาเยือนอย่างเป็นทางการที่สนามบิน ผู้แต่งไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เนื้อผ้าควรงดงามให้เหมาะสมโอกาส


ชุดไทยอมรินทร์



เสื้อ แขน ยาว คอกลม ตั้ง ติดคอ นุ่งกับ ผ้าซิ่น ไหม ยกทอง ตัดแบบ ซิ่นป้าย สำหรับ แต่งใน งานพิธี ใช้ได้ ในหลาย โอกาส

ชุดไทยอมรินทร์ คือ ชุดพิธีตอนค่ำ ใช้ยกไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว เสื้อกับซิ่นแบบนี้อนุโลมให้ สำหรับผู้ไม่ประสงค์คาดเข็มขัด ผู้มีอายุจะใช้คอกลมกว้าง ๆ ไม่มีขอบตั้งและแขนสามส่วนก็ได้ เพราะความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้า และเครื่องประดับที่จะใช้ให้เหมาะสมกับงานเลี้ยงรับรอง ไปดูละครในตอนค่ำและเฉพาะในงานพระราชพิธีสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษาผู้แต่งชุดไทยอมรินทร์ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์


ชุดไทยบรมพิมาน



เสื้อ เข้ารูป แขน กระบอก คอตั้ง ติดคอ ผ่าหลัง อาจจะ เย็บติด กับ ผ้านุ่ง ก็ได้ หรือ แยกเป็น คนละ ท่อน ก็ได้ เช่นกัน ส่วน ผ้านุ่ง ใช้ ผ้าซิ่น ไหม ยกดิ้น ทอง ตัดแบบ หน้านาง มีชายพก สำหรับ แต่งใน งาน ราชพิธี หรือ ในงาน เต็มยศ หรือ ครึ่งยศ เช่น งานฉลอง สมรส พิธีหลั่ง น้ำ พระ พุทธมนต์

ชุดไทยบรมพิมาน คือ ชุดไทยพิธีตอนค่ำที่ใช้เข็มขัดใช้ผ้าไหมยกดอกหรือยกทองมีเชิงหรือยกทั้งตัวก็ได้ ตัวเสื้อและซิ่นตัดแบบติดกัน ซิ่นมีจีบข้างหน้าและมีชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาดตัวเสื้อแขนยาว คอกลม มีขอบตั้ง ผ่าด้านหลัง หรือด้านหน้าก็ได้ ผ้าจีบยาวจรดข้อเท้า แบบนี้เหมาะสำหรับผู้มีรูปร่างสูงบาง สำหรับใช้ในงานเต็มยศและครึ่งยศ เช่นงานอุทยานสโมสรหรืองานพระราชทานเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการในคืนที่มีอากาศเย็น ใช้เครื่องประดับสวยงามตามสมควรผู้แต่งประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ชุดไทยจักรี


เสื้อตัวในไม่มีแขน ไม่มีคอ ห่มทับด้วยสไบ แบบมีชายเดียว ปักดิ้นทอง ชุดไทยจักรี เดิมจะไม่ปัก นุ่งทับด้วยผ้าซิ่นไหม ยกดิ้นทอง ตัดแบบหน้านาง มีชายพก คาดเข็มขัด เครื่องประดับ สร้อยคอ รัดแขน สร้อยข้อมือ สำหรับ แต่งในงาน เลี้ยงฉลองสมรส หรือ ราตรีสโมสรที่ไม่เป็นทางการ

ชุดไทยจักรี คือชุดไทยประกอบด้วยสไบเฉียง ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ซิ่นมีจีบยกข้างหน้า มีชายพกใช้เข็มขัดไทยคาด ส่วนท่อนบนเป็นสไบ จะเย็บให้ติดกับซิ่นเป็นท่อนเดียวกันหรือ จะมีผ้าสไบห่มต่างหากก็ได้ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายด้านหลังยาวตามที่เห็นสมควร ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าการเย็บและรูปทรงของผู้ที่สวม ใช้เครื่องประดับได้งดงามสมโอกาสในเวลาค่ำคืน

ชุดไทยจักรพรรดิ


ผ้าซิ่น ไหม ยกดิ้น ทอง มีเชิง สีทอง ตัดแบบ หน้านาง มี ชายพก ห่มด้วย สไบ ปัก ลูกปัด สีทอง เป็นเครื่อง แต่งกาย สตรี สูงศักดิ์ สมัย โบราณ ปัจจุบัน ใช้เป็น เครื่อง แต่งกาย ชุด กลางคืน ที่ หรูหรา หรือ เจ้าสาว ใช้ใน งาน ฉลอง สมรส ยามค่ำ เครื่อง ประดับ ที่ใช้ รัดเกล้า ต่างหู สร้อยคอ สังวาลย์ สร้อยข้อมือ ชุดไทยจักรพรรดิ คือ ชุดไทยห่มสไบคล้ายไทยจักรี แต่ว่ามีลักษณะเป็นพิธีรีตรองมากกว่า ท่อนบนมีสไบจีบรองสไบทึบ ปักเต็มยศบนสไบชั้นนอก ตกแต่งด้วยเครื่องประดับอย่างสวยงาม ใช้สวมในพระราชพิธีหรืองานพิธีต่าง ๆ ที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติ

ชุดไทยดุสิต


เสื้อ คอกลม กว้าง ไม่มีแขน เข้ารูป ปักแต่ง ลายไทย ด้วย ลูกปัด ใช้กับ ผ้าซิ่น ไหม ยกดิ้น ทอง ลาย ดอกพิกุล ตัดแบบ หน้านาง มี ชายพก ใช้ใน งาน ราตรี สโมสร หรือ เป็นชุด ฉลอง สมรส เครื่อง ประดับ ที่ใช้ ต่างหู สร้อยคอ แหวน ชุดไทยดุสิต คือ ชุดไทยคอกว้าง ไม่มีแขนใช้ในงานกลางคืนแทนชุดราตรีแบบตะวันตก ตัวเสื้ออาจปักหรือตกแต่งให้เหมาะสม กับงานกลางคืน ตัวเสื้ออาจเย็บติดหรือแยกคนละท่อนกับซิ่นก็ได้ ซิ่นใช้ผ้ายกเงินหรือทองจีบชายพก ผู้แต่งอาจใช้เครื่องประดับแบบไทยหรือตะวันตกตามควรแก่โอกาส

ชุดไทยศิวาลัย


เสื้อตัวในไม่มีแขน ไม่มีคอ ห่มทับด้วยสไบ แบบมีชายเดียว ทิ้งชายสไบยาวด้านหลัง ปักด้วยลูกปัดทอง นุ่งทับด้วยผ้าซิ่นไหม ยกดิ้นทอง ตัดแบบหน้านาง มีชายพก คาดเข็มขัด เครื่องประดับ สร้อยคอ รัดแขน สร้อยข้อมือ เป็นเครื่องแต่งกาย ของสตรี บรรดาศักดิ์ ปัจจุบันใช้ในงาน เลี้ยงฉลอง สมรส หรือเลี้ยงอาหารค่ำ ชุดไทยศิวาลัย มีลักษณะเหมือนชุดไทยบรมพิมานแต่ว่า ห่มสไบ ปักทับเสื้ออีกชั้นหนึ่งใช้ในงานพระราชพิธี หรืองานพิธีเต็มยศเหมาะแก่การใช้แต่งช่วงที่มีอากาศเย็น

ขอขอบคุณ
http://fwmail.teenee.com/etc/20572.html
http://lampang.thcity.com/thai/thaidressing.htm
http://img236.imageshack.us/img236/2017/22yt8.jpg
http://hilight.kapook.com/admin_hilight/spaw2/newimg/artist/01_146.jpg
วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com)



ชุดไทยประยุกต์

ชุดไทย ที่เห็นแล้วจะอยากใส่ ชุดไทยในการประกวดมิสไทยแลนด์

ชุดไทยประยุกต์ ใส่โดย ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม ชุดนี้เข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์ส
ที่เม็กซิโก ปี 2550


น.ส.อัมราภัสร์ จุลกะเศียน หรือน้องมิ้ม วัย 23 ปี รองอันดับ 1 มิสไทยแลนด์เวิลด์ ประจำปี 50





"กวินตรา โพธิจักร มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ประจำปี 2551 แสดงชุดประจำชาตินักมวยหญิงประยุกต์ ซึ่งจะใช้สวมใส่ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ที่ประเทศเวียดนาม







ชุดนี้ชาม อรวรินธ์ โอสถานนท์ มิสไทยแลนด์ ยูนิเวิร์ส ปี 2006 ใส่



อันนี้ชุดไทยที่ได้รับรางวัลชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยม





ล่าสุด
ผลคะแนน ชุดประจำชาติ มิสยูนิเวิร์ส ประกาศแล้ว
ชุดประจำชาติไทย คว้าที่ 3

ที่ 1 ชุดประจำชาติ Panama คว้าไปครอง

อันดับที่ 2 ชุดประจำชาติ Nicaragua


ชุดประจำชาติไทย คว้าที่ 3 ไปครอง
***************************************
ชุดประจำชาติ มิสยูนิเวิร์ส 2009 จากทั่วทุกประเทศ มาแล้วจ้า
น้องไข่มุก โชว์ ชุดประจำชาติ
น้องไข่มุก โชว์ ชุดประจำชาติ เมื่อ วันที่ 11 ส.ค. ที่กรุงนัสเซา รัฐบาฮามาส กองประกวดนางงามจักรวาล 52 ได้ให้สาวงามทั้ง 84 คน เดินอวดโฉมในการ ประกวด ชุดประจำชาติ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาเก็บคะแนน โดย น.ส.ชุติมา ดุรงค์เดช หรือน้องไข่มุก มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปี 52 ใส่ ชุดประจำชาติ “ญ.งามท้องถิ่นสุวรรณภูมิ” ท่อนบนเป็นผ้ายืดสีเนื้อคาดอก ท่อนล่างใช้ผ้าคอต ตอนพิมพ์ลายไทย โทนสีน้ำตาลแดงและทอง บริเวณหน้านางปักด้วยลวดสีทองลายนูนรูปช้าง ประดับห่วงทองเหลืองสไตล์ชาวไทยภูเขา ในขณะที่มิสเอกวาดอร์ สวมใส่ชุดสีเหลืองอร่าม พร้อมถือตะกร้าผลไม้นานาชนิด ซึ่งจะประกาศผลในรอบสุดท้ายวันที่ 24 ส.ค. เวลา 08.00 น.

ส่วน ชุดประจำชาติ จาก ชาติอื่นๆ มาดูกันเลยค่ะ ว่าชาติไหนเลิศสุด

ซ้าย : Brazil ขวา : Vietnam

ซ้าย : Indonesia ขวา : Peru

ซ้าย : Venezuala ขวา : alvador

ซ้าย : Thailand ขวา : Bolivia

ซ้าย : colombia ขวา : mincanRepublic

ซ้าย : Mexico ขวา : Phillipines

ซ้าย : Guam ขวา : Serbia

ซ้าย : Iceland ขวา : Ecuador

ซ้าย : Russia ขวา : Jamaica

ซ้าย : czech republic ขวา : Ukraine

ซ้าย : Panama ขวา : Slovak Republic

ซ้าย : Bahamas ขวา : Great Britain

ซ้าย : Lebanon ขวา : Guatamala

ซ้าย : Hondurus ขวา : Argentina

ซ้าย : Canada ขวา : puertorico


ซ้าย : Finland ขวา : Nicaragua

ซ้าย : Australia ขวา : Hungary

ซ้าย : CostaRica ขวา : France

ซ้าย : Belgium ขวา : NewZealand

ซ้าย : USA ขวา : Ethiopia

ซ้าย : India ขวา : Sweden

ซ้าย : Spain ขวา : Netherlands

ซ้าย : Kosovo ขวา : Greece

ซ้าย : Romania ขวา : Ireland

ซ้าย : Paraguay ขวา : SouthAfrica

ซ้าย : Montenegro ขวา : Georgia

ซ้าย : Angola ขวา : Albania

ซ้าย : Zambia ขวา : Italy

ซ้าย : Korea ขวา : stonia

ซ้าย : Japan ขวา : Switzerland

ซ้าย : Turkey ขวา : Singapore

ซ้าย : Norway ขวา : Cyprus

ซ้าย : Tanzania ขวา : Poland

ซ้าย : Aruba ขวา : Croatia

ซ้าย : China ขวา : Nigeria

ซ้าย : Israel ขวา : Mauritius

ซ้าย : Namibia ขวา : Cayman Islands

ซ้าย : Ghana ขวา : Slovenia


ซ้าย : germany ขวา : Guyana

ซ้าย : Malaysia ขวา : Uruguay

ชุดประจำชาติ : turksandCaicos


ชุดประจำชาติ : Curacao

ชุดประจำชาติ : Egypt

เครดิต ภาพจาก www.missuniverse.com
http://women.mthai.com/views_Scoop-Women-Mthai_18_25_39218_1.women
































































dek-d.com




1
2

Wish You Happinessss

Success is not the key to happiness. Happiness is the key to success. 
If you love what you are doing, you will be successful. 

~ Albert Schweitzer ~

 คัมภีร์ 5 ห่วง  วิถีแห่ง "ซามูไร" วิถีแห่งนักรบ "บูชิโด"   แนวคิดของตัวเม่น   GOOD LUCK สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความสำเร็จ ในชีวิตและธุรกิจด้วยตัวคุณเอง    Why complicate life ?   3 x 8 = เท่าไหร่ ?????   "ฉันชื่อ..โอกาส"

Wish You Happinessss