1. อันดับแรกเมื่อเข้าไปในสถานที่ปิด ให้สำรวจอุปกรณ์เตือนภัย อุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ ว่าติดตั้งอยู่ที่ไหน และอ่านวิธีการใช้งานของอุปกรณ์เหล่านั้น เช่นหน้ากากกันควัน หรือถังดับเพลิง เพราะเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ มันคงไม่มีเวลาให้เราอ่านแน่ๆ
2. ตรวจสอบทางออกอย่างน้อย 2 ทาง เช่น บันไดหนีไฟ หรือทางออกฉุกเฉิน สำหรับอาคารปิด ให้เรามองหาเส้นทางที่จะไปสู่ทางออกเหล่านั้น แต่สำหรับบางสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่นกรณีผับซานติก๊า การมองหาเส้นทางนั้นอาจช่วยอะไรไม่ได้ แต่ต่ำแหน่งต่างหากที่สำคัญ เราควรอยู่ใกล้ๆกับทางออกไว้เป็นดี อย่าไปสนใจครับว่ามีหนุ่มหล่อหรือสาวสวยอยู่ที่โต๊ะด้านใน (ยอมรับซะเถอะครับว่าคิดอย่างนี้กันเยอะมาก)
3. ทีนี้มาพูดถึงกรณีเมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วบ้าง (เพราะใน 2 ข้อแรกเป็นการเตรียมพร้อมรับมือ) เมื่อเกิดเพลิงไหม้ สิ่งสำคัญอันดับแรกสุดเลยก็คือ "สติ" เพราะเมื่อมีสติ ปัญญาก็จะเกิด... ไม่เอาดีกว่า!น้ำเน่าไป ที่สติสำคัญที่สุดเพราะ เราจำเป็นต้องประเมิณสถาณการ์ณในขณะนั้น ซึ่งในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายนั้น ทุกอย่างจะดูสับสนอลหม่านไปหมด และบ่อยครั้งที่การตัดสินใจพลาดเพียงเล็กน้อย จะนำท่านไปพบกับความสูญเสียเลยทีเดียว ดังนั้นการควบคุมสติให้อยู่และสามารถทำได้ในเวลาอันสั้นนั้นจึงควรได้รับการฝึกฝนและเอาใจใส่ในตนเองเป็นอย่างดี และค้นหาว่าทำอย่างไรตนเองจึงจะควบคุมสติให้ได้ดีที่สุด
4. เมื่อเรามีสติแล้ว อันดับต่อมาคือ หาปุ่มสัญญาณเตือนภัยแล้วกดมันซะ ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าไฟไหม้เท่านั้น ในบางสถานที่ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เขาจะมีระบบที่เมื่อกดสัญญาณเตือนภัยแล้วจะมีการแจ้งไปยังหน่วยดับเพลิงเองอัตโนมัติ
5. จากนั้นให้รีบทำการออกจากสถานที่แห่งนั้น โดยผ่านทางที่เราได้มองหาไว้แล้วในข้อที่ 2 เราไม่ควรห่วงทรัพย์สิน หรือสิ่งของที่ใหญ่เทอะทะต่อการขนย้ายเป็นอันขาด แม้กระทั่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ไม่จำเป็น เพราะเวลาเกิดเพลิงไหม้นั้น การใช้งานระบบสื่อสารนั้นจะพุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลันทำให้การติดต่อผู้อื่นเป็นเรื่องยากมากๆ ส่วนสิ่งของที่สามารถขนได้ก็มีแค่ 2 อย่างคือ ไฟฉายและกระเป๋าเงินเท่านั้น
6. อันนี้สำคัญมากเช่นกัน ให้เราหาผ้าชุบน้ำมาปิดปาก ปิดจมูกเพื่อป้องกันการสำลักควัน เพราะว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตในกองเพลิง เกิดจากการสำลักควันและขาดอากาศหายใจ ซึ่งเป็นก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์และไอร้อน ดังนั้นหากรู้สึกมีอาการเหมือนจะหมดสติ ให้เราหมอบลงกับพื้นแล้วค่อยๆสูดอากาศหายใจ เพราะก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์และไอร้อนจะลอยขึ้นด้านบน ส่วนอากาศที่หายใจได้จะอยู่ด้านล่าง แต่ในบางกรณีก็หมอบลงไปกับพื้นไม่ได้เช่นกัน เพราะอาจจะถูกเหยียบจนตายได้ หรือถ้าท่านโชคดี ไม่มีใครฉวยอุปกรณ์ตามข้อ 1 เช่นหน้ากากกันควันไปซะก่อน ก็ให้รีบยิบมันขึ้นมาใช้ซะ ซึ่งจริงๆแล้วน้อยมากที่จะมีอุปกรณ์นี้ และยิ่งน้อยไปใหญ่ที่จะเหลือมาให้เราใช้ ส่วนใหญ่จะมีแต่ถังดับเพลิงไว้ใช้ในกรณีที่ไฟกองเล็กๆเท่านั้น ถ้ากองไฟใหญ่ๆหละก็เราควรหลีกเลี่ยงให้เร็วที่สุด อย่าริอาจทำตัวเป็นพนักงานดับเพลิงเด็ดขาด เพราะการดับเพลิงนั้นต้องฝึกฝนกันมาอย่างหนักเลยทีเดียวถึงจะสามารถควบคุมเพลิงได้จริง
7. การหนีออกจากสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้นก็มีเรื่องที่ควรจำอยู่เช่นกัน คือห้ามใช้ลิฟท์เป็นอันขาด เพราะลิฟท์นั้นทำงานด้วยระบบไฟฟ้า แต่ไฟฟ้าจะไม่ทำงานเมื่อเกิดเพลิงไหม้ จะทำให้ลิฟท์ปิดสนิทและกลายเป็นโลงศพดีดีนี้เอง และอีกเรื่องคือ อย่าหนีเข้าไปในที่ที่รู้สึกว่าร้อนกว่าเดิม ให้ใช้หลังมือสำรวจความร้อนที่ประตูของห้องที่จะออกไป ถ้ามีความร้อนสูงก็อย่าเปิดประตู เพราะอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ หรือที่เราเรียกว่าปรากฏการณ์ "Backdraft" นั้นเอง ให้เราเปิดหน้าต่างแทน และหาทางส่งสัญญาณเรียกคนมาช่วย ส่วนที่ต่างประเทศเขาจะมีแนะนำให้หนีขึ้นไปที่ดาดฟ้า เพื่อขอความช่วยเหลือทางอากาศหรือเฮลิคอปเตอร์ แต่ที่ประเทศไทยผมว่าเป็นเรื่องที่ควร "ห้ามขึ้นดาดฟ้า!!" เลยทีเดียว เพราะผมยังไม่เคยเห็นเฮลิคอปเตอร์บินมารับผู้ประสบภัยเพลิงไหม้จริงๆซะที
8. หากติดอยู่ภายในอาคารแล้วไม่สามารถออกมาเองได้ ให้เราพยายามทำให้คนข้างนอกรู้ว่าเราติดอยู่ในอาคาร ด้วยวิธีการโบกผ้าและตะโกนส่งสัญญาณทางหน้าต่าง และถ้าหากมีการลามของไฟเข้ามาใกล้ตัว ให้เราใช้ผ้าชุบน้ำอุดใต้ประตูหรือช่องโหว่ เพื่อไม่ให้ควันเข้ามาภายในห้องเป็นการซื้อเวลาที่ดีอีกวิธีหนึ่งเลยทีเดียว
สุดท้ายนี้ ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นวิธีการเอาตัวรอดจากเพลิงไหม้ที่ได้ผลที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีวิธีอื่นอีกแล้ว เพราะถ้าหากเรามีสติเพียงพอที่จะประเมิณสถาณการ์ณ เราก็สามารถหาทางหนีอื่นได้เช่นกัน อย่างกรณีของห้องน้ำภายในผับซานติก๊าที่มีผู้รอดชีวิตถึง 50 กว่าคน เขามีสติเพียงพอที่จะเล็งเห็นว่าตำแหน่งของห้องน้ำนั้นอยู่ห่างจากเพลิงมาก ถึงแม้ว่าจะขัดกับวิธีในข้อที่ 7 ก็ตาม ที่ไม่ควรเข้าไปในที่ปิดตายเพราะอาจจะถูกอบภายในนั้นได้ และจะเสี่ยงเพิ่มยิ่งขึ้นถ้าหากพนักงานดับเพลิงไม่สามารถควบคุมไฟได้เร็วขนาดนี้ ก็ต้องถือว่าเขาทั้งเก่งและทั้งเฮงหละจริงๆหละครับ
บทความนี้อ้างอิงมาจากนิตยสาร "ขวัญเรือน" และนำมาเพิ่มเติมเนื้อหา เพื่อให้ครอบคลุมกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
แหล่งที่มา: http://www.jabchai.com/main/view_joke.php?id=2827