กาแฟ
ประวัติ
เชื่อกันว่ากาแฟถูกค้นพบครั้งแรกโดยเด็กเลี้ยงแพะชาวอาบิสซีเนีย (ประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน) ชื่อคาลดี จากการสังเกตพบว่า แพะดูกระปรี้กระเปร่าขึ้นเมื่อกินผลไม้สีแดงของต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งก็คือต้นกาแฟนั่นเอง ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 16 กาแฟถูกปลูกโดยชาวอาหรับเท่านั้น คำว่ากาแฟ เป็นคำที่มาจากคำว่า "เกาะหฺวะหฺ" ในภาษาอาหรับ แล้วเพี้ยนเป็น กาห์เวห์ ในภาษาตุรกี ก่อนที่จะกลายเป็น คอฟฟี ในภาษาอังกฤษ และกาแฟ ในภาษาไทย ชาวอาหรับหวงแหนพันธุ์กาแฟมาก จึงส่งออกเฉพาะเมล็ดกาแฟที่คั่วสุกแล้วเท่านั้น แต่ในที่สุดเมล็ดกาแฟก็ออกมาสู่โลกกว้าง โดยการลักลอบนำออกมาโดยชาวอินเดียที่ไปแสวงบุญที่เมกกะ และก็ได้แพร่ขยายไปยังชวา เนเธอร์แลนด์ และทั่วยุโรปในที่สุด สำหรับทวีปอเมริกานั้น ต้นกาแฟถูกนำไปอย่างยากลำบาก โดยทหารเรือฝรั่งเศสในต้นศตวรรษที่ 18 ในครั้งแรกนั้น มีต้นกาแฟที่เหลือรอดชีวิตบนเรือมาขึ้นฝั่งอเมริกาได้เพียง 1 ต้น และก็ได้แพร่ขยายเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันดินแดนแห่งนี้ ได้กลายเป็นดินแดนที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในโลก
ชนิดของเมล็ดกาแฟ
ต้นกาแฟอาราบิก้า - บราซิลกาแฟมีมากกว่า 6,000 พันธุ์ แต่พันธุ์หลักๆ ที่ได้รับความนิยมมี 2 พันธุ์ ได้แก่ อาราบิก้า (Arabica) ซึ่งเป็นกาแฟแบบดั้งเดิม และมีรสชาติดี และ โรบัสต้า (Robusta) ซึ่งมีปริมาณกาเฟอีนสูง สามารถปลูกในที่ที่ปลูกอาราบิก้าไม่ได้ (คำว่า robust ในภาษาอังกฤษ แปลว่า ทนทาน) ด้วยความที่มีความทนทานมากกว่านี้เอง จึงทำให้กาแฟโรบัสต้ามีราคาถูกกว่า แต่ผู้คนนิยมดื่มไม่มากนักเนื่องจากมีรสขมและเปรี้ยว ส่วนโรบัสต้าที่มีคุณภาพดีมักถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของเอสเพรสโซ่ แบบผสม (เอสเพรสโซ่มีสองแบบใหญ่ๆ คือแบบที่เป็นอาราบิก้าแท้ๆ กับแบบที่ผสมกาแฟชนิดอื่นๆ) กาแฟอาราบิก้ามักจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามชื่อท่าเรือที่ใช้ส่งออก ท่าเรือที่เก่าแก่ที่สุดสองที่ได้แก่ ม็อคค่า (Mocha) และ ชวา (Java) กาแฟในปัจจุบันยิ่งมีความเจาะจงในที่ปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องมีการระบุถึงประเทศ ภูมิภาค และบางครั้งต้องบอกว่าปลูกที่พื้นที่บริเวณไหนเลยทีเดียว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกาแฟอาจจะถึงกับต้องประมูลกาแฟกัน โดยดูว่าเป็นล็อตหมายเลขเท่าใด กาแฟชนิดโรบัสต้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดชนิดหนึ่งได้แก่ โกปิ ลูวัค (Kopi Luwak) ของอินโดนีเซีย เมล็ดของกาแฟชนิดนี้ถูกเก็บขึ้นมาจากมูลของชะมด (Common Palm Civet) (ตระกูล Paradoxirus) ซึ่งกระบวนการย่อยภายในร่างกายชะมดทำให้ได้รสชาติที่ดีเป็นพิเศษ เรียกเป็นภาษาไทยว่า "กาแฟขี้ชะมด"
การผลิตเมล็ดกาแฟ
การบ่ม
ในการผลิตกาแฟ วิธีที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันดีนักวิธีหนึ่งได้แก่การบ่ม (Aging) กาแฟหลายๆ ประเภทจะมีคุณภาพดีขึ้นเมื่อผ่านการบ่ม รสเปรี้ยวของมันจะลดลง ในขณะที่ความกลมกลืนของรสชาติโดยรวมก็จะเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตหลายๆ รายมักจะขายเมล็ดกาแฟออกไปหลังจากได้บ่มเอาไว้แล้วถึง 3 ปี และร้านที่ขึ้นชื่อเป็นพิเศษบางร้าน (เช่น "Toko Aroma" ในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย) ถึงกับบ่มเมล็ดที่ยังไม่ได้คั่วไว้ถึง 8 ปีทีเดียว
การคั่ว
กระบวนการคั่วเป็นขั้นตอนที่ขาดไม่ได้ในการที่จะได้กาแฟรสชาติดีสักถ้วยหนึ่ง. เมื่อถูกคั่ว เมล็ดกาแฟสีเขียวก็จะพองออกจนเกือบจะมีขนาดเป็นสองเท่าของของเดิม พร้อมทั้งเปลี่ยนสีและความหนาแน่นไป เมื่อเมล็ดได้รับความร้อน มันจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและในที่สุดก็จะกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ แบบสีของผลอบเชย (cinnamon) และมันก็จะมีสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะถูกยกออกจากความร้อน พร้อมกันนี้ เราก็จะเห็นน้ำมันออกมาตามผิวของเมล็ด ในการคั่วแบบอ่อนๆ กาแฟจะเก็บรสชาติดั้งเดิมไว้ได้ดีกว่า รสชาติดั้งเดิมนี้จะขึ้นอยู่กับดินและสภาพอากาศในที่ที่ต้นกาแฟได้เติบโตขึ้นมา. เมล็ดกาแฟจากพื้นที่ที่มีชื่อเสียง เช่น เกาะชวา และประเทศเคนยา จะถูกคั่วเพียงอ่อนๆ เท่านั้นเพื่อให้ยังคงรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์อยู่ให้มากที่สุด
เมล็ดกาแฟที่คั่วแล้วยิ่งเมล็ดกาแฟถูกคั่วให้เข้มมากขึ้นเท่าไหร่ รสชาติดั้งเดิมของมันก็จะยิ่งถูกบดบังด้วยรสที่เกิดจากการคั่วมากขึ้นเท่านั้น กาแฟบางประเภทที่ถูกคั่ว จนรสชาติแทบจะไม่ได้บ่งบอกถึงสถานที่ปลูกเลย จะถูกขายโดยใช้ระดับของการคั่วเป็นหลัก โดยเริ่มตั้งแต่ "อบเชยคั่วอ่อนๆ (Light Cinnamon Roast) " ไปจนถึง "การคั่วแบบเวียนนา (Vienna Roast) " และ "การคั่วแบบฝรั่งเศส (French Roast) " และอื่นๆ
ในศตวรรษที่ 19 เมล็ดกาแฟมักจะถูกซื้อขายขณะที่ยังเป็นเมล็ดเขียวๆ อยู่ และก็มักจะนำไปคั่วในกระทะสำหรับทอด การคั่วในลักษณะนี้ต้องใช้ความชำนาญสูงมาก สำหรับการสูญเสียรสชาติของเมล็ดที่ยังไม่ได้คั่วนั้น สามารถป้องกันได้โดยการบรรจุในห่อสูญญากาศ แต่ปัญหาก็คือการที่เมล็ดกาแฟจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นวันๆ หลังจากที่ถูกคั่วเสร็จใหม่ๆ ผู้ผลิตจึงต้องปล่อยให้กาแฟที่คั่วแล้วค้างไว้ก่อนที่จะนำไปบรรจุลงห่อสูญญากาศได้ ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีสองชนิดจึงได้ถูกพัฒนาขึ้นมา บริษัทอิลลี (Illy) ได้ใช้กระป๋องอัดความดัน (pressurized can) ส่วนผู้ผลิตกาแฟคั่วรายอื่นๆ ใช้วิธีการบรรจุเมล็ดทั้งอันลงในถุงทันทีที่คั่วเสร็จโดยใช้วาล์วปล่อยความดัน (pressure release valves).
ในทุกวันนี้การคั่วเองตามบ้านได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เครื่องคั่วกาแฟที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ช่วยให้การคั่วกาแฟเองในบ้านง่ายขึ้นมาก และบางครัวเรือนก็ใช้วิธีการคั่วในเตาอบหรือเครื่องทำข้าวโพดคั่ว หลังจากคั่วแล้ว กาแฟจะสูญเสียรสชาติอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะมีบางคนชอบทิ้งกาแฟไว้ 24 ชั่วโมงก่อนจะนำไปชงถ้วยแรก แต่ทุกๆ คนก็เห็นด้วยว่ามันจะเริ่มสูญเสียรสชาติและความขม หลังจากเก็บไว้ประมาณ1สัปดาห์ ถึงแม้จะเก็บอยู่ในที่ที่มีสภาพที่เหมาะสมที่สุดก็ตาม
การบด
ความละเอียดของกากที่ได้จากการบดมีผลอย่างมากต่อรสชาติ ยิ่งบดกาแฟละเอียดเท่าไร ก็จะยิ่งได้รสชาติที่เข้มข้นและครบบริบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น เหตุผลหลักที่บางคนไม่บดละเอียดมากนัก คือเพื่อไม่ให้กากสามารถผ่านตัวกรองชนิดหยาบๆ ออกไปได้ (เช่น cafeti?re) การผลิตกากกาแฟพร้อมชงมีสามวิธีด้วยกัน
การโม่:
กดเมล็ดโดยใช้อุปกรณ์หมุนสองตัว ใช้การหมุนเพื่อให้เมล็ดแตก วิธีนี้มีความเสี่ยงน้อยที่เมล็ดจะไหม้ เครื่องบดอาจมีลักษณะเป็นแบบล้อหรือแบบกรวย โดยที่แบบกรวยจะทำงานได้เงียบกว่าและมีโอกาสเกิดการอุดตันน้อยกว่า Grinder แบบกรวยช่วยรักษากลิ่นส่วนใหญ่ไว้ได้ และสามารถบดได้ละเอียดมาก อีกทั้งกากที่ได้ก็จะมีความละเอียดสม่ำเสมอกันอีกด้วย โม่ที่ทำจากเหล็กซึ่งมีการออกแบบที่ยุ่งยากซับซ้อน อาจทำให้ลดประสิทธิภาพของเฟืองลง ส่งผลให้การบดทำได้ช้าลง ยิ่งการบดช้าลงเท่าไร ก็ยิ่งมีความร้อนเข้าไปในกากกาแฟน้อยลงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงสามารถรักษากลิ่นไว้ได้อย่างดี เนื่องจากสามารถปรับความละเอียดได้หลายระดับมา การบดวิธีนี้จึงเหมาะกับกาแฟทุกประเภท ทั้งแบบที่ทำด้วยเครื่องชงเอสเพรสโซ (Espresso) แบบหยด (Drip) แบบใช้เครื่องต้มให้น้ำซึมเข้า (Percolator) และแบบเฟรนช์เพรส (French Press) เครื่องโม่แบบกรวยที่คุณภาพดียังสามารถบดให้ละเอียดเป็นพิเศษสำหรับใช้ในการทำกาแฟแบบตุรกี ความเร็วในการบดโดยทั่วไปไม่เกิน 500 รอบต่อนาที เครื่องโม่ประเภทจานหมุน สามารถบดได้รวดเร็วกว่าแบบกรวย (10,000 ถึง 20,000 รอบต่อนาที) และจะส่งผลให้มีความร้อนเข้าไปในกาแฟเล็กน้อย เครื่องแบบนี้เป็นวิธีที่ประหยัดที่สุดในการผลิตกากละเอียดสม่ำเสมอ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายแบบ กากแบบนี้เหมาะสมมากกับเครื่องชงเอสเพรสโซ่แบบปัมป์ตามบ้าน อย่างไรก็ตามมันไม่สามารถบดให้ละเอียดได้เท่ากับเครื่องแบบกรวย
การสับ:
'เครื่องบด'สมัยใหม่มักใช้วิธีการหั่นเมล็ดกาแฟออกเป็นชิ้นๆ ถึงแม้จะให้ผลเหมือนกับการบดดีๆ โดยทั่วไป คนที่พิถีพิถันมักตำหนิว่าวิธีนี้ให้กาแฟคุณภาพสู้วิธีแบบเก่าไม่ได้ เครื่องบดแบบใบมีด “ปั่น” เมล็ดให้ละเอียดโดยใช้ใบมีดหมุนด้วยความเร็วสูง (20,000 ถึง 30,000 รอบต่อนาที) กากกาแฟที่ได้จะไม่ละเอียดสม่ำเสมอ และจะได้รับความร้อนมากกว่าการใช้เครื่องโม่ เครื่องบดใบมีดจะก่อให้เกิด “ฝุ่นกาแฟ” ซึ่งอาจทำให้ตะแกรงร่อนของเครื่องชงเอสเพรสโซและเครื่องชงเฟรนช์เพรสเกิดการอุดตันได้ ดังนั้นเครื่องบดแบบนี้ จึงเหมาะสมกับเฉพาะเครื่องชงแบบหยด และมันยังสามารถใช้บดเครื่องเทศและสมุนไพรได้เป็นอย่างดี เครื่องชนิดนี้ไม่ควรใช้กับเครื่องชงเอสเพรสโซแบบปัมป์
การบดเป็นผง: กาแฟตุรกีหรือ (เตอร์กิส คอฟฟี่) เป็นการต้มทั้งกากที่ได้จากการบด โดยวิธีการดื่มจะเทดื่มเลยและต่อมาจึงเริ่มมีการกรองดื่มเฉพาะน้ำ วิธีการนี้ให้กากซึ่งละเอียดเกินไปและเหมาะสำหรับการชงแบบนี้เท่านั้น
การชง
การชงกาแฟมีหลากหลายวิธี ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเภทตามการให้น้ำกับกากกาแฟ ได้สี่ประเภทหลักๆ ดังนี้
การต้มเดือด:
กาแฟตุรกี วิธีการดั้งเดิมในการชงกาแฟ ซึ่งยังคงใช้อยู่ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ตุรกี และกรีซ ได้แก่การต้มผงกาแฟละเอียดเข้ากับน้ำในหม้อคอคอด ซึ่งเรียกว่าไอบริก (ibrik) ในภาษาอารบิก, เซสฟ์ (cezve) ในภาษาตุรกี, และเซสวา (dzezva) ในภาษาเซอร์โบ-โครเอเชียน และปล่อยให้เดือดเล็กน้อย บางครั้งก็จะเติมน้ำตาลเข้าไปในหม้อด้วยเพื่อเพิ่มรสหวาน และยังเพิ่มรสและกลิ่นด้วยกระวาน (cardamom) ผลที่ได้คือกาแฟเข้มข้นถ้วยเล็กๆ มีฟองอยู่ข้างบน และกากกาแฟกองหนาเหมือนโคลนอยู่ที่ก้น
การใช้ความดัน
เอสเพรสโซ ถูกชงด้วยน้ำเดือดอ้ดความดัน และมักเป็นพื้นฐานนำไปผสมกาแฟหลายๆ ชนิด หรือไม่ก็เสิร์ฟเปล่าๆ ก็ได้ (มักจะเป็นหลังจากมื้อค่ำ) กาแฟชนิดนี้เป็นหนึ่งในประเภทที่แรงที่สุดที่ดื่มกันโดยทั่วไป และมีรสชาติและความมัน (crema) ที่เป็นเอกลักษณ์
เครื่องชงกาแฟแบบใช้น้ำร้อนซึม (หรือหม้อม็อคค่า) มีลักษณะแบ่งออกเป็นสามส่วน โดยส่วนล่างใช้สำหรับต้มน้ำ เพื่อให้ไอลอยขึ้นไปยังกากกาแฟซึ่งอยู่ในส่วนตรงกลาง น้ำกาแฟที่ได้ ซึ่งมักมีความเข้มข้นระดับเดียวกับเอสเพรสโซ จะถูกเก็บอยู่ในส่วนบนสุด ส่วนที่มักวางติดกับเครื่องอุ่นหรือเตา เครื่องบางแบบยังอาจมีฝา 5 แก้วหรือพลาสติกใสเพื่อเอาไว้ดูกาแฟตอนที่มันลอยขึ้นข้างบน
การใช้แรงโน้มถ่วง:
การชงแบบหยด (หรือแบบกรอง) เป็นการหยดน้ำร้อนผ่านกากกาแฟที่วางอยู่ในที่กรอง (อาจเป็นกระดาษหรือโลหะเจาะรู) ความเข้มขึ้นอยู่กับสัดส่วนระหว่างน้ำกับกาแฟ แต่โดยปกติแล้วจะไม่เข้มข้นเท่าเอสเพรสโซ
เครื่องชงกาแฟแบบใช้น้ำร้อนซึมประเภทที่สอง ก็เป็นแบบที่ใช้แรงโน้มถ่วงดึงให้น้ำไหลผ่านกากกาแฟ แต่ให้ความเข้มมากกว่า
การจุ่ม:
เฟรนช์เพรส (หรือ cafeti?re) เป็นกระบอกแก้วที่สูงและแคบ ประกอบด้วยลูกสูบที่มีตัวกรอง กาแฟและน้ำร้อนจะถูกผสมกันในกระบอก (ประมาณ2-3นาที) ก่อนที่ตัวลูกสูบ ซึ่งอยู่ในรูปฟอยล์โลหะ จะถูกกดลง เพื่อให้เหลือแต่น้ำกาแฟอยู่ข้างบนพร้อมเสิร์ฟ ถุงกาแฟ (ลักษณะเดียวกับถุงชา) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าการใช้ถุงชงชามาก เนื่องจากมันมีขนาดใหญ่กว่ามาก (ปริมาณกาแฟที่ต้องใส่เข้าไปในถุงมากกว่าปริมาณชามาก) กาแฟทุกแบบที่ได้กล่าวมานี้ต่างใช้กากกาแฟชงกับน้ำร้อน กาแฟอาจถูกปล่อยค้างอยู่หรือไม่ก็ถูกกรองออกไป แต่ละวิธีต่างต้องการความละเอียดของการบดแตกต่างกันไป เครื่องทำกาแฟแบบไฟฟ้าสามารถต้มน้ำและชงผงที่ละลายได้ โดยไม่ต้องพึ่งคนมากนัก และบางประเภทก็มีตัวตั้งเวลาด้วย พวกที่ดื่มกาแฟอย่างจริงจังมักจะรังเกียจวิธีการที่สะดวกสบายแบบนี้ ซึ่งมักจะทำให้สูญเสียรสชาติและกลิ่นที่ดีไป คนกลุ่มนี้มักจะโปรดปรานกาแฟที่เพิ่งบดใหม่ๆ และวิธีการชงแบบดั้งเดิมมากกว่า
แหล่งผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียง
จาไมกา เป็นแหล่งผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก บลูเมาน์เทน ซึ่งปลูกบนยอดเขาสูง ผลผลิตเกือบทั้งหมดถูกส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และที่เหลืออีกเล็กน้อยถูกส่งไป สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, และเยอรมนี ยี่ห้อที่มีชื่อเสียงคือ ไฮเมาน์เทนซูพรีม (Hign Mountain Supreme) และ ไพรม์วอชท์จาไมกัน (Prime Washed Jamaican)
บราซิล ผลิตกาแฟเป็นอันดับ 1 ของโลก ยี่ห้อมีชื่อคือ บราซิเลียน ซานโตส (Brazillian Santos)
โคลัมเบีย ผลิตกาแฟเป็นอันดับ 2 ของโลก กาแฟที่มีชื่อคือ ซูรีโม (Suremo)
ฮาวาย กาแฟขึ้นชื่อคือ โคน่า (Kona)
อินโดนีเซีย
ชวา วิธีการเฉพาะของที่นี่คือ การบ่มในโกดังพิเศษเพื่อให้เมล็ดกาแฟเปลี่ยนสี และมีรสชาติที่ดี
สุมาตรา ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า กาแฟแมนเฮลิงและอันโกลาของชวา มีรสชาติดีกว่าบลูเมาน์เทนและโคน่าเสียอีก
อินเดีย มีกาแฟรสชาติเฉพาะตัว ชื่อมอนซูน มาลาบาร์ (Monsooned Malabar)
เอธิโอเปีย ประชากร 1 ใน 4 ของประเทศมีรายได้จากอุตสาหกรรมกาแฟ กาแฟที่นี่มีลักษณะเฉพาะเนื่องจากมีกาแฟป่าปะปนอยู่ แต่นี่ก็เป็นสาเหตุให้รสชาติมีความไม่แน่นอนสูงด้วยเช่นกัน กาแฟที่มีชื่อเสียงคือ ฮารา ลองเบอรี่ (Harrar Longberry) , ซีดาโม (Sidamo) , และคาฟฟา (Kaffa)
เคนยา พิถีพิถันเรื่องคุณภาพมาก กาแฟที่มีคุณภาพที่สุดคือ "เคนยา AA"
เวียดนาม ส่งออกกาแฟได้เป็นอันดับ 3 ของโลก
สำหรับประเทศไทยปลูกกาแฟโรบัสต้า ร้อยละ 98 โดยมากปลูกทางภาคใต้เช่น กระบี่ ตรัง และชุมพร อีกประมาณร้อยละ 2 เป็นกาแฟอราบิก้าซึ่งปลูกมากตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือ กาแฟที่มีชื่อเสียงของไทยได้แก่ กาแฟดอยช้าง ซึ่งปลูกบนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย ถือว่าเป็นกาแฟได้จากกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับสากล และรสชาติดีเทียบเคียงกับกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลก
อัพเดตความรู้ และสลัดความเชื่อเก่าที่ผิดๆ เรื่องกาแฟทิ้ง...เพราะมันให้คุณมากกว่าโทษ ถ้าคุณรู้จักดื่ม และนี่คือ 6 ข้อเท็จจริงที่เราเอามาป่าวประกาศ
1. ไม่จริงว่าการดื่มกาแฟทำให้เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิต เป็นหมัน ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์แท้งได้ ส่งผลให้ทารกแรกคลอดน้ำหนักน้อย เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ ซีสต์ในเต้านม และกระดูกพรุน ถ้าคุณดื่มเพียงวันละ 1-2 ถ้วย
2. ไม่รู้ใช่มั้ย...กาแฟช่วยลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคพาร์คินสัน ลดอันตรายจากตับในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคตับ ลดอาการหอบในผู้ที่มีโรคหอบหืด เพิ่มความจำ และสำหรับนักกีฬาจะช่วยเพิ่มความทนและความอึดในกีฬาที่ต้องใช้เวลานาน
3. ต้องดื่มบ่อยๆ...สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟเพราะต้องการแก้ง่วง แนะนำให้ดื่มปริมาณน้อยๆ แต่กระจายการดื่มออกไปตลอดวัน เช่น แทนที่จะดื่มถ้วยใหญ่ 16 ออนซ์ (500 มล.) ในตอนเช้า ให้ดื่มเพียงครั้งละ 2-3 ออนซ์ (60-90 มล.) แต่บ่อยขึ้น กาแฟจะเริ่มออกฤทธิ์ใน 15 นาที และจะอยู่ในร่างกายนานหลายชั่วโมง และต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงกว่าที่จะถูกขจัดออกจากร่างกาย
4. กาแฟดีกว่าไวน์และชาสมุนไพร...เมล็ดกาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาเขียวถึง 4 เท่า และยังมากกว่าโกโก้ ชาสมุนไพร และไวน์แดง ที่มากกว่าเพราะผู้บริโภคดื่มกาแฟมากกว่าเครื่องดื่มอื่นๆ แต่สารต้านอนุมูลอิสระในกาแฟแต่ละถ้วยและแต่ละยี่ห้อนั้นก็ไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของกาแฟ
5. ระวังไว้นิดก็ดี...องค์ประกอบหลักของกาแฟคือ สารกาเฟอีน ซึ่งเป็นสารกระตุ้นที่มีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หรือเต้นผิดปกติในบางครั้ง และเพิ่มความดันโลหิต งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยโทรอนโทเปิดเผยว่า การดื่มกาแฟมากอาจเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันในผู้ที่มียีนขจัดกาเฟอีนช้า ทำให้กาเฟอีนอยู่ในกระแสเลือดนานขึ้น แต่สำหรับคนที่มียีนปกติที่ขจัดกาเฟอีนได้เร็วกาแฟก็จะไม่มีผล
6. ดีแคฟ...ไม่ช่วยอะไร ผู้ที่ดื่มกาแฟสกัดกาเฟอีน อาจคิดว่าปลอดภัย แต่นักวิจัยเตือนว่า กาแฟสกัดกาเฟอีนอาจเพิ่มระดับกรดไขมันในเลือดให้สร้างแอลดีแอล ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลตัวร้ายได้เพราะในกระบวนการสกัดกาเฟอีนจะสกัดเอาสารเฟลโวนอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสารอื่นๆ ที่ให้รสชาติกาแฟแท้ๆ ออกไปด้วย ดังนั้น การดื่มดีแคฟนอกจากจะอร่อยน้อยลงแล้ว ยังมีผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย
อะไรที่มากหรือน้อยเกินพอดีล้วนมีโทษทั้งสิ้นเพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากดื่มกาแฟให้ได้ประโยชน์ก็ต้องเลือกในปริมาณ และรสชาติที่เกินพอดีแล้วจะมีความสุขกับกาแฟแก้วโปรดไปอีกนานๆ
แหล่งที่มา: http://www.anti-agingclub.net
รับกาแฟร้อนๆ สักถ้วยมั้ยคะ
กาแฟกับสุขภาพ
กาเฟอีนเป็นสารออกฤทธิ์เร็ว เพียง 5 นาทีจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และในเวลา 20-30 นาที ก็จะถูกส่งไปสมองพร้อมออกฤทธิ์ หลังจากออกฤทธิ์สูงสุดมันจะเริ่มลดระดับลงช้าๆ แต่เมื่อผ่านไป 3-6 ชั่วโมง ฤทธิ์จะคงอยู่ครึ่งหนึ่ง จากการศึกษาพบว่ากาเฟอีนช่วยยืดเวลาการทำงานของกล้ามเนื้อให้ยาวออกไปได้ แต่กาแฟที่สกัดกาเฟอีนออกไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว นอกจากนี้กาแฟยังช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันที่สะสมให้กลายเป็นพลังงาน
แต่ที่ต้องระวังคือ กาแฟลดความสามารถในการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อนิ้วมือ ทำให้การใช้นิ้วมือมีประสิทธิภาพลดลง
หากได้รับกาเฟอีนในปริมาณครั้งละ 200-500 มิลลิกรัม อาจทำให้ปวดศีรษะ เกิดภาวะเครียด กระวนกระวาย มือสั่น และประสิทธิภาพการทำงานลดลง หากได้รับกาเฟอีนประมาณ 1,000 มิลลิกรัม อาจทำให้ผู้บริโภคมีไข้สูง วิตกกังวล กระสับกระส่าย พูดกระตุกกระตัก ควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย
ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอาจส่งผลให้กระดูกบางลงหากดื่มกาแฟปริมาณมากในระยะยาว ส่วนในหญิงตั้งครรภ์นั้นการดื่มกาแฟปริมาณมากเกินไปอาจเกิดผลเสียรุนแรงถึงขั้นแท้งบุตรได้
ดื่มกาแฟขณะตั้งครรภ์ส่งผลต่อการแท้งบุตร ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยว่าการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น ช็อกโกแลต โกโก้ ชา น้ำอัดลม ที่มีกาเฟอีนเกินกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือประมาณกาแฟ 2 ถ้วยต่อวัน) อาจส่งผลให้เกิดการแท้งบุตรได้ถึงร้อยละ 25 ซึ่งมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรเพียงร้อยละ 12 การศึกษานี้กระทำในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์จำนวน 1,063 ราย
ปริมาณกาเฟอีนในอาหารและเครื่องดื่มชนิดต่างๆ
ต่อปริมาณเครื่องดื่ม 12 ออนซ์ (360 ซี.ซี.) มิลลิกรัม
Red Bull กระทิงแดง (8.2 ออนซ์) 80.0
เป๊ปซี่ 55.5
เมาท์เทนดิว 55.0
ไดเอทโค้ก 45.6
เป๊ปซี่ทวิสต์ 37.5
ไดเอทเป๊ปซี่/ไดเอทเป๊ปซี่ทวิสต์ 36.0
โคคา-โคล่า 34.0
โค้กวานิลลา/ไดเอทโค้กเชอร์รี่/โค้กกลิ่นมะนาว 34.0
ชาเย็น เนสที 26.5
ชาเขียวลิปตัน 23.0
ชาลิปตันทุกชนิด 9
สไปร์ท/เซเว่นอัพ 0
เอแอนดับบลิวรูทเบียร์ 0
กาแฟเอสเปรสโซ่(2 ออนซ์) 100
กาแฟสำเร็จรูป 65-100
ชาเย็น 47
ชาสำเร็จรูป 30
ชาเขียว 15
โกโก้ร้อน 14
กาแฟสกัดกาเฟอีน 3-4
กาแฟสำเร็จรูปสกัดกาเฟอีน 2-3
ที่มา: National Soft Drink Association,US Food and Drug Administration
ข้อควรระวังสำหรับการดื่มกาแฟ
-จากการศึกษาพบว่ากาแฟไม่เกิน 6 ถ้วยต่อวัน ไม่มีผลต่อความดันเลือดในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การดื่มกาแฟวันละ 2 ถ้วยเป็นปริมาณที่ปลอดภัยที่สุด และควรดื่มพร้อมอาหารเช้าเพื่อให้สดชื่น
การดื่มกาแฟพร้อมสูบบุหรี่ทำให้ความดันสูงได้ถึงขั้นเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยที่เป็นความดันสูงอยู่แล้ว
-คนที่ดื่มกาแฟจะมีระดับโคเลสเตอรอลสูงกว่าคนที่ไม่ดื่ม โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีโคเลสเตอรอลสูงกว่าผู้ชาย
-ผู้ที่ดื่มกาแฟ 5 ถ้วยขึ้นไปต่อวันมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มถึง 3 เท่า (ในชาย) และ 2.5 เท่า (ในหญิง)
-กาแฟกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะ ผู้เป็นโรคกระเพาะควรหลีกเลี่ยง
-ในผู้หญิงบางรายกาแฟสามารถกระตุ้นอาการวิตกกังวลได้แหล่งข่าวโดย.... โลกวันนี้ คอลัมน์: อาหารและยา
ผู้จัดทำ.... สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข