** ปราการแห่งทิฐิ **
คัดลอกจาก ธรรมะเกร็ดแก้ว
ท่าน ว.วชิรเมธี
เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศเวียดนาม เป็นโศกนาฏรรม แห่งความรักที่บันทึกไว้ในข้อเขียนเรื่อง "เมตตาภาวนา ; คำสอนว่าด้วยรัก" ของ ท่าน "ติช นัท ฮันห์" หลวงญวนผู้เปี่ยมปรีชาญาณแห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศษ อ่านจบหลายครั้งก็ยังประทับใจจึงอยากนำมาเล่าต่อ
ชายหนุ่มกับหญิงสาวคนหนึ่งเพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นาน ฝ่ายชายก็ถูกเกณฑ์ไปราชการสงคราม หญิงสาวไปส่งสามีจนสุดสายตา เขาหายไปในสงครามเป็นเวลากว่าสามปีจึงส่งข่าวคราวกลับมา เธอดีใจมาก จูงมือเจ้าตัวเองเล็กไปรับผู้เป็นพ่อแต่เช้าตรู่ ทันทีที่พบกัน ทั้งสองโผเข้าหากัน สัมผัสไออุ่นจากกันและกัน นิ่งนาน จนเกือบลืมไปว่ามีลูกชายตัวเล็กยืนจ้องตาแป๋วอยู่
ผู้เป็นพ่อดีใจมาก ยื่นมือไปหมายกอดลูกชาย แต่เจ้าหนูถอยกรูด แม่ปลอบว่าอย่ตกใจ เจ้าหนูไม่เคยเห็นหน้าพ่อมาก่อนก็เป็นเช่นนี้แหละ ทั้งสามเดินกลับมาตามทางจนถึงตลาด หญิงสาวขอตัวเข้าไปซื้อขาวของสำหรับทำกับข้าวมื้อพิเศษ ชายหนุ่มมีโอกาสอยู่กับลูกชายจึงขออุ้มเจ้าตัวน้อยอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ เท่านั้นยังไม่กระไร พอเจ้าลูกชายเริ่มพูดบางสิ่งบางอย่าเขางจึงรู้สึกได้ถึงที่มาแห่งปฏิกิริยาอันผิดปกติ
"น้าไม่ใช่พ่อของหนู พ่อหนูมาหาแม่ทุกคืน พอแม่นั่งพ่อก็นั่ง พอแม่ยืนพ่อก็ยืน"
เพียงไม่กี่คำเท่านี้เอง หัวใจของชายหนุ่มผู้เหนื่อยหนักมาจากสงครามอันแสนหฤโหดยาวนานก็พลันกระด้างยังกับแผ่นศิลา สักพักหนึ่งพอหญิงสาวเดินกลับมาจากร้านตลาด เธอก็พบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เขาไม่เพียงแต่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน หากหน้าเธอเขาก็ไม่ปรายตามองอีกต่อไป เธอไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
เย็นวันนั้น อาหารที่เธอบรรจงทำอย่างสุดฝีมือเพื่อต้อนรับการกลับมาของเขาจืดสนิท ทั้งคู่เข้านอนแต่หัวค่ำ ต่างนอนลืมตาโพลงอยู่ในความมืด เธอถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นขณะที่เธอแวะเข้าไปซื้อของ เขาถามว่าเธอยังเป็นผู้หญิงคนที่เขาสุดรักจับใจคนเดิมอยู่หรือเปล่า ต่างคนต่างถามกันและกันในความมืด ทว่าเป็นการถามที่เงียบงำจนวังเวง
เขาเย็นชากับเธอจากวันแรกจนถึงวันที่สาม ไม่มีการถามไถ่ไม่มีการโอบกอดอันอบอ่น ไม่มีการรับประทานอาหารร่วมกันอย่างเอร็ดอรอ่ย ไม่มีแม้แต่การปรายตามองกันและกันอย่างเต็มสองตาฉันผัวหนุ่มเมียสาว การณ์เป็นไปดังนั้นอยู่จนถึงเย็นวันที่สาม แล้วความอดทนของเธอก็สิ้นสุดลง
เธอตัดสินใจลาจากความระทมทุกข์ที่แม่น้ำสายหนึ่ง ทิ้งปมปัญหาทุกอย่างไว้ข้างหลังอย่างไม่ไยดี
เย็นวันนั้นเข่ารู้ข่าวการจากไปของเธอด้วยน้ำตานองทั้งสองแก้ม เขาไปรับศพเธอมาบำเพ็ญกุศลอย่างเงียบๆในบ้านของตัวเอง มีเพียงเจ้าหนู่เท่านั้นที่อยู่เป็นเพื่อนเขาจนดึกดื่น และคืนนี้ความลึกลับทั้งปวงก็ได้รับการคลี่คลาย
ตะเกียงน้ำมันก๊าดที่จุดไว้บนโลงค่อยๆหรี่ลงจวนเจียนจะดับ เขาเติมน้ำมันแล้วจุดใหม่ เปลวไฟโชนแสงวูบวาบ เขาลุกเดินกลับไปกลับมา ขณะนั้นเองเงาของเขาทาบทอไปปรากฏยังฝาเรือน เจ้าหนูชี้ไปที่เงาพลางตะโกนลั่น "นั่นไง พ่อหนูมาแล้ว พอแม่นั่งพ่อก็นั่ง พอแม่ยืนพ่อก็ยืน คนนั้นแหละพ่อของหนู"
ชายหนุ่มมองตามเจ้าหนู เห็นเงาของตัวเองทาบทออยู่ที่ฝาจึงเข้าใจขึ้นมาในนาทีนั้นนั่นเองว่า "พ่อ" ที่เจ้าหนูเอ่ยถึงก็คือ "เงา" ที่เห็นอยู่นี่เอง ปริศนาทุกอย่างกระจ่างแล้ว
เธอ..คงรักเขามากสินะ ถึงขนาดสมมติให้เงาตัวเองเป็นเขาแล้วบอกเจ้าหนูว่าเงาก็คือตัวเขา คือ"พ่อ" ที่หายไปในสงคราม โอ..ไม่น่าเลย
ความจริงนี้เจ็บปวดเกินไป เจ็บเกินกว่าหัวใจของคนธรรมดาจะรับไหว รุ่งขึ้นอีกวัน เขาชดใช้ความผิดพลาดอย่างมหันต์ของตัวเอง ด้วยการให้แม่น้ำเป็นตุลาการพิพากษาชีวิตเขาอีกชีวิตหนึ่ง..เรื่องราวของเขาและเธอเป็นโศกนาฏรรมแห่งความรักที่เล่าขานกันมาอีกนานนับนาน
วันนั้นหลังจากเจ้าหนูพูดถึง "พ่อ" ของตัวเองให้เขาฟังที่กลางตลาด หากไม่หุนหันพลันแล่น มีสติสักนิดหนึ่ง ถามไถ่จากเธอว่า "พ่อ" คนที่เจ้าหนูพูดถึงคือใคร และหลังจากที่เขาเย็นชา ปิดปากเงียบสนิท หากเธอจะอาจหาญถามเขากลับไปว่ามันเกิดอะไรขึ้น เธอก็คงไม่ต้องเจ็บจนเกินเยียวยาและเขาเองก็คงไม่ต้องจบชีวิตอย่างน่าอนาถเช่นนั้น
ไม่ใช่เธอไม่รักเขา และก็ไม่ใช่เขาไม่รักเธอ
หากทั้งเธอและเขาต่างรัก ต่างภักดีต่อกันอย่างสุดซึ้ง ความรักของคนทั้งสองบริสุทธิ์ งดงาม หมดจด จนกลายเป็นตำนานเล่าขานดังเรื่องราวของวีรบุรุษวีรสตรีผู้พิชิต ความผิดพลาดหากจะพึงมีบนเส้นทางแห่งรักแท้จนกลายมาเป็นโศกนาฏกรรมของคนทั้งคู่เกิดจากเส้นบางๆของปราการแห่ง "ทิฐิ" โดยแท้
หากทั้งเธอและเขายอมวาง "ทิฐิ" แล้วหันหน้าเข้าหากันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ถามไถ่จากกันและกันอย่างให้เกียรติกันทั้งสองฝ่าย ไหนเลยจะต้องมาจำพรากทั้งที่ยังรักล้นใจเช่นนั้น รักเอย รักนั้นงดงาม บริสุทธิ์ อ่อนหวาน ไม่ใช่ความผิดของความรักหรอกจะบอกให้ ผิดที่ใจอันมากด้วย "ทิฐิ" ของทั้งคู่นั่นต่างหาก
ปรารถนารักที่ยั่งยืนหมื่นปี
อย่าให้มี "ปราการแห่งทิฐิ" มากางกั้นแค่นั้นพอ
http://board.palungjit.com
|