Me' - จะทำกันเกินไปแล้ว
กลโกงผ่านโทรศัพท์
แค่เลขไม่กี่ตัว เงินก็หายได้ เรื่องของมิจฉาชีพที่โทรศัพท์มาหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มถูกเล่าขานมานานแล้ว บูมขึ้นมาพร้อม ๆ กับอัตราการเติบโตของการมีโทรศัพท์มือถือที่พุ่งพรวด เริ่มตั้งแต่มุข อมตะนิรันดร์กาลว่า ถูกรางวัลแจ็กพอตจากการชิงโชคของบริษัทชื่อดัง ถ้าอยากได้ตังค์ ต้องโอนภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาก่อน แถมต้องทำแบบด่วน ๆ เพราะเดี๋ยวจะหมดเวลารับรางวัล จึงทำให้เหยื่อตายใจ ทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มทันที มุขนี้ แม้จะเก่า แต่ก็ยังมีคนตกเป็นเหยื่ออยู่บ่อย ๆ
ต่อมาก็พัฒนาขึ้นโดยใช้ระบบอัตโนมัติ (จริง ๆ อาจจะแค่ทำเสียงเลียนแบบ) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อ้างว่าเป็นศาลแพ่ง ศาลอาญา แจ้งมาว่ามีหมายจับ อยากรู้ให้กด 1 กด 2 อาศัยความตื่นตกใจ (เพราะใครบ้างจะอยากขึ้นศาล) หลอกเหยื่ออีกตามเคย วิธีนี้ได้ผลพอ ๆ กับการแอบอ้างว่าโทร.มาจากศูนย์บัตรเครดิตของสารพัดธนาคาร ใช้ระบบอัตโนมัติแจ้งว่ามีหนี้ค้างชำระหลักหมื่นหลักแสน หากแจ้งว่าไม่เคยมีบัตรเครดิตมาก่อน บรรดามิจฉาชีพก็จะอธิบายให้เสร็จสรรพว่าถูกขโมยข้อมูลไปโดยไม่รู้ตัว เดี๋ยวจะโอนสายไปให้หน่วยงานของแบงก์ชาติบ้าง ดีเอสไอบ้าง (จริง ๆ ก็แค่โต๊ะข้าง ๆ นั่นแหละ) เพื่อให้แก้ไขข้อมูล หรือเคลียร์หนี้ให้ ซึ่งสุดท้ายก็คือหลอกเหยื่อไปที่หน้าตู้เอทีเอ็ม แล้วสั่งให้ กด ๆ ตามคำสั่ง กว่าจะรู้ตัว เงินก็หายไปเกลี้ยงบัญชี
แต่ถ้าอยู่ในช่วงต้นปีถึงกลางปี ซึ่งเป็นฤดูกาลแห่งการขอคืนภาษีของมนุษย์ เงินเดือน วิธีที่ฮอตฮิตที่สุด ก็คือการ แอบอ้างว่าโทร.มาจากกรมสรรพากร มีเช็คคืนภาษี ต้องรีบเข้าบัญชีด่วน ก่อนเช็คหมดอายุ แล้วจะอดได้เงินคืน วิธีนี้เคยได้เงินจากเหยื่อเหยียบแสนบาท
และเมื่อสารพัดกลโกงถูกเปิดโปงมากขึ้น เดี๋ยวนี้แค่หลักร้อยหลักพันบาท พวกโจรก็ยังเอา เวลานี้บรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์ ทั้งโทรศัพท์บ้าน ทั้งมือถือ จึงถูกแอบอ้างบ่อยขึ้น บ้างก็ว่ามีโปรฯพิเศษเฉพาะกลุ่ม โทร.ฟรีกระหน่ำไม่อั้น อยาก สมัครโปรฯนี้ ต้องไปที่ตู้เอทีเอ็ม สมัคร ตามขั้นตอนที่บอก หรืออ้างว่ามีหนี้ค้างชำระ ถ้าไม่รีบไปจ่ายผ่านตู้เอทีเอ็ม จะฟ้องศาล
แต่ล่าสุด กลวิธีในการดึงเงินจากเหยื่อเปลี่ยนไปอีกขั้น จากเดิมจะหลอกให้เปลี่ยนเมนูหน้าจอตู้เอทีเอ็มเป็นภาษาอังกฤษ แล้วกดปุ่มตามคำบอกของมิจฉาชีพ เพื่อให้ โอนเงินเข้าบัญชีโจรโดยไม่รู้ตัว กรณีที่เป็นข่าวสด ๆ ร้อน ๆ ไม่ได้ใช้วิธีนี้แล้ว แต่กลับหลอกให้เหยื่อสมัครใช้งาน อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง !
กระบวนการนี้ กว่าที่เหยื่อจะรู้ตัว จะใช้เวลานานขึ้น เพราะในขั้นตอนการทำธุรกรรมที่หน้าตู้เอทีเอ็ม เหยื่อไม่ได้กดตัวเลขที่เป็นจำนวนเงิน หรือเลขของบัญชีเงินฝากที่มีหลาย ๆ หลักเลย แต่กดปุ่มไม่กี่ปุ่มในกระบวนการแค่ 6 หลักหน้าจอเท่านั้น
แต่จริง ๆ คือคุณกำลังยื่นกระเป๋าสตางค์ให้โจร เนื่องจากนโยบายของธนาคารที่ต้องการให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบาย ใช้บริการได้ "ง่าย" ขึ้น อะไร ๆ ก็เลยง่ายไปหมด การใช้บริการ อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งของบางธนาคาร จึงสมัครได้ด้วยตู้เอทีเอ็ม โดยไม่ต้องมีหลักฐานอะไรเลย แค่เพียงคุณมีบัตรเอทีเอ็ม กดรหัสบัตร กดยอมรับเงื่อนไขใช้บริการ กำหนดรหัสผ่าน เพื่อจะเข้าไปใช้บริการออนไลน์ 4 หลักบนหน้าจอ ใส่เบอร์โทรศัพท์ รับสลิปจากตู้เอทีเอ็ม แค่นี้ คุณก็เข้าไปใช้งานอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งได้
คีย์เวิร์ดที่สำคัญก็คือรหัสผ่าน 4 หลัก พวกมิจฉาชีพจะเป็นคนบอกให้เรากด ซึ่งเท่ากับเป็นผู้กำหนดรหัสให้เรา ขณะเดียวกัน ก็จะให้เราบอก User ID ที่เห็นในสลิปเอทีเอ็ม ! ตามด้วยกรอกเลขบัตรประชาชน และวันเดือนปีเกิด แค่นี้พวกมิจฉาชีพก็สามารถโอนเงินไปมาได้แล้ว
เพราะเบสิกของการหลอกลวงผ่านโทรศัพท์ สิ่งแรกที่มิจฉาชีพจะถาม คือเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยอ้างว่าจะเช็กข้อมูลให้ ว่าเป็นหนี้เท่าไร หรือถูกรางวัลเท่าไร หรือได้สิทธิโปรโมชั่นไหน การเช็กวันเดือนปีเกิด เป็นขั้นตอนที่ตามมา ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ หลายคนไม่เคยปฏิเสธที่จะบอกใคร เพราะคิดว่าไม่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องที่ควรปกปิด
หากคุณไม่อยากตกเป็นเหยื่อ สิ่งที่ต้องจำไว้ให้มั่น คืออย่ากลัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะโทร.มาจากหน่วยงานไหน อย่าติดต่อทำธุรกรรม หรือให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนที่โทร.มาหาคุณ แต่ให้โทร.กลับไปที่หน่วยงานนั้น ๆ โดยตรง (หาเบอร์จากสมุดโทรศัพท์ หรือเว็บไซต์ทางการ)
นอกจากนี้ ในความเป็นจริง ราชการไทย หรือแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ เรื่องราว ที่เกี่ยวกับเงินทอง หรือคดีความ จะส่งเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรถึงบ้าน เท่านั้น
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า ลักษณะของเบอร์โทร.เข้าของกลุ่มมิจฉาชีพ ส่วนใหญ่จะขึ้นว่า private number หรือ no caller id หรือบางครั้งบอกตัวเลขเพียง 2 หลักแรก ที่เหลือเป็นตัวเลขแปลก ๆ หรือเป็นเบอร์ที่โทร.ผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยระบบ VOIP ซึ่งจะขึ้นต้นด้วย 06 หรือมีเครื่องหมาย + นำหน้า เหมือนโทร.จากต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น หากมีสายโทร.เข้าที่ปรากฏข้อความ หรือเลขแปลก ๆ ดังกล่าว ก็ควรจะตั้งหลักระมัดระวังไว้ชั้นหนึ่งก่อน หากเป็นการพูดคุยเพื่อให้ไปทำ ธุรกรรมที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเพื่อกดรหัสต่าง ๆ แล้ว ขออย่าได้ดำเนินการตาม
และที่สำคัญ จำไว้ สารพัดเลขในชีวิต
สำคัญทั้งนั้น เก็บเป็นความลับไว้ ดีที่สุด
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1274347286&grpid=07&catid=00§ionid=0225
|