‘ถอยหนึ่งก้าว แล้วรุกใหญ่’ รหัสคิดฉบับ พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล
เอ่ยชื่อ “พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล” คนในวงการอัญมณีและแวดวงไฮโซรู้จักเขาดีในฐานะประธานกรรมการกลุ่มบริษัท บิวตี้ เจมส์ จำกัด และบริษัทในเครือ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างจุดเปลี่ยนให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญและสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นเงินมหาศาล และทำให้ความคิดฝันที่จะสร้างไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับระดับแถวหน้าของโลก เป็นเรื่องที่เกิดได้จริง นอกจากนี้เขายังมีบทบาทสำคัญและได้รับการยอมรับในฐานะ “นักวางแผนยุทธศาสตร์” ในการก่อตั้งมูลนิธิ สมาคม และสถาบัน เกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ และที่สำคัญการสร้างพิมพ์เขียวหรือการวางรากฐานพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีไทย กลายเป็นโมเดลต้นแบบที่นำไปพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆของไทยให้ก้าวหน้าได้อีกด้วย จุดเริ่มต้นการเป็นนักวางแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติของพรสิทธิ์ ที่เข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีไทย น่าจะกล่าวได้ว่า เริ่มต้นมาจากเมื่อกว่า 30 ปีก่อนที่เขาเข้ามาดำเนินธุรกิจ บิวตี้ เจมส์ จนสามารถขยายอาณาจักรสืบทอดมาถึงวันนี้ 3 เจเนอเรชันแล้ว บิวตี้ เจมส์ มีมาตั้งแต่ปี 2507 พรสิทธิ์ย้อนอดีตให้ฟังและเล่าว่า รากฐานธุรกิจเดิมเริ่มมาตั้งแต่ยุคคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งทำร้านค้าเพชรพลอยและเงินจำหน่ายในประเทศ มาถึงยุคพี่ชายคนโตก็เข้ามาขยายด้านการส่งออก แต่จุดเปลี่ยนที่ชัดเจนเกิดขึ้นเมื่อ 38 ปีก่อน เมื่อพรสิทธิ์เดินทางกลับมาจากสหรัฐฯ หลังจากไปใช้ชีวิตและเรียนหนังสืออยู่ 6 ปี เนื่องจากตอนเด็กค่อนข้างเกเร ชอบหนีเที่ยว เป็นนักเลงตรอกโรงภาษีย่านบางรัก และลูกคนกลาง ตอนเด็กเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก แต่ไปต่อมัธยมที่โรงเรียนปานะพันธุ์ จึงมีเพื่อนเยอะและเรียกกันว่า “ฮ้อน” พออายุ 15 ก็ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา เลือกเรียนสาขาบริหารธุรกิจด้าน Merchandising และโฆษณาจากมหาวิทยาลัย Youngstown State ที่มลรัฐโอไฮโอ ตอนกลับมาอายุประมาณ 21-22 กำลังเป็นหนุ่มไฟแรง หลังจากช่วยงานพี่ชายได้ 2 ปี ก็เกิดแนวคิดอยากวางรากฐานด้านการค้าของครอบครัวใหม่ ด้วยการคิดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าแทนการซื้อมาขายไป ด้วยการเป็นผู้เจียระไนเพชรพลอยเอง เขายอมรับว่าตอนนั้นใช้เวลาศึกษาและเรียนรู้อยู่หลายปี ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งพบปัญหาเยอะมาก ทั้งกฎเกณฑ์รัฐ ข้อห้าม แต่สุดท้ายก็เคลียร์ปัญหาได้หมดทั้งในส่วนธุรกิจและปัญหาอุปสรรคของอุตสาหกรรม “คนส่วนใหญ่พูดว่าถ้าจะทำอะไรต้องให้ตัวเองประสบความสำเร็จก่อนแล้วค่อยไปเผื่อแผ่คนอื่น แต่ผมคิดกลับกัน คือ ทำไปพร้อมๆ กันจะได้มีพลังและโอกาสมันเหลือเฟือ”
บิวตี้ เจมส์ จึงกลายเป็นบริษัทแรกที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ในการตั้งโรงงานและโรงเรียนเจียระไนรวมทั้งริเริ่มตั้งสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ การจัดงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelly “การบุกเบิกธุรกิจและอุตสาหกรรมตอนนั้นก็ได้ตัวแทนภาครัฐจากหลายส่วนที่มีวิสัยทัศน์ช่วยกันผลักดันจนสำเร็จมาได้ และทำให้อาณาจักรธุรกิจบิวตี้ เจมส์ วันนี้ไม่เพียงมียอดขายที่อยู่ระดับแถวหน้าของประเทศจากกระบวนการผลิตที่ควบวงจร แต่ยังสร้างแบรนด์สินค้าเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ถ้าถามว่าวันนี้ผมแฮปปี้ไหม กับเป้าหมาย โดยส่วนร่วมทั้งหมดแล้วใช่ แต่ว่าดวงดาวไปถึงจริงไหม แบบที่เรามอง ก็ถึงนะแต่ยังเกรงๆ อยู่ว่า ต้องมีคนสานต่อ เพราะถ้าเราหยุดพัฒนาก็จะล้าหลัง แต่ถ้ามีคนใหม่เข้ามาก็จะทำให้เราแข็งแรงขึ้น” ซึ่งเขาก็โชคดีที่ได้ลูกชายทั้งสองคนเข้ามารับถ่ายโอนการบริหารธุรกิจไปเต็ม 100% แล้ว มีเพียงข้อคิดที่ใช้แนะนำลูกคือ "ให้รู้ตัวเองเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ และอย่ากลัว ต้องกล้าทำกล้าลองผิดลองถูก ก็คือเรียนรู้ และมีเราคอยดูอยู่ข้างหลัง ซึ่งผมก็โดนมาอย่างเดียวกันนี้ในตอนแรกๆ" บวกกับประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาก็ถ่ายทอดให้ลูกๆไปใช้เป็นบทเรียน ข้อคิดในการทำงาน ซึ่งโดยส่วนตัวพรสิทธิ์มักจะยึดหลัก วางแผน ป้องกัน ไว้ก่อนที่จะต้องแก้ “ผมเป็นคนแก้ปัญหาไม่เก่ง ผมก็ไม่อยากให้มีปัญหา จึงพยายามวางแผน คือให้เกิดปัญหาน้อยที่สุดและจัดการได้ง่ายเพื่อจะได้เดินหน้าได้ต่อไป” หลักอีกสิ่งที่นำมาใช้บ่อยคือ “การยืดหยุ่น หรือ ถอยบ้าง ไม่ใช่ถอยเพื่อถอย แต่ผมถอยเพื่อรุก เพราะเราจะสร้างมิติได้ตลอดเวลา และเผชิญกับความเป็นจริง ใช้เหตุและผลในการทำงาน” และเขาเชื่อว่า “สิ่งที่เราทำไป ผลมันย่อมกลับมาเสมอ พระพุทธศาสนาก็สอนไว้ง่ายๆ ตนเป็นที่ตั้งของตน ทำอะไรไปแล้วมันก็ย้อนกลับมาเสมอ แนวคิดนี้ผมใช้มาตลอด และดูผลข้างเคียงว่า จะเกิดอะไรบ้าง ต่อไปข้างหน้า ต้อง balance” ”ผมไม่ใช่นักบริหาร เพราะผมบริหารไม่เก่ง แต่ผมชอบคิด ชอบขายไอเดีย” ช่วงที่เหลือของชีวิต ตอนนี้แม้จะเคยคิดเกษียณตอนอายุ 45 แต่มาถึงวันนี้ 60 แล้ว เขาก็ยังมุ่งมั่นที่จะทุ่มเทให้กับการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ในระดับชาติ รวมทั้งสานงานต่อหลังจากวางพิมพ์เขียวให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไว้ครบวงจร โดยเฉพาะหลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่ศึกษาวิจัยวัตถุดิบ การออกแบบ การบริหารจัดการ ผ่านมหาวิทยาลัยต่างเพื่อผลิตบุคลากรป้อนให้กับอุตสาหกรรม ที่จะช่วยต่อยอดสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น พรสิทธิ์อธิบายว่า แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนั้นอาวุธที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการขุนคนเก่งที่สุดในโลก แล้วเชื่อมต่อความคิดคนเหล่านี้เข้าด้วยกัน หากแข็งแกร่งทั้งโปรดักชันและการเพิ่มมูลค่า(value) ให้สินค้าได้ จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มอย่างมหาศาล แต่เนื่องจากหลังๆ มานี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ นอกจากการแข่งขันจากเพื่อนบ้าน เช่น จีน และอินเดีย ที่มีคนเป็นพันล้านสามารถผลิตบุคลากรได้จำนวนมากและราคาถูกแล้ว ยังมีผลจากการเปิดเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ของไทยกับหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จุดนี้หากผู้ประกอบการไทยเราไม่แข็งแรง ก็เหมือนเป็นการเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการในไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานผลิตแต่ไปสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการตลาดเข้ากระเป๋าประเทศตัวเอง “เราจึงจำเป็นต้องร่วมกันวางยุทธศาสตร์ สร้างทีมงานและแข่งขันร่วมกันในระดับชาติ” อีกเรื่องที่พรสิทธิ์คาดหวังที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น คือ แนวคิดพัฒนาอัญมณีเป็นสินค้าแฟชั่นที่ทุกคนสวมใส่ได้ไม่ต่างจากเสื้อผ้าแฟชั่นแต่ราคาไม่แพง เพื่อเป็นการสร้างมิติใหม่ในวงการ ด้วยการทำให้เกิดตลาดใหม่ อาจจะแยกเป็น 2-3 ตลาด คือ กลุ่มตลาดที่นิยมอัญมณีจากธรรมชาติ (nature) กลุ่มตลาดที่นิยมกึ่งธรรมชาติ( half nature) หรือนาโนที่ราคาไม่แพง และกลุ่มตลาดซินเทติก (synthetic - อัญมณีสังเคราะห์) เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างยั่งยืน “ผมอยากเห็นการสร้างตลาดใหม่และพัฒนาต่อยอดอัญมณีไทยให้เป็นเหมือนสินค้าที่คนอยากบินมาซื้อในไทย เหมือนกับที่คนนิยมบินไปซื้อน้ำหอมที่ปารีสข้อมูล Experience Business End Zone http://gemclub.blogspot.com/2010/01/blog-post.html http://www.beautygems.com/about/aboutus.asp
|