เตาปฏิกรณ์เปรียบเทียบกับอึและตด
"เตาปฎิกรณ์ปวดท้อง" แอนิเมชั่นน่ารัก อธิบายสถานการณ์แบบญี่ปุ่น
เชื่อแล้วว่าญี่ปุ่นเป็นเจ้าแห่งการสื่อสารผ่านรูปภาพ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังเผชิญ ก็ยังมีแอนิเมชั่นที่ดูน่ารัก สื่อความเข้าใจสถานการณ์เบื้องต้น ที่แม้แต่เด็กๆ ก็เข้าใจได้โดยง่าย
หลายคนคงได้ชมและอดไม่ได้ที่จะส่งต่อแอนนิเมชั่น "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังปวดท้อง" ที่โพสต์ไว้ผ่านยูทูบ ซึ่งเป็นวิธีอธิบายการเกิดเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญ โดยเปรียบเทียบกับการผายลมหรือ "ตด"
แอนิเมชั่นดังกล่าว เมื่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้รับการส่งต่อมา พบว่ามีผู้เข้าชมแล้วกว่าแสนคน โดยมีชาวญี่ปุ่นเป็นผู้โพสต์ และแจ้งว่า เป็นผลงานของ "คาซูฮิโกะ ฮายาชิ" (Kazuhiko Hachiya) ศิลปินสื่อ (media artist) ที่ต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวที่ฟูกูชิมะ และมีการส่งต่อจนมีผู้แปลบทบรรยายเป็นภาษาไทย โดยใช้นามแฝงว่า "สาคุรัมโบ" ทำให้คนไทยได้เข้าใจถึงแอนิเมชั่นดังกล่าว (รวมถึงทีมข่าววิทยาศาสตร์ด้วย ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้^^)
จากเรื่องราวในแอนิเมชั่น (ที่มีบทบรรยายภาษาไทย) ได้อธิบายตั้งแต่การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้ "เตาปฏิกรณ์คุง" ที่อยู่ในจังหวัดฟูกูชิมะเกิดปวดท้องขึ้นมา ถ้าเกิดเตาปฏิกรณ์คุงถ่ายออกมาจะเหม็นมาก และถ้ายิ่งลุกไหม้อีกก็จะทำให้ทุกคนเดือดร้อน
ดังนั้น "เตาปฏิกรณ์คุง" จึงอั้นเอาไว้ แต่ก็ผายลม "ตด" ออกมาเสียงดังทำให้ทุกคนตกใจ ซึ่ง "อึ" ที่อยู่ภายในอาจกำลังไหม้ไฟอยู่ จากนั้นจึงมีหมอมาให้ยา ซึ่งยาของเตาปฏิกรณ์คุงคือน้ำทะเล เพื่อไม่ให้ปล่อยอึออกมา แต่ก็ยังมีการผายลมออกมาบ้าง
ทั้งนี้ ผู้สร้างแอนิเมชั่นได้จินตนาการเปรียบเทียบการผายลม หรือ ตด ออกมาเหมือนกับการระเบิดตามที่เราได้เห็นภาพข่าว ส่วน "อึ" ที่กำลังลุกไหม้ นั่นก็คือแร่รังสีที่แกนปฏิกรณ์ ซึ่งกำลังหลอมละลายอยู่ภายใน
นอกจากนี้ สำหรับคนที่ยังเป็นห่วงว่ากลิ่นผายลมจะอยู่นานแค่ไหน ก็มีคำอธิบายเพิ่มโดยยกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าทรีไมล์ที่สหรัฐฯ ที่เคยผายลมครั้งใหญ่ แต่ตอนนั้นไม่มีการถ่ายออกมา และยังเปรียบเทียบกับที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ที่ครั้งนั้นถ่ายออกมาในห้อง และท้องเสียอีกด้วย แถมมูลที่ถ่ายออกมาก็กระจายออกไป
ส่วนที่ญี่ปุ่น "เตาปฏิกรณ์คุง" ได้ใส่ผ้าอ้อมไว้แล้ว (นั่นคือแกนปฏิกรณ์ได้อยู่ในหม้อความดันสูง และมีอาคารคลุมอย่างแน่นหนา) ซึ่งถ้ามีการถ่ายออกมาคงจะไม่ไปไกล แต่มูลที่ถ่ายออกมานั้นจะหนัก ลอยไปได้ไม่ไกล
อีกทั้ง ยังมีข้อสงสัยว่าทำไมไม่ให้เตาปฏิกรณ์คุงอึออกมาใส่ผ้าอ้อม (เพราะการนำแกนปฎิกรณ์ออกมาจากหม้อความดันนั้นเป็นอันตราย) และจะต้องใช้งบประมาณอีกมาก ทางที่ดีจึงต้องทำให้เตาปฏิกรณ์คุงเย็นลง เพื่อจำกัดวงไม่ให้แร่ออกมาแผ่รังสี
นอกจากนี้ ในแอนิเมชั่นยังพูดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือการที่อึออกมา และเล็ดรอดออกจากผ้าอ้อมด้วย จึงต้องมีการอพยพผู้คนออกจากบริเวณนั้นออกไปก่อน และอาจจะไปปนเปื้อนอาหาร
ที่สำคัญ แอนิเมชั่นได้เล่าถึงการทำงานของหมอ (เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้า) ที่จะต้องให้ยา นั่นคือการทำให้เตาปฏิกรณ์คุงเย็นลงให้ได้ ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเข้าออก และผลัดเวรกันทำงาน เพราะความปลอดภายอันเนื่องมาจากปริมาณการรับรังสี ซึ่งทั้งหมดเป็นความพยายามที่จะปกป้องให้ชาวฟูกูชิมะปลอดภัย
ก่อนจบ ได้ทิ้งท้ายไว้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป "อาการปวดท้องของเตาคุงจะหายแน่นอน" และสิ่งเหล่านี้คือการตอบแทนที่ผู้สร้างแอนิเมชั่นชิ้นนี้ได้รับไฟฟ้ามากมายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "เตาปฏิกรณ์คุง" กำลังปวดท้อง
สิ่งที่ใครๆ กังวลก็คือ "อึ" (สารกัมมันตรังสี ที่เป็นแกนปฏิกรณ์) ว่าจะถูกปลอดปล่อยออกมาเมือไหร่
คุณหมอได้พยายามนำยา (น้ำ) มาช่วยทำให้เตาปฏิกรณ์เย็นขึ้น แก้อาการปวดท้อง
เปรียบเทียบเหตุการณ์คล้ายๆ กันที่ทรีไมล์ (สหรัฐฯ) กับเชอร์โนบิล (ยูเครน)
ไม่ต้องห่วงมากนัก เพราะเตาปฏิกรณ์คุงมีผ้าอ้อม (สิ่งปกคลุมเครื่องปฎิกรณ์) http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000034472 Nuclear Power Plant educated animation การ์ตูนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ถึงจะลำบากก็ขอให้พยายาม อย่ายอมแพ้ สู้ สู้
|