10 โรคภัยทางการเงินที่ควรระวัง โดย : กาญจนา หงษ์ทอง
Fundamentals ฉบับนี้ พาไปดู "10 โรคภัยทางการเงินที่ควรระวัง" ลองเช็คลิสต์ดูซิว่า คุณเองก็มีโรคภัยแบบนี้เกาะแข้งเกาะขาอยู่หรือเปล่า
คุณเป็นอีกคนหนึ่งรึเปล่า ที่เต็มไปด้วยโรคภัยทางการเงิน หรือบางคนอาจจะกำลังจะถูกวอแวด้วยโรคบางโรค แต่ยังไม่รู้เนื้อรู้ตัว บางคนก็ไม่ได้มีโรคภัยอะไรร้ายแรงหรอก แต่กลับมีภูมิคุ้มกันทางการเงินบกพร่อง หรือไม่ก็กลายเป็นพวกสมรรถภาพทางการเงินเสื่อม นั่นก็เพราะคุณไม่รู้จักวางแผนการเงิน สุขภาพทางการเงินก็เลยย่ำแย่ Fundamentals ฉบับนี้ พาไปดู "10 โรคภัยทางการเงินที่ควรระวัง" ลองเช็คลิสต์ดูซิว่า คุณเองก็มีโรคภัยแบบนี้เกาะแข้งเกาะขาอยู่หรือเปล่า
1. ภูมิคุ้มกันการเงินบกพร่อง "อัจฉรา โยมสินธ์" อาจารย์ภาควิชาการเงิน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่า ร่างกายที่แข็งแรงยังต้องมีระบบภูมิคุ้มกันไว้คอยจำกัดสิ่งแปลกปลอมที่อาจจะเข้ามาทำลายความปกติของระบบต่างๆ ในร่างกาย ใครที่ไม่อยากให้ความปกติสุขทางการเงินต้องถูกทำลายไปก็ต้องรู้จักรักษาภูมิคุ้มกันทางเงินไม่ให้บกพร่อง ซึ่งการสร้างระบบภูมิคุ้มกันทางการเงินที่สมบูรณ์ก็ต้องเริ่มจากการ
“มีเป้าหมายการเงินที่เหมาะสม” “มีแผนการเงินที่ชัดเจน” “มีเงินออมเพื่ออนาคตที่มั่นคง” “มีการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง” "ใครที่ไม่เคยวางแผนทางการเงิน ไม่เคยมีเป้าหมายทางการเงิน มักจะเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างไร้ทิศทาง โรคร้ายทางการเงินจะรุมเร้าเพราะภูมิคุ้มกันการเงินบกพร่อง เมื่อภูมิคุ้มกันไม่ทำงาน ก็จะป่วยกระเสาะกระแสะ ไม่แข็งแรงไม่สดชื่น ใครหาเงินหาทองมาได้ แล้วก็ใช้แบบไม่เคยวางแผนการใช้จ่าย ไม่รู้จักบริหารจัดการให้ดี อนาคตทางการเงินก็จะอ่อนแอ หากเป็นหนักๆ เข้าโรคร้ายเรื้อรังอย่างมะเร็งทางการเงินก็จะถามหา ซึ่งยากจะเยียวยาแก้ไข"
"จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด บลจ.แอสเซท พลัส บอกว่า คนที่ภูมิคุ้มกันการเงินบกพร่องนั้นสาเหตุเกิดมาจากการใช้เงินโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ทำให้กระแสเงินสดที่มีอยู่ในมือไม่พอใช้ หรือเรียกได้ว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง
"ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่มีการวางแผนทางการเงิน ไม่มีความระมัดระวังในการใช้เงิน ทางแก้คงต้องวางแผนทางการเงินโดยประเมินการใช้จ่ายและการออมเงินของตนเองกับรายได้ที่ได้รับเป็นประจำทุกเดือน"
"อุมาพันธ์ เจริญยิ่ง" ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย มองว่าโรคนี้ ถือว่า อันตรายสุดๆ เพราะภูมิคุ้มกันจะเป็นตัวปกป้องเราจากโรคร้ายต่างๆ ภูมิคุ้มกันบกพร่องมักเกิดจาก
"การไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย พอมีเหตุด่วนทางการเงินเข้ามา ก็ทำให้ร่างกายไม่สามารถตั้งหลักและตั้งรับได้ เช่น เกิดตกงาน รถเสีย เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน จะทำให้ร่างกายช็อก และเกิดอาการโรคเงินช็อตขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นสาเหตุของโรคอื่นที่ตามมา"
2. เสพติดชอปปิง อัจฉราขยายอาการของคนที่เป็นโรคนี้ว่า เป็นพวกที่ติดอกติดใจ มีโอกาสเมื่อไรเป็นต้องซื้อ ซื้อ ซื้อ และช้อป ช้อป ช้อป ทั้งที่ข้าวของจำนวนมากที่ซื้อมาไม่เคยได้ใช้ แถมของส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อเพราะขาดแคลนหรือเพราะจำเป็นต้องใช้ อย่าง เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า นาฬิกา แว่นตา เข็มขัด เนกไท ก็มีอยู่มากมายจนใช้ไม่หมด แต่เห็นเมื่อไหร่เป็นต้องซื้อไว้ก่อน
ใครอยากหายขาดจากการเสพติดชอปปิ้ง ให้ “ลดการไปห้างสรรพสินค้าร้านค้าลง” โดยกำหนดตารางลงไปเลย เช่น เดือนละหนึ่งครั้ง ทุกครั้งที่ไปให้ “ทำ shopping list “ไปด้วย แล้วพยายามซื้อตามรายการที่ลิสต์ไว้เท่านั้น รวมทั้งให้ลองพยายาม “ไม่ใช้บัตรเครดิต” และ "จำกัดจำนวนเงินสด" ที่จะใช้ในการช้อปแต่ละครั้งไว้ด้วย สุดท้ายทุกครั้งที่เห็นของลดราคาให้ท่องคาถา “ถูกแค่ไหนถ้าไม่ใช้ ก็ไม่ซื้อ” หลายๆ รอบ แล้วอาการของโรคนี้จะค่อยๆ ทุเลาลง
ส่วนจารุลักษณ์บอกว่า คนที่เป็นโรคนี้ เพราะเกิดจากความเครียดจากการทำงานหรือเรื่องส่วนตัว และมาปลดปล่อยด้วยการซื้อของ หรือยึดติดกับสมัยนิยม ชอบสังคม นิยมแฟชั่น หรือของใช้สิ้นเปลืองต่างๆ ทำให้ใช้จ่ายโดยไม่ได้คิด เกินความจำเป็นเพื่อสนองความต้องการของตนในขณะนั้น โดยไม่ได้มีการวางแผน
"ทางแก้ก็ไม่ยาก คุณจะต้องรู้จักจัดสรรรายได้ของตนเอง เช่นหากรู้ว่าตนเองเสพติดชอปปิง ก็จะต้องจัดสรรเงินออมไว้ส่วนหนึ่ง เงินเผื่อฉุกเฉิน และแบ่งส่วนเงินสำหรับชอปปิงให้น้อยลง หรือปรับการชอปปิงเป็น Window Shopping หรือ ดูด้วยสายตาทางเว็บไซต์แทน คือเปลี่ยนความสุขทางใจจากการซื้อมาเป็นความสุขทางสายตาจากการดูแทน"
ส่วนโรคนี้อุมาพันธ์ถือว่าฮอตฮิตในหมู่สาวๆ เพราะคุณผู้หญิงโดยมากมักชอบซื้อของ โดยเฉพาะถ้ามีการติดป้ายลดราคา จะยิ่งกระตุ้นต่อมอยากมากขึ้น ยาเสพติด เป็นสิ่งที่แก้ยากที่สุด ทางแก้อย่างแรกก็คือ ต้องทำตัวหลีกห่างแหล่งอโคจร นั่นก็คือ ป้ายเซล
"ดิฉันเองพอสะกดจิตใจไม่ไปห้างตอน sale ก็จะพบว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้มาก ต่อมาก็คือ เราควรจะจัดบ้าน แยกของเป็นหมวดหมู่ แยกเสื้อผ้าตามสี ซึ่งจะทำให้ค้นพบว่า เรามีของเยอะมากน้อยแค่ไหน ไปเจอของใหม่ ก็จะได้ไม่ซื้ออีก และสิ่งสำคัญมากๆ คือ ต้องทำบัญชี เพื่อควบคุมงบประมาณใช้จ่าย เอาเงินไปออมไปลงทุนให้มากขึ้น จะได้ลดเงินค่าใช้จ่ายซื้อของไม่จำเป็นลดลง และสุดท้าย คือ ต้องท่องคาถาป้องกันตัว นั่นก็คือ ลด ละ เลิก ก่อนเดินห้างทุกครั้ง เพื่อข่มจิตใจไม่ให้ซื้อของแบบไร้สติ"
3. หนี้อุดตันในเส้นเลือด เลือกได้ อัจฉราบอกว่าใครๆ ก็คงไม่อยากเป็นหนี้ การเป็นหนี้ตามความจำเป็นในจำนวนที่ไม่มากเกินไปหรือไม่สร้างภาระจนผ่อนจ่ายไม่ไหวก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นหนี้เป็นสินจนชีวิตขาดความสงบสุข หรือมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ผ่อนหนี้ไม่ไหว หรือหมุนเงินจนตาลายคล้ายจะเป็นลม เพราะเริ่มมาถึงทางตัน ให้รีบวิเคราะห์ตัวเองทันทีว่าเป็นหนี้เพราะอะไร เพราะไม่ประมาณตนเอง เพราะชอบอัพเดทข้าวของเพื่อให้ อินเทรนด์อยู่ตลอดเวลา เพราะเห็นช้างขี้ แล้วต้องขี้ตามช้าง ทั้งที่รายได้ก็ไม่ได้มีมากพอให้ใช้จ่ายเกินความจำเป็นได้ หรือเพราะจำเป็นจริงๆ
"พอรู้สาเหตุแล้วก็ให้ทำบัญชีหนี้สิน สรุปยอดหนี้ทั้งหมดออกมาให้เห็นกันจะจะไปเลยว่าเป็นหนี้ใครบ้าง จำนวนเท่าใด ดอกเบี้ยเท่าไร จากนั้นก็ต้องประหยัด รัดเข็มขัดเต็มที่ เพื่อเพิ่มเงินสดในการชำระหนี้ ใครเป็นโรคนี้ก็ต้อง อดทนให้มากๆ รู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน หากไม่ไหวจริงๆ คงต้องหาที่ปรึกษา ต้องหาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวางแผนการชำระหนี้และปรับปรุงพฤติกรรมการใช้จ่าย"
จารุลักษณ์เห็นสอดรับกับอัจฉราที่ว่า คนเป็นโรคนี้เกิดจากการใช้จ่ายเงินเกินรายได้ของตนเอง หลักๆ คือใช้ชีวิตโดยไม่มีการวางแผนการเงินที่ดี ดังนั้นทางแก้ก็คือลงมือจัดระเบียบทางการเงิน โดยต้องคำนวณรายได้ กับค่าใช้จ่าย รวมทั้งหนี้ที่เงินจากการกู้ยืมและดอกเบี้ย
ส่วนอุมาพันธ์บอกว่าโรคนี้ ถ้าปล่อยไว้นานๆ จะเกิดโรคขาดเลือดตามมา คือ เจอเจ้าหนี้ตามสูบเลือดของท่านได้ เท่าที่เจอคือ มีหนี้อยู่เยอะ บางครั้งเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งดอกแพง เวลาเงินขาดยิ่งกู้ หากปล่อยไว้ให้เป็นวงจรอย่างนี้ หนี้ที่ตอนเริ่มมีอยู่ไม่มาก ก็จะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ลองสำรวจดูว่า เรามีข้าวของหรือทรัพย์สินอะไรที่ไม่ใช้ ขายได้บ้าง ก็อาจจะตัดทรัพย์สินนั้นขายเอาเงินมาทะลวงหนี้ก่อนค่ะ ให้หลอดเลือดคลายอาการตึงตัวและอุดตันลง หลังจากนั้น คงต้องหมั่นบริหารหนี้ ปลดหนี้ที่มี อันไหนดอกแพง ก็รีบจ่ายให้หมดก่อน ยุบหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบ ดอกเบี้ยจะถูกกว่า ปัญหาอุดตันก็จะคลี่คลาย"
4. เส้นเลือดเงินสำรองตีบ เงินสดเงินสำรองเพื่อรักษาสภาพคล่องให้พอเหมาะพอดีเปรียบเสมือนกระแสเลือดที่ไหลเวียนในร่างกาย อัจฉราจึงมองว่า คนที่มีเส้นเลือดสะอาดสะอ้านไม่มีไขมันอุดตัน กระแสเลือดก็จะไหลเวียนได้ดี ไม่ติดขัด ช่วยให้ปลอดภัยจากโรคร้ายหลายโรค ส่วนใครที่ไม่มีเงินสำรองไว้บ้าง หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น อย่างเช่น การชุมนุมประท้วงหรือเกิดน้ำท่วมใหญ่จนทำให้ต้องสูญเสียรายได้ ตกงานหรือเจ็บป่วย อาจจะประสบปัญหาทางการเงินซ้ำเติมด้วย เหมือนคนที่หัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตกในเวลาที่เครียดมากๆ
หากหมั่นดูแลตรวจวัดระดับไขมันในเลือดอย่างสม่ำเสมอความเสี่ยงก็จะลดลง เพื่อลดผลกระทบทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างน้อย เราควรสำรองเงินไว้เผื่อใช้ในยามฉุกเฉินประมาณ 3 - 6 เดือน ใครต้องใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท ก็สำรองไว้ประมาณ 30,000 - 60,000 บาท
โรคนี้จารุลักษณ์บอกว่า เกิดจากการจัดสรรเงินไม่พอดีกับตนเอง โดยจัดสรรเงินสำหรับใช้จ่ายในอนาคตน้อยเกินไป ทำให้ชีวิตขาดสภาพคล่องทางการเงิน นั่นก็เพราะคุณใช้ชีวิตโดยไม่คำนึงถึงอนาคตว่าจะต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง ดังนั้นทางแก้คือจะต้องพยายามจัดสรรเงินสำรองให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างน้อย 6 เดือน เผื่อตกงาน
5. วินัยเสื่อม อัจฉราบอกว่า โรควินัยเสื่อมเกิดจากการที่ชอบตามใจตัวเองบ่อยๆ จนเกินขอบเขต หรือไม่เคยบังคับตัวเองให้ทำการทำงานในเวลาที่เหมาะที่ควรทำได้เลย เรียกว่าใช้ชีวิตสบายจนเคยตัว ไร้กฎเกณฑ์ไร้ระเบียบจนเกิดอาการวินัยเสื่อม ต้องระวังว่าเป้าหมายทางการเงินมีโอกาสพังจะไม่เป็นท่า เพราะการจะประสบความสำเร็จทางการเงินได้
ต้องมี “วินัยทางการเงิน” เป็นปัจจัยเกื้อกูลที่สำคัญ เพราะวินัยจะช่วย “ลดความสับสนวุ่นวายทางการเงินลง” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะวินัยทางการเงินจะช่วย “จัดระบบและเพิ่มระเบียบ” ทางการเงินให้เราได้ ใครจะสร้างวินัยทางการเงินก็ให้ตั้งใจไว้ให้เต็มร้อยแล้วค่อยๆ ฝึกๆ ฝืนๆ ไปทีละนิดทีละหน่อย อย่างเช่น ออมเงิน 10% ทุกครั้งที่มีรายได้ จ่ายชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ตรงเวลาทุกครั้ง บันทึกค่าใช้จ่ายก่อนนอนทุกวัน ฯลฯ ทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ เดี๋ยววินัยที่เคยเสื่อม เคยหย่อน ก็จะเริ่มตึงขึ้นเริ่มดีขึ้น แล้วนิสัยดีๆ ทางการเงินก็จะเกิดขึ้นเอง
จารุลักษณ์มองว่าเกิดจากการที่ไม่มีวินัยในการเก็บออมเงินตามที่วางแผนไว้ ซึ่งเมื่อมองลึกลงไป คนกลุ่มนี้จะเป็นพวกผัดวันประกันพรุ่ง เช่น วางแผนว่าจะฝากเงินเดือนละ 10,000 บาท เดือนนี้ ยังไม่เริ่มดีกว่า เพราะต้องซื้อนู่นซื้อนี้ อีกเดือนขอเก็บ 5,000 บาท ก่อนละกัน สุดท้ายทำให้ไม่มีเงินเก็บเป็นก้อนอย่างที่ตั้งใจไว้ ดังนั้น ถ้ารู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคนี้ ต้องสร้างวินัยการออมอย่างเคร่งครัด ไม่ผัดวันประกันพรุ่งอย่างเด็ดขาด
6. เครดิตการเงินอักเสบ เรื่องนี้ อัจฉราบอกว่าใครมีเครดิตดี ชำระหนี้สินตรงเวลาก็จะมีโอกาสในการขยายธุรกิจหรือสร้างบ้าน ซื้อรถได้โดยไม่ต้องรอเก็บหอมรอมริบจนมีเงินก้อนโต ตรงกันข้ามใครเป็นหนี้โดยไม่ประมาณความสามารถในการใช้หนี้ให้รอบคอบก่อน พอถึงเวลาก็ไม่ใช้หนี้ ชอบเบี้ยวหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ค่อยจะตรงเวลา จนอาจต้องติด Black list ก็จะเสียโอกาสในการลงหลักปักฐานหรือขยับขยายกิจการต่อไป ใครเริ่มมีอาการหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะต้องลุ้นว่างวดนี้จะมีเงินพอชำระหนี้หรือไม่ งวดหน้าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้ งวดต่อไปจะหมุนไปทางไหนดี เรียกว่าอักเสบจนใกล้หมดหนทาง
"หากอาการเริ่มถี่ขึ้น จนติดๆ ขัดๆ ไปหมด ก็ต้องเริ่ม จัดระเบียบทางการเงินอย่างจริงจัง หาทางเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายอย่างเต็มที่จะได้มีเงินเหลือไปใช้หนี้เพิ่มขึ้น จะได้หายใจหายคอคล่องขึ้น อาการบวมแดงอักเสบก็จะบรรเทาเบาบางลง"
ส่วนจารุลักษณ์บอกว่าสาเหตุของอาการเครดิตการเงินอักเสบ อาจจะมาจากการเสียเงินไปกับการชอปปิง หรือการใช้เงินในอนาคตมากเกินไป โดยไม่ได้คำนึงถึงรายได้ปัจจุบันที่เข้ามา ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ โดยรวมๆ คือใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดังนั้น ไม่อยากอักเสบต้องหัดมีวินัยในการออม และยับยั้งชั่งใจ
ขณะที่อุมาพันธ์เชื่อว่าโรคนี้เกิดขึ้นเมื่อเรามีหนี้เสีย ผลที่ตามมาคือ จะขอกู้ใหม่ ขอวงเงินใหม่ ก็ไม่สามารถทำได้ ทางสถาบันการเงินเขาจะดูพฤติกรรมของเราก่อนว่า ยังมีภาวะอักเสบอยู่รึเปล่า และสุขภาพการเงินของเราแข็งแรงแล้วรึยัง จึงจะปล่อยสินเชื่อให้ใหม่
"โรคนี้เป็นแล้ว ควรรีบรักษา เพราะจะทำให้เราไม่สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ จนกว่าเขาจะดูอาการว่าเราหายอักเสบจริงๆ"
7. โรคล้มเหลวทางการออม ข้ออ้างของคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในการออมเงินหรือเป็นโรคล้มเหลวทางการออม ทั้งที่รู้ว่าเงินออมมีความสำคัญสำหรับอนาคตที่มั่นคง แต่อัจฉราบอกว่าส่วนมากมักจะอ้างว่า ยังหาเงินได้น้อย มีรายจ่ายเยอะแยะไปหมด ปีหน้าค่อยเริ่มออมก็ทัน ดอกเบี้ยต่ำออมไปก็ไม่คุ้ม ฯลฯ
คนเป็นโรคนี้มักคิดว่าตนเองมี “เหตุผลที่ดี” ที่จะผัดผ่อนการออมไปก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งหมดเป็นเพียง “ข้ออ้าง” ที่เกิดจากทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวการออม เพราะไม่เห็นความสำคัญของการออม ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราควร “ออมทันที” โดยไม่จำเป็นต้องรอมีเงินเยอะๆ โดย “เริ่มออมทีละเล็กทีละน้อย” “ออมเงินทุกครั้งที่มีรายได้” และท่องไว้เสมอว่า “การออม ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด” ใครที่ได้เริ่มลงมือออมเงินและทำได้อย่างสม่ำเสมอ รับรองจะมีความสุข ความสบายใจเพราะได้เห็นตัวเลขในบัญชีที่เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน พอสถานะทางการเงินเริ่มมั่นคง สภาพจิตใจก็จะเข้มแข็งขึ้น ความอ่อนแอเพราะโรคล้มเหลวทางการออมก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง
จารุลักษณ์วิเคราะห์สาเหตุว่า เป็นเพราะมีการวางแผนทางการเงิน แต่ไม่ทำตาม ในที่สุดเลยไม่ได้ออมเงิน ทั้งที่จริงอาจเป็นผู้ที่มีรายได้พอที่สามารถออมเงินได้ แต่ไม่ยอมเก็บออมตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อไม่ได้ออมเงิน สุดท้ายบั้นปลายชีวิตก็ลำบากต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือไปออกรายการวงเวียนชีวิต
ในทัศนะของอุมาพันธ์ โรคนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ใจอ่อน มักจะปล่อยตัวตามสบาย เฮฮากับทุกสถานการณ์ กว่าจะรู้อีกทีก็ใช้เงินหมดแล้ว ทางแก้คือ ต้องออมก่อนใช้ ไม่ใช่ใช้เสร็จแล้วค่อยออม แนะนำให้ทำ saving plan หรือการหักบัญชีเพื่อออมและลงทุนอัตโนมัติ จะตัดบัญชีท่านทุกเดือนเพื่อไปซื้อกองทุน หรือจะเลือกออมอยู่ในรูปเงินฝากประจำก็ได้ เช่น เงินฝากทวีทรัพย์ค่ะ วิธีแก้นี้ จะทำให้ท่านตัดเงินออมออกจากเงินเดือนเป็นก้อนแรก อย่างเป็นระบบและมีวินัย
8. มะเร็งบัตรเครดิต อัจฉราวินิจฉัยโรคนี้ว่ามะเร็งคือโรคของคนมักง่าย กินอะไรก็ได้ง่ายๆ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง หรือกาแฟ ปาท่องโก๋ ทุกเช้า อาหารจานด่วน ผัดๆ ทอดๆ ง่ายๆ ตอนกลางวัน ตามมาด้วยข้าวมันไก่ ผัดไทย หอยทอดหรืออะไรก็ได้ที่ซื้อหาง่ายๆ ก่อนกลับบ้าน ใครมีนิสัยมักง่ายแบบนี้มะเร็งชอบมาก... ซึ่งก็ไม่ต่างกับการ รูดปรื้ด...ด.....ด....ง่ายๆ เพียงตวัดปลายปากกา ก็ได้เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า มือถือ โน้ตบุ๊ค ตู้เย็น พัดลม กระทั่งขนมนมเนย อาหารสุดหรู ฯลฯ ทุกอย่างได้มาแสนง่าย เพียงรูดปรื้ด ทำบ่อยๆ มะเร็งบัตรเครดิตจะถามหา
วิธีป้องกันมะเร็งแบบนี้ทำได้โดย “ไม่รูดบัตรเกิน 25 - 30% ของวงเงินสินเชื่อ” ที่ได้รับจะได้มีเงินพอชำระหนี้ทั้งหมดได้ทุกเดือน ไม่ต้องโดนดอกเบี้ยมหาโหด ที่ทบต้นอย่างรวดเร็วพอๆ กับการแพร่กระจายของมะเร็งระยะสุดท้าย และต้องไม่ลืม “กดเงินสดใส่ซองไว้ด้วยทุกครั้งที่รูดบัตร” จะได้รู้ว่ายังมีเงินสดเพียงพอให้ใช้จ่ายแบบมักง่ายอีกหรือไม่
ทั้งหลายทั้งปวง จารุลักษณ์บอกว่าเพราะใช้เงินในอนาคตมากเกินไป ติดนิสัยรูดบัตรเครดิตโดยไม่คำนึงถึงรายได้ของตน จนกลายเป็นหนี้พอกหางหมู หรือบางคนที่มีบัตรเครดิตหลายใบ วงเงินสูงๆ รูดใช้จ่ายเงินรายได้ติดหนี้มากมาย หรือคนที่ใช้บัตรกดเงินสดซึ่งคิดดอกเบี้ยสูง ซึ่งนิสัยการใช้เงินในลักษณะนี้เหมือนเป็นมะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย เพราะหนี้จะพอกพูนโดยไม่รู้ตัวไม่สามารถใช้หนี้ได้จนกลายเป็นเอ็นพีแอลในที่สุด
จะต้องมีวินัยในการใช้บัตรเครดิต พยายามอย่ามีบัตรเครดิตหลายใบ ให้มีพอสำหรับใช้ฉุกเฉินเท่านั้น และให้ใช้เงินพอประมาณกับรายได้ เพราะหนี้บัตรเครดิต เป็นหนี้ที่พอกพูน การรูดบัตรโดยไม่คิดจะเปรียบเสมือนงูกินหาง จ่ายหนี้เท่าไหร่ก็ไม่หมดในที่สุดก็หมดตัวเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด
ด้านอุมาพันธ์มองว่ามะเร็งเกิดจาก การยอมปล่อยให้มีเนื้อร้ายเกิดขึ้น และปล่อยให้ลุกลามโดยไม่รักษา เนื้อร้ายในที่นี้ คือ หนี้ บัตรเครดิต ยิ่งบางคนถอนเงินสดจากบัตรใบนึงไปจ่ายอีกใบ และทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้มะเร็งลุกลามมากขึ้น ทางแก้คือ ต้องตัดเนื้อร้ายออก รวบรวมหนี้ที่มี และไปเจรจาประนอมหนี้ซะ รีบผ่อนให้หมดโดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้ ไม่งั้นกว่าจะรู้ตัวอีกที หนี้ก็จะลามไปทั้งตัว
9. เสื่อมสมรรถภาพทางการเงิน ใครเริ่มมีอาการขาดความสมดุลทางการเงิน เริ่มจะหน้ามืด วิงเวียน ปวดเศียรเวียนเกล้าเพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ทั้งเงินทองไม่พอใช้จ่าย ปัญหาหนี้สินที่ไม่มีทางออก มองไปทางไหนๆ ก็ทำอะไรไม่ได้ อัจฉราบอกว่าโรคแบบนี้เกิดจากการไม่วางแผนทางการเงิน ไม่ใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่รู้จักบริหารจัดการการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ เรียกว่า “สะสมความสับสน” ทีละนิดจนเรื้อรัง และในที่สุดความสามารถในการจัดการการเงินก็จะเสื่อมไปเพราะปัญหามันพัวพันกันจนอีนุงตุงนังไปหมด
หากใครท้อและยอมแพ้ ความล้มเหลวทางการเงินก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้าใครกลับเนื้อตัวกลับตัว “ตั้งสติให้ดี” ค่อยๆ ลงมือวางแผนการสะสางทีละเรื่อง ทีละเรื่อง แล้วตั้งใจทำตามแผนอย่างจริงจัง รับรองไม่ช้าไม่นาน ความแข็งแกร่งแข็งแรงก็จะเข้ามาแทนที่ความเสื่อมสมรรถภาพทางการเงิน และความสมดุลทางการเงินก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น
จารุลักษณ์เชื่อว่าคนที่ไม่วางแผนการใช้เงินมักจะเป็นโรคเสื่อมสมรรถภาพทางการเงิน ในที่สุดก็จะกลายเป็นใช้เงินเกินตัว ชักหน้าไม่ถึงหลัง จนปวดหัวไมเกรนขึ้น ดังนั้น ต้องรู้จักประมาณตน และวางแผนการใช้จ่าย
อุมาพันธ์บอกว่าโรคนี้เกิดจากการลงทุนที่ไม่เหมาะสม ทำให้เจ็บตัว และเจ็บใจ พาลให้ไม่กล้าลงทุนอีก พอเงินไม่ได้ทำงาน ก็จะทำให้เรายังคงต้องเหนื่อยหาเงินอยู่ตลอดเวลา วิธีแก้ ก็ต้องตรวจสุขภาพทางการเงินว่า ตอนนี้ อยู่ถูกที่ถูกทางรึยัง ยังทำงานออกดอกออกผลให้เรารึเปล่า เพราะบางท่านอาจมีเงินฝากทิ้งไว้เฉยๆ มากเกินความจำเป็น เงินก้อนนี้ก็ ถือว่า เสื่อมสมรรถภาพแล้ว แนะนำค่ะว่า ถ้าย้ายไปลงทุน ก็จะทำให้เงินทำงาน มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โรคนี้ถือเป็นโรคเฉพาะคน เพราะความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่คนแตกต่างกัน คุณหมอต้องให้คำปรึกษาเป็นรายกรณีไป ลอกตามเพื่อนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ
10. ไวรัสลงพอร์ต ใครไม่อยากเป็นไข้หวัดจากไวรัสสารพัดสายพันธุ์ ก็ต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงฉันใด คนที่ไม่อยากให้พอร์ตการลงทุนต้องอ่อนแอเจ็บป่วยจนไม่ออกดอกออกผลก็ต้องรักษาพอร์ตของตัวเองให้มั่นคงแข็งแรงฉันนั้น
อัจฉราบอกว่า เพราะในโลกของการลงทุนก็มีไวรัสที่ร้ายกาจอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ที่คอยจู่โจมถาโถมเข้ามาทำลายความมั่นคงทางอารมณ์ของเรา ใครที่ลงทุนด้วยความโลภจะขาดความมั่นคงทางจิตใจ อารมณ์จะหวั่นไหวแปรปรวนไปตามข่าวลือ ตามกระแส ทำให้ซื้อๆ ขายๆ บ่อยเกินไป หากเข้าขั้นโคม่าก็จะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย จนพานจะกลายเป็นโรควิตกจริต นั่งคิดถึงแต่ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นๆ ลงๆ เขียวๆ แดงๆ ไม่หยุด ยิ่งนานไปก็จะยิ่งเป็นทุกข์ ใครไม่อยากให้ไวรัสลงพอร์ตก็ต้อง คิด คิด คิด ตั้งสติคิดให้ดี วิเคราะห์ให้รอบคอบก่อนลงทุน ไม่ลงทุนตามข่าวลือ ไม่หวั่นไหวตามกระแส แต่ให้เลือกของดี แล้วนั่งๆ นอนๆ รอรับปันผล โดยเน้นการลงทุนแบบยาวๆ ไม่ซื้อขายบ่อยเกินไป
จารุลักษณ์บอกว่า ไวรัสอาจจะลงพอร์ตได้ถ้าวางแผนการเงินโดยไม่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ หรือไม่มีความรู้ในสินทรัพย์ที่ลงทุน เช่น ตนเองรับความเสี่ยงได้ต่ำ แต่เอาเงินไปลงทุนหุ้นทั้งหมด พอขาดทุนขึ้นมา ทำให้การออมเงินไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
"คนที่เป็นโรคนี้ อาจเป็นคนที่อยากลงทุนแต่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ละเอียด ดังนั้นคุณต้องรู้จักจัดสรรการออมเงิน โดยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน หรืออาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน เพื่อให้ช่วยวางแผนทางการเงินให้"
อุมาพันธ์บอกว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้เวลาที่พอร์ตของเราอ่อนแอ เหมือนร่างกายโดยทั่วไป ที่เวลาแข็งแรง เราก็ไม่เคยเป็นหวัดเลย แต่เวลาที่อ่อนแอ พักผ่อนน้อย นอนน้อยทีไร ติดหวัดทุกที พอร์ตการลงทุนถ้าอ่อนแอ ก็มักจะติดเชื้อได้ เราต้องมาทำพอร์ตที่เข้มแข็ง โดยการจัดสรรเงินลงทุนให้อยู่ถูกที่ถูกทาง มีการกระจายความเสี่ยง ลงทุนในตราสารและหลักทรัพย์หลายอย่าง หากหุ้นขาดทุนไป ก็ยังมีตราสารหนี้ มีทองคำ ที่ยังคงให้ผลตอบแทนหรือมีกำไรอยู่ นอกจากการสร้างความแข็งแรงโดยการกระจายความเสี่ยงแล้ว เราก็ควรตั้งเป้า cut loss และเป้า take profit ด้วย ขาดทุนเท่าไหร่ที่รับได้ กำไรแล้วก็ต้องขายออกมา ไม่ปล่อยให้ติดเชื้อ ของการติดดอย ไปนานๆ จนพอร์ตไม่แข็งแรง
อัจฉราทิ้งท้ายไว้อย่างน่าฟังว่า ยาวิเศษป้องกันและรักษาได้ทุกโรคทางการเงิน ก็คือ ความไม่ประมาทและการมีสติ ให้ลองสูดหายใจลึกๆ ยาวๆ สักสองสามครั้งเพื่อเรียกสติก่อนใช้จ่าย ก่อนเป็นหนี้ ก่อนลงทุน รับรอง “สติมา สตางค์อยู่” เพราะ "สติ สัพพัตถะ ปัตถิยา หรือสติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ"
http://bit.ly/enxa3z
มาตรวจสุขภาพทางการเงินกันหน่อยนะคะ
|