1
2

บริหารคนนอกตำรา บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา


ยืนหยัด ยืนยง


บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา


บริหารคนนอกตำรา บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
โดย : ชนิตา ภระมรทัต

แช่ - ชุบ - ขัด  คือ สูตรพัฒนาศักยภาพคนของประธานเครือสหพัฒน์


บิลล์ เกตส์ และ สตีฟ จ๊อบส์ คือบุคคลระดับโลกที่จะถูกเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นว่า แม้พวกเขาจะเรียนไม่จบแต่กลับประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด

เช่นเดียวกับ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ที่ได้รับการยอมรับเป็น Role Model หรือ ต้นแบบผู้บริหารของประเทศไทยที่ไร้ใบปริญญา


ซึ่งปัจจุบันท่านผู้นี้วางมือจากบทนักรบแนวหน้า และปรับบทบาทตัวเองมาเป็นผู้ลอบสังเกตุการณ์เบื้องหลังฉาก คือไม่ได้ดูแลธุรกิจใดอย่างใกล้ชิด ให้อิสระผู้บริหารอย่างเต็มที่ แต่ที่ดูเป็นพิเศษก็คือ ตัวเลข ( อย่าขาดทุนเป็นใช้ได้)


ในวันที่กรุงเทพธุรกิจมีโอกาสเข้าพบ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ได้เล่าว่าความสำเร็จที่ปรากฏให้เห็นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากหัวคิดหรือน้ำพักน้ำแรงของ (เขา) คนเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยทีมที่ดี



ซึ่งทีมที่ดีที่ว่านี้จะต้องมีคนเก่งอย่างน้อยสัก 3 คน
" ความเก่งไม่ได้อยู่ที่คนเดียว เก่งคนเดียวไม่สามารถทำงานกับคนอื่นได้ก็จะไม่เก่ง ดังเช่นประเทศจีนที่ต้องมี เหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล จูเต๋อ ถึงสามารถครองประเทศได้ "


เพราะการแข่งขันของโลกธุรกิจในยุคปัจจุบันแตกต่างจากธุรกิจยุคสมัยก่อนอย่างมากมาย ดังนั้นธุรกิจในวันนี้จะอาศัยคนเก่งเพียงคนเดียวไม่ได้ ไม่มีวันจะมีวันแมนโชว์


ขณะที่ความสำเร็จของธุรกิจในอดีต ซึ่งอยู่ในรูปแบบของครอบครัว หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า กงสี จะขึ้นอยู่กับผู้นำเป็นหลัก


" ทุกคนมีสิทธิ์เป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นลูกคนโต คนที่สอง หรือคนที่สาม ถ้าตัวเขาเป็นผู้นำ ซึ่งที่ผ่านมาความสำเร็จส่วนใหญ่เกิดจากความเสียสละของผู้นำ รวมถึงความสามัคคีในครอบครัว "


แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวล้มเหลวก็เกิดขึ้นเพราะผู้นำไม่เสียสละ และมีการแตกความสามัคคี


บุณยสิทธิ์บอกว่าส่วนใหญ่เมื่อพี่น้องต่างมีครอบครัว ต่างมีภรรยาที่สุดก็หนีไม่พ้นวังวันเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างต้องการดึงผลประโยชน์จากส่วนกลางเข้าหาครอบครัวของตัวเอง จนทำให้พี่น้องที่เคยสามัคคีแตกความสามัคคี


กลายเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า ระบบกงสีจะอยู่ได้ไม่เกินสองหรือสามเจนเนอเรชั่น


หากแต่บุณยสิทธิ์ยืนยันเครือสหพัฒน์นั้นไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว และไม่ได้เป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่เจนเนอเรชั่นที่ 2 แล้ว (บุณยสิทธิ์นับรุ่นของปู่คือนายฮกเปี้ยวเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 1 และพ่อหรือนายเทียม โชควัฒนาเป็นเจนเนอเรชั่นที่สอง และเขาก็คือเจนเนอเรชั่นที่ 3)


"ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ท่านได้ปรับกิจการแบบครอบครัวให้เป็นรูปแบบของบริษัท และพี่น้องของเราแต่ละครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้น และถือการปันผลเป็นหลัก มีการทำบัญชี มีการวางระบบการทำงานทุกอย่างให้เป็นสัดส่วนแบบสากล รวมถึงถ้าเห็นบริษัทไหนมีผลประกอบการดีก็พยายามจะดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชน"


และเมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้บริหารเบอร์หนึ่งจึงไม่จำกัดเพียงแค่ตระกูลโชควัฒนา เท่านั้น


"หากใครมีความสามารถก็ขึ้นมาได้เลย ไม่จำเป็นเลยว่าต้องเป็นโชควัฒนา"


ผู้บริหารรุ่นต่อไปของเครือสหพัฒน์ควรมีคุณสมบัติอย่างไร


เขาตอบว่า ต้องมีความสามารถ สร้างผลงานอย่างชัดเจนและ รู้จักคนเยอะหรือการมีคอนเน็กชั่นที่ดี นั่นเอง


เพราะเครือสหพัฒน์จะเดินเร็วขึ้นกว่านี้หากมีผู้บริหารเก่ง แต่ถ้าไม่เก่งจะเดินได้ช้าลง แต่ถ้าไม่เก่งเลยก็อาจขาดทุนป่นปี้ (แต่อย่าลืมต้องมีทีมงานที่ดีด้วย)


แต่ในฐานะของเบอร์หนึ่งก็ต้องทำหน้าที่ฝึกฝน (โค้ช) คนรุ่นต่อไปจนเก่งและแกร่ง ซึ่งสไตล์ของบุณยสิทธิ์ก็คือ ใช้วิธีสอนให้เรียนรู้งานกันที่หน้างาน โดยลุยทำงานไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะได้สอนกันชัดๆ เข้าใจกันได้ชัดๆ ถึงสิ่งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง


ด้วยวิธีนี้ทำให้เขามั่นใจว่าเบอร์หนึ่งของบริษัทในเครือสหพัฒน์ในวันนี้ เช่น บุญฤทธิ์ มหามนตรี อภิชาติ ธรรมมโนมัย พิพัฒน์ พะเนียง เวทย์ รวมถึงบุญเกียรติและบุญชัย โชควัฒนา จึงเก่งและแกร่งชนิดที่หมดห่วง


อย่างไรก็ดี เขาบอกว่า แม้คนจะเก่งหรือเป็นมืออาชีพ แต่เหมือนกับพืช หากใช้ปุ๋ยผิดสูตร หรือปลูกผิดที่ก็อาจไม่เจริญงอกงาม

แช่ - ชุบ - ขัด
ก็คือ สูตรพัฒนาศักยภาพคนของประธานเครือสหพัฒน์ท่านนี้

ขั้นตอน -แช่  หมายถึง กระบวนการฝึกฝนฝีมือ 
โดยเอาไว้ใช้กับคนที่ยังไม่เก่ง ชั่วโมงบินยังไม่สูง รวมทั้งคนที่อาจจะเรียนมาน้อย วุฒิการศึกษาต่ำ


ขั้นตอน -ชุบ  หมายถึง กระบวนการสร้างผลงานให้เข้าตาผู้บริหาร 
ผู้ที่เข้าสู่ขั้นตอนนี้ล้วนเป็นคนเก่งและมีความสามารถทำงานได้ผลตามใบสั่ง


ขั้นตอน- ขัด หมายถึง กระบวนการทำให้คนเก่งกลายเป็นคนเก่งเหนือขึ้นไปยิ่งขึ้น ( หรือ Talent )


รวมไปถึง เร็ว- ช้า- หนัก- เบา เคล็ดลับความสำเร็จในเรื่องของ "จังหวะ" ในการทำงานที่มักจะได้ยินเขาเอ่ยถึงอยู่เสมอ


บุณยสิทธิ์ บอกว่าเรื่องอย่างนี้ เป็นเรื่องพูดยาก และสอนลำบาก จะสังเกตุได้ว่าแม้บางคนจะพยายามตลอดชีวิตก็ไปไม่ไกลถึงปลายทางของสูตรสำเร็จดังกล่าว


และไม่ได้หมายความว่า สูตรสำเร็จของเขาก็คือ สูตรสำเร็จของคนทุกๆ คน


ปัจจุบัน แม้ว่าในการกระทำนั้นบุณยสิทธิ์จะถอยห่างจากธุรกิจมาในระดับหนึ่ง แต่จิตวิญญานของเขายังคงเต็มร้อย เพราะทุกวันนี้เขาก็ยังคงพักอาศัยอยู่ในห้องแถวใกล้ๆ กับบริษัท


"ถ้าถอยออกไปเลยจะทำให้เราไม่รู้อะไร แต่ถ้าเรายังคงนั่งอยู่ในบริษัทแม้จะนั่งเฉยๆ แต่เราจะรู้เทรนด์ธุรกิจ อันนี้จะดี อันนี้จะไม่ดี" เขาให้เหตุผล และกล่าวต่อว่า มีอีกหลายธุรกิจเขามองว่าน่าสนุกและถ้าหากยังอยู่ในวัยยังหนุ่มยังแน่นก็คงจะทำ


" อสังหาริมทรัพย์ รีเทล อาหาร ผมว่าน่าทำทั้งนั้น แต่คงไม่ใช่เวลานี้..ผมอายุมากแล้ว เพราะถ้าเราคิดจะทำอะไร เราต้องออกมาลุยเอง เหมือนเมื่อก่อนที่ทุกธุรกิจผมลุยเองทำเองทั้งหมด ไม่เพียงแค่นั่งดูเท่านั้น"


ด้วยสไตล์ "นักลุย" แบบนี้จึงไม่น่าแปลกที่เขาผู้นี้สามารถขยายธุรกิจเดิมจากรุ่นพ่อที่มีเพียง 70-80 บริษัท ให้เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัวคือเป็น 300 แห่ง หากแต่เป้าหมายของเขา ไม่ได้หมายถึงความยิ่งใหญ่


" หลักคิดของผม คืออยากให้สหพัฒน์มีขนาดใหญ่ในแบบพอดิบพอดี เหมือนต้นไม้ถ้าต้นใหญ่เกินไปจะโดดเดี่ยวและทวนลม เมื่อปะทะลมมากๆ ที่สุดก็จะโค่นลงได้ แต่ผมอยากจะปลูกป่า คือสร้างต้นไม้ต้นเล็กๆ หลายๆ ต้นให้รวมเป็นผืนป่าที่สามารถต้านทานลมโดยไม่มีวันถูกโค่น" โดยต้องอยู่ภายใต้กรอบของคุณธรรม และซีเอสอาร์ ด้วย



"เร็ว ช้า หนัก เบา"
สูตรเจ้าสัวสหพัฒน์
“แนวคิดการทำงานของผมไม่มีอะไรเป็นความลับ การทำงานไม่ได้มีต้นแบบมาจากชาติใด ประเทศไหนมีอะไรดีก็นำมาปรับใช้ได้ทั้งหมด 


แต่ต้องรู้จักวิเคราะห์เหตุการณ์ เวลาที่เหมาะสม การทำงานของเรารู้จัก “... เร็ว ช้า หนัก เบา” บังเอิญผมไม่ได้เรียนหนังสือ จึงพยายามหาวิธีการทำธุรกิจแบบไม่อาศัยหนังสือ 


แต่อาศัยเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือบางครั้งแอบดูคนอื่นทำ และไปลอกเลียนแบบเขามาและปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเอง ”


" เจี้ย ยู่ เล้ง โจ้ว ซื่อ ยู่ โฮ้ " 
แปลเป็นไทยได้ความว่า กินข้าวต้องเร็วเหมือนมังกร ทำงานต้องทำให้เหมือนเสือ และก็ไม่แต่ผมคนเดียวเท่านั้น ลูกๆ ทุกคนก็ปฏิบัติอย่างนี้

เร็ว ช้า หนัก เบา
ปรัชญาชีวิตข้อนี้ต้องจดจำขึ้นใจ แล้วใช้เป็นหลักในการทำงาน เป็นแนวทางของการปฏิบัติตนมิให้ผิดพลาดหรือล้มเหลว เป็นการรู้จักการทำงานแต่ละชิ้น แต่ละอัน แล้วลงมือปฏิบัติได้ด้วยความพยายามอันถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับจังหวะชีวิตที่ควรจะเป็น


งานบางอย่าง เป็นงานที่รีรอชักช้าไม่ได้ ต้องรีบทำเหมือนกับสุภาษิตทีว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก


งานบางอย่าง ต้องตัดสินใจเร็ว แก้ไขเร็ว ทำให้จบเร็ว ไม่เช่นนั้นปัญหาที่มีอยู่อาจลุกลามไปใหญ่โตกว้างขวาง หรือโอกาสที่มีอยู่อาจสูญเสียไปก็ได้


งานบางอย่าง เป็นงานที่ผลีผลามไม่ได้ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คอยเป็นค่อยไป เหมือนสินค้าบางตัวที่จะทำ จะให้โตเร็วพรวดพราดไม่ได้ อาจต้องค่อย ๆทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะได้ไม่ผิดพลาด งานที่ต้องใช้เวลายาวนานแก้ไขใจร้อนไม่ได้ ก็ไม่ควรจะรีบร้อน เพราะถ้าใช้เวลาน้อยเกินไป รีบเร่งเกินไป จะมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นได้


งานบางอย่าง ถ้าทำแล้วโหมหนักเอาจริงเอาจังเหมือนการออกสินค้าบางตัว ในสภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันสูง เราอาจมีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้อย่างรุนแรง อันนี้ก็คือสิ่งที่ต้องทำอย่างหนัก หน่วง


"หมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า งานไหนทำก่อน งานไหนทำทีหลัง งานไหนต้องจริงจัง และงานไหนต้องพอควร"


งานบางอย่าง นั้นจะโหมเลยทันทีไม่ได้ต้องค่อย ๆ ทำค่อย ๆ ลอง บางเวลาสิ่งที่เคยทำหนักยังต้องผ่อนลงมาบ้าง เพราะถ้าทุ่มเทเกินไปก็มิใช่จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เสียเวลากับงานนั้นมากเกินไป ทั้ง ๆทีประโยชน์ที่พึงได้ก็ไม่คุ้ม งานอย่างนี้ก็ต้องทุ่มเทแต่พอควร



หลักปรัชญาข้างต้นนั้นจะทำให้เราหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า


งานชิ้นไหนต้องทำก่อน.....เร็ว


งานชิ้นไหนต้องทำหลัง....ช้า


งานไหนที่ต้องทุ่มเทอย่างจริงจัง.....หนัก 


งานไหนที่ทุ่มเทแต่พอควร......เบา


เพื่อให้เรากะจังหวะเวลาและกำหนดความเข้มข้นของความพยายามทีเหมาะสมกับงานแต่ละชิ้นที่เราจะต้องทำ



1
2

Wish You Happinessss

Success is not the key to happiness. Happiness is the key to success. 
If you love what you are doing, you will be successful. 

~ Albert Schweitzer ~

 คัมภีร์ 5 ห่วง  วิถีแห่ง "ซามูไร" วิถีแห่งนักรบ "บูชิโด"   แนวคิดของตัวเม่น   GOOD LUCK สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความสำเร็จ ในชีวิตและธุรกิจด้วยตัวคุณเอง    Why complicate life ?   3 x 8 = เท่าไหร่ ?????   "ฉันชื่อ..โอกาส"

Wish You Happinessss