ฉันเหมือนคนไม่มีกำลัง และหมดแรงจะยืนจะลุกจะเดินไป ฉันเหมือนคนกำลังจะตาย ที่ขาดอากาศจะหายใจ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นพักๆเป็นได้แม้วัยหนุ่มสาว เรื่อง อนุสรา ทองอุไร หนังตาตก พูดไม่ชัด กลืนลำบาก สำลักบ่อยๆ ไม่มีแรงเอื้อมหยิบของ นั่งยองๆไม่ได้ อาการเหล่านี้ส่อแววอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นพักๆ (Myasthenia gravis) หากเป็นมากไม่รักษาอาจทำให้ระบบการหายใจล้มเหลวได้ นพ.นริศ สมิตาสิน อายุแพทย์ระบบประสาท รพ.เวชธานี เป็นกลุ่มโรคที่พบไม่บ่อยนัก สาเหตุของโรคนั้นเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีผลต่อกล้ามเนื้อ ภาวะความผิดปกติของต่อมธัยมัสและยังสัมพันธ์กับโรคซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ผิดปกติอีกหลายชนิด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในหลายๆบริเวณและอาการจะเป็นมากขึ้นถ้ามีการออกแรงใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นๆซ้ำๆ ดังนั้นจึงพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการอ่อนแรงช่วงเวลาสายหรือบ่ายๆของวัน หลังจากได้พักแล้วอาการอ่อนแรงก็จะกลับมาเป็นปกติ อุบัติการณ์ของการเกิดโรคอยู่ที่ประมาณ 1.7 ถึง 10.4 คนต่อประชากรล้านคนในประเทศแถบตะวันตก ซึ่งในบางประเทศที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่แม่นยำและการรักษาที่ถูกต้อง อาจพบว่ามีการรายงานอุบัติการณ์ของการเกิดโรคสูงกว่านี้ โดยพบว่าเพศหญิงจะเป็นมากกว่าเพศชาย ส่วนมากอาการของโรคจะพบช่วงแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 40 ปี แต่ถ้าในช่วงที่อายุมากกว่า 50 ปีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคกลับพบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า อาการของโรค อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ ถ้าผู้ป่วยยิ่งออกแรงจะพบว่ากล้ามเนื้อก็จะยิ่งอ่อนแรงมากขึ้น แต่ถ้าได้พักกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงจะค่อยๆ ดีขึ้น อาการที่พบบ่อยๆ คือ... 1. หนังตาตก อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ทำให้มีลักษณะคล้ายคนง่วงนอน เห็นภาพซ้อนจากกล้ามเนื้อตาที่อ่อนแรง 2. พูดไม่ชัด หรือพูดแล้วเหมือนเสียงขึ้นจมูก 3. กลืนอาหารลำบาก หรือเคี้ยวลำบากในบางครั้งมีอาการสำลักอาหารบ่อยๆ ในรายที่เป็นมากขึ้นกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนและต้นขาเริ่มมีอาการอ่อนแรง ซึ่งอาการนำที่พบได้บ่อยๆ เช่น ไม่สามารถหวีผมได้ หรือเอื้อมมือไปหยิบของที่ชั้นวางของสูงๆ ขึ้นบันไดลำบาก ไม่สามารถนั่งยองๆ ได้ และในบางครั้งจะต้องโหนตัวเวลาลุกจากเก้าอี้ รายที่เป็นมากและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องพบว่า อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะลุกลามไปยังกล้ามเนื้อกระบังลมซึ่งควบคุมการหายใจ ทำให้มีภาวะการหายใจล้มเหลว หรือในบางครั้งผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการสำลักอาหารเข้าหลอดลมจากภาวะกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืนอ่อนแรง ส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลวได้ ลักษณะการดำเนินโรค จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะค่อยเป็นค่อยไปโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ของการดำเนินโรคในช่วงแรก แต่บางครั้งอาการของโรคจะเป็นมากขึ้นจากบางภาวะ เช่น ภาวะการติดเชื้อโดยเฉพาะการติดเชื้อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ การได้รับยาบางชนิดซึ่งมีผลต่อการทำงานของตัวรับสารสื่อประสาทของกล้ามเนื้อ ภาวะเครียดและพักผ่อนน้อย การได้รับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโรค ก็จะช่วยลดภาวะเสี่ยงของโรคที่อาจลุกลามมากขึ้นได้ ซึ่งประกอบด้วยการตรวจกระแสไฟฟ้าประสาทและกล้ามเนื้อ เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อหลังจากที่ถูกกระตุ้นซ้ำๆ คล้ายกับการให้ผู้ป่วยออกแรงทำงานมากๆ การตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูภาวะการทำงานของต่อมธัยมัสที่ผิดปกติ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการส่งตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูภาวะโรคภูมิคุ้มกันบางชนิดที่สัมพันธ์กับภาวะโรคด้วย การรักษา เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบและสามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ การรักษาจะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ การรักษาด้วยยาและการผ่าตัด แต่จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายตามอายุ ความรุนแรง และอาการแสดงของโรค ซึ่งในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โพสต์ทูเดย์ดอทคอม |