โดย : brain
"Shoot for the moon, even if you miss you'll still land among the stars"
แปลเป็นไทยคงประมาณว่า
"ฝันให้ถึงดวงจันทร์ แม้ไม่ได้ดั่งฝันก็ยังอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว"
ฟังดูดี แต่เรื่องวันนี้จะชวนคุณผู้อ่านให้ลองคิดว่า สำหรับสมองประโยคนี้อาจให้โทษกับองค์กรมากกว่าคุณ
ผมได้ยินคำพูดนี้ครั้งแรกสมัยทำงานเป็นผู้ดูแลธุรกิจในองค์กรข้ามชาติ ซีอีโอฝรั่งในครั้งนั้นมักใช้มันเป็นแรงบันดาลใจยามตั้งเป้าหมายสูงๆ เช่น ปีหน้าขอสองเท่าของที่ทำได้ในปีนี้ เป็นประโยคที่ฟังดูเคลิบเคลิ้มดี ตอนนั้นก็ฝันตามเขาไปด้วย (เพราะพูดตอนตั้งเป้า ยังไม่ได้ลงมือทำ)
เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ผมได้รับเกียรติให้ไปช่วยงานของบริษัทแห่งหนึ่งระหว่างงานมีการประกาศแผนธุรกิจของปีหน้า ซีอีโอคนไทยของบริษัทนี้ตั้งเป้าที่ดู "เบา" กว่าตัวอย่างข้างต้น ท่านขอการเติบโตประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ พร้อมคำกล่าวที่ให้ข้อคิดนี้กับผม
"ใจจริงผมเชื่อว่าพวกเรามีศักยภาพมากกว่าเป้าที่ตั้ง แต่ผมอยากให้เราเป็นทีมที่ สนุกกับการทำเกินเป้า มากกว่าเป็นทีมที่เสียใจเมื่อทำไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้" ท่านกล่าว
สมองที่สนุกนั้นสร้างสรรค์ และฮึกเหิมกว่าสมองที่เสียใจ คว้าดาวได้ทีละดวงอาจทำให้เรามีความสุขกว่าการคว้าเท่าไหร่ก็ไม่ถึงดวงจันทร์
กลยุทธ์หลักในการทำงานของสมองคือ "พฤติกรรม" หากผู้นำปล่อยหรือสร้างพฤติกรรมแย่ๆ สมองของคนในทีมก็จะแย่ และศักภาพของทีมก็จะแย่ตามไปด้วย
วิธีการตั้งเป้าหมายให้สูงลิบลิ่ว แม้ได้ความสำเร็จระยะสั้น แต่ก็อาจสร้างพฤติกรรม "เลียเป้า" ในระยะยาว คือทุกคนรู้ว่าเป้าที่ตั้งนั้นมีการเผื่อไว้แล้ว ฉะนั้นทำเกือบๆได้ก็พอ
ผู้จัดการที่ไม่เปิดเผยนามบอกผมว่า "ปีที่ผ่านมาผลงานดี ทำได้เกือบถึงเป้า"
มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถผ่าตัดสมองของคนที่ติดยาเสพย์ติด เพื่อแก้อาการติดยาอย่างเบ็ดเสร็จที่ต้นตอ พอฟื้นจากสลบปั๊บ ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าตัวจากที่เคยลงแดงเพราะติดยา กลายเป็นคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาเสพย์ติดอีกต่อไป ผ่าปุ๊บหายปั๊บ เดินปร๋อออกจากโรงพยาบาลได้
ที่เหลือเชื่อกว่าคือ เพียงสองวันให้หลังคนไข้ก็กลับมา เพราะกลับไปใช้ยาอีกเป็นที่เรียบร้อย เหตุผลคือ แม้สมองไม่ติดยาแล้ว แต่ร่างกายยังมี "พฤติกรรม" การติดยาอยู่ แปลว่าพอถึงเวลาที่เคยใช้ยาก็ต้องใช้ ไม่ได้ลงแดงแต่เป็นเพราะเคยชิน ใครเคยสูบบุหรี่หลังอาหารคงรู้ดีว่าบางทีก็ไม่ได้อยากบุหรี่ แค่รู้สึกว่าหลังอาหารต้องทำสิ่งนี้ หมากฝรั่งนิโคตินจึงไม่ช่วยทั้งที่หมอบอกเราว่ามันก็เหมือนกันแหละ
ขนาดสมองยังต้องยอมจำนนให้กับพฤติกรรม
Brain-based Leadership เป็นทักษะที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้นำในองค์กร เพราะการกระทำบางอย่างแม้ด้วยเจตนาดี เช่นการตั้งเป้าหมายเผื่อไว้สูงๆ เวลาลูกทีมทำไม่ถึงจะได้เข้าเป้าพอดี อาจให้ผลในระยะสั้น แต่สามารถสร้างมะเร็งทางพฤติกรรมให้กับสมองของพวกเขาในระยะยาว จากทีมที่เล่นเพื่อชนะ อาจกลายเป็นทีมที่เล่นแค่ "ไม่ให้แพ้"
ข้อคิดจากสมองสู่ผู้นำวันนี้คือ ตั้งเป้าหมายให้พอเหมาะพอควร มุ่งเน้นการสร้างพฤติกรรมที่สนุก และมุ่งมั่น เก็บเกี่ยวชัยชนะร่วมกันไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อทีมของคุณถึงจุดนั้น ความสำเร็จที่ได้จะมากกว่าเป้าที่คุณไม่กล้าตั้งเสียอีก
หยุดตั้งเป้าที่ดวงจันทร์แล้วเปลี่ยนมาฝึกคนของคุณให้เก็บดาว
อย่าลืมว่า เลยดวงจันทร์ไปยังมีดวงดาวอีกหลายร้อยหลายพันดวง
"Beyond the moon there are millions more stars"
|