1
2

ข้อควรพิจารณาในการเลือกถือบัตรเครดิต


ใช้บัตรเครดิต...ไม่ให้ติดกับดัก



ข้อควรพิจารณาในการเลือกถือบัตรเครดิต

1.  ทางเลือกในการใช้จ่ายแทนเงินสด
      -  สะดวกและปลอดภัยกว่าการถือเงินสด
      -  ไม่ต้องชำระเงินหลังการซื้อสินค้าหรือบริการทันที  
      -  ได้รับส่วนลดและสิทธิประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิต

2. ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต
บัตรเครดิตมีหลายชนิด เช่น บัตรองค์กร (Corporate Card) บัตรเงิน บัตรทอง บัตรเครดิตที่ออกโดยห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า และคุณสมบัติของผู้สมัครตามที่ผู้ออกบัตรกำหนดไว้  โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต มีรายการต่าง ๆ ดังนี้

     -  ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบริการรายปี 
     -  ค่าธรรมเนียมในการชำระเงิน ณ จุดชำระเงินต่าง ๆ  เช่น เคาน์เตอร์ธนาคาร  ตัวแทนรับชำระเงิน หรือชำระผ่านตู้ ATM เป็นต้น
     -  อัตราดอกเบี้ยและค่าปรับจากการชำระล่าช้า   

      แม้ว่าบัตรเครดิตจะมีระยะเวลาชำระหนี้ปลอดดอกเบี้ย แต่ผู้ถือบัตรจะต้องเสียดอกเบี้ย หากไม่สามารถชำระหนี้เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระเงิน โดยผู้ออกบัตรไม่ได้คำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ผู้ถือบัตรผิดนัดชำระหนี้  แต่อาจคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ผู้ถือบัตรใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ หรือตั้งแต่วันที่ผู้ออกบัตรจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการให้ร้านค้า ซึ่งเป็นเวลา 2-3 วันนับจากวันที่ผู้ถือบัตรใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ 

        นอกจากนี้  พึงระวังโฆษณาที่ระบุว่า “ดอกเบี้ยต่อเดือนที่น้อยนิด” หรือ  “ดอกเบี้ย 0%”  โดยควรพิจารณาว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นอัตราต่อเดือนหรือไม่  ถ้าใช่  ลองคูณด้วย 12 ก่อน จึงจะเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปีที่ท่านต้องจ่ายจริง

     -  ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการชำระล่าช้าเช่น ค่าธรรมเนียมในการติดตามทวงถามหนี้
     -  ในกรณีใช้บัตรเครดิตเบิกเงินสด  นอกจากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการเบิกเงินสดแล้ว  ยังต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ยืมโดยเริ่มคำนวณตั้งแต่กดเงินสดอีกด้วย

        ท่านควรเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายข้างต้น ควบคู่ไปกับนิสัยการใช้จ่ายและความสามารถในการชำระหนี้ด้วย  เช่น  หากท่านเลือกที่จะจ่ายชำระหนี้เต็มจำนวน ควรเลือกถือบัตรเครดิตที่เก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบริการรายปีต่ำ หรือไม่เรียกเก็บ  แต่หากท่านต้องการจ่ายชำระหนี้เพียงบางส่วน ควรเลือกถือบัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ  นอกจากนี้ ควรเลือกบัตรเครดิตที่สะดวกในการชำระเงิน เช่น  สามารถหักบัญชีธนาคารได้  หรือ มีจุดรับชำระเงินใกล้บ้านหรือที่ทำงาน และมีค่าใช่จ่ายในการชำระเงินต่ำ  โดยท่านสามารถดูข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการใช้บัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตแต่ละรายได้จากหน้าอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการใช้บัตรเครดิต

ผู้ออกบัตรเครดิตจะพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครอย่างไร

1. ข้อมูลส่วนตัว  ความน่าเชื่อถือของผู้สมัครบัตรเครดิต  ประวัติการใช้บริการสินเชื่อ  ประวัติการชำระเงินคืน  วินัยในการใช้สินเชื่อ  การมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง  ประวัติการทำงานปัจจุบัน และบุคคลอ้างอิง เป็นต้น

2. ความสามารถในการชำระหนี้  ผู้สมัครมีรายได้ตามเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด  และมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยดูจากฐานะทางการเงิน( เช่น ทรัพย์สิน เงินออม หรือเงินลงทุนต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ชำระหนี้หากไม่มีรายได้ประจำ เป็นต้น)  เงินเดือนหรือรายได้ประจำ  และ ภาระหนี้ เป็นต้น

ข้อควรพิจารณาก่อนใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

1. ควรเตรียมเงินส่วนที่จัดไว้สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตให้เพียงพอเมื่อครบกำหนดชำระ

2. ควรพิจารณาว่าสินค้าหรือบริการที่จะซื้อนั้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด  เพื่อไม่ให้มีภาระต้องชำระหนี้มากเกินความสามารถ

3. ควรพิจารณาว่ากระแสเงินในอนาคตจะเป็นไปตามที่คาดไว้หรือไม่  เพราะหากมีเงินชำระไม่เพียงพอ  ต้องใช้วิธีชำระเงินบางส่วน ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ย  และหากชำระไม่ทันในเวลาที่กำหนด ต้องเสียค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้าด้วย

4. หากท่านมีบัตรเครดิตหลายใบ  ควรจดบันทึกหมายเลขบัตรเครดิต วงเงินสินเชื่อ ภาระหนี้ที่มีอยู่ และวันครบกำหนดชำระเงิน ฯลฯ ให้ครบถ้วน เพื่อวางแผนการใช้บัตรเครดิตและการชำระหนี้ให้ตรงเวลา



ควรทำอย่างไรเมื่อไม่สามารถชำระหนี้บัตรเครดิต

หากเริ่มจะมีปัญหาหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการหนี้ ควรเริ่มแก้ปัญหาดังนี้

1.  เมื่อพบว่ามีแนวโน้มไม่สามารถชำระหนี้ได้ ควรทบทวนค่าใช้จ่ายที่ผ่านมาว่ามีค่าสินค้าหรือบริการใดมากเกินความจำเป็นหรือไม่ หากพบค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  ก็ควรทบทวนและพิจารณาลดการใช้จ่ายดังกล่าวลง โดยใช้จ่ายอย่างมีสติ ต้องเตือนตนเองเสมอ ๆ ว่ากำลังนำรายได้ในอนาคตมาใช้  และเพื่อความไม่ประมาท ก็ควรพิจารณาสำรองเงินไว้ส่วนหนึ่งไว้ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดไว้อีกทางหนึ่งด้วย

2.  หากต้องการโอนหนี้บัตรเครดิตเพื่อลดภาระการจ่ายดอกเบี้ย  สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องพิจารณา คือ โอนหนี้ไปที่ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดและมีข้อเสนอที่ดีกว่า เช่น ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการโอน มีระยะเวลาปลอดหนี้ และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ และเมื่อโอนหนี้บัตรเครดิตและมีภาระดอกเบี้ยลดลงแล้ว ก็ควรมุ่งมั่นชำระหนี้ให้ได้มากที่สุด

3.  ไม่ควรใช้บัตรเครดิตเบิกเงินสดเพื่อนำไปชำระหนี้ เพราะนอกจากต้องเสียค่าธรรมเนียมการเบิกใช้เงินสดแล้ว ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะสูงกว่าดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่เดิมด้วย

4.  เมื่อลูกหนี้บัตรเครดิตไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ไม่เพียงพอ  ไม่ควรหนีปัญหา ควรติดต่อผู้ให้บริการบัตรเครดิตนั้น เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการจัดการหนี้ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

การร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต

ธปท. กำหนดเรื่องการปฏิบัติเมื่อมีข้อร้องเรียนว่า ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะต้องตรวจสอบเมื่อผู้ถือบัตรร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต และแจ้งความคืบหน้ารวมทั้งชี้แจงขั้นตอนต่อไปให้ผู้ถือบัตรทราบภายใน 7 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งการร้องเรียน และให้ดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียนนั้นให้แล้วเสร็จและแจ้งให้ผู้ถือบัตรนั้นทราบโดยเร็ว


ขอบคุณข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย

เทคนิคดีๆ ลดหนี้บัตรเครดิต






1
2

Wish You Happinessss

Success is not the key to happiness. Happiness is the key to success. 
If you love what you are doing, you will be successful. 

~ Albert Schweitzer ~

 คัมภีร์ 5 ห่วง  วิถีแห่ง "ซามูไร" วิถีแห่งนักรบ "บูชิโด"   แนวคิดของตัวเม่น   GOOD LUCK สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความสำเร็จ ในชีวิตและธุรกิจด้วยตัวคุณเอง    Why complicate life ?   3 x 8 = เท่าไหร่ ?????   "ฉันชื่อ..โอกาส"

Wish You Happinessss