1
2

สงกรานต์ (Songkran Festival in Thailand 2013)


Songkran Festival in Thailand  (English Version)


เพลง รำวงวันสงกรานต์ - ดาวรุ่งคลื่นลูกใหม่สุนทราภรณ์



ประกาศสงกรานต์ปีพุทธศักราช 2556


นางสงกรานต์ปี 2556


วันมหาสงกรานต์ ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน เวลา 1 นาฬิกา 58 นาที 48 วินาที
ตรงกับเวลา 2 นาฬิกา 16 นาที 48 วินาที (เวลามาตรฐานประเทศไทยปัจจุบัน) *

จันทรคติตรงกับ วันเสาร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนห้า(5) ปีมะเส็ง

นางสงกรานต์นามว่า มโหทรเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว(ผักตบชวา) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย 

หัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์หลับเนตร(นอนหลับตา) มาเหนือหลังมยุรา(นกยุง) เป็นพาหนะ

เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ ศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า 
ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า

เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ อาโป(ธาตุน้ำ) น้ำมาก น้ำท่วม 

เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะเส็ง นาคราชให้น้ำ 1 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีมาก กลางปีงาม แต่ปลายปีน้อยแล

เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแล

คำทำนาย 
วันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ : จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิง และ โจรผู้ร้าย และ จะเจ็บไข้นักแล ฯ 

วันอาทิตย์ เป็นวันเนา : ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะร้อนใจนักแล ฯ 

วันจันทร์ เป็นวันเถลิงศก : พระราชเทวี และหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง 

นางสงกรานต์ ไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) : พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี

:: thainews.prd.go.th ::


สงกรานต์

สงกรานต์ตามคตินิยมโบราณ นิยมสรงน้ำพระและผู้เฒ่าผู้แก่อันเป็นการแสดงความเคารพนับถือแสดงความกตัญญูและเพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข
สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า
"สงครามน้ำ"


สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี


พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น
‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
วันในเทศกาลสงกรานต์
ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้

วันแรกของเทศกาล เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์"

วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา"

และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า
"วันเถลิงศก"

โดยมึสูตร หา หรคุณจูเลียน (JD) วันมหาสงกรานต์ และ วันเถลิงศกดังนี้
JD วันมหาสงกรานต์ = ปัดลง[(292207* (พ.ศ.-1181) -559)/800] + 1954167
JD วันเถลิงศก= ปัดลง[(292207* (พ.ศ.-1181) +1173)/800] + 1954167
จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน

(ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) ซึ่งบางปีก็อาจจะตรงกับวันใดวันหนึ่ง





งานสำคัญบุญสงกรานต์



วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง
เริ่มจากตอนเช้ามีการยิงปืนขับไล่เสนียดจัญไร ให้ล่วงลับไปกับสังขานต์ และในแต่ละบ้านมีการทำความสะอาด ตลอดจนตามถนนและตรอกซอยเข้าบ้าน จากนั้นก็ทำความสะอาดชำระล้างร่างกาย สระเกล้าดำหัวให้สะอาดมีจิตใจผ่องใส หลังจากนั้นไปเที่ยวตามหมู่บ้านหรือในปัจจุบันนิยมไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เรียกว่า “ไปแอ่วปีใหม่” วันนี้มีการเล่นรดน้ำกันแล้ว



วันที่ 14 เมษายน วันเนา หรือวันเน่า
วัน “ขนทราย” หรือ วันเนาว์ วันปู๋ติ วันนี้จะทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นมงคล ไม่ด่่าทอหรือทะเลาะวิวาท ตอนเช้าไปจ่ายของและอาหาร เตรียมทำบุญถวายพระ ในวันรุ่งขึ้น วันเตรียมอาหารและเครื่องไทยทานเรียกว่า“วันดา” (คำวันสุกดิบทางภาคอื่น) และทุกบ้านจะทำกับข้าวที่สามารถเก็บไว้ได้หลายวัน เช่น แกงเส้นร้อน แกงอ่อม ฯลฯ หรือไม่ก็จำพวกห่อนึ่ง เช่น ห่อนึ่งไก่ ห่อนึ่งปลา ฯลฯ พร้อมทั้งตระเตรียมอาหารหวาน และเครื่องไทยทานไว้ให้พร้อม

ตอนบ่ายมีการขนทรายจากแม่น้ำ นำไปไว้ที่วัดใกล้บ้าน โดยก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด เจดีย์ทรายจะถูกประดับตกแต่งด้วยตุง (ธง) ทำด้วยกระดาษสีตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม และรูปอื่นๆ ชายธงมีการทานช่อ (ทำด้วยกระดาษสีต่างๆ) ตัดเป็นลวดลายติดปลายไม้สำหรับปักที่กองเจดีย์ทรายการทานธงและทานช่อนี้ ด้วยถือคติว่า ผู้บริจาคทานเมื่อตายไปแล้วจะได้อาศัยชายธง หอบหิ้วให้พ้นจากนรกได้ อานิสงส์การทานตุงหรือช่อนี้มีอยู่ในพระธรรมเทศนาใบลานตามวัดทั่วไป เจดีย์ทรายนี้จะทำพิธีถวายทานในวันรุ่งขึ้น มีการปล่อยนกปล่อยปลาอีกด้วย ในวันเดียวกันนี้มีการเล่นน้ำกันอย่างหนัก และเป็นที่สนุกสนานโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว

ทุกๆ ปี เมื่อถึงเทศกาลตรุษสงกรานต์ ชาวเหนือมีประเพณีอย่างหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติ คือ “สุมาคารวะ” ลูกหลานจะมาขอขมาลาโทษในความผิดต่างๆ ที่เคยกระทำมาต่อญาติผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อย อันมีต่อผู้ใหญ่ เรียกกันว่า “การไปดำหัว” หรือประเพณีดำหัว การไปดำหัวของคนไทยภาคเหนือ มักจะเริ่มกันใน “วันพญาวัน” (คือวันเถลิงศก)





วันที่ 15 เมษายน วันพญาวัน หรือวันเถลิงศก
ตอนเช้า จัดเตรียมอาหารคาวหวานใส่สำรับไปถวายพระที่วัด และทำบุญตักบาตรและนำไปให้ผู้เฒ่า ผู้แก่ ครูอาจารย์ หรือบุคคลที่ตนเคารพนับถือ เรียกว่าไปทานขันข้าว (ตานขันข้าว) การทานขันข้าวนี้ นอกจากจะทานให้พระ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือดังกล่าวแล้วก็มีการถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลถึงญาติพี่น้อง บิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว โดยพระที่วัดจะแยกย้ายกันนั่งประจำที่บริเวณวัดเพื่อให้ศีลให้พร แก่ผู้ไปทานขันข้าว


เสร็จจากการทำบุญตักบาตร ก็มีการถวายทานเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา มีการสรงน้ำพระพุทธเจดีย์ มีการค้ำต้นโพธิ์ภายในวัดและหมู่บ้าน มีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เช่น เชียงใหม่ก็จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป เสตังคมณี (พระแก้วขาว) วัดเชียงมั่น พระเจ้าทองทิพย์ และ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ พระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง ส่วนตามจังหวัดต่างๆ ก็จะมีการไปสักการะบูชาพระพุทธรูปสำคัญประจำบ้านเมืองตนเช่นเดียวกัน เช่น ลำปาง ก็ไปสรงน้ำพระแก้วมรกตที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เมืองน่านที่วัดพระธาตุแช่แห้ง และที่แพร่ก็ไปสรงน้ำ ที่พระธาตุช่อแฮเป็นต้น

ตอนบ่าย ก็จะเริ่มการดำหัว และจะทำเรื่อยไปจนถึงวันรุ่งขึ้น หรือวันปากปี
วันที่สี่ เป็นวันปากปี มีการดำหัวตามวัดต่างๆ ที่ใกล้เคียงและห่างไกล ซึ่งมีพระในวัดและในหมู่บ้านนั้นนำไป การไปดำหัวตามวัดนี้มักจะแบ่งแยกกันเป็นสายๆ เพราะบางวัดที่อยู่ห่างไกลก็ไม่ได้ไปกันอย่างทั่วถึงนอกจากวัดที่คนนิยมไปกันอย่างสม่ำเสมอ เรียกตามภาษาเมืองว่า
“ไปเติงกั๋น” หรือไปวัดของเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด หรือพระเถระผู้ใหญ่





ตำนานเกี่ยวกับกำเนิดวันสงกรานต์
กล่าวไว้ว่า ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก ข้างรั้วบ้านเศรษฐีมีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นนักเลงสุรา ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด ก็จะพูดเสียงดังแสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐีสบประมาทในความมีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ วันหนึ่งเศรษฐีจึงถามว่ามีความขุ่นเคืองอะไรจึงแสดงอาการเยาะเย้ย และสบประมาท เฒ่านักดื่มจึงตอบ ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่านจึงไม่มีบุตร ตายไปแล้วสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ




นับแต่นั้นมา เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนาจนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลาย ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ “ธรรมบาล” ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร
เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม รอบรู้ และวัยเพียง 7 ขวบก็เรียนจบไตรเพท ยังมีเทพองค์หนึ่งชื่อ
“ท้าวกบิลพรหม” ได้ยินกิตติศัพท์ทางสติปัญญาอันยอดเยี่ยมของเด็กน้อย จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงถามปัญหา 3 ข้อ ถ้ากุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ ปัญหานั้นมีว่า




1. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
2. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด
3. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด


เมื่อได้ฟังปัญหาแล้ว ธรรมบาลไม่อาจทราบคำตอบในทันทีได้ จึงผลัด วันตอบปัญหาไปอีก 7 วัน ครั้นเวลาล่วงจากนั้นไป 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดหาคำตอบปัญหานั้นไม่ได้ จึงหลบออกจากปราสาทหนีเข้าป่า และไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล




ขณะนั้นบนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ นางนกถามสามีว่า “พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน” นกสามีก็ตอบว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้” นางนกถามว่า “ปัญหานั้นว่าอย่างไร” นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ 3 ข้อ และหมายถึง

ข้อหนึ่ง ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า
ข้อสอง ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
ข้อสาม ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน


ธรรมบาลกุมาร ได้ยินการไขปัญหาของนกอินทรี และจำจนขึ้นใจ ทั้งนี้เพราะธรรมบาลรู้ภาษานก จึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตน รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลกุมารกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกันทุกประการ ท้าวกบิลพรหม






จึงเรียก ธิดาทั้ง 7 ของตนอันเป็นบริจาริกาคือหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าตนจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน




จึงสั่งให้ นางทั้ง 7 คน เอาพานมารองรับศีรษะ แล้วจึงตัดศรีษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุกๆ องค์ ครั้นครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าเป็นหนึ่งปีเป็นสงกรานต์ ธิดา 7 องค์ ของเท้ากบิลพรหมก็ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วจึงกลับไปเทวโลก






ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้




ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ




ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี
ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)




ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี
ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)


ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี
ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)


ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี
ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)


ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี
ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)


ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี
ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)


สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า

วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
วันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ
วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี



คำทำนายเกี่ยวกับวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ก็มีว่า

๑. ถ้าวันอาทิตย์ เป็น วันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้จะงอกงามนัก ถ้าวันอาทิตย์เป็น วันเนา ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ ถ้าวันอาทิตย์เป็น วันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทุกทิศ

๒. ถ้าวันจันทร์ เป็น วันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิง คุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ ถ้าวันจันทร์เป็น วันเนา มักเกิดความไข้ต่างๆ และเกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ ถ้าวันจันทร์เป็น วันเถลิงศก พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ

๓. ถ้าวันอังคาร เป็น วันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง แต่ถ้าวันอังคารเป็น วันเนา ผลหมากรากไม้จะแพง ถ้าวันอังคารเป็น วันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล

๔. ถ้าวันพุธ เป็นวัน มหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ถ้าวันพุธเป็น วันเนา ข้าวปลาอาหารจะแพง แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่ ถ้าวันพุธเป็น วันเถลิงศก บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ

๕. ถ้าวันพฤหัสบดี เป็น วันมหาสงกรานต์ ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย ถ้าวันพฤหัสบดีเป็น วันเนา ผลไม้จะแพง ราชตระกูลจะมีความร้อนใจ ถ้าวันพฤหัสบดีเป็น วันเถลิงศก สมณชีพราหมณ์จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม

๖. ถ้าวันศุกร์ เป็น วันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก ถ้าวันศุกร์เป็น วันเนา พริกจะแพง แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ ถ้าวันศุกร์เป็น วันเถลิงศก พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก

๗. ถ้าวันเสาร์ เป็น วันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง ถ้าวันเสาร์เป็น วันเนา ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ถ้าวันเสาร์เป็น วันเถลิงศก บรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู



นอกจากนี้ยังมีคำพยากรณ์อันเป็นความเชื่อทางล้านนาอีกตำราว่า

หากวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์

นางสงกรานต์ชื่อ นางแพงศรี
ปีนั้นข้าวจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ(เป็นโรค) ข้าศึกจักเกิดมีกับบ้านเมือง หนอนแมลงจักลงกินพืชไร่ข้าวนา ฝนตกบ่ทั่วเมือง คนมั่งมีเศรษฐีจักฉิบหาย ไม้ยางเป็นไม้ใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่

หากวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันจันทร์
นางสงกรานต์ชื่อ มโนรา
ปีนั้นงูจักเกิดมีมาก คนทั้งหลายจักเกิดเป็นพยาธิมากนัก ฝนหัวปีดี หางปีบ่พอดี ข้าวกล้าลางที่ดี ลางที่ก็บ่ดี ไม้กุ่มเป็นพญาแก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้เดื่อเกลี้ยง

หากวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันอังคาร
นางสงกรานต์ชื่อ รากษสเทวี

ปีนั้นฝนหัวปีดี กลางปีไม่ดี ปลายปีดีมาก ข้าวไร่ข้าวนาจักเสีย ลูกไม้บ่มีหน่วยหลาย(ได้ผลน้อย) บ้านเมืองจักเกิดกลียุค แมลงมีปีกจักทำร้ายพืชผักข้าวกล้ามากนัก ไม้พิมานเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้อ้อยช้าง

หากวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันพุธ
นางสงกรานต์ชื่อ มันทะ

ปีนั้นฝนตกบ่ทั่วเมือง หัวปีมีมาก กลางปีน้อย ข้าวในนาจะได้ครึ่งเสียครึ่ง ของบริโภคจะแพง ขุนนางขุนเมืองจะตกต่ำ ไม้สะเดา เป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้คราม

หากวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันพฤหัสบดี
นางสงกรานต์ชื่อ นางกัญญาเทพ

ปีนั้นฝนตกเสมอต้นเสมอปลายชอบตามฤดูกาล ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จักมีอันตราย ช้างม้าวัวควายจักตายมากนัก ไพร่ราษฎรจักอยู่ดีมีสุข ขุนใหญ่ ปุโรหิต พระสงฆ์จักเป็นทุกข์ ไม้สักเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้ทองกวาว

หากวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันศุกร์
นางสงกรานต์ชื่อ ริญโท

ปีนั้น ฝนตกหัวปีดี กลางปีบ่มีหลาย เพลี้ย บุ้งจักกัดกินทำร้ายข้าวนาพืชไร่ อันตรายจักเกิดมีแก่สมณพราหมณ์ ไม้สะเดาเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้พุทธา

หากวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันเสาร์
นางสงกรานต์ชื่อ สามาเทวี

ปีนั้นฝนแล้ง แมลงต่างๆจักทำร้ายพืชไร่มากนัก ไฟจักไหม้บ้านไหม้เมือง เกิดอัคคีภัยใหญ่ ข้าวยากหมากแพ



กิจกรรมในวันสงกรานต์

วันจ่ายสงกรานต์
ในวันจ่ายสงกรานต์ นอกจากเตรียมเครื่องเสื้อผ้าใหม่ๆ ไว้แต่ง เขายังทำขนมกวน สำหรับทำบุญถวายพระ และแจกชาวบ้าน ขนมนั้นโดยมากเป็นขนมเปียกข้าวเหนียวแดง และขนมกะละแมเป็นพื้น การแจกนอกจากจะเป็นเครื่องแสดงไมตรียังเป็นเรื่องอวดฝีมือด้วยว่าใครกวนขนมได้ดีกว่ากัน

การทำขนมในวันนี้นั้น ถ้าบ้านไหนเจ้าบ้านเป็นผู้มั่งคั่งก็ต้องกวน ขนมอย่างนั้นกันเป็นจำนวนมาก จึงจะพอแจกจ่ายให้สมกับฐานะที่เขากวนในวันสงกรานต์ เพื่อแจกแก่ชาวบ้านเพื่อนบ้าน ก็เพราะ สมัยนั้นหาซื้อได้ยาก จึงต้องทำช่วยตัวเองคนแต่ก่อนไม่มีขนมมาขาย อยากกินก็ต้องทำกินเอง เหตุนี้ในวันสงกรานต์หรือว่าในงานอะไร จึงต้องกวนขนมกันเป็นงานใหญ่ สำหรับเลี้ยงพระ และแจกแก่ผู้ที่นับถือและเพื่อนบ้าน จึงได้มีการกวนขนมกันในเทศกาลสงกรานต์และตรุษสารท มีประเพณีสืบกันมาที่ชาวตะวันตกทำเค้กปีใหม่ไปให้กันหรือกำนัลใคร ที่เรานำแบบอย่าง ชาวตะวันตกมาเพราะสะดวก



ทำบุญตักบาตร
สงกรานต์วันต้นหรือวันมหาสงกรานต์ ชาวบ้านลุกขึ้นแต่ไก่ขัน เพื่อเตรียม ไปตักบาตรถวายพระ พอหุงหาอาหารเสร็จ ก็จัดเตรียมอาหารและสิ่งของถวายพระ บรรจุลงภาชนะมีถ้วยโถโอชามอย่างดี แล้วแต่จะมี แล้วเอาวางเรียงลงในถาด หรือภาชนะอย่างอื่นๆ ที่นิยมในท้องถิ่น เพื่อนำไปทำบุญตักบาตรและเลี้ยงพระประจำหมู่บ้านของตนเรื่องการแต่งตัว จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มใหม่ ซึ่งเตรียมหาไว้ ก่อนหน้าวันสงกรานต์หลายวัน โดยเฉพาะหญิงสาวจะได้แต่งตัวให้สวยพริ้ง เพื่อไปอวดตามวิสัยของคนหนุ่มคนสาวที่รักสวยรักงาม และหญิงสาวพวกนี้ และที่เป็นคนยกเครื่องไทยธรรมของทำบุญ หลังจากตักบาตรเสร็จแล้ว มีเลี้ยงพระฉันเช้าที่ศาลาการเปรียญ โดยมัคนายกเป็นผู้จัดการเรื่องปูเสื่อสาดอาสนะ พอพระฉันเสร็จ ยถาสัพพีอนุโมทนาแล้ว ชาวบ้านก็กลับบ้านกันไป



ก่อพระเจดีย์ทราย
ไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะต้องก่อในวันสงกรานต์ ถึงวันอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับ สงกรานต์ ก็มีก่อกัน และไม่จำเป็นต้องก่อที่ในวัดบางแห่งที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ตอนเหนือๆ ก่อพระเจดีย์ทรายที่หาดทรายในแม่น้ำก็มี เช่น จังหวัดกำแพงเพชร ในวันก่อ เขามีทำบุญเลี้ยงพระที่หาดทรายด้วย เรียกกันว่า ก่อพระทรายนำไหล เสร็จแล้วก็มีเลี้ยงพระและเลี้ยงดูกันส่วนทางภาคอีสาน บางแห่งเขาทำบุญสงกรานต์เป็นสองระยะ ระยะแรกทำบุญตักบาตรกลางลานในวันตรุษ ระยะหลังทำบุญตักบาตรที่ลานบ้านในวันสงกรานต์

ทางอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีการทำบุญตักบาตรกลางบ้านเหมือนกัน คือเลี้ยงพระกันที่สองข้างถนน จึงเห็นได้ว่าการตักบาตรจะทำกันที่ไหนก็ได้ แล้วแต่สะดวกและนัดกัน ทางจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการก่อพระเจดีย์ทราย เป็นสองตอน ตอนที่หนึ่งก่อที่ลานวัดในวันตรุษ และอีกตอนหนึ่งก่อที่ลานบ้านในวันมหาสงกรานต์ การก่อพระเจดีย์ทรายที่กลางลานบ้านเขาก่อแต่องค์เดียวเป็นส่วนรวม จะขนาดเล็กขนาดใหญ่ก็แล้วแต่กำลังที่จะไปหาบขนเอาทรายมาได้มากน้อยเท่าไหร่สำหรับก่อ

ทรายที่จะนำมาก่อนั้นเอามาจากลำห้วยลำธารหรือตามหาดทรายในแม่น้ำ แล้วแต่จะสะดวก การขนทรายก็ไม่ต้องจ้างใครที่ไหน พวกหนุ่มๆ สาวๆ และเด็กๆ นั่นแหละเป็นผู้โกยไปขนใส่กระบุงหาบคอนกันมาเวลาเย็น

ปล่อยนกปล่อยปลา
เรื่องปล่อยนกปล่อยปลานั้น ที่ทำกันมากคือปล่อยปลา เพราะในกรุงเทพฯ ถ้ามีเงินก็หาซื้อเอาไปปล่อยได้สะดวก ปลาที่ปล่อยโดยมากเป็นปลาชนิดที่เขาไม่กินกัน เพราะเป็นลูกปลาตัวเล็กๆ จับเอามามากๆ ได้สะดวกเพราะ มันตกคลักจับเอามาได้ก็รวมเอามาขายส่ง โดยมากเป็นลูกปลาหมอ เพราะมันอดทน ไม่ตายง่ายเหมือนปลาชนิดอื่น

การแห่ปลา พวกผู้ชายจะไม่แห่ปลาในตำบลของตน แต่มีประเพณีว่า ชายตำบลนี้ต้องเข้าร่วมแห่ปลาตำบลโน้นเพื่อเชื่อมสามัคคีกัน

เรื่องปล่อยนกปล่อยปลา ที่มักทำกันในวันสงกรานต์ เพราะก่อนหน้าวันสงกรานต์เป็นหน้าแล้งอากาศร้อนจัดน้ำแห้งขอดขาดตอนเป็นห้วงๆ คงเหลือแต่ที่มีแอ่งและหนองน้ำ ปลาก็ตกคลัก อีกไม่ช้าพอน้ำแห้งหมด ปลาเหล่านั้นก็จะต้องตาย ชาวบ้านจึงพากันไปจับปลาที่ตกคลัก ถ้าเป็นลูกปลาจะกินไม่ได้เนื้อได้หนังอะไรก็เลี้ยงไว้ในตุ่มเอาบุญ แล้วนำไปปล่อยในวันสงกรานต์ จึงเกิดเป็นประเพณีปล่อยปลา และลามมาถึงปล่อยนกด้วย

บังสุกุลอิฐ
นอกจากปล่อยนกปล่อยปลาในวันสงกรานต์แล้ว ยังมีประเพณีบังสุกุลอัฐญาติ ผู้ใหญ่ การบังสุกุลนั้นทำแต่ครั้งเดียวจะทำในวันสงกรานต์วันไหนแล้วแต่จะสมัครใจและนัดหมายกัน โดยมากทำในวันสรงน้ำพระ หรือไม่ก็ทำกันใน วันท้ายวันสงกรานต์ ถ้าจะทำกันในวันแรกของสงกรานต์ เมื่อพระฉันเพลแล้ว ให้เสร็จธุระกันไปก็ได้ ตามประเพณีแต่ก่อนเขาไม่เอาอัฐิเข้าบ้าน ถ้าเป็นชาวบ้านมักฝังญาติผู้ใหญ่ไว้ใต้โคนต้นโพในวัด ฝังไส้ตรงเหลี่ยมไหนรากไหนของต้นโพเขาจำเอาไว้ และนิมนต์พระไปบังสุกุลที่ตรงนั้น

เรื่องบังสุกุลอัฐิในวันสงกรานต์ ถ้าว่าถึงประเพณีชาวฮินดูก็ไม่มี เพราะเมื่อเขาเผาศพแล้ว ตามปกติก็ทิ้งอัฐิ และเถ้าถ่านลงในแม่น้ำ โดยเฉพะแม่น้ำคงคา เพราะฉะนั้นเรื่องบังสุกุลอัฐิก็คงเป็นประเพณีเดิมของเรา ไม่ใช่ได้มาจากอินเดีย ในท้องถิ่นเราบางแห่ง เมื่อถึงวันสงกรานต์ เขามีพิธีบวงสรวงผีปู่ย่าตายาย ประจำหมู่บ้าน ซึ่งทางภาคอีสานเรียกว่า ผีปู่ตา และภาคพายัพเรียกว่า ผีปู่ย่า ภาคปักษ์ใต้เรียกว่า ผีตายาย และผีประจำเมืองคือผีหลักเมือง และ ผีเสื้อเมืองด้วย

ทางภาคกลางมีประเพณีอันเนื่องด้วยสงกรานต์อีกอย่างหนึ่งคือ ห้ามตักน้ำตำ ข้าวเก็บผักหักฟืน อันเป็นงานประจำวันครัวเรือนและเป็นงานอยู่ในหน้าที่ของผู้หญิง จะต้องเตรียมหาสำรองเอาไว้ให้พร้อม ก่อนถึงวันสงกรานต์ จะได้ไม่กังวล



สรงน้ำ รดน้ำ และสาดน้ำ
การสรงน้ำพระพุทธรูป มีดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชา แล้วเอาน้ำอบไปประพรมที่องค์พระ ทำเป็นสังเขปพอเป็นพิธีว่าได้แสดงความเคารพบูชาและสรงน้ำท่านในวันขึ้นปีใหม่แล้ว เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปมา ก็มีการแห่แหนกันอย่างสนุกสนาน สรงน้ำพระพุทธรูปแล้วก็มีการสรงน้ำพระสงฆ์ โดยมากมักเป็นสมภารเจ้าวัดเป็นการสรงน้ำจริงๆ สรงเสร็จครองไตรจีวรใหม่ที่อุบาสกอุบาสิกานำมาถวาย ท่านก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์อำนวยพรปีใหม่ให้แก่ผู้ที่ไปสรงน้ำ นอกจากนี้ยังมีการ รดน้ำญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรตามประเพณี

สรงน้ำพระเสร็จแล้ว ก็ชวนกันเล่นสนุก สาดน้ำ และเลี้ยงกันที่ลานวัด ของที่เลี้ยงมีขนมปลากริมไข่เต่า และลูกแมงลักน้ำกะทิ ซึ่งชาวบ้านเรี่ยไรออกเงิน และจัดทำเอามาเลี้ยงกันด้วยความสามัคคี

เหตุที่มีการสรงน้ำ รดน้ำ และสาดน้ำในวันสงกรานต์ เนื่องมาจากความเชื่อ ที่ว่าการสาดน้ำ จะช่วยให้ฝนฟ้าตกบริบูรณ์ประการหนึ่ง น้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีน้ำการเพาะปลูก ทำไร่ไถนาก็ได้ผล ประการหนึ่ง และถือกันว่าน้ำเป็นเครื่องชำระมลทินให้สะอาดอีกประการหนึ่ง เหตุนี้น้ำจึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่างๆ อาบน้ำ ซัดน้ำ หรือรดน้ำ เมื่อทำพิธีสมรส อาบน้ำเมื่อตาย อาบน้ำเมื่อโกนจุก หรือบวชนาค ฯลฯ



รดน้ำดำหัว
เครื่องดำหัวของภาคพายัพ ที่เขานำไปรดน้ำผู้ใหญ่ในวันพญาวัน นอกจากดอกไม้ธูปเทียนและผ้าใหม่สำหรับผลัด เขายังมีหมากพลูไปด้วย เพราะหมากพลูเป็นเครื่องแสดงความเคารพนับถือและเป็นเครื่องแสดงไมตรีจิตด้วยอีกโสดหนึ่งและยังมีน้ำส้มป่อยและน้ำอบ

น้ำส้มป่อยเป็นของใช้แทนสบู่ที่เมื่อก่อนยังไม่มีสิ่งนี้ สำหรับสระผมและชำระร่างกาย ผู้ใหญ่เมื่อรับเครื่องดำหัวแล้ว ก็เอาน้ำส้มป่อยและน้ำอบประพรมบนศีรษะพอเป็นกิริยา ว่าได้ดำน้ำสระหัวแล้ว ต่อจากนั้นก็ให้ศีลให้พร กันตามประเพณี

อนึ่งในวันนี้บางคนยังนำเสื้อผ้าของเขาสำรับหนึ่ง ต่างคนเอาบรรจุลงขันของตน พร้อมด้วยเครื่องบริขาร มีกล้วย มีอ้อย มีใบขนุน มีใบแก้วเป็นต้น นำไปตั้งที่ลานวัดภายในมณฑลวงด้ายสายสิญจน์ แล้วพระสงฆ์ จะประพรมเสื้อผ้าเหล่านั้นด้วยน้ำมนต์ เพื่อความบริสุทธิ์ของเสื้อผ้าเพื่อใช้ในปีใหม่ เสร็จแล้วนำกลับมาเก็บไว้อย่างนั้นหลายๆ วัน




สงกรานต์ 4 ภาค
สงกรานต์ภาคเหนือ (สงกรานต์ล้านนา) หรือ"ประเพณีปี๋ใหม่เมือง" อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่"วันสังขารล่อง"(13 เม.ย.) ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล "วันเนา"หรือ"วันเน่า"(14 เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี "วันพญาวัน"หรือ"วันเถลิงศก" (15 เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย"วันปากปี"(16 เม.ย.) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆเพื่อขอขมาคารวะ และ"วันปากเดือน"(17 เม.ย.) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา

สงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ"ตรุษสงกรานต์" บางพื้นที่จะเรียกว่า “เนา”และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เม.ย.) เป็น"วันส่งเจ้าเมืองเก่า" โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน"วันว่าง"(14 เม.ย.) ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น"วันรับเจ้าเมืองใหม่"(15 เม.ย.) จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์

สงกรานต์ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน"มหาสงกรานต์" วันที่ 14 เป็น"วันกลาง"หรือ"วันเนา" วันที่ 15 เป็นวัน"วันเถลิงศก" ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย


สงกรานต์ตามประเพณีที่แตกต่าง
สงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน หรือสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ไทย-ลาว ณ อ.เมือง และ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ในงานจะมีการฮดสรง หรือสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

สงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ หรือประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ ณ เกาะสีชัง และเกาะขามใหญ่ จ.ชลบุรี ภายในงานมีกิจกรรมเช่น พิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ พิธีกองข้าวบวงสรวง รดน้ำดำหัว การก่อพระเจดีย์ทราย การละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันเรือกระทะ เรือชักกะเย่อ มวยตับจาก ปาลูกดอก แข่งขันตะกร้อลอดบ่วง การแสดงดนตรี และประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ

สงกรานต์นางดาน หรือเทศกาลมหาสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช จัดขึ้น ณ สวนศรีธรรมาโศกราช สนามหน้าเมือง หอพระอิศวร สำหรับกิจกรรมภายในเทศกาลสงกรานต์เมืองนครนี้ จะมีมหกรรมขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง กิจกรรมนั่งรถชมเมือง เล่าเรื่องลิกอร์ นั่งสามล้มโบราณชมเมืองเก่า พิธีพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 6 แหล่ง จตุคามรุ่นสรงน้ำ 50 เป็นต้น

สงกรานต์แปลกแหวกแนว
สงกรานต์ปาร์ตี้โฟม มีพื้นที่ปาร์ตี้โฟมที่ปิดล้อมด้วยพลาสติกใส

สงกรานต์ล่องเรือสาดน้ำ เช่นที่ตลาดน้ำตลิ่งชัน นักท่องเที่ยวสามารถพบความสนุกสนานจากการนั่งเรือหางยาวสาดน้ำสงกรานต์กับชุมชนริมสองฟากฝั่งคลอง และยังได้ชมสวนกล้วยไม้ ทำบุญให้อาหารปลา หรือแวะซื้อขนมหวาน ผลไม้จากแพ และมีไกด์คอยบรรยายและอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง
หาดใหญ่ มิดไนท์ สงกรานต์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการจัดกิจกรรมสงกรานต์และการสาดน้ำในยามค่ำคืน ณ ถนนเสน่หานุสรณ์ และถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 23.00 น. โดยเทศกาลนี้ได้เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547

สงกรานต์ในต่างประเทศ
สงกรานต์ในกลุ่มชาวไต ชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา โดยเฉพาะเมืองจี่งหง หรือเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสาดน้ำสงกรานต์ ในวันที่ 13-15 เมษายน โดยเรียกว่างานเทศกาลพัวสุ่ยเจี๋ย

พื้นที่เด่นในการจัดงานสงกรานต์ในประเทศไทย

ภาคเหนือ
ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง: 13 - 15 เมษายน บริเวณทั่วเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณีสรงน้ำโอยทาน สงกรานต์ ศรีสัชนาลัย: 13 -15 เมษายน บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ประเพณีสงกรานต์อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย : 13 -15 เมษายน บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ประเพณีสงกรานต์ "ดอกลมแล้งบาน สงกรานต์เมืองแป้ นุ่งหม้อห้อมแต้งามตา" : 11 -17 เมษายน บริเวณสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ จังหวัดแพร่

ภาคอีสาน
มหาสงกรานต์อีสานหนองคาย (สงกรานต์ไทย-ลาว) : 6 - 18 เมษายน บริเวณหาดจอมมณีแม่น้ำโขงและวัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย
สงกรานต์นครพนม รื่นรมย์บุญปีใหม่ไทยลาว: 12 - 15 เมษายน อำเภอเมืองนครพนม และอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม
สุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูน-เสียงแคนและถนนข้าวเหนียว: 8 - 15 เมษายน บริเวณบึงแก่นนคร และถนนศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น

ภาคกลาง
มหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร: 8 - 15 เมษายน บริเวณสนามหลวง ถนนข้าวสาร และรอบเกาะรัตนโกสินทร์
ประเพณีสงกรานต์กรุงเก่า: บริเวณรอบเกาะเมืองอยุธยา
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง: 17 - 19 เมษายน บริเวณเทศบาลเมืองพระประแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
งานประเพณีวันไหลพัทยา-นาเกลือ : 18 - 19 เมษายน บริเวณสวนสาธารณะลานโพธิ์ จังหวัดชลบุรี
ประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน: 16 - 17 เมษายน บริเวณชายหาดบางแสน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
งานประเพณีสงกรานต์ศรีมหาราชาและประเพณีกองข้าว: 19 - 21 เมษายน บริเวณสวนสาธารณะเกาะลอย อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ประเพณีสงกรานต์เกาะสีชัง: 13 - 19 เมษายน บริเวณเกาะสีชังและเกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี

ภาคใต้
งานเทศกาลมหาสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช แห่นางดาน: 11- 15 เมษายน บริเวณวัดพระบรมธาตุ และบริเวณสวนศรีธรรมโศกราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
Songkran the Water Festival on the Beach: 12 - 16 เมษายน บริเวณสวนสาธารณะโลมา และเดอะพอร์ต ศูนย์การค้าจังซีลอน หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต
หาดใหญ่มิดไนท์สงกรานต์: 12 - 13 เมษายน บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศและถนนเสน่หานุสรณ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
งานสงกรานต์เมืองสุราษฎร์: 13 เมษายน บริเวณ ริมเขื่อนแม่น้ำตาปี ถนนตลาดใหม่ และศาลหลักเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
งานสงกรานต์เกาะสมุย:13-14 เมษายน บริเวณ หาดเฉวง หาดละไม และถนนรอบเกาะสมุย เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
แม่งานใหญ่ของงานเทศกาลตามพื้นที่เหล่านี้ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และทางจังหวัด

สังคมวิจารณ์
ประเพณีสงกรานต์สมัยใหม่ ณ ถนนข้าวสาร วันสงกรานต์เสมือนกับวันครอบครัวที่สมาชิกกลับมารวมตัวกัน นอกจากนั้นยังมีการเล่นน้ำเพื่อความสนุกสนานและคลายร้อน อย่างไรก็ตามในการเล่นน้ำในหลายกรณีมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น การสาดน้ำใส่ผู้ที่ไม่ต้องการเล่นสงกรานต์ การลวนลามสตรีโดยการปะแป้งถูกเนื้อต้องตัว ฯลฯ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจจะปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้

คำทำนายเกี่ยวกับสงกรานต์
ตามตำราพรหมชาติ ฉบับหลวงได้ให้คำทำนายเกี่ยวกับวันสงกรานต์ไว้ดังนี้

วันมหาสงกรานต์

ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันอาทิตย์ ปีนั้นไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแล
ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาและนางพระยาทั้งหลาย
ถ้าวันอังคารและวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงและโจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแล
ถ้าวันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ว่าท้าวพระยาจะได้เครื่องบรรณาการมาแต่ต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนักแล
ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้ข้าไท พระสงฆ์ราชาคณะจะได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจกันแล
ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลายจะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุม จะเจ็บตากันมากนักแล ฯ

วันเนา

ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะร้อนใจนักแล
ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่าง ๆ
ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา หมากพลู ข้าวปลาจะแพง จะแพ้อำมาตย์มนตรีทั้งปวง
ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะได้รับความทุกข์ร้อน แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่
ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ลูกไม้จะแพง ตระกูลทั้งหลายจะร้อนใจนักแล
ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา ข้าวจะแพง แร้งกาจะตายห่า สัตว์ในป่าจะเกิดอันตราย
ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง จะเกิดเพลิงกลางใจเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย น้ำจะน้อยกว่าทุกปี สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจนัก ผักปลาจะแพงแล ฯ

วันเถลิงศก

ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ จะมีชัยชนะแก่ศัตรูทั่วทิศาทั้งปวงแล
ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชเทวี และหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง
ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก อำมาตย์มนตรีทั้งปวงจะอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะต่อยุทธ์ด้วยปัจจามิตร ณ ที่ใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล
ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมาก
ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณะพราหมณาจารย์จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมวินัยอันประเสริฐแล
ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าพานิชทั้งหลาย อันไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทอง และมีความสุขเป็นอันมากแล
ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก หมู่ทแกล้วทหารทั้งปวง จะประกอบไปด้วยความสุข และวิชาการต่าง ๆ แม้จะกระทำยุทธ์ด้วยข้าศึก ณ ทิศใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล ฯ

คำขวัญวันสงกรานต์
ในปี 2552 นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการให้คำขวัญในวันนี้ในข้อความว่า "สงกรานต์สมานสามัคคี สืบทอดประเพณี ทุกชีวีปลอดภัย"

พ.ศ. 2553 มีการประกวดคำขวัญโดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีคำขวัญว่า สงกรานต์สร้างสรรค์ ยึดมั่นประเพณี ปลอดภัยทุกชีวี สามัคคีทั่วไทย นายพรเทพ ประดิษฐ์ชัยกุล ชนะการประกวดคำขวัญประจำปีนี้


น่ารู้ก่อนลุย
1. สงกรานต์เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของไทย กิจกรรมของสงกรานต์ไม่ได้มีแต่การเล่นน้ำเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมที่น่าจะทำอีกมาก เช่น การทำบุญ การทำความสะอาดบ้านเรือนและบริเวณบ้าน ซึ่งนับเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งด้วย

2. จุดประสงค์ของการรดน้ำ สาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์นั้นคือ การอวยพรและขอพรกันด้วยน้ำ มิใช่ตั้งใจให้เป็นการเล่นหรือต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตาย

3. การประแป้งดินสอพอง แต่เดิมเป็นเพียงการแต่งตัวตามสมัยนิยมของแต่ละคน ดังนั้นใครอยากประแป้งก็ประเอง ไม่ต้องไปประให้เขา การถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ไม่ใช่มารยาทที่ดีของสุภาพชน อย่าทำเลย


4. การรดน้ำสงกรานต์ที่ถูกต้องมี 2 ประเภท คือ
- การรดน้ำผู้ใหญ( ธรรมเนียมดั้งเดิมนิยมว่าควรมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ) เป็นการรดน้ำเพื่อแสดง
ความเคารพและขอพรจากท่าน เมื่อไปรดน้ำที่มือท่าน ไม่ต้องไปอวยพรท่าน เพราะเราเป็นเด็ก รอรับพรจากท่านก็พอ ผู้ใหญ่จะเป็นผู้ให้พรเอง
- การรดน้ำผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยเดียวกันหรืออ่อนวัยกว่า เป็นการรดน้ำอวยพร ถ้าจะให้สุภาพควรขออนุญาตเสียก่อน แล้วจึงรดน้ำที่หัวไหล่ และสามารถกล่าวอวยพรได้ตามต้องการ ถ้าสนิทสนมกันอยู่แล้วก็สามารถรดน้ำและเล่นสนุกสนานได้ตามประสาเพื่อน แต่ทั้งนี้ก็ควรอยู่ในขอบเขตของมารยาท ศีลธรรม และความปลอดภัย



5. น้ำที่นำมารดและสาดกันถือเป็นสิ่งที่เป็นมงคล ดังนั้นจึงต้องเป็นน้ำสะอาด น้ำอบ น้ำหอมน้ำดอกไม้ ( ไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำอบไทยเสมอไป น้ำอบฝรั่งก็ได้ ) แต่ไม่ควรใช้น้ำสกปรกหรือน้ำแข็งเด็ดขาด

6. ของรดที่นำไปมอบให้ผู้ใหญ่ ตามธรรมเนียมมักเป็นสิ่งของที่เกี่ยวกับการอาบน้ำและการแต่งตัวเป็นหลัก เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้านุ่ง ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู สบู่ น้ำหอม แป้ง ของเหล่านี้เป็นของหลักซึ่งจำเป็นต้องมี แต่ไม่จำเป็นต้องให้ทุกอย่างที่กล่าวมา เลือกจัดให้ตามความเหมาะสม ส่วนของอื่นๆ เช่น ดอกไม้ ขนม นั้นเป็นของประกอบ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้

7. การกราบเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง โดยการยอบตัวลง พนมมือ และก้มลงจนมือที่พนมไว้ ท้องแขน และศีรษะจดพื้น ตรงหน้าคนหรือสิ่งที่เราตั้งใจจะกราบ การกราบปกติไม่ต้องแบมือ ไม่ว่าสิ่งของหรือบุคคลนั้นจะเป็นที่เคารพอย่างสูงเพียงใด จะแบมือก็เฉพาะกราบพระพุทธรูป หรือพระสงฆ์เท่านั้น



8. การสรงน้ำพระพุทธรูปหรือรูปเคารพ ไม่ควรรดน้ำลงตรงๆ ที่พระเศียรหรือส่วนศีรษะ ให้รดน้ำลงในส่วนอื่นๆ จะสุภาพเหมาะสมกว่า

9. การรดน้ำ ดำหัว เป็นประเพณีของไทยภาคเหนือกลุ่มล้านนา ซึ่งมีรายละเอียดบางอย่างแตกต่างเป็นพิเศษจากภาคอื่นๆ คำว่าดำหัว เป็นภาษาถิ่น ไม่ควรนำไปใช้เรียกการรดน้ำสงกรานต์ของภาคอื่นๆ เพราะจะทำให้ผิดความหมาย

10. สงกรานต์เป็นประเพณีของคนไทยทุกศาสนา ไม่เฉพาะชาวพุทธเท่านั้น การทำบุญก็เลือกถือปฏิบัติตามแนวของศาสนาที่ตนนับถือได้ ส่วนกิจกรรมอื่นๆเป็นของกลางๆใครๆก็ปฏิบัติได้

11. สงกรานต์ปีหนึ่งมีหนเดียว ขอเชิญชวนให้แต่งกายแบบไทยๆ เป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมอันดีงามของเรา เท่ และ ไม่ร้อนดีด้วย

อ้างอิง
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
kapook.com
http://th.wikipedia.org/wiki/สงกรานต์
http://www.songkran.net/App_ASPX/Home.aspx
http://www.thaipost.net/x-cite/170310/19431




1
2

Wish You Happinessss

Success is not the key to happiness. Happiness is the key to success. 
If you love what you are doing, you will be successful. 

~ Albert Schweitzer ~

 คัมภีร์ 5 ห่วง  วิถีแห่ง "ซามูไร" วิถีแห่งนักรบ "บูชิโด"   แนวคิดของตัวเม่น   GOOD LUCK สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความสำเร็จ ในชีวิตและธุรกิจด้วยตัวคุณเอง    Why complicate life ?   3 x 8 = เท่าไหร่ ?????   "ฉันชื่อ..โอกาส"

Wish You Happinessss