จับมือไว้...แล้วไปด้วยกัน
โซเชียล เน็ตเวิร์ค พลิกโลกธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่โซเชียล มีเดียกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนอินเทอร์เน็ต มีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ ผู้รับข่าวสารทั่วโลกมักใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าเดิม
รอบปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปี 2554 ไม่มีใครปฏิเสธว่า "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" ยิ่งทวีความร้อนแรงขึ้น นอกเหนือจากเรื่องการสื่อสารแล้ว โซเชียล เน็ตเวิร์ค ยังมีอิทธิพลอย่างสูงในโลกธุรกิจ หลายองค์กรต่างปรับเปลี่ยน และหันมาเรียกใช้บริการคอมมูนิตี้ยุคใหม่นี้กันอย่างแพร่หลาย
สิ่งหนึ่งที่ "โซเชียล มีเดีย" กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนอินเทอร์เน็ต มีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ บรรดาผู้รับข่าวสารทั่วโลกมักใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าสื่อเดิมๆ แบบไม่เห็นฝุ่น และพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เขาใช้บนอินเทอร์เน็ตก็จะเป็นพื้นที่ของเว็บประเภทโซเชียล มีเดีย
มีผลสำรวจ ระบุว่า ปัจจุบันวัยรุ่นอเมริกันมักใช้เวลาไปกับสื่ออินเทอร์เน็ตมากกว่าสื่อทีวี นั่นทำให้หลายแบรนด์สินค้า และบริการระดับโลกต่างกระโจนเข้าหาสื่อออนไลน์กันเป็นว่าเล่น ไม่เว้นแม้แต่สื่อดั้งเดิม ทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารต่างๆ ก็เกิดการหลอมรวมของสื่อเพื่อต้องการให้ข่าวสารที่ส่งไปสู่ผู้รับสารมีช่องทางกระจายข่าวให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นการใช้สื่อเพื่อทำให้เกิดความสะดวก สบาย รวดเร็ว
"สิ่งที่น่าจับตานับจากนี้ คือ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทั้ง แอ๊ปเปิ้ล กูเกิล และ เฟซบุ๊ค จะเป็นออนไลน์ แอดเวอร์ไทซิ่ง และ มาร์เก็ต แพลตฟอร์ม ที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค ส่งผลให้การวางแผนบริหารสื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจากเดิม และทวีความเข้มข้นมากขึ้น"
นี่เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ปี 2554 ที่ "อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด อินเตอร์แอ็คทีฟเอเยนซีไทย ประเมินไว้ พร้อมทั้งบอกว่า ทั้ง 3 บริษัทนี้จะเป็นตัวพลิกโฉมหน้าการทำ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ที่สำคัญ และจะพลิกรูปแบบการเข้าถึงสินค้า บริการของกลุ่มคอนซูเมอร์ทั่วโลกในอนาคต
เธอเชื่อว่า ปีนี้จะเป็นปีแห่งการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ออนไลน์มากขึ้น และด้วยเทรนด์ของแพลตฟอร์มใหม่ๆ รวมถึงความฮอตของโซเชียลเน็ตเวิร์คจะทำให้นักการตลาดต้องแบ่งสัดส่วนงบประมาณสำหรับการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งแบบครบวงจร เป็น 2-10% ของงบการตลาดองค์กร ขณะที่มูลค่าสื่อออนไลน์ หรือดิจิทัล มีเดีย จะมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 2% หรือประมาณ 2 พันล้านบาทของมูลค่าสื่อโดยรวมที่ประเมินว่าจะอยู่ระดับแสนล้านบาท
ตัวอย่างเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นจากโซเชียล เน็ตเวิร์ค ที่ถือเป็นการพลิกกลยุทธ์ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งครั้งใหญ่ และจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลก ได้แก่
1.การผสมผสานดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง และ โซเชียล มีเดีย เข้าด้วยกันอย่างครบวงจร โครงสร้างนี้ต้องอาศัยความเข้าใจออนไลน์เทคนิคต่างๆ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงผลทางการตลาด และติดตามได้ง่าย เป็นการขยายขอบข่ายในดิจิทัล สเปซ นอกจากการสร้างเว็บไซต์แนะนำสินค้า สร้างแฟนเพจเฟซบุ๊ค หรือสร้างแอคเคาท์ทวิตเตอร์ นักการตลาดควรต้องคิดว่า ทำอย่างไรถึงให้ช่องทางที่สร้างขึ้นเหล่านี้ สามารถเชื่อมโยงและทำการตลาดร่วมกันได้ ต้องนำไปสู่การครีเอทแคมเปญใหม่ๆ ได้
2.เฟซบุ๊ค จะกลายเป็นสมรภูมิที่มีอิทธิพลสำหรับนักการตลาด เพราะความนิยมใช้เป็นทั้งช่องทางโฆษณา และการตลาด แบรนด์จากทั่วทุกมุมโลกยังคงแข่งขันกันด้วยจำนวนแฟนบนเฟซบุ๊คผู้บริหารควรวิเคราะห์การวัดผล และวางกลยุทธ์สร้างความสัมพันธ์กับแฟนพันธุ์แท้ที่เป็นลูกค้าตัวจริง อีกทั้งต้องมีมาตรการคัดสรรและสื่อสารกับลูกค้าโดยคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าจำนวน
ข้อเท็จจริงที่ถูกมองข้ามเสมอ คือ โซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ใช่ของฟรี หรือของดีราคาถูก ยิ่งการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมากขึ้นของเฟซบุ๊คอย่างเฟซบุ๊ค ช้อป หรือเฟซบุ๊ค แมสเสจจิ้งและอีกมากมายที่กำลังจะปรากฏออกมาเร็วๆ นี้ ย่อมหมายถึง สื่อทรงพลังนี้จำเป็นต้องมีคนมาดูแลบริหารจัดการรับมือและโต้ตอบกับผู้คนที่เข้ามาได้อย่างมืออาชีพในทุกๆ ด้านและตลอดเวลา
3.แบรนด์ เอ็นเกจเมนท์ หรือพลังมัดใจสร้างแฟนพันธุ์แท้ นักการตลาดต้องทำงานหนักเพื่อผูกใจกลุ่มเป้าหมายให้สนใจติดตาม และจดจำแบรนด์ได้มากกว่าคู่แข่ง การดึงดูดและสร้างความต่อเนื่องกับผู้บริโภคผ่านทางการตลาดออนไลน์ การสร้างแคมเปญไมโครไซต์ที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ถูกใจจะสร้างความรู้สึกดีๆ นำไปสู่แรงผลักดันการตัดสินใจซื้อสินค้าในที่สุด เทรนด์สำคัญที่จะมาแรง นักการตลาดจะหันมาใช้วีดิโอออนไลน์ดึงผู้บริโภคมากขึ้น
4. อีคอมเมิร์ช และ โซเชียลคอมเมิร์ชมาแรงปีนี้ ถือเป็นปีคิก-ออฟของร้านค้าออนไลน์ทั้งขนาดเล็ก และใหญ่ของไทย และจำนวนของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมั่นใจกับการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มีมากขึ้น
5. พลิกโฉมออนไลน์โปรโมชั่น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสีสันมากขึ้น เมื่อนักการตลาดที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมารุกตลาดเพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ การทำออนไลน์โปรโมชั่นสำหรับร้านออนไลน์จะทวีความเข้มข้น จะได้เห็นความถี่ในการทำโปรโมชั่นประเภท one-day-deal, weekend deal, friend & family deal มากขึ้น ร้านค้าออนไลน์ที่พัฒนาระบบฐานข้อมูลเป็นระบบ จะได้เปรียบในการสร้างโปรโมชั่นเฉพาะสำหรับลูกค้าแต่ละราย (Personalized Deal)
6. สมาร์ทโฟน ไอแพด แทบเล็ต ตัวสร้างประสบการณ์รับรู้ มีอิทธิพลในการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานและการรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภคอย่างคาดเดาได้ยาก นักการตลาดจึงต้องเข้าใจ และเลือกใช้เทคนิคการสื่อสารและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ให้เหมาะสม เพื่อทำการตลาดอย่างประชิดติดตัวผู้บริโภค
7. แบรนด์เพิ่มการลงทุนสร้างแอพพลิเคชั่น แนวโน้มนี้ จะพบว่า แบรนด์พากันทุ่มเทงบประมาณมากขึ้นในการสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นบนดีไวซ์ใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง โดยเน้นลักษณะของแอพฯ ที่มีเป้าหมายการใช้งานต่างกันมารวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน
ขณะที่ "ศิวัตร เชาวรียวงศ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มอินเตอร์คอนเนคชั่น เสริมว่า "คอนเทนท์" คือ เทรนด์ของการทำการตลาดผ่านโซเชียล มีเดีย ตามกระแสของโลก ที่แต่ละแบรนด์สินค้า และบริการจะแข่งขันกันอย่างสูงเพื่อทำคอนเทนท์ให้ดึงดูดใจ เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
"ทุกวันนี้เวลาคนตัดสินใจซื้อสินค้าอะไรสักอย่าง ก่อนตัดสินใจซื้อ สื่ออินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นแหล่งข้อมูลสุดท้ายที่เขาเข้าไปดูก่อนตัดสินใจซื้อจริง มีตัวเลขระบุว่า 70% ของผู้บริโภคไม่เชื่อคำโฆษณา แต่จะเชื่อความคิดเห็นของคนที่ใช้งานสินค้า หรือบริการนั้นๆ บนอินเทอร์เน็ตมากกว่า นั่นหมายความว่า สิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเวลา ตัดสินใจซื้อสินค้า คือความเห็นจากผู้บริโภคด้วยกันเอง"
ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค ปฏิวัติโลกสื่อสาร "ผมเรียกทวิตเตอร์ว่า 'ปรากฏการณ์โลกแบน' ทุกคนเจอกันได้ ทำให้คนทั่วไปสามารถพบเจอคนที่สำคัญในสังคมได้ง่ายขึ้น แต่พฤติกรรมการเล่นทวีตของคนไทย ณ วันนี้ ยังไม่เวิร์ค จากผู้เล่นเป็นหลักหลายๆ แสนคน จะมีคนที่ทวีตเป็น ทวีตมีประโยชน์ หรือเป็นอินฟลูเอนเซอร์แค่ 100 กว่าคนเท่านั้น ที่สำคัญ คนที่เล่นทวิตเตอร์ทุกวันนี้ ต้องใช้วิจารณญาณให้มากที่สุด"
"ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย" กูรูการตลาดชั้นนำของไทย หรือ @mktmag ในโลกของทวิตเตอร์ เคยให้ความเห็นไว้ แถมบอกว่า ตอนนี้คนไทยเล่นทวิตเตอร์ยังเป็นแค่ขั้น "early adopter" ต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะขึ้นสู่ขั้นแอดวานซ์ เมื่อมีผู้เล่นเป็นหลักล้าน
ถึง ณ วันนี้ การใช้โซเชียล มีเดีย ของไทยจากที่อยู่ในระดับ "early adopter" อาจจะเรียกได้ว่า ใกล้เคียงขั้นแอดวานซ์ขึ้นมากเต็มที จากที่คนไทยเริ่มใช้ทวิตเตอร์ทำกิจกรรมสร้างประโยชน์ร่วมกัน ที่ชัดที่สุด คือ การรวมพลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นโมเดลการใช้ทวิตเตอร์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ยังไม่นับรวมถึงการช่วยเหลือ การเป็นหูเป็นตา การตั้งข้อสงสัย เพื่อนำมาซื้อการสืบค้น การเสาะหาเพื่อให้ได้ความจริง
ประเมินกันว่า จำนวนคนไทยที่ใช้ทวิตเตอร์ปัจจุบันอยู่หลัก "หลายแสนคน" จากผู้เข้าใช้ทั่วโลก 175 ล้านคน โดยเมื่อปี 2553 ไมโคร บล็อกกิ้งชื่อดังแห่งนี้มีคนเข้าทวีตข้อความกว่า 2 หมื่นล้านทวีต มีแอคเคาท์ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 100 แอคเคาท์
นั่นทำให้ไมโครบล็อกกิ้งนี้กลายเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งปลายปี 2553 ทวิตเตอร์สามารถระดมเงินทุนได้กว่า 200 ล้านดอลลาร์ โดยหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนได้แก่ บริษัทเคลนเนอร์ เพอร์คินส์ คลอฟิลด์ หรือเคพีซีบี บริษัทเงินทุนในซิลิคอน วัลเลย์ ทำให้ทวิตเตอร์ที่มีพนักงานราว 350 คน มีมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อ 15 เดือนที่แล้วเกือบ 4 เท่าตัว เป็น 3.7 พันล้านดอลลาร์ทันที
ขณะที่ "เฟซบุ๊ค" โซเชียล เน็ตเวิร์ค ที่เป็นเหมือนบล็อกส่วนตัว ก็กลายเป็นพื้นที่ของการแบ่งปันข้อมูล การเชิญชวน การแสดงออกที่อาศัยการบอกต่อๆ กันไป กลายเป็นปรากฏการณ์ของคอมมูนิตี้รูปแบบใหม่
จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊คของไทยเพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า 4 ล้านคนในช่วงครึ่งปีแรก กระทั่งเป็นประมาณ 6.17 ล้านคน หรือ 9.29% ของประชากรทั้งประเทศ ตอนนี้จำนวนผู้ใช้ในไทยจะอยู่อันดับ 21 ของโลก ส่วนผู้ใช้เฟซบุ๊คทั่วโลกล่าสุดมี 557 ล้านคน ประเทศที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊คมากที่สุด คือ สหรัฐ 144 ล้านคน อินโดนีเซีย 30 ล้านคน สหราชอาณาจักร 28 ล้านคน ตุรกี 23 ล้านคน และฝรั่งเศส 20 คน ขณะที่ประเทศจีนมีผู้ใช้เฟซบุ๊ค 83,080 คน อยู่ที่อันดับ 129 ของโลก
ท้าทายการตลาดอีเมลปี 2554 ในแต่ละวัน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะมีพฤติกรรมการใช้กิจกรรมออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่ว่าจะเกิดกับกิจกรรมออนไลน์เดิม และกิจกรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่ ผลการสำรวจล่าสุดของ "เนคเทค" กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย พบว่า กิจกรรมอีเมล ค้นข้อมูล และตามข่าว ยังเป็นกิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยอยู่ และพบว่าพฤติกรรมการทำกิจกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีการใช้ผ่านสมาร์ทโฟนที่มากขึ้นอีกด้วย รวมไปถึงการใช้งานแอพพลิเคชั่นด้วยสมาร์ทโฟนก็มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นเช่นกัน
ถึงแม้ว่ากิจกรรมอีเมลจะเป็นกิจกรรมออนไลน์ที่คนไทยนิยมสูงสุดบนโลกอินเทอร์เน็ต คือ ร้อยละ 27.2 แต่พฤติกรรมการใช้อีเมลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็เปลี่ยนแปลงไป และก็จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในปีที่จะถึงนี้ นักการตลาดที่ใช้อีเมลเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับลูกค้าและสมาชิกก็จะต้องปรับตัวให้ทันกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับอีเมลในปี 2554
ท้าทาย 1 อีเมลเป็นเพียงแค่หนึ่งในช่องทางสื่อสาร ยังมีช่องทางสื่อสารอื่นๆ อีกมากที่สามารถทดแทนได้ เช่น บริการข้อความสั้น เว็บไซต์สังคมออนไลน์ เป็นต้น กระแสสังคมออนไลน์ทำให้พฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงไป ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแสดงออกมากขึ้น อยู่บนโลกออนไลน์นานขึ้น ต้องการสื่อสารแบบทันทีทันใด กิจกรรมเหล่านี้อาจจะมาทดแทนอีเมลได้ อย่างที่เราเห็นในเว็บไซต์สังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Twitter, Foursquare หรือ YouTube ถึงแม้ว่าเว็บไซต์สังคมออนไลน์เหล่านี้ ยังจะต้องพึ่งพาอีเมลในการลงทะเบียน และส่งข้อความเตือนก็ตาม แต่ความต้องการอยากรับรู้ข่าวสารผ่านอีเมล ก็อาจจะได้รับการตอบรับที่น้อยลงได้
ท้าทาย 2 โลกของอุปกรณ์เคลื่อนที่กำลังจะมา การใช้งานอินเทอร์เน็ตเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านจอคอมพิวเตอร์กลายมาเป็นผ่านหน้าจอที่มีขนาดเล็กลงอย่างโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน และก็แทบเล็ต ถึงแม้ว่ากลุ่มผู้ใช้งานเหล่านี้อาจจะยังเป็นกลุ่มที่เล็กอยู่ก็ตาม แต่พวกเขาคือผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงที่นักการตลาดเองก็อยากจะเข้าถึงให้มากที่สุด อีเมลที่ส่งให้ผู้อ่านก็ต้องสามารถที่จะรองรับการใช้งานบนหน้าจอที่เล็กลงได้ แต่ข่าวดี คือ การรับอีเมลจะรับอีเมลได้ถี่ขึ้นจนเกือบจะทันทีทันใด
ท้าทาย 3 อีเมลในกล่องข้อความมีมากเกินไป คุณสังเกตไหมว่าปริมาณอีเมลของคุณในกล่องข้อความ หรือ Inbox มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน ทั้งอีเมลที่ต้องการรับและอีเมลที่ไม่ต้องการรับ หรือสแปมเมล ผู้รับเริ่มจะไม่สามารถบริหารอีเมลจำนวนมากในแต่ละวันได้ ผู้รับจึงจะต้องหาวิธีการจัดการกับอีเมลที่ไม่ต้องการ และก็จัดการกับอีเมลประชาสัมพันธ์ของคุณด้วยการยกเลิก หากผู้รับไม่เห็นประโยชน์ที่จะรับอีเมลของคุณอีก และที่สำคัญ ลูกค้าและสมาชิกของคุณก็จะให้ความสนใจในอีเมลของคุณน้อยลง เพราะพวกเขายังมีอีเมลอีกมาก ที่จะต้องอ่านรอเขาอยู่
ท้าทาย 4 ผู้รับอีเมลสามารถจัดการกับอีเมลได้มากขึ้น ปัญหาอีเมลมากเกินไปในกล่องข้อความทำให้ผู้ให้บริการอีเมลเพิ่มฟังก์ชัน หรือความสามารถพิเศษให้กับผู้ใช้งานได้จัดการกับอีเมลเหล่านี้ เช่น Gmail เพิ่มฟังก์ชัน Priority Inbox ที่คุณสามารถคัดเลือกอีเมลสำคัญเก็บไว้อีกทีหนึ่ง นอกเหนือจากกล่องข้อความปกติ หรือ Hotmail เพิ่มฟังก์ชัน Sweep ที่ช่วยให้คุณสามารถจัดการอีเมลแบบรวมได้ง่ายมากขึ้น เช่น ลบ ย้าย อีเมลทั้งหมดจากผู้ส่งรายใดรายหนึ่ง ที่ง่ายมากขึ้น ดังนั้น ผู้รับเองก็สามารถจัดการกับอีเมลที่ไม่มีประโยชน์กับเขาได้ง่ายมากขึ้น
ท้าทาย 5 การจัดการอีเมลจากพฤติกรรมการอ่านอีเมล ผู้ให้บริการอีเมลเล็งเห็นถึงปัญหาของผู้ใช้อีเมล และปริมาณสแปมเมลที่มากขึ้นทุกวัน ผู้ให้บริการอีเมลจึงหาวิธีการจัดการกับอีเมลเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ใช้งานอีเมลมีความสะดวกและก็พอใจในบริการอีเมลมากขึ้น มาตรการหนึ่งที่จะเห็นในเร็วๆ นี้ คือ การจัดการอีเมลจากพฤติกรรมของผู้อ่านอีเมลเอง จากเดิมเราจะต้องเป็นผู้กำหนดว่าผู้ส่งรายนี้เป็นสแปม หรือ จัดการอีเมลที่ต้องการให้อยู่ในกล่องข้อความ เป็นต้น ต่อไปนี้ ผู้ให้บริการอีเมลจะพิจารณาจากพฤติกรรมของผู้อ่านเอง อาทิเช่น อีเมลที่เปิดและลบบ่อยก็จะพิจารณาว่าเป็นสแปม อีเมล ที่เปิดประจำก็จะถูกพิจารณาให้เป็นผู้ส่งที่ดี อีเมลที่มีการตอบกลับก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นอีเมลที่ดี เป็นต้น ดังนั้น หากอีเมลของคุณไม่มีคุณภาพในเนื้อหา คุณก็อาจจะถูกพิจารณาเป็นสแปมได้
ท้าทาย 6 บริการข้อความของ Facebook กำลังจะมา เป็นที่ทราบกันว่า Facebook เป็นเว็บไซต์สังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก โดยเป็นคนไทยกว่า 6 ล้านคน ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน Facebook ย่อมมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นแน่ ในปีที่จะถึงนี้ Facebook จะเปิดตัวบริการข้อความใหม่ที่ผู้บริโภคสามารถที่จะโพสต์ข้อความ แชท และอีเมลในที่ที่เดียวกัน พฤติกรรมของผู้บริโภคจะต้องเปลี่ยนแปลงแน่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปในทางที่ดีหรือร้ายต่อการตลาดอีเมล
http://www.bangkokbiznews.com
|