Happinessss
1
2
ทำอย่างไรในวิกฤติ
หยุดฝัน ก็ไปไม่ถึง
ทำอย่างไรในวิกฤติ
ปัญหาที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นภาพใหญ่ในเรื่องประเด็นเศรษฐกิจระดับโลก อันจะส่งผลหนักขึ้นๆ ถึงความเป็นไปในไทยแน่นอน ปัญหาการเมือง สังคม ความขัดแย้ง ที่ทำให้เกิดความรุนแรงทั้งกับภายนอกและภายในประเทศ ปัญหาชีวิตและสุขภาพ จากความไม่ปลอดภัยในการกินอยู่สารพัดทำให้เราต้องเฝ้าระแวดระวัง ต้องคอยเงี่ยหูฟังทุกขณะจิต ว่าอะไรผิดปกติ ข้อมูลที่แท้จริงคืออะไร แล้วต้องทำอย่างไร ไม่ให้ตกเป็น “เหยื่อ” ต้องทำอะไรเพื่อบรรเทา เพื่อแก้ไข เพื่อให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายไปกว่าเดิม
เราควรทำอย่างไรในสภาวะวิกฤติเช่นนี้
มีประเด็นที่เราเห็นประโยชน์โดยเฉพาะกับคนทำงาน ที่อย่างไรก็ต้องประคองตัวให้ผ่านสถานการณ์เลวร้ายให้ได้ ไม่ว่าปัญหาจะเกิดระดับใด ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก แนวทางเหล่านี้น่าจะมีประโยชน์ นำไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน หรือที่บ้านค่ะ
1. สติ สติ สติ
เมื่อเจอปัญหา เมื่อมีเรื่องคาใจ เมื่อไม่ได้ดั่งหวัง เมื่อโมโห อารมณ์พาลพาโลมักเบิกบาน ขานรับตัว
“อัตตา”
ฉันว่าฉัน
“ถูก”
ก็บอกแล้วว่าเธอ
“ผิด”
ทำให้หงุดหงิดเพิ่ม เติมเชื้อไฟ โหมให้ปัญหาเล็กเป็นใหญ่ ปัญหาที่ใหญ่อยู่แล้วยิ่งใหญ่ขึ้น จนยากที่จะยุติ การตั้งสติ หยุด สยบความฟุ้งซ่าน ลดความพลุ่งพล่าน โดยวิธีที่แต่ละท่านถนัด จะเป็นหัวใจในการสกัดการลุกลามของปัญหา โดยเฉพาะในส่วนที่เราเข้าไปมีเอี่ยว
เรา "หยุด" ก่อน ... เก๋ ออกค่ะ
2. แยกแยะว่าปัจจัยใดเราควบคุมได้ ปัจจัยใดคุมไม่ได้ แล้วมุ่งเน้นปรับสิ่งที่เราคุมได้
บางครั้งเราก็หลงทาง หลงทิศ ปล่อยให้ประเด็นที่เราคุมไม่ได้มาสะกิดใจบ่อย ปล่อยให้ตัวเองหมกมุ่นไปกับสิ่งที่เราปรับเปลี่ยนไม่ได้ เสียเวลา เสียสมอง เสียสติ
หากตรองใหม่ อาจได้มุมเด็ดว่า เอาเวลาไปใช้ในเรื่องที่เราแก้ได้น่าจะดีกว่ามาก ...จนถึงมากที่สุด
ตัวอย่างเช่น หัวหน้างานจะใส่เสื้อสีอะไร อย่าเพิ่งเปลืองเวลายามนี้ไปชี้ให้ท่านเปลี่ยน
สู้เอาเวลามานั่งทำสมาธิ มานั่งปรับสติ มาหาข้อมูล มาปรับวิธีการทำงานให้สอดรับกับปัญหา เน้นในส่วนที่เราทำได้ อยู่ในอำนาจเราในการปรับการแก้ เพื่อให้สถานการณ์ผ่อนหนักเป็นเบา...เข้าท่ากว่ามาก
3. ลด ละ เลิกพฤติกรรมที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
ในชีวิตประจำวัน หรือชีวิตการทำงาน ท่านผู้อ่านคงเคยคุ้นกับพฤติกรรมต่างๆ ที่ใครๆ เคยทำกับเรา (หรือเราก็เผลอตัวทำกับชาวบ้านบ้างเป็นครั้งคราว) ที่นอกจากไม่เป็นประโยชน์กับใคร หรือสถานการณ์ใดๆ แล้ว ยังก่อให้เกิดความคุกรุ่น ก่อให้เกิดฝุ่นในใจ ระคายเคือง ทำให้มีเรื่องมีราวกันอีก
สิ่งที่พบบ่อย คือ วาจาคารมที่เชือดเฉือน ยอกย้อน
พฤติกรรมเช่นนี้ มีอาทิ การตอกย้ำให้ช้ำใจในเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เรื่องที่อย่างไรก็แก้ไม่ได้เพราะเป็นอดีต
.
. พี่บอกแล้ว-ว บอกตั้งหลายที ไม่เชื่อ-อ
... เตือนแล้วไม่ฟัง ... แล้วไง !
.. ใช้อวัยวะส่วนไหนคิด ถึงทำผิดได้ขนาดนี้ !
ไม่ต้องแปลกใจว่าการให้
“คำแนะนำ”
แบบ
“หวังดี”
(แต่ประสงค์ร้ายซ้ำซาก) เช่นนี้ไม่มีใครอยากฟัง และจะมีส่วนฝังเชื้อร้ายในใจผู้รับฟัง ไม่ว่าจะเป็นความเสียใจเป็นอย่างต่ำ ยิ่งพูดซ้ำๆ ยิ่งน้อยใจ แคลงใจ แค้นใจ ไล่ไปถึง ... 10 ปีไม่สาย ฉันจำได้ อย่าพลาดบ้างแล้วกัน !
4. มุ่งอนาคต
ถามตัวเองและทีมงานว่าเราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง
เอาความผิด ความพลาด เป็นปราชญ์ เป็นครู เรียนรู้จากเขา แต่เลิกเฝ้าย้ำคิดย้ำทำ จ้ำจี้จ้ำไช
ไม่โหดร้ายกับตัวเองเกินเหตุว่าผิดได้อย่างไร ให้ใจห่อเหี่ยว ... สี่เท้ายังรู้พลาดไงคะ
ขณะเดียวกัน ก็ไม่โหดร้ายกับใครๆ รอบข้าง เที่ยวชี้นิ้วไปทั่วว่าคุณมั่ว เธอผิด โดยยึดติดกับอดีต ตอกย้ำความพลาดที่ทั้งชาติก็กลับไปแก้ไม่ได้ เพราะเกิดไปแล้ว ดังกล่าวข้างต้น
ดังนั้น เวลาที่มี ควรใช้ในการแก้ปัญหาปัจจุบัน ตลอดจนกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบเดิมๆ เกิดอีก ผิดเป็นครูก็ใช่ แต่ถ้าต้องอ้างถึงครูบ่อยๆ ก็ไม่ค่อยงาม
ใช้ครูเปลืองในเรื่องเดิมๆ ผิดเรื่องซ้ำๆ ... อย่าทำดีกว่า
ยามเกิดปัญหา ไม่ว่าใหญ่ ไม่ว่าเล็ก เรามักทึกทัก ชี้นิ้วว่าคนโน้นทำผิด คนนู้นทำพลาด
ความผิดคนอื่นเท่าขุนเขา ความผิดเรา (หากมี) เท่าเส้นผม (จึงไม่นับ)
กระนั้นก็ดี ทุกครั้งที่เราชี้นิ้วไปที่ผู้อื่น กรุณาสังเกตว่า ทั้งนิ้วก้อย นิ้วนาง นิ้วกลางของเรา ชี้กลับมาที่เราเสมอค่ะ
"7 นิสัยเพื่อคิดบวก"
เริ่มจากข้อแรก "ต้องมีความรักในสิ่งที่ทำ"
พลังของความรัก เพราะหากภายในจิตใจของเรามีความรักในสิ่งที่ทำ และพอใจกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ โอกาสที่จะสำเร็จก็จะมีมากกว่าครึ่งหนึ่ง ยิ่งเราทำอะไรแล้วรู้สึกมีความสุข ก็ยังสามารถแบ่งปันความรู้สึกของเราที่มีต่อคนอื่นได้อีกด้วย
เชื่อว่าความสุขก็เหมือนโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับหวัด เวลาที่เราจามก็จะแพร่เชื้อหวัดให้ทุกคนรอบข้าง ความสุขก็มีโอกาสแพร่ขยายและทำให้คนรอบข้างที่ทำงานกับเรามีความสุขได้เช่นกัน พื้นฐานของความสุขจึงต้องมาจากความรักต่อสิ่งที่มี สิ่งที่ทำ และสภาพแวดล้อมที่อยู่
ข้อสอง ต้อง "มีทัศนคติเชิงบวก" หรือ Positive Thinking คือ
คิดอยู่เสมอว่าพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ และวันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน ซึ่ง
Positive Thinking
จะช่วยให้เรามีความสามารถที่จะชนะตัวเองในสิ่งที่เป็นจุดอ่อน จุดด้อยของตัวเอง ต้องสร้างให้ตัวเองมีนิสัยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นดีขึ้น
ชีวิตทุกวันนี้เราคิดว่าเหมือนอยู่ในฮูลาฮูป ที่หมุนไปหมุนมา รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นสิ่งเก่าๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เมื่อวานจะไม่มีวันเหมือนวันนี้ ปีที่แล้ว ก็ไม่มีวันเหมือนปีนี้ ถ้าเราสามารถคิดบวกเสมอ ก็จะสะท้อนการกระทำของเรา และทำให้เราอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นใดก็แล้วแต่ ก็จะมีความสุข และความสุขจะทำให้เราประสบความสำเร็จ
การสร้างอุปนิสัยที่ดี ก็คือ การทำซ้ำ หรือ repeat การกระทำที่ครั้งแล้วครั้งเล่าให้กลายเป็นนิสัย ถ้าเราคิดว่าในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ ก็จะหาได้ว่าโอกาสอยู่ที่ไหนบ้าง
ข้อที่สาม “มีความสามารถที่จะท้าทายตัวเองเสมอ”
และกล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งถ้าเรามีนิสัยเหล่านี้ติดตัว ก็ย่อมรู้สึกว่าชีวิตของเรามีเนื้อหาสาระ มีชีวิตที่จะชนะและประสบความสำเร็จ แล้วโอกาสก็จะมีเข้ามาหาเราตลอด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจับได้หรือไม่
ในชีวิตหนึ่งเรามีโอกาสเห็นสิ่งต่างๆ มากมาย เห็น ดอกไม้ผลิดอก เริ่มบานและร่วงโรย สภาพแวดล้อมจึงเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่ขึ้นกับว่าเรารู้จักสนุกกับมันหรือไม่ และรู้จักท้าทายและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อแสวงหาความสำเร็จในอนาคตได้หรือไม่
ข้อที่สี่คือ “ความเอาจริงเอาจัง”
ซึ่งเป็นกลไกหลักในการเพิ่มพลังแก่งานที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม และที่สำคัญยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ร่วมงานเกิดพลังขึ้นตามไปด้วย ตรงกันข้ามกันคนที่ไม่ตั้งใจ ที่มักจะไม่กล้าสู้อุปสรรค ปฏิเสธตัวเอง และหวาดหวั่นต่อสภาพแวดล้อม
การจะฝึกตัวเองให้เอาจริงเอาจังกับหน้าที่การงาน มักเริ่มต้นจากการสร้างนิสัยสนใจใฝ่รู้ให้เกิดขึ้นก่อน เพราะการใฝ่รู้จะทำให้เราสนใจกระบวนการทำงาน และอยากทำให้ทุกอย่างดีขึ้น จากไม่รู้เป็นรู้ และจากรู้ก็จะเป็นความเชี่ยวชาญมากขึ้น สะสมเพิ่มพูนไปสู่ความเป็นสุดยอด
ข้อห้า “ต้องมีเป้าหมายของการเรียนรู้”
เพราะจะทำให้เราอยากเรียนรู้ เราจึงต้องรู้จักฝึกฝนตัวเอง และหาวิธีคิดว่าวิธีไหนที่จะทำให้เรามีความสามารถมากขึ้น ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด คือการเรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จมาก่อน
ที่ต้องศึกษาคือหาเหตุผลที่เขาประสบความสำเร็จว่าคืออะไร และยึดข้อนั้นไว้และทำตามให้ดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีความเป็นตัวเราด้วย การเรียนรู้จากผู้อื่นจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราขาดไม่ได้ และการเรียนรู้จากประสบการณ์ผู้อื่นจะทำให้มีแรงผลักดัน ว่าเมื่อเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้เช่นกัน
ข้อที่หก “ต้องรู้จักทบทวนตัวเอง”
ต้องบังคับตัวเองว่า การทำอะไรก็แล้วแต่ความรับผิดชอบย่อมอยู่ที่ตัวเราเป็นหลัก เพราะปกติเมื่อความล้มเหลวเกิดขึ้นคนส่วนใหญ่มักจะโทษผู้อื่น หรือไม่ก็เป็นสภาวะแวดล้อม ซึ่งต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ซึ่งเราต้องรู้จักสร้างนิสัยในการรับผิดชอบให้ได้ และต้องคิดเสมอว่าความล้มเหลว เกิดขึ้นจากการกระทำของเราเป็นหลัก
และข้อสุดท้าย “รู้จักผ่อนคลาย”
เพราะความล้มเหลวที่เกิดขึ้น แม้ว่าเราจะทำทุกอย่างอย่างเต็มที่แล้ว ก็ต้องรู้จักที่จะยอมรับความล้มเหลวและต้องผ่อนคลายความกดดันนั้นให้ได้ อย่าคิดมากหรือเก็บความกดดันนั้นไว้คนเดียวโดยไม่คิดระบายออก
เพราะการเคร่งเครียดและสะสมความกดดันไว้เรื่อยๆ จะทำให้ปัญหาสะสม จนถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการแก้ปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความล้าและไม่มีกำลังที่จะเอาชนะปัญหานั้นๆ ได้
ทั้งเจ็ดข้อนี้น่าจะเป็นข้อคิดส่วนหนึ่งที่จะเสริมให้กับผู้ที่อยู่ในวังวน ที่รู้สึกว่าหาทางออกไม่ได้ ซึ่งภาษิตจีนโบราณสอนไว้ว่า 360 อาชีพ ทุกอาชีพย่อมมีที่ 1 ซึ่งหมายถึง เรายังมีทางเลือกมากมายที่จะเดินไปสู่ความเป็นที่หนึ่งได้
Fwd.
บทความใหม่กว่า
บทความที่เก่ากว่า
หน้าแรก
1
2
Wish You Happinessss
Success is not the key to happiness.
Happiness is the key to success.
If you love what you are doing,
you will be successful.
~ Albert Schweitzer ~
Wish You Happinessss