1
2

อย่าคิดแบบตัดสิทธิ์ตัวเอง






อย่าคิดแบบตัดสิทธิ์ตัวเอง
วิธีคิด เพื่อโอกาสดีๆ ไม่ต้องมาเสียดายทีหลัง
โดย หนูดี วนิษา เรซ

"หนูดี" วนิษา เรซ แนะทุกคนควรให้โอกาสตัวเอง ด้วยการฝึกการคิดแบบ "ไม่ตัดสิทธิ์ตัวเอง" จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดาย "สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ"



หนูดีเล่าว่า มีน้องมัธยม 1 คนหนึ่ง ซึ่งตอนที่น้องสอบเข้าโรงเรียนดีแห่งหนึ่งได้แล้ว แต่เข้าได้โปรแกรมธรรมดา เมื่ือน้องเห็นโปรแกรม "กิฟต์เต็ด" หรือ เด็กเก่งพิเศษเปิดรับสมัคร น้องก็อยากไปสอบด้วย เพราะคิดว่า หากเรียนโปรแกรมพิเศษนี้ต้องดีกว่าแน่ๆ แต่ปัญหาคือ การสอบเข้ายากกว่าโปรแกรมธรรมดาหลายเท่าตัว อีกทั้งคนรอบข้างทั้งพ่อแม่ คุณครู ต่างก็ห้ามเพราะคิดว่าสอบก็เข้าไม่ได้

มีเพียงตัวน้องเองเท่านั้นที่คิดว่า "ทำไมต้องตัดสิทธิ์ตัวเอง ก็ลองไปสอบดู ได้ไม่ได้จะได้รู้กัน ไม่ไปสอบ ก็สิทธิเท่ากับศูนย์" เมื่อผลประกาศออกมา น้องก็สอบเข้าได้ และตอนนี้ น้องก็เรียนมัธยม 1 ในโปรแกรมนี้สมใจ

หนูดีอยากจะบอกน้องเหลือเกินว่า สิ่งที่น้องคิดและทำด้วยสมองเด็กประถม 6 นั้น เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายๆ คนยังไม่คิดและทำไม่ได้ ...อย่างน่าเสียดาย

หนูดีได้ยินนับครั้งไม่ถ้วน ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า "เสียดายจังเลย ตอนอายุน้อยกว่านี้น่าจะเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ไม่อย่างนั้นตอนนี้ก็รวยไปแล้ว ไม่ต้องเป็นลูกจ้าง" หรือคนที่บ่นว่าอยากเป็นนักเขียน แต่ไม่เริ่มเขียนสักที คนที่บ่นว่าอยากเป็นนักร้อง นักดนตรี แต่ไม่ลงมือเรียนไม่ลงมือทำ ฯลฯ



เรามีมากมาย คนที่ "คิดแบบตัดสิทธิ์ตัวเอง" คือคิดว่า ถึงทำไปอย่างไรก็ไม่ได้ ดังนั้น จะขยับตัวให้เหนื่อยไปทำไม ปัญหาคือ เราแน่ใจ 100% ไหมว่า ไม่ได้ เพราะถ้าไม่แน่ใจถึงขนาดนั้น อย่างไร เราก็ควรลองทำดูหากมันสำคัญกับชีวิตเรามากๆ จะได้ไม่ย้อนมาเสียดายหรือเสียใจในภายหลัง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากในวัยสนธยาก็คือ พวกเขามักย้อนมาเสียดาย "สิ่งที่ไม่ได้ทำ" มากกว่าเสียดายสิ่งที่ทำลงไปแล้ว

หนูดีเคยมีพี่ชายคนหนึ่งที่รู้จักกันหลังจากหนูดีเรียนจบปริญญาโทที่ฮาร์วาร์ด พี่บอกกับหนูดีว่า มาเห็นหนูดีเรียนจบฮาร์วาร์ดแล้วพี่เสียดายตัวเอง หนูดีเลยงง พี่บอกว่าความเก่งของเราสองคนคงไม่ต่างกัน หนูดีกล้าสมัครแต่พี่ไม่กล้า ถ้าตอนเรียนจบพี่กล้าสมัคร ป่านนี้ พี่ก็จบฮาร์วาร์ดไปแล้ว

ฟังเสียงพี่เขาแล้ว ดูเซ็งจริงๆ ค่ะ หนูดีฟังแล้วก็เซ็งแทนคือ ความกล้าไม่กล้าเมื่ออายุน้อยๆ มันกำหนดประวัติศาสตร์ชีวิตเราไปตลอดเลยนะคะ เพราะเราคงย้อนเวลากลับไปตอนอายุ 18 แล้วตัดสินใจแบบตอนนั้นอีกไม่ได้ คนเราพอทำงานมีครอบครัวแล้ว มันย้อนกลับไปเรียนต่อได้ยากจริงๆ ดังนั้น ในวัยที่ต้องตัดสินใจ เราควรฝึกการคิดแบบ "ไม่ตัดสิทธิ์ตัวเอง"

ในโลกใบนี้ มีคนพร้อมจะบอกเราว่า "ไม่" มากมายอยู่แล้ว แต่ในเรื่องที่ถูกต้อง เรื่องที่เป็นความก้าวหน้าในชีวิต ส่วนใหญ่เรื่องพวกนี้ถ้ามีคุณค่าจริง มักจะยากและมีคนแข่งขันกันมากมาย เราควรเป็นคนสุดท้ายในโลกที่จะตัดสิทธิ์ตัวเอง

จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ความกล้าหรือไม่กล้าด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องของสถิติง่ายๆ ที่หากเราไม่สมัคร ไม่ไปสอบ ไม่ไปคัดเลือก ไม่ไปแข่งกับเขา โอกาสก็เท่ากับ 0% แต่หากเราเอาตัวไปตรงนั้นไปลองสู้ดูสักตั้ง โอกาสอาจเป็น 50/50 หรือ อาจมีโอกาสแค่ 1% แต่ก็ยังมากกว่า 0%

หนูดีเองเคยกลัวเช่นกัน ไม่กล้าสมัครเข้าโปรแกรมปริญญาโทที่ฝันไว้เพราะคิดว่ามันสุดเอื้อม แต่อย่างไรก็ไม่ทราบ อะไรในตัวบอกให้โทรไปหาที่โปรแกรมในฝันนั้นเลย หาเบอร์ในเน็ตแล้วโทรไปคุย ไม่ได้รู้จักใครสักคน มีพนักงานปลายสายบอกว่าให้ส่งใบสมัครมาเลย เพราะสิ่งที่เธอควรทำคือ เอาชื่อตัวเองโยนลงมาในหมวก คณะกรรมการจะได้เลือกได้ แต่ถ้าเธอไม่โยนชื่อลงมา โอกาสก็เท่ากับศูนย์ หนูดีเห็นด้วย และนั่นเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

แล้ววันนี้คุณละคะ มีอะไรไหม ที่คิดว่า สุดเอื้อมและไม่กล้าลงมือทำ อย่าลืมว่าเราควรเป็นคนสุดท้ายในโลกที่คิดแบบตัดสิทธิ์ตัวเอง

ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2556







1
2

Wish You Happinessss

Success is not the key to happiness. Happiness is the key to success. 
If you love what you are doing, you will be successful. 

~ Albert Schweitzer ~

 คัมภีร์ 5 ห่วง  วิถีแห่ง "ซามูไร" วิถีแห่งนักรบ "บูชิโด"   แนวคิดของตัวเม่น   GOOD LUCK สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความสำเร็จ ในชีวิตและธุรกิจด้วยตัวคุณเอง    Why complicate life ?   3 x 8 = เท่าไหร่ ?????   "ฉันชื่อ..โอกาส"

Wish You Happinessss