ทะเลใจ
"นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ"
นกนั้นมองไม่เห็นท้องฟ้า เพราะมันบินอยู่บนฟ้า และเป็นส่วน หนึ่งของท้องฟ้า
ปลานั้นมองไม่เห็นน้ำ เพราะมันว่ายอยู่ในน้ำ และเป็นส่วนหนึ่ง ของท้องน้ำ
มนุษย์นั้นสามารถมองเห็นทั้งท้องฟ้า และผืนน้ำ เพราะมนุษย์ ยืนอยู่บนพื้นดิน
อารมณ์ที่อ่านได้ยาก มีคำกล่าวว่า "นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ"
เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะความเคยชินกับสิ่งที่อยู่กับเราตลอดเวลา ทำให้เราไม่สามารถมองเห็น ความแตกต่าง ระหว่าง สิ่งนั้น โดยการเปรียบเทียบ กับสิ่งอื่นๆ ได้อย่างกระจ่างชัด
ฉะนั้นจึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เราสัมผัสพบเห็นทุกวัน จากในมุมมองอื่น ดังเช่นที่คนอื่นมองเห็น
เมื่อนกบินอยู่บนท้องฟ้าทุกวัน ก็จะมองไม่เห็น ฟ้า
ในความหมายของท้องฟ้า ลักษณะเดียวกับที่มนุษย์ บนพื้นดิน มองเห็น
ปลาที่อยู่ในน้ำตลอดเวลาก็เช่นเดียวกัน จะมองไม่เห็น น้ำ
ในความหมาย แบบเดียวกับที่สัตว์บนบก มองเห็นผืนน้ำนั้นๆ
อารมณ์ เป็นสิ่งที่ยากจะมองเห็นได้ชัดเจนเฉกเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นอารมณ์ที่สร้างความ บีบคั้นเป็นทุกข์ อย่างมากมาย ให้แก่เราก็ตาม
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การจะเห็นทุกข์ให้ละเอียดนั้น เป็นเรื่องยากมาก ทั้งนี้เนื่องจาก เรามักจะชาชินอยู่กับอารมณ์ แห่งความบีบคั้นเป็นทุกข์ ดังกล่าว จนเห็นเป็นเรื่องปรกติ
เมื่ออ่านอารมณ์ของตัวเอง ไม่ออก และมองไม่เห็นว่านั่นเป็นความทุกข์ เราก็จะไม่คิดพยายาม หาทางปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้พ้นจาก ภาวะความบีบคั้น เป็นทุกข์นั้น อย่างจริงจัง
บางคนเป็นทุกข์มาก ทั้งที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ก็รู้สึกว่า ตัวเองยังมีไม่มากเพียงพอ เพราะเอาตัวเอง ไปเปรียบเทียบ กับคนที่เขามีมากกว่า เมื่อใจปรารถนา อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง ให้มากกว่านี้ แล้วไม่ได้ดังใจปรารถนา
อารมณ์ที่เป็นภาวะบีบคั้นเป็นทุกข์ในจิตใจ ลักษณะเช่นเดียวกับ ที่เกิดขึ้นกับยาจก ก็จะปรากฏกับเศรษฐีผู้นั้นได้ ส่งผลให้ หน้าตา บูดบึ้งตึงเครียด ไม่เบิกบาน โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย ไม่มีความสุข ฯลฯ
เมื่ออ่านอารมณ์ไม่ออก ว่านั่นเป็นความ ทุกข์
บุคคลผู้นั้น ก็จะจมปลักอยู่กับความทุกข์ตลอดไป
สาเหตุที่ทำให้ไม่คิดหาวิธีแก้ไข ก็เพราะถึงแม้อารมณ์ทุกข์ จะเป็นภาวะที่ทนได้ยาก แต่เราก็มักจะสามารถ หาสิ่งมากลบเกลื่อน บดบังความทุกข์ อาทิ อบายมุข สิ่งเสพติดต่างๆ ตลอดจน กลไกป้องกันตัวเองทางจิต (defence mechanism) เพื่อช่วยบรรเทา ความทุกข์ได้เป็นครั้งคราว
จนมีภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ในระดับที่เราพอจะทนต่อไปได้ ก็เลยไม่คิดหาวิธี ทำให้ตัวเองเป็น อิสระ จากความทุกข์ ให้มากยิ่งขึ้นกว่านี้
ต่อเมื่อทุกข์ถึงขีดสุดจนทนต่อไปได้ยาก บางทีค่อยรู้สึกตัว และคิดหาทางแก้ทุกข์ อาจจะโดยการเข้าหาหลักธรรม ทางศาสนาบ้าง เสพยาเสพติด หรือกินเหล้า เมายา เพื่อให้ลืมความทุกข์นั้นๆ บ้าง หรือสุดท้ายก็อาจใช้วิธีฆ่าตัวตาย เพื่อหนีทุกข์ เป็นต้น
สำหรับในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนให้วิเคราะห์ต่อไป ถึงสาเหตุของอารมณ์บีบคั้น เป็นทุกข์ดังกล่าว เพื่อแก้ที่ รากฐาน ของต้นเหตุ และชี้ให้เห็นว่า ความทุกข์ต่างๆ เกิดขึ้นจาก
"ความพลัดพราก จากสิ่งที่เป็นที่รัก ที่พอใจเป็นทุกข์
ความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ที่พอใจเป็นทุกข์
มีความปรารถนา สิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์
ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์"
ถ้าสามารถลดกิเลสตัณหา อุปาทาน ที่เป็นความต้องการ
ส่วนเกินจำเป็นของชีวิตให้บรรเทา ลดน้อยลงได้เท่าไร
ก็จะทำให้โอกาส ของการพลัดพรากจาก "สิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ" มีน้อยลง
โอกาสที่จะประสบกับ "สิ่งอันไม่เป็นที่รัก ที่พอใจ" ก็มีน้อยลง
ตลอดจนโอกาสของการ มีความ "ปรารถนาสิ่งใด" แล้วไม่ได้สิ่งนั้นๆ ก็มีลดน้อยลงเป็นลำดับ
ส่งผลทำให้ ความทุกข์ ลดน้อยลง โดยปริยายในที่สุด
ฟังดูเหมือนทำไม่ยาก แต่ อันที่จริงด่านแรกที่ยากที่สุดก็คือ เรามักจะอ่านอารมณ์ของตัวเอง ไม่ออกว่า "นั่นเป็น ความทุกข์" เมื่อมองไม่เห็นความจริง ตามความเป็นจริงว่าเป็น ทุกข์ ก็เกิดความ ขี้เกียจ ที่จะหาทางปรับปรุงแก้ไข
ด้วยเหตุนี้ การได้มีโอกาสสัมผัสคบคุ้นกับคนที่สามารถ ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ จากภาวะบีบคั้น เป็นทุกข์ได้แล้ว จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะช่วยเปรียบเทียบ ทำให้เราสามารถมองเห็น อารมณ์ทุกข์ได้ กระจ่างชัดยิ่งขึ้น
เหมือนนกถ้าสามารถพูดได้ และคบคุ้นกับมนุษย์บนพื้นดิน
การติดต่อพูดคุยกัน จะช่วยให้ นกเข้าใจ ท้องฟ้า ในมิติใหม่
ที่แตกต่างจาก ท้องฟ้า ตามที่ตัวเองเคยเข้าใจ
หรือเหมือนปลาถ้าพูดได้และคบคุ้นกับสัตว์บนบก
การติดต่อสัมผัสสัมพันธ์กัน ก็จะช่วยให้ปลาเข้าใจ น้ำ ในมิติใหม่
ที่แตกต่างจาก ท้องน้ำ ตามที่ตัวเองเคย เข้าใจ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความมีมิตรดี สหายดี สภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ ตลอดจนการได้คบสัตบุรุษ และการได้ฟัง สัทธรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่นำไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณ ให้เป็นอิสระจากความทุกข์
ทั้งนี้เพราะการได้ติดต่อคบ-คุ้นกับกัลยาณมิตรที่เบาบางจากความทุกข์ดังกล่าว จะช่วยให้เรามีโอกาส เปรียบเทียบ และเรียนรู้ ทุกข์ ในมิติที่ละเอียดยิ่งขึ้น เหมือนนกหรือปลา ที่จะไม่มีโอกาสได้รู้จัก ท้องฟ้าหรือท้องน้ำ ในมิติที่ ไม่เคยรับรู้ มาก่อน
การเห็นทุกข์ และการอ่านอารมณ์ทุกข์ได้กระจ่างขึ้น
ก็คือการเข้าถึงอริยสัจข้อแรก อันคือทุกข์
อริยสัจ ที่จะนำไป สู่การเข้าใจ อริยสัจ ข้ออื่นๆ ต่อไป
คนที่ได้ขัดเกลาจิตใจจนเป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลสตัณหาอุปาทาน ในระดับหยาบๆ ได้แล้ว ความทุกข์ก็จะ เบาบางลง ทำให้สามารถ ทนกับอารมณ์ทุกข์ ที่เบาบาง ดังกล่าวได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ความขี้เกียจ ที่จะพัฒนา ตัวเองต่อไป ก็จะเกิดขึ้น
เนื่องจากความชาชินกับอารมณ์ที่เบาบางจากความทุกข์นั้นๆ จะทำให้มองไม่เห็นทุกข์ ในมิติใหม่ที่ละเอียด ยิ่งกว่าเดิม กรณีเช่นนี้ จึงยิ่งต้องอาศัย กัลยาณมิตร เป็นตัวช่วยสะท้อน ให้เราเห็นทุกข์ ในระดับที่ละเอียดขึ้น จากการเปรียบเทียบ กับภาวะความอิสระ ว่างเบา ของคนที่เราได้สัมผัส พบเห็นดังกล่าว
พระพุทธเจ้าจึงทรงชี้ให้เห็นว่า การมีกัลยาณมิตร ไม่เพียงแต่จะช่วยชี้แนะ การประพฤติปฏิบัติธรรม ในขั้นต้นเท่านั้น แต่ยังมีคุณูปการ ต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ในขั้นกลาง และขั้นปลายด้วย จนถือเป็นทั้งหมดทั้งสิ้น ของพรหมจรรย์ เลยทีเดียว
มองในแง่นี้ การจะอ่านอารมณ์ที่เป็นทุกข์อริยสัจให้ละเอียด จึงไม่ใช่การหลีกเร้น ไปอยู่ในที่สงบสงัด เพื่อจะได้มีสมาธิ ในการอ่านอารมณ์ของตัวเอง ตรงข้าม กลับจะต้องอยู่ในท่ามกลาง สภาพสังคมสิ่งแวดล้อม ที่ประกอบด้วยมิตรดี สหายดี จึงจะสามารถ มองเห็นอารมณ์ ที่เป็นทุกข์อริยสัจนั้นๆ ได้กระจ่างชัดขึ้น
(หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๕ หน้า ๒๔-๒๙)
|