เปาวลี - นักร้องบ้านนอก Ost.พุ่มพวง
ปากเกร็ด โมเดล..
เมื่อ "มวลชน" ปะทะ "มวลน้ำ"
โดย : ปานใจ ปิ่นจินดา
สำรวจระบบ "รบกับน้ำ" ตำรับปากเกร็ด ที่ไม่ต้องหาทฤษฎีมายัน แต่พิสูจน์แล้วเห็นผล (เกือบ)จริง ด้วยพื้นที่แห้งเกือบ100%
หัวข้อไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่อยู่ในความสนใจและสงสัยของใครหลายคน ว่าด้วยความอยู่รอดของอำเภอ "ปากเกร็ด" จังหวัดนนทบุรี กับการหักปากกาเซียนที่หลายสำนักฟันธงว่าไม่พ้นการเป็นเมืองบาดาลแน่ แต่กลับยังมีพื้นที่แห้งอยู่มากถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
..บ้างออกอาการงง เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่า ปากเกร็ด "ส่วนใหญ่" ยังแห้ง
..บ้างออกอาการเม้าท์ ว่า ที่แห้งได้ก็เพราะเงิน "อัดฉีด" ร่วม 20 ล้านจากเอกชนรายหนึ่ง
..บ้างออกอาการลือ ว่า ผู้ใหญ่ของเทศบาลได้รับโทรศัพท์ลึกลับ ขอให้ "ปล่อยน้ำ" เข้าเมือง เพื่อกันรัฐบาลเสียหน้า
แต่ไม่ว่าสิ่งที่ลือหรือเม้าท์จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ความน่าสนใจของ "ปากเกร็ด โมเดล" ก็ยังคงมีอยู่ในฐานะ "ไข่แดง" ที่ยังแห้งสนิทจนวันนี้
นักร้องบ้านนอก - พุ่มพวง ดวงจันทร์
... เมื่อสุริยน ย่ำ สนธยา
หมู่นกกาก็บินมา สู่รัง
ให้มาคิดถึง ท้องทุ่งนา เสียจัง
ป่านฉะนี้ คงคอยหวัง
เมื่อไหร่จะกลับ บ้านนา...
ครวญเพลงของราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่ดังออกจาก เสียงตามสาย ได้ยินโดยทั่วกันภายใน ชุมชนปากเกร็ดร่วมใจ 3 ที่ในยามปกติชาวบ้านอาจรื่นรมย์ไปกับบทเพลงอมตะ
แต่ในยามที่ย่านปากเกร็ดยังเต็มไปด้วยความตึงเครียดจากมวลน้ำเช่นนี้ บรรยากาศจึงตรงกันข้าม เพราะยังไม่ทันสิ้นเสียงเพลง ก็ปรากฏความเคลื่อนไหวของผู้คนในชุมชนที่ออกจากบ้านไป "สู้กับน้ำ" อย่างกระตือรือร้น
"เวลาแจ้งเหตุ บ้านแตก กำแพงพัง กระสอบล้ม ก็เปิดเพลงพุ่มพวงนี่แหละครับ ที่รู้กันว่า เราระดมคน" สุเทพ แก้วพลอย ประธานชุมชนปากเกร็ดร่วมใจ 3 เล่า
สาเหตุที่เลือกใช้วิธีเปิดเพลงแทนการให้โฆษกประกาศเรียกระดมคนแบบทั่วไปว่า เพื่อไม่ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือ คนป่วยที่สุขภาพอ่อนแอตื่นตกใจ
Too Much So Much Very Much (Official Music Video)
ไม่ได้แค่เปิดเพลงแจ้งเหตุด่วนเท่านั้น เหตุดีๆ อย่างเช่น รวมตัวชาวบ้านมารับของบริจาค ก็มีเพลง "too much so much very much" ของ "พี่เบิร์ด" มาเปิดเหมือนกัน
..แม้ต้องรับสภาพน้ำท่วมอกมานานเดือนเศษ แต่ภารกิจรักษา คันกั้นน้ำ "ออก" (จากบ้านตัวเอง) ยังคงเป็นไปอย่างขันแข็ง
..แม้รู้ว่าถึงจะรักษาคันดินได้ดีขนาดไหน บ้านของพวกเขาก็จะไม่ได้ดีไปกว่าเดิม
..และแม้จะไม่ใช่หน้าที่ แต่ก็เป็นภารกิจสำคัญที่น้อยคนจะพลาด กระทั่งทานข้าวอยู่ก็ยังวางช้อนวางจานทิ้งสำรับตรงหน้า เพื่อย่ำน้ำไปยัง "จุดนัดพบ" ปฏิบัติภารกิจ "รบกับน้ำ"
ความร่วมมือของชาวบ้านชุมชนนี้ ไม่ใช่แค่ยอมเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่ยังตั้งใจรักษาคันกั้นน้ำไม่ให้ออกไปเพ่นพ่านในเมืองด้วย
ตลอด 24 ชั่วโมง จุดไหนรั่ว จุดไหนซึม "หน่วยเคลื่อนที่เร็ว" ซึ่งเป็นอาสาสมัครในชุมชนจะประจำการอุดรอยโหว่อย่างขะมักเขม้น ก่อนจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศบาลเป็น "ก๊อกสอง" เข้าพื้นที่พร้อมรถบรรทุกดินภายใน 10-20 นาทีหลังได้รับแจ้งเหตุ
ก่อนหน้านั้น 2 เดือน ชาวบ้านที่นี่ก็เตรียมพร้อมโดยมีอาสาสมัครราว 400-500 คน ที่ทำงานกันคล้ายกับกองทัพมด ช่วยกันขนและเรียงกระสอบทรายจากรถสิบล้อเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่นาน
"จากสิบล้อ เหมือนเป็นแค่รถปิคอัพเลยครับ" สุเทพ เปรียบความหนักของงาน เมื่อได้แรงงานครึ่งพันเข้ามาช่วย เรื่องหนักก็เลยเบาลงไปกว่าค่อน
"ชาวบ้านดีใจแล้วก็ภูมิใจมากที่ได้ช่วยให้น้ำไม่เข้าเมือง ช่วยกันทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้น้ำขึ้นถนน บ้านริมน้ำไม่ว่าจะรวยหรือจน บ้านผู้พิพากษา บ้านนายพล บ้านลูกส.ส. ก็จมน้ำเหมือนๆ กัน เพราะทุกคนร่วมกันทำเพื่อส่วนรวม" ประธานชุมชนฯ กล่าวแทนลูกบ้านกว่า 3 พันชีวิต ตามทะเบียนราษฎร์ และ 5 พันชีวิตที่พักอาศัยอยู่จริง
ปากเกร็ด.. เอาอยู่
ก่อนจะช่วยไขความกระจ่างเบื้องหลังปฏิบัติการณ์หักปากกาเซียนของชาวปากเกร็ดครั้งนี้ คีย์แมนคนสำคัญอย่างนายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด วิชัย บรรดาศักดิ์ ซึ่งทุกวันนี้แทบจะกินนอนอยู่ที่เทศบาล ขอออกตัวว่า สถานการณ์ของปากเกร็ดยังไม่ถือว่า "รอด" แต่ยังต้องเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง
แม้จะตอบคำถามสื่อไปหลายสำนักแล้วว่า เทศบาลนครปากเกร็ด ได้เตรียมรับมือกับอุทกภัยล่วงหน้านาน 2 เดือน แต่ความจริงแล้ว นับตั้งแต่เขาได้เข้ามาบริหารงานเทศบาลเมื่อปี พ.ศ. 2535 แผนการสร้าง "เมืองป้องกันน้ำท่วม" ก็ถูกหอบติดมาด้วย
เริ่มจากสร้างถนนซอยวัดกู้ ที่ความสูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมปากเกร็ดเมื่อปี 2526 พร้อมกับวางระบบฝังท่อระบายน้ำเสร็จสรรพ หลังเห็นปัญหาว่าถนนส่วนใหญ่ที่มีอยู่เดิม ไม่ได้ฝังท่อระบายน้ำลงไป แต่เลือกทำคูเล็กๆ เพื่อระบายน้ำแทน แต่เมื่อเมืองขยาย ก็ทำให้คูคลองระบายน้ำถูกปิดบัง ทับถมไปหลายจุด จนระบายน้ำไม่สะดวกเหมือนก่อน
อย่าว่าแต่ถนนรุ่นเก่าอย่าง "ติวานนท์" ซึ่งไม่มีท่อระบายน้ำเลย แม้แต่ถนนรุ่นกลางอย่าง "แจ้งวัฒนะ" ก็ยังมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ เพราะถึงจะมีร่องระบายน้ำประมาณเมตรเศษ แต่ก็เต็มไปด้วยเส้นสายระโยงระยางของระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา เทเลคอม ฯลฯ ที่ถูกใส่ลงไปในภายหลัง ทำเอาขวางทางน้ำเสียเกือบหมด
"อย่าไปรอน้ำท่วม เอาแค่ฝนตกมาเนี่ย ยังระบายไม่ออกเลย" วิชัย เอ่ย
ผลจากการสร้างถนนสูง ชาวบ้านจึงพากันคัดค้าน ว่าขึ้นลงบ้านลำบาก แต่เมื่อปากเกร็ดต้องมาเจอกับมวลน้ำประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ.2538 แม้ขณะนั้นถนนจะยังสร้างไม่เสร็จ แต่ส่วนที่เรียบร้อยไปแล้ว ก็ช่วยทำหน้าที่เป็นคันกั้นน้ำให้กับชาวบ้านได้ เมื่อบวกเข้ากับการทำแนวกั้นน้ำต่อเนื่องไป ก็ช่วยให้ปากเกร็ดฝ่าวิกฤติปี 2538 ไปได้แบบท่วมบ้าง แห้งบ้าง
แต่ในภาพรวมแล้ว ถือว่าไอเดียนี้ "สอบผ่าน"
โจทย์ต่อมาสำหรับ นายกฯ วิชัย จึงมีอยู่ว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ที่เคยท่วม ไม่ต้องท่วมในครั้งต่อๆ ไป
..แผน "พนังกั้นน้ำ 100 ปี" จึงเกิดขึ้น บนสมมติฐานที่ว่า ถนนจะทรุดลงราว 5-10 เซนติเมตรทุกปี ฉะนั้นเทศบาลจึงพยายามแนวป้องกันหลังบ้านริมน้ำให้ได้ โดยจะสร้างถนนสูงหลังบ้านของชาวบ้านให้ชิดกับเจ้าพระยาให้มากที่สุด
สำหรับการเตรียมตัวป้องกันอุทกภัยปี 2554 นี้ เริ่มต้นขึ้นจากข้อสังเกตของปริมาณน้ำที่ระบายออกจากเขื่อน รวมทั้งทางน้ำ
"ถ้าปกติน้ำจะไหล 2,000 กว่าลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ถ้าถึง 3,900 นี่เริ่มวิกฤติแล้ว ต้องรีบเสริมคันแล้ว" นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ดเล่า
ก่อนที่ ไพศาล หอมเกตุ หัวหน้างานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครปากเกร็ด จะช่วยเสริมถึงแผนการป้องกันที่วางไว้สองแผนด้วยกัน
"แผนแรก" คือ เรียงกระสอบทรายหลายแสนลูก และก่อคันดิน ตลอดความยาวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ราว 8 กิโลเมตร และคอยเสริมความสูงอยู่ตลอดทุกครั้งที่ระดับน้ำขยับขึ้น อย่างต่ำ 10 เซนติเมตร
แม้แผนแรกจะดำเนินไปด้วยดี แต่ด้วยแรงกดดันของมวลน้ำ ซึ่งมุดใต้ดินออกไประเบิดขึ้นในแนวคันกั้นน้ำ อย่างเช่นที่เกิดกับ วัดกลางเกร็ด
นั่นจึงถึงเวลาของ "แผนสอง" สำหรับเหตุการณ์น้ำทะลัก ที่จะต้องรักษาพื้นที่ชั้นในไว้ให้ได้ ด้วยการจำยอมให้มีพื้นที่เปียกอยู่บ้าง
ในภายหลัง จึงเริ่มปรับแผน ปล่อยน้ำเข้าในพื้นที่บ้างเล็กน้อย เพื่อลดแรงกดดันของน้ำลง ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร
นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาจากชาวบ้านที่อยู่กับน้ำมาตลอด ตั้งแต่การเรียงกระสอบทราย การทำคันดินที่ต้องทำฐานให้กว้าง เสริมความแข็งแรงของฐานด้วยเสาเข็ม หมั่นเสริมคันไม่ให้ดินยุบ หรือถ้าปล่อยให้ดินแห้งเกินไปก็จะแตกได้ และต้องเสริมคันดินทุกๆ 2 วัน ไม่ว่าน้ำจะขึ้นหรือลง
"เรายังต้องบริหารน้ำด้วย อย่างคลองประปาปล่อยมา มีคลองบ้านใหม่ ลอดมาอีกคลอง บางทีก็ดันน้ำจากหลัก 6 เข้ามาพรวดเลย เราก็ต้องไปล็อกตรงนั้น ประตูก็ไม่มี แล้วตรงคลองบางพูดก็ไม่มี คลองบางตลาดก็ไม่มี เรามีคลองส่วยล็อกไว้อีกทีหนึ่ง พอน้ำเข้ามาก็ให้ลงคลองส่วย รีบดึงน้ำจากคลองส่วยผันออกไป มันก็วนกันอยู่อย่างนี้ ไม่อย่างนั้นน้ำจะเข้ามาเต็ม" นายกฯ วิชัย ยกตัวอย่าง
งบประมาณกว่า 100 ล้านแลกกับแนวคันดินสูง 3 เมตร ความยาว 50 กิโลเมตร พร้อมแผนงานที่เป็นระบบและรัดกุม ทำให้ปากเกร็ดยัง "รอด" และ "แห้ง" อยู่
"ถ้าเอาไม่อยู่ก็หมดไปเลยทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาล่ะครับ " เขายอมรับ
ถ้อยที มีน้ำใจ
พร้อมๆ กับการมุ่งป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน เทศบาลก็ต้องดำเนินแผนการเยียวยาพื้นที่รับน้ำไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ไม่ติดขัด
อย่าง ชาวชุมชนปากเกร็ดฯ 3 ที่ร้องขอแผ่นไม้มาทำสะพานทางเดิน ก็ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากเทศบาล จนวันนี้ สุเทพ บอกว่า มีทางเดินไปถึงหน้าบ้านของชาวบ้านเกือบครบทั้งพื้นที่แล้ว
"เราพยายามทำความเข้าใจพี่น้องริมน้ำ แต่เราก็ต้องพยายามช่วยเหลือเขาให้เต็มที่ ต้องการอะไรต้องหาให้ได้ คนข้างในมาเยียวยาคนข้างนอก ไม่ให้เกิดความเครียด ต้องการอะไรก็ให้หมด ไม่มีบริจาคก็ตั้งงบซื้อให้"
หรือในส่วนของภาคเอกชนเอง ก็รับรู้ความยากลำบากของบ้านที่ต้องจมน้ำ โดยพยายามเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งส่งข้าวส่งน้ำ กระทั่งเข้ามาช่วยเหลือตามแต่ชาวบ้านจะร้องขอ
แต่การเดินแนวทางการทำงานด้วย "หัวใจ" ทำให้บางครั้ง การปฏิบัติงานของเทศบาลมีอาการขลุกขลักอยู่บ้าง ไม่ใช่ว่า คันดินทุกที่จะได้รับการดูแลหรือรับประกันความปลอดภัยจากชาวบ้านเสมอไป
"บางที ชาวบ้านมาพังคันดิน ลูกน้องก็มาบอกผม ว่าไม่ไหวแล้ว พอซ่อมก็มาพังอีก ผมก็บอกใจเย็นๆ ก่อน ปล่อยเขาไป ถ้าเขาอยากรื้อก็ปล่อยไปก่อน ปรากฏว่า รื้อได้ไม่ทันไร โทรมาหาเทศบาลเองเลย บอกว่ามาอุดให้หน่อย เพราะน้ำมันไหลแรง จนบ้านสั่น" นายกฯ วิชัย เล่าขำๆ เพื่อยืนยันว่า ยอมๆ ไปบ้าง ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป คือ วิธีการที่น่าจะเหมาะสมสำหรับจัดการมวลชนยามนี้ ทั้งหมด ถือเป็น "สูตรสำเร็จ" ของปากเกร็ดโมเดล
http://bit.ly/vlvptR