ปลาทูนึ่ง Dr.Fuu
เมนู'ปลาทู'ใกล้ตัวอุดมโอเมก้า-3
‘โอเมก้า-3’ ชื่อนี้เป็นที่คุ้นหู ด้วยคนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นสารอาหารที่มีอยู่ในปลาทะเลน้ำลึก กินแล้วช่วยให้มีความจำที่ดี แม้เป็นความเข้าใจที่ไม่ผิด แต่ยังรู้กันไม่ครบ เหตุนี้เองผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายสาขาจึงรวมตัวกันเปิดตัว ‘โอเมก้า- อะคาเดมี เอเชีย’ ศูนย์ความรู้ออนไลน์เกี่ยวกับโอเมก้า-3 ไว้โดยเฉพาะ
บนเว็บไซต์ www.omega3academy.com/th เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาข้อมูลของโอเมก้า-3 ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ จากเนื้อหาที่อ่านเข้าใจง่าย
ซึ่ง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ และเลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลปิยะเวท ฝากเตือนผู้สนใจว่า หากขาดความรู้ที่ถูกต้อง การกินโอเมก้า-3 ทั้งที่มีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติหรืออาหารเสริม อาจส่งผลกระทบต่อการออกฤทธิ์ของยาที่กินเพื่อรักษาโรคอยู่ก็เป็นได้
สำหรับ ‘โอเมก้า-3’ ชื่อเต็มๆ คือ กรดไขมันโอเมก้า-3 สายโซ่ยาว
ประกอบด้วยกรดไขมันสี่ชนิด คือ DHA DPA EPA ซึ่งมีเฉพาะในปลาที่มีน้ำมันมาก และ ALA ที่พบในน้ำมันพืชและผักสีเขียวบางชนิด เช่น ผักโขม ผักแขนง
โดยรวมแล้ว เป็นไขมันอิ่มตัวเชิงซ้อนที่ดีต่อสุขภาพ ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ แต่ได้จากอาหารที่กินเข้าไป
สรรพคุณ ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือด ลดระดับไตรหลีเซอไรด์ในเลือด รักษาระดับคอเลสเตอรอลให้เหมาะสม
นอกจากนี้ โอเมก้า-3 ยังดีต่อสมอง การพัฒนาสมองด้านการคิดและการควบคุมการทำงานของสมอง ป้องกันอาการหลงลืมในผู้สูงอายุ ลดความบกพร่องของสายตาในกลุ่มคนสูงวัย และดีกับข้อต่อ เพราะสามารถจำกัดการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ผิดปกติเมื่อเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ด้าน อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพ(อเมริกา)และที่ปรึกษาโภชนบำบัด โรงพยาบาลเทพธารินทร์ เผย ปัจจุบันคนไทยเรากินปลา 30 กิโลกรัมต่อปี หรือคิดเป็น 100 กรัมต่อวัน จัดว่าน้อยเกินไป ทั้งบางคนยังคิดว่า โอเมก้า-3 มีอยู่ในปลาที่มีราคาแพง อาทิ แซลม่อน ทั้งที่ๆ ปลาทู อาหารคู่ครัวไทย หาง่าย ราคาถูก ก็อุดมไปด้วยโอเมก้า-3 ในปริมาณมาก เช่นเดียวกับปลาช่อน ปลาสวาย และปลาอินทรีย์
ส่วนการกินให้ได้คุณค่าโอเมก้า-3 สูงสุดนั้น อ.ศัลยา แนะให้เลี่ยงการนำปลาไปทอดในน้ำมันด้วยความร้อนสูงและนาน เนื่องจากจะลดทอนโอเมก้า-3 ให้น้อยลงไป
อย่างนี้ ‘มุมสุขภาพ’ ขอเสนอเมนูมีโอเมก้า-3 และไม่ใช้วิธีทอดน้ำมันในการประกอบอาหาร นั่นคือ
‘ต้มส้มปลาทูสด’
เป็นเมนูกินดีไม่เสียสุขภาพประจำสัปดาห์นี้
ส่วนผสมประกอบด้วย…
ปลาทูสด 3-4 ตัว
รากผักชี 1 ช้อนโต๊ะ
พริกไทย 5 เม็ด
หอมแดง 4 หัว
กะปิดี 1 ช้อนชา
น้ำเปล่าหรือน้ำซุป 2 ถ้วย
น้ำมะขามเปียก 1/2 ถ้วย
น้ำตาลปี๊บ 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
ขิงซอย 1 ช้อนโต๊ะ
ต้นหอมหั่นท่อน 1/2 ถ้วย
ผักชีเด็ดเป็นใบ 1/4 ถ้วย
ขั้นตอนในการทำ เริ่มด้วยนำรากผักชี พริกไทย หอมแดง กะปิ โขลกรวมกันให้ละเอียดเข้ากันดี จากนั้นตั้งน้ำให้เดือด ใส่ส่วนผสมที่โขลกไว้ลงไป ต้มต่อไปจนน้ำในหม้อเดือด ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียกข้น น้ำตาลปี๊บ และน้ำปลา เมื่อน้ำแกงเดือดอีกครั้ง ให้ใส่ปลาทูสดและขิงซอยลงไป ไม่นานปลาทูก็จะสุก ให้ใส่ต้นหอม ปิดเตาโรยผักชีเป็นอันเสร็จ.
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com
สกุลปลาทู
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาทู (อังกฤษ: Chub mackerel)
เป็นชื่อสามัญในภาษาไทยที่ใช้เรียกปลาทะเลจำพวกหนึ่งในสกุล Rastrelliger ในวงศ์ Scombridae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับปลาโอ, ปลาอินทรีและปลาทูน่า มีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึก 200 เมตร ในน่านน้ำไทย พบทั้งหมด 3 ชนิด เป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอาหารทะเลหลักของคนไทยมาช้านาน
ประวัติ
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้จ้าง ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ นักมีนวิทยาชาวอเมริกันมาเป็นที่ปรึกษากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) เพื่อสำรวจพันธุ์ปลาต่าง ๆ ในประเทศไทย มีหลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระพันธุ์) เป็นผู้ช่วยและวาดภาพปลา ท่านผู้นี้เป็นผู้วาดภาพปลาทูภาพแรกในประเทศไทย ใน พ.ศ. 2468 ไทยนำเรืออวนตังเกจากจีนมาใช้ทำให้จับปลาทูได้มาก ปลาทูที่เหลือทำเป็นปลาทูเค็มส่งไปขายต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง จนในภาษาอินโดนีเซียเรียกปลาทูเค็มว่า Ikan siam
พ.ศ. 2503 รัฐบาลไทยนำเครื่องมืออวนลากจากเยอรมนีตะวันตกมาใช้และเมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกทำให้การประมงขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งจำนวนปลาทูในอ่าวไทยลดจำนวนลงในที่สุด
ที่อยู่
ในอดีตเชื่อว่าปลาทูที่จับได้ในอ่าวไทยมาจากเกาะไหหลำ แต่ปัจจุบันพบว่าปลาทูเกิดในอ่าวไทยเป็นปลาผิวน้ำ รวมกันเป็นฝูงบริเวณใกล้ฝั่ง พบเฉพาะบริเวณอุณหภูมิผิวน้ำไม่ต่ำกว่า 17 องศาเซลเซียส ความเค็มของน้ำไม่เกิน 32.5 % แต่ทนความเค็มต่ำได้ถึง 20.4 % จึงพบในบริเวณน้ำกร่อยได้ ปลาทูวางไข่แบบไข่ลอยน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะลอยน้ำอยู่ได้ ช่วงที่วางไข่คือกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
การบริโภค
ปลาทู นำมาเป็นอาหารไทยมีจำหน่ายในรูปแบบ ปลาทูสด และปลาทูนึ่ง ซึ่งมีลักษณะการขายเป็นใส่ภาชนะที่เรียกว่า เข่งปลาทู นิยมนำมาทอด รับประทานคู่กับน้ำพริกกะปิ หรือ ทำเป็นน้ำพริกปลาทู ส่วนปลาทูสดนิยมนำมาทำเป็นต้มยำปลาทู
เนื้อปลาทูมีสารโอเมก้า 3 ค่อนข้างมาก ในเนื้อปลาทู 100 กรัมมีสารโอเมก้า 3 ราว 2-3 กรัม ช่วยลดอัตราการตายจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตีบ และยังลดโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งลดความหนืดของเลือด ลดการอักเสบ ทำให้ความข้นในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ชนิดพันธุ์
ปลาทูตัวสั้น หรือ ปลาทูสั้น (ชื่อสามัญ: Short-bodied mackerel, ชื่อวิทยาศาสตร์: Rastrelliger brachysoma) เป็นสายพันธุ์ที่นิยมบริโภคมากที่สุด
ปลาทูปากจิ้งจก (ชื่อสามัญ: Island mackerel, ชื่อวิทยาศาสตร์: Rastrelliger faughni)
ปลาลัง หรือ ปลาทูโม่ง (ชื่อสามัญ: Indian mackerel, ชื่อวิทยาศาสตร์: Rastrelliger kanagurta)
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปลาทู
วิธีการเลือกปลาทูนึ่ง
ปลาทูที่นึ่งใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ตัวอวบอ้วน เนื้อนุ่มแน่นและไม่เละยุ่ย
ท้องและผิวไม่ถลอก ถ้าขอบตาแดง ผิวเหลือง แสดงว่าเป็นปลาที่มีคุณภาพไม่ดี เป็นปลาที่ได้จากอวนลาก จึงต้องมีการใช้น้ำยาเคมีรักษาสภาพของปลา ความอร่อยของปลาทูนึ่งยังขึ้นอยู่กับปลาทูที่สดที่นำมาต้มด้วย ถ้าใช้ปลาทูไม่สด ไม่ใช่ปลาทูโป๊ะ จะไม่อร่อยเท่าปลาทูแม่กลองที่เวลานึ่ง คนทำจะหักคอก่อนใส่เข่ง เพื่อให้พอดีกับขนาดของเข่ง เรียกกันว่า “ปลาหน้างอคอหัก”
วิธีเลือกปลาทูสด
ปลาทูสดลูกตาจะนูน ตาดำมีสีสดใส ส่วนหลังของลำตัวจะมีสีเขียวเป็นพื้น ส่วนท้องจะมีสีขาว หรือสีเงิน หางปลายังมีสีเหลือง ตามลำตัวมีเมือกลื่นๆ เหงือกมีสีแดงออกชมพู ปลาไม่มีกลิ่น เนื้อแน่น เมื่อใช้นิ้วกดที่กลางลำตัวแล้วปล่อยนิ้วออก รอยยุบจะกลับคืนสภาพเดิมได้หมดหรือเกือบหมด
ส่วนปลาทูที่ไม่สดลูกตาจะยุบ ตาดำจะขุ่น บริเวณลูกตาอาจมีเลือดคลั่ง สีพื้นของลำตัวซีด เหงือกมีสีแดงซีด ปลามีกลิ่นคาวหรือคาวจัด ลำตัวอ่อนเหลวและไม่มีเมือกจับ
ซื้อปลาแบบไหนถึงจะอร่อย
หลังจากที่ชาวประมงจับปลาทูขึ้นมาได้ราว 5 – 10 นาที ปลาก็จะตาย ปลาทูที่ตายใหม่ๆ นี้ถ้ารีบนำไปประกอบอาหารไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัด แกง ทอด เนื้อจะนุ่มหวานอร่อย กลิ่นหอม ถ้านำไปต้ม มันปลาทูสีเหลืองจะลอยฟ่องขึ้นหม้อ แค่เห็นก็อร่อยแล้ว
แต่ปลาทูสดที่เห็นขายกันอยู่ตามตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้นไม่ใช่ปลาทูสด 100%
เป็นปลาทูที่ต้องผ่านหลายกระบวนการกว่าจะมาวางขายตามท้องตลาด ความสดของปลาก็ลดลงเหลือ 60 – 80% ยิ่งถ้าเป็นปลาทูที่ขายตามจังหวัดที่ห่างไกลทะเลแล้ว อาจเก็บมาเป็นอาทิตย์ก็ได้
อนึ่งปลาทูจะมีความสดมากหรือน้อยนั้นจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการดมกลิ่นชิมรสเนื้อปลา
ซึ่งถือว่าปลาที่มีความสดมากนั้น จะมีกลิ่นหอมของเนื้อปลาชวนรับประทาน รสชาติอร่อย เนื้อนุ่มไม่กระด้างไม่เปื่อยยุ่ย โดยเฉพาะปลาทูที่จับได้ที่ก้นอ่าวไทยตามทะเลที่พื้นดินเป็นเลน เนื้อจะอร่อยกว่าปลาทูที่จับได้ตามทะเลที่เป็นพื้นทราย
สารพัดความอร่อย หลากหลายเมนูจากปลาทู
ถ้าหากจะเอ่ยถึงอาหารไทยที่ถือว่าเป็นหนึ่งเมนูเด็ดที่คนไทยลืมไม่ได้ น่าจะเป็น
“น้ำพริกกะปิกับปลาทูทอด” ที่เป็นเมนูที่มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ
เป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติของไทยเลยก็ว่าได้
สำหรับปลาทูที่จะนำมากินคู่กับน้ำพริกกะปิให้มีความอร่อยเด็กดวง ก็คงจะหนีไม่พ้น “ปลาทูโป๊ะ” หรือ “ปลาทูนึ่ง” เมืองแม่กลอง
นอกจากนี้อาหารที่ทำจากปลาทู ก็มีหลากหลายเมนูให้เลือก
ล้วนแล้วแต่เป็นเมนูสำหรับคนที่ชองกินปลาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกปลาทู ปลาทูทอด ปลาทูต้มยำ ปลาทูต้มส้ม ปลาทูฉู่ฉี่ ปลาทูผัดฉ่า ปลาทูนึ่ง ปลาทูต้มมะดัน ข้าวผัดน้ำพริกปลาทู ปลาทูแดดเดียว ปลาทูราดพริกแกง ฯลฯ ซึ่งปลาทูถือเป็นอาหารไทยราคาเยาที่รสชาติยอดเยี่ยมไม่เป็นรองใคร
โดย ผู้จัดการออนไลน์