รองเท้า (Black Sheep Complilation II - by United)
วิธีถนอมรักษารองเท้าทุกประเภท รองเท้า ของสำคัญคู่กายในชีวิตประจำวัน ที่นอกจากจะช่วยป้องกันเท้าสวยไม่ให้บาดเจ็บจากการเดินการวิ่ง ยังถือเป็นอีกสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้คุณมั่นใจ ดูสวยสง่าขึ้นง่ายๆ จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่สาวกระเป๋าหนักหลายคน จะทุ่มเงินซื้อรองเท้าราคาหลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น! มาสวมเดินเพลินอารมณ์
ทว่าเมื่อได้พบรองเท้าที่ถูกใจแล้ว ก็อาจไม่ต้องพูดถึงเรื่องราคา เพราะต่อให้เป็นรองเท้าแตะช้างดาวใส่แล้วเก๋า ราคาไม่กี่สิบ หรือรองเท้าพลาสติกคู่ละ 199 บาท แต่หากคุณรู้สึกชื่นชอบ ใส่แล้วมั่น ก็คงอยากดูแลรักษาไว้นานสุดๆ พอกับรองเท้าราคานับหมื่นเป็นแน่
โอกาสนี้เราจึงเฟ้นหา วิธีถนอมรองเท้ามาฝากจากปากคำของ คุณมิน-สิรัชชา พัชรโสภาชัย สาวหน้าใสเจ้าของร้านโมโมโกะ (Momoko) ร้านสปารองเท้าและกระเป๋า ที่ให้บริการดูแลรองเท้าอย่างครบวงจร ทั้งทำความสะอาด ซ่อมแซม ไปจนถึงทำทรีตเม้นต์ (treatment) บำรุงสภาพหนังรองเท้าให้ใหม่เอี่ยม สวยกิ๊กเสมอ
ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีกับโรงงานผลิตกระเป๋า และรองเท้าของครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก แถมยังเปิดคลินิกดูแลรองเท้าแห่งนี้มากว่า 3 ปี จึงมั่นใจได้เลย ว่าเมื่อมาล้วงลึกถึงเคล็ดลับการดูแลรองเท้าแล้ว กูรูช่างซ่อมอย่างเธอจะให้ข้อมูลเด็ดมาเพียบ
“ปัญหาเกี่ยวกับรองเท้าที่ลูกค้าพบมาก และมาใช้บริการกับทางร้าน ในส่วนของรองเท้าผู้หญิงจะมาด้วยอาการส้นรองเท้าพัง ส้นถลอก จุกส้นรองเท้าหลุด และส่วนของผู้ชาย ที่ลูกค้านำมาให้ร้านเราดูแลเยอะที่สุดจะเป็นรองเท้าสนี๊กเกอร์ (Sneaker = รองเท้าผ้าใบส้นยาง) ที่นำมาเปลี่ยนพื้นรองเท้า” กูรู สิรัชชา เกริ่นให้ทราบถึงปัญหารองเท้าที่ลูกค้าร้านเธอ พบเจอกันเป็นประจำ
ผู้เชี่ยวชาญด้านรองเท้าอธิบายต่อว่า โดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าที่ทำจากหนังวัว หนังแกะ หรือผ้าใบ จะมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี หลังจากนั้น หนังของรองเท้าจะเริ่มเสื่อม กาวเริ่มหมดคุณภาพ จึงถึงเวลาปลดระวางรองเท้าคู่เก่ากัน ทว่ารองเท้าหลายคู่กลับมีอายุการใช้งานสั้นกว่านั้น เนื่องมาจากการเก็บรักษา หรือทำความสะอาดไม่ถูกวิธี กูรูหน้าสวยจึงจัดเต็มวิธีดูแลรองเท้าแต่ละประเภทมาให้
หนังกลับ-หนังแกะ สวยเท่ห์ แต่ดูแลยาก
คุณมินอธิบายถึงรองเท้าประเภทแรกที่เรียกได้ว่าสวยเท่ห์ แต่ดูแลค่อนข้างยาก นั่นคือ รองเท้าหนังกลับ และรองเท้าหนังแกะ
“พวกหนังกลับ จะดูแลยากมาก เมื่อใส่รองเท้าขับรถ ปัญหาที่พบบ่อยก็คือ ส้นรองเท้า กับหน้ารองเท้าจะดำ และตัวหนังกลับทำความสะอาดยากมาก แม้กระทั่งหากมาทำที่ร้านเรา ถ้าจะดูดสิ่งสกปรกออกมาจากรองเท้าให้หมด เราต้องมีการลงน้ำยาทำความสะอาดบางๆ ค่อยๆ ทำหลายครั้งมาก..กว่าจะทำความสะอาดได้หมด เช่นเดียวกับหนังแกะ ซึ่งจะคล้ายกับหนังกลับ ตรงที่มีความนิ่มอยู่ในตัว ถ้าลงน้ำยาทำความสะอาดไม่ดี สีก็จะหลุด หนังแกะเป็นสีที่หลุดง่ายที่สุดในบรรดาหนังทุกชนิด
สำหรับการดูแลเบื้องต้น เมื่อเกิดคราบเปื้อนเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเป็นหนังแกะ อาจเอาผ้าชุบน้ำอุ่นไม่ต้องลงน้ำยา เช็ดบางๆ คราบสกปรกก็จะหลุดอยู่แล้ว แต่ต้องใช้น้ำอุ่นเท่านั้นนะคะ เพราะน้ำเย็นจะทำลายสี ส่วนหนังกลับ ถ้าจะดูแลเองเกือบไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงแนะนำเบื้องต้นว่า ให้หลีกเลี่ยงน้ำ อย่าไปลุยน้ำจังๆ หากฝนตก ให้เปลี่ยนเป็นรองเท้าแตะจะดีกว่า เพราะหนังกลับเขาดูแลรักษายากจริงๆ"
หนังวัว-หนังแก้ว ดูแลไม่ยาก แต่ต้องระวังการเก็บรักษา
รองเท้าหนังวัวและรองเท้าหนังแก้ว ถือเป็นรองเท้าอีกประเภทที่สาวเราใช้กันมาก และการดูแลรักษาก็ไม่ยากเย็น เพียงแต่ต้องคำนึงถึงการเก็บรักษาให้เหมาะสมเสียหน่อย
“หนังวัว..ดูแลง่ายที่สุด เบื้องต้นคือ เมื่อกลับเข้ามาบ้าน ถ้าจะเช็ดทำความสะอาด ก็อย่าใช้น้ำยาที่มีความรุนแรงสูง เพราะหากน้ำยามีความรุนแรง พอเช็ดไปแล้วจะเกิดเป็นรอยด่าง พอเกิดรอยด่างจะแก้ไขได้ยาก ต้องเอามาให้ที่ร้านทำสีอย่างเดียวเท่านั้น เราจึงแนะนำว่า ให้ใช้นำอุณหภูมิปกติ เช็ดทำความสะอาดแค่นั้นคราบสกปรกก็ออกแล้ว”
ทว่าแม้จะทำความสะอาดง่าย แต่มักเกิดรอยยับรอยย่นขึ้นกับรองเท้าหนังวัว คุณมินจึงให้วิธีแก้ริ้วรอยมาว่า
“ถ้าจะลบรอยด้วยตัวเอง ให้หาฟองน้ำนุ่มเนื้อละเอียด เช่น ฟองน้ำสำหรับเกลี่ยรองพื้น มาลงน้ำยาสำหรับหนังชนิดนั้นๆ แล้วหมุนวนไปช้าๆ เบาๆ ก็จะช่วยลดรอยเบื้องต้นได้ แต่ข้อสำคัญคือ ฟองน้ำต้องนิ่มมาก และเวลาทำต้องใจเย็น ค่อยๆ ทำ”
ส่วนรองเท้าหนังแก้ว การดูแลรักษาความสะอาดก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับหนังวัว แต่ต้องใส่ใจให้มากในเรื่องการเก็บรักษาค่ะ
“หนังแก้วจะมีการดูดสีง่ายที่สุด หนังแก้วกับพลาสติก วางใกล้กันเมื่อไหร่ สีจะดูดเข้าไป กลายเป็นเรื่องใหญ่มาก ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากทำสีใหม่ ซึ่งการทำสีหนังแก้ว ก็จะมีราคาสูงกว่าการทำสีแบบอื่นๆ ด้วย ดังนั้นจึงต้องเข้มงวดกับการเก็บรักษา นั่นคือ อย่าวางรองเท้าหนังแก้ว ติดกับรองเท้าคู่อื่นๆ ถ้าต้องวางรวมกับคู่อื่น ก็ควรเอากระดาษห่อรองเท้าหนังแก้วไว้ รวมถึงไม่ควรเก็บลงกล่องรองเท้าที่อับ ไม่มีการระบาย เพราะจะยิ่งทำให้รองเท้าประเภทนี้อับ บวม และสามารถเปลี่ยนสีได้ง่าย”
รองเท้าผ้าใบ ซักเองง่ายๆ แต่ต้องใจเย็น
“รองเท้าที่ลูกค้าจะดูแลเองได้ง่ายที่สุดคือผ้า เพราะมันง่ายต่อการซักด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องระวังเรื่องของการเปลี่ยนสี โดยเฉพาะรองเท้าสีขาว ที่อาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ การห่อกระดาษทิชชู่ขณะตาก ก็จะช่วยลดอัตราการเปลี่ยนสีรองเท้าจากสีขาวเป็นสีเหลืองได้ นอกจากนี้การซักก็ต้องห้ามซักโดนบริเวณขอบยาง เพราะตรงนั้นจะมีรอยกาวด้านข้างอยู่ หากไปซักโดนมันอาจจะหลุดออกมาโดนผ้า และกลายเป็นรอยกาวสีเหลืองได้”
หมอรองเท้าคนสวยอธิบายต่อว่า การซักรองเท้าที่ทำจากผ้า ควรนำสบู่อ่อนๆ ผสมน้ำ แล้วใช้แปรงสีฟันถูทีละเล็กทีละน้อย ข้อสำคัญคือ ต้องทำอย่างใจเย็น มิเช่นนั้น อาจเกิดผลเสียเกินคาด
“การซักรองเท้าผ้า ให้เอาสบู่อ่อนๆ เช่น สบู่เด็กผสมน้ำแค่นั้นก็พอแล้ว แต่ถ้าจะใช้เป็นผงซักฟอก ก็ต้องผสมน้ำเยอะๆ และสิ่งสำคัญคือ แปรงที่ใช้ขัด คนชอบเข้าใจว่า ยิ่งแปรงหัวแข็งเท่าไหร่ ยิ่งเอาความสกปรกออกได้เยอะเท่านั้น จริงๆ มันจะส่งผลให้ด้ายรัน เกิดเป็นรอยถลอกได้ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่า ผ้าถลอกไม่ได้ แต่จริงๆ ผ้าถลอกได้ และซ่อมไม่ได้ จะไม่เหมือนหนัง เพราะหนังจะสามารถหาลักษณะหนังใกล้เคียงมาเย็บ หรือทำสีให้มันใกล้เคียงได้ แต่พอเป็นผ้า มันเป็นการทอของแต่ละโรงงาน ซึ่งเราหาเนื้อผ้ามาปะเข้าไปไม่ได้แน่นอน เช่น สมมุติเป็นผ้าที่มีโลโก้ของยี่ห้อ Gucci เราก็ไม่สามารถหาผ้าทอที่เหมือนได้อยู่แล้ว ถ้าเราต้องไปเอาผ้าที่ใกล้เคียงกันมาเปลี่ยน มันก็ออกมาไม่สวยอยู่ดี
แปรงที่ใช้ขัด ควรเป็นแปรงสีฟันหัวนิ่มๆ ค่อยๆ ทำ เพราะการขัดรองเท้าต้องใจเย็น ถ้าใจร้อนรองเท้ามันจะถลอกหมด และน้ำอาจจะเยิ้มจนกาวที่ขอบออกมาโดนเนื้อผ้า และที่สำคัญคือ ไม่ควรตักน้ำราดลงบนรองเท้าเด็ดขาด ให้ค่อยๆ แปรงทีละนิด เช่น ตักน้ำมา 1 ขันเอาแปรงสีฟันจุ่มน้ำสบู่ แล้วค่อยๆ ถูไปทีละนิด นอกจากนี้ยังควรสังเกตดูด้วยว่า หากเป็นด้ายคนละสีก็ต้องทำความสะอาดทีละส่วน เช่น หากมีขอบด้ายสีดำ ก็ต้องเว้นขอบสีดำนั้นไว้ก่อน อย่าแปรงรวมกัน ไม่อย่างนั้นสีดำอาจจะไปติดด้ายสีขาว”
นอกจากนั้น ต้องใส่ใจไปถึงกรรมวิธีการตากด้วยค่ะ
“การตากให้แห้ง ไม่แนะนำให้ตากแดดแรง หลายคนเข้าใจว่าตากแดดแรง เพื่อลดกลิ่น แต่ความจริงคือ มันจะทำให้รองเท้าเหลือง ที่แนะนำคือ ควรตากแดดอ่อนๆ เท่านั้น ส่วนพื้นรองเท้า สามารซักเองได้ที่บ้าน โดยงัดพื้นออกมาทำความสะอาดได้เลย และสามารถตากแดดแรงได้ เพราะแม้สีจะซีดไปบ้าง ก็ไม่มีผลต่อการมองเห็นอยู่แล้ว ดังนั้นก็สามารถตากแดดลดกลิ่นได้เต็มที่ ในส่วนของพื้นรองเท้า” เจ้าของร้านโมโมโกะ อธิบายเกร็ดเล็กๆ ในการทำความสะอาดรองเท้าผ้าใบให้สะอาดเนี้ยบนิ้ง
DO & DON’T กับรองเท้าคู่โปรด
เมื่อบอกถึงวิธีดูแลรองเท้าแต่ละชนิดไปแล้ว คุณมิน-สิรัชชา พัชรโสภาชัย เจ้าของโมโมโกะ (Momoko) ร้านสปารองเท้าและกระเป๋าที่ให้บริการดูแลรองเท้าอย่างครบวงจร ยินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำกับรองเท้า จากประสบการณ์ส่วนตัวและปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของเธอ
DO
: เก็บรองเท้าไว้ในกล่องกระดาษเจาะรู
“ส่วนตัวมิน จะเก็บรองเท้าของตัวเองไว้ในกล่องกระดาษที่เจาะรูไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้รองเท้าอับมาก การใส่กล่องแบบนี้หลายคนอาจจะขี้เกียจทำ เพราะมองว่าทำให้หารองเท้ายาก เนื่องจากเรามองไม่เห็นรองเท้าในกล่อง
มินแนะนำให้ถ่ายเป็นรูปเล็กๆ แล้วปิดไว้ข้างกล่อง เราก็จะดูรู้ว่าคู่ไหนเป็นคู่ไหน การเก็บแบบนี้มันจะทำให้เราดูแลรองเท้าได้ง่ายขึ้น ทั้งทรงรองเท้า และสีรองเท้า”
: ยัดกระดาษไว้ที่ปลายรองเท้า เพื่อรักษารูปทรง
เวลาเก็บรองเท้า ควรจะยัดกระดาษสีขาว ไว้ที่ปลายรองเท้าเพื่อรักษาทรงรองเท้า และไม่ควรใช้เป็นกระดาษหนังสือพิมพ์ เพราะสีหมึกอาจซึมลงในรองเท้าได้
: ผึ่งรองเท้าให้แห้งเสมอ ก่อนเก็บ
เมื่อรองเท้าโดนฝน หรือเพิ่งลุยน้ำมา ควรผึ่งให้แห้งก่อนเสมอ คนส่วนมากชอบเข้าใจว่า เอายัดเข้าตู้เก็บรองเท้าไปก็ได้ ซึ่งการทำแบบนั้น เชื้อราจะขึ้น และเวลาเชื้อราขึ้น มันจะขึ้นติดรองเท้าคู่อื่นไปด้วย ดังนั้นแนะนำให้ตากรองเท้าข้างนอกก่อน ยังไม่ต้องรีบเอาเข้าตู้ หรือหากชื้นมากก็ควร ตากแดดอ่อนๆ อาจเป่าด้วยลมเย็นของไดร์เป่าผมก็ได้ แต่ห้ามเป่าด้วยลมร้อน ถ้าเป็นลมร้อนเป่า หนังรองเท้าจะเหี่ยวได้
: เช็ดสิ่งสกปรก ก่อนเก็บรองเท้าเข้าตู้
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ลูกค้าเอารองเท้ามาให้ทำความสะอาด เพราะว่าไส้เดือนเข้าไปอยู่ในรองเท้า และมีแมลงต่างๆ เต็มไปหมด ออกลูกออกหลานอยู่ในรองเท้าผ้าใบ เพราะเค้าไปตีกอล์ฟ แล้วไปโดนขี้ดินขี้ทราย เมื่อไม่เช็ดออก แล้วเก็บรองเท้าเข้าตู้ไปนานๆ แมลงเหล่านั้นก็ออกลูก ลามไปถึงรองเท้าคู่อื่นๆ ในตู้”
: ใส่ถุงถ่าน เพื่อดับกลิ่นอับในรองเท้า
รองเท้าผู้ชายหากเหม็นอับ คุณมินแนะนำวิธีแก้เบื้องต้นแก่คุณแม่บ้าน ให้นำถุงเล็กๆ คล้ายถุงชา บรรจุถ่านไม้สีดำ บดละเอียดใส่เข้าไปในรองเท้า เพื่อให้ดูดกลิ่นอับในรองเท้า
: หาซื้อแผ่นกันกัด มาใส่ป้องกันรองเท้ากัด
หากรองเท้ากัด ควรหาซื้อแผ่นกันรองเท้ากัดมาติด หรือหากไม่อยากให้รองเท้ามีรอยกาวแผ่นกันรองเท้ากัดก็ สามารถมาที่ร้านดูแลรองเท้า เพื่อหาหนังนิ่มๆ มาเย็บติดบริเวณที่รองเท้ากัดได้
DON’T
: ไม่ควรเก็บรองเท้าในกล่องพลาสติก ที่ไม่มีรูระบายอากาศ
หลายคนเข้าใจว่า กล่องพลาสติกเหมาะกับการเก็บรองเท้า แต่จริงๆ แล้ว กล่องพลาสติกไม่เหมาะกับการเก็บรองเท้า ทั้งรองเท้าหนังและรองเท้าผ้า เพราะมันจะดูดความร้อน พอดูดความร้อนเข้ามา รองเท้าก็จะอับชื้นอยู่ในกล่อง ดังนั้นหากจะใช้กล่องพลาสติกมาใส่รองเท้า ก็ต้องเจาะรูเพื่อให้สามารถระบายอากาศได้
: อย่าเก็บรองเท้าไว้หลังรถ
คุณมินเล่าว่า เคยมีลูกค้าท่านหนึ่งซื้อรองเท้ามา 8 คู่ ยังไม่ทันได้ใส่ ไปต่างประเทศ 3 เดือน กลับมารองเท้าเหล่านั้นพังหมดเลย พื้นรองเท้าละลาย ยางละลาย สีกลายเป็นสีเหลือง เพราะเก็บรองเท้าไว้หลังรถ เมื่อรองเท้าเจอความร้อน ก็เสียหายหมด
“เช่นเดียวกับ ผู้หญิงหลายคนที่มักเอารองเท้ากีฬาไว้ท้ายรถ ก็แนะนำว่าอย่าทำอย่างนั้น หากไปฟิตเนส (fitness) ก็ให้เช่าตู้ล็อกเกอร์ไว้ดีกว่า อย่าทิ้งรองเท้าไว้หลังรถเลย”
เอ้า! หันมาใส่ใจดูแลรักษารองเท้าในตู้ของคุณ ๆ กันซะนะคะ นอกจากเพื่อให้รองเท้าคู่โปรดราคาเป็นพันเป็นหมื่นอยู่คู่เท้าคุณนานๆ แล้ว ยังเป็นเรื่องสุขภาพเท้าสะท้อนสุขภาพกายด้วยค่ะ
http://www.manager.co.th/CelebOnline/ |