" คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ตัดสินใจใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง (Quantitative Easing: QE2) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาววงเงิน 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ที่ 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะเข้าซื้อพันธบัตร ในจำนวน 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเวลา 6 เดือน โดยแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะมีผลถึงเดือน มิ.ย. 2554 นอกจากนี้ คณะกรรมการ FED ยังมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 0 - 0.25% พร้อมกับย้ำว่าจะยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปอีกระยะหนึ่ง "
มาตรการ QE2 หนุนบาทแข็งทำสถิติอีกครั้ง Posted on Thursday, November 04, 2010 เงินบาทเปิดตลาดวันนี้ทะยานแข็งค่าขึ้นทำสถิติใหม่ในรอบ 13 ปีอีกครั้ง ที่ระดับ 29.70 – 29.72 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับอ่อนค่าลง หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0 - 0.25% และตัดสินใจประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณรอบ 2 (QE2) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพิ่มขึ้นอีก 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในกลางปีหน้า
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ตัวเลขการอัดฉีดสภาพคล่องของ FED ใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ที่ 5 – 7.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่า เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด จึงเชื่อว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในระยะยาวจำนวนธนบัตรที่สหรัฐเตรียมพิมพ์ออกมา จะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีแนวโน้มว่าเงินจะไหลเข้า เพราะไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ อย่างใกล้ชิด และได้รับการยืนยันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือกับธนาคารกลางต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อเตรียมรับมือกับการเก็งกำไรค่าเงินในภูมิภาคด้วย
สำหรับกรณีที่สหรัฐฯเตรียมออกนโยบายการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะควบคุมดุลบัญชีเดินสะพัดให้มีกรอบบวกและลบไม่เกิน 4% นั้น นายกรณ์ บอกว่า นโยบายดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพราะจะส่งผลต่อการกีดกันทางการค้าของแต่ละประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งเตรียมนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในที่ประชุมเอเปควันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย
ด้านน.ส. วชิรา อารมย์ดี ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า ธปท. อยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบจากการประกาศมาตรการ QE2 ต่อค่าเงิน แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ได้เหนือกว่าความคาดหมายของตลาดก็ตาม แต่จะออกมาตรการใดๆเพิ่มเติม เพื่อดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่นั้น เบื้องต้นคงต้องติดตามสถานการณ์ตลาดก่อน เพราะการดำเนินมาตรการใดๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และเป็นเรื่องในระยะยาว
นายวินิจ แสงอรุณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการผู้บริหารกลุ่มปฏิบัติการธุรกิจระหว่างประเทศ สายงานปฏิบัติการธนาคารกรุงไทย บอกว่า ธปท. ควรมีมาตรการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินไหลออกให้มากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท รวมไปถึงควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งหน้า 1 ธันวาคมนี้ แต่ยังไม่ควรใช้มาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้น 30%
ด้านบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มาตรการ QE2 จะทำให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ และแตะ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า ดังนั้น ธปท. จึงควรทยอยผลักดันมาตรการแก้ไข และลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังการก่อตัวของภาวะฟองสบู่ ทั้งในตลาดหุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายของธปท. โดยธปท. อาจจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์
ด้านสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค) ระบุผลวิจัยเชิงสำรวจ พบว่า ประชาชน 71% รู้สึกกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยประชาชน 70.5% เห็นว่า รัฐบาล และธปท. ควรร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท พร้อมเห็นว่า ธปท. ควรมีอิสระในการดำเนินงาน และปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
เงินบาทแข็งค่ามีที่มาที่ไปอย่างไร โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราสูงและต่อเนื่อง ประกอบกับการขยายตัวของการนำเข้าที่ยังตามหลังการส่งออก ทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเกินคาด นอกจากนั้น การปรับขึ้นของดอกเบี้ยในประเทศไทย ที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อว่าความเสี่ยงทางการเมืองลดลง ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น กล่าวโดยสรุปคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประกอบกับเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ทำให้ประเทศไทยมีการเกินดุลชำระเงินสูง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังที่เห็นได้ชัดเจนใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
หากสภาวการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะเป็นแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ คงจะนำไปสู่การถกเถียงกันอีกครั้งว่าทิศทางเงินบาทน่าจะไปในทางใด จะมีการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทอีกหรือไม่ นโยบายที่เหมาะสม คือ อะไรและประเทศไทยมีทางเลือกในการปรับตัวหรือไม่อย่างไร
ถ้าจะตอบให้ตรงประเด็นตั้งแต่ต้นก็ต้องบอกว่า ปัญหานี้เคยเผชิญมาแล้วในปี 2005-2006 ซึ่งรากเหง้าของปัญหา คือ การใช้จ่ายเกินตัวของสหรัฐอเมริกา ในช่วงนั้น สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 5-6% ของจีดีพี ซึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายเกินตัวของประชาชนอเมริกันเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเพราะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ราคาบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ประชาชนเข้าใจว่าตัวเองร่ำรวยขึ้นสามารถกู้เงินได้เป็นจำนวนมาก จากการนำเอาบ้านที่อยู่อาศัยไปจำนองกับธนาคาร (จึงเกิดการเปรียบเปรยว่าบ้านเป็นเสมือนเครื่องเอทีเอ็มประจำครอบครัว) ในขณะเดียวกัน ธนาคารก็เร่งปล่อยกู้ และอาศัยนวัตกรรมทางการเงิน โดยนำเงินกู้ไปแปลงสภาพเป็นตราสารหนี้ ซึ่งอ้างว่าเป็นตราสารหนี้ชั้นดีขายไปทั่วโลก ทำให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้เป็นทวีคูณ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้และกำไร ทำให้สหรัฐใช้จ่ายเกินตัวอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฟองสบู่แตกและสหรัฐเข้าสู่วิกฤติทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบปลายปี 2008 ความตกต่ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ส่งผลให้สหรัฐลดการใช้จ่าย (เพราะประชาชนตกงาน 9.5% ของแรงงานทั้งหมด) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจึงปรับลดลงเหลือ 3% ของจีดีพี ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่ชัดเจนในการลดความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก
ความไม่สมดุลที่ว่านี้ คือ การที่สหรัฐใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเอเชียเป็นผู้ที่ปล่อยกู้ให้ กล่าวคือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐเป็นการสะท้อนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเอเชีย และเมื่อเอเชียเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประกอบกับมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาค ส่งผลให้เงินสกุลเอเชียมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ธนาคารกลางเอเชียไม่อยากให้เงินแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จึงเข้าไปแทรกแซงโดยการซื้อดอลลาร์มาเก็บเป็นทุนสำรองและขายเงินสกุลของตนออกไป การซื้อเงินดอลลาร์ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ไม่อ่อนค่า ส่วนการขายเงินสกุลของตนออกไปก็ทำให้เงินสกุลของตนไม่แข็งค่านั่นเอง สิ่งที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัด คือ เอเชียมีทุนสำรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในกรณีของไทยก็จะเห็นได้ว่าทุนสำรองเพิ่มขึ้นจาก 30.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2000 มาเป็น 55.9 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2005 และล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 158.8 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2010 (เดือน มิ.ย.) การเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในเวลา 10 ปีของทุนสำรองนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเท่ากับ 158 พันล้านดอลลาร์ หรือ 50% ของจีดีพี ในขณะที่จีนมีทุนสำรอง 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 40% ของจีดีพี เป็นต้น
หมายความว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2010 ทำให้เศรษฐกิจโลกหวนกลับไปสู่พฤติกรรมเดิม คือ สหรัฐเริ่มใช้จ่ายเกินตัวมากขึ้นและเอเชียก็รับเป็นทั้งผู้ขายและเจ้าหนี้ (vender financing) เช่นที่เกิดขึ้นในปี 2003-2007 สิ่งที่แตกต่าง คือ ในยุคหลังวิกฤติ 2009 นี้ ผู้ที่ใช้จ่ายเกินตัว คือ รัฐบาลสหรัฐ ตัวอย่างเช่น ปีนี้ประเทศสหรัฐโดยรวมอาจขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3-4% ของจีดีพี แต่รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ (มีการใช้จ่ายเกินตัว) ประมาณ 10% ของจีดีพีคิดเป็นเม็ดเงิน 4.5-6.0 แสนล้านดอลลาร์ และ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
ในทางตรงนั้น ธนาคารกลางต่างประเทศที่เข้าไปแทรกแซงค่าเงิน ทำให้ทุนสำรองของตนเพิ่มขึ้น ก็ได้ลงทุนซื้อตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2007 ต่างชาติถือตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐมูลค่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 36.5% ของตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐทั้งหมดที่ถือโดยประชาชนทั่วไป และล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม 2010 ธนาคารกลางต่างประเทศถือตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 34% ของการถือตราสารดังกล่าวทั้งหมด โดยประชาชนทั่วไปจะเห็นได้ว่าธนาคารกลางต่างประเทศ โดยเฉพาะเอเชียจะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลสหรัฐมากขึ้น หากยืนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดิม ซึ่งมองในอีกแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงอย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. ตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และรัฐบาลสหรัฐสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งหนี้สาธารณะสูงถึง 90% ของจีดีพีแล้วในการประเมินของไอเอ็มเอฟ
2. ในอนาคตรัฐบาลสหรัฐมีภาระใช้จ่ายด้านรัฐสวัสดิการมากเกินกว่ารายได้จากการเก็บภาษี ทำให้สหรัฐจะต้องปรับโครงสร้างด้านการคลังลดรายจ่าย เพิ่มรายได้มิฉะนั้นจะเผชิญกับปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวในอนาคตได้
3. ปัจจุบันราคาตราสารหนี้สหรัฐสูงมาก สะท้อนได้จากผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีที่ 2.8% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้ว่าไม่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นหรือจะฟุบ ดอกเบี้ยก็จะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น แปลว่าผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีโอกาสสูงที่จะประสบกับการขาดทุน
หากไม่ต้องการรับความเสี่ยงของการเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลสหรัฐก็ต้องลดการแทรกแซง ค่าเงินบาท กล่าวคือ ต้องยอมปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ทำให้ความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยในประเทศลดลง นอกจากนั้น การแทรกแซงน้อยลงจะช่วยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีภาระในการดูดซับสภาพคล่องในประเทศ (sterilization) น้อยลง เป็นการลดความเสี่ยงจากการขาดทุน เนื่องจากต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรที่ออกมา เพื่อดูดซับสภาพคล่องในประเทศในอัตราสูง แต่ได้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ต่างประเทศที่ต่ำ เพราะดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ระดับต่ำ หากธนาคารแห่งประเทศไทยขาดทุนก็จะไม่สามารถลดหนี้กองทุนฟื้นฟู ซึ่งหมายถึง ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องแบกรับภายใต้งบประมาณครับ
เงินบาทแข็งค่า : ปัญหาและแนวทางแก้ไข โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำสถิติแตะระดับแข็งค่าไม่เว้นแต่ละวัน คำถาม คือ การที่เงินบาทแข็งค่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง และควรจะบริหารจัดการอย่างไรประเด็นนี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.ภัทร เสนอมุมมองต่อนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่น 11 เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา ค่าเงินในประเทศไทย เงินบาทเหมือนสินค้าชนิดหนึ่ง คือ ถ้าสินค้ามีมากเกินไปราคาจะลดลง หากมีน้อยเกินไปราคาจะเพิ่มขึ้น การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น แสดงว่าเงินบาทมีน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการลงทุนในประเทศ เช่น ลงทุนโดยตรง (FDI) ลงทุนหุ้น ซื้อตราสารหนี้ รวมทั้งการที่ผู้ส่งออกที่มีรายได้เป็นดอลลาร์ต้องการแลกกลับเป็นสกุลเงินบาทมากกว่าผู้นำเข้าต้องการขายบาทเพื่อแลกดอลลาร์ หรือในอีกด้าน ก็คือ ประเทศไทยอยู่ในสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล
ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมากในปัจจุบัน คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง การไหลเข้าของเงินเพื่อลงทุนทางตรง และล่าสุดคือการนำเงินเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นและพันธบัตร โดยในช่วง มกราคมถึงสิงหาคมของปีนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรเมื่อเทียบกับหุ้นมากถึง 8 เท่า
“เหตุผลที่พวกเขาซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย มาจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ยกตัวอย่างเช่น หากถือพันธบัตรไทยอายุ 2 ปีเมื่อเทียบกับพันธบัตรสหรัฐอายุเท่ากัน พันธบัตรไทยจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประมาณ 2% และเมื่อบวกกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ย่อมได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนบางรายถึงกับทำ Carry Trade คือ กู้เงินดอลลาร์มาซื้อพันธบัตรไทย ทั้งนี้เพราะต้นทุนการกู้เงินต่ำเพียง 0.5%”
อย่างไรก็ตาม ดร.ศุภวุฒิยังมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นการเก็งกำไร “เป็นการได้ผลตอบแทนอย่างชัดเจนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และหากแบงก์ชาติสหรัฐไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2012 เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า ความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจึงมีอยู่”
ความเสี่ยงและการจัดการ แค่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.9% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ และประมาณ 5% เมื่อเทียบกับเงินยูโร และแข็งขึ้นถึง 7% นับจากปลายปีที่แล้ว และความเป็นไปได้ที่จะมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง
“ผมมองว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นไปอีก อย่างน้อย 3 หรือ 6 เดือนข้างหน้า” ดร.ศุภวุฒิ คาดการณ์
แนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แก้ไข ก็คือ เข้าแทรกแซงค่าเงินบาท ด้วยการนำเงินบาทไปซื้อดอลลาร์ เพื่อกดไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้ แต่ผลที่ตาม ก็คือ ทำให้เงินทุนสำรองที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ธปท.ต้องบริหารเงินทุนสำรองที่เป็นสกุลดอลลาร์ดังกล่าว ซึ่งในขณะที่แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง (เงินบาทแข็งค่า) และผลตอบแทน (อัตราดอกเบี้ย) ของพันธบัตรสหรัฐก็อยู่ในระดับต่ำมาก และหากแปลงเป็นเงินยูโรหรือเยนก็จะยังประสบปัญหาเดียวกัน
ผลที่ตามมา ก็คือ ธปท. จะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วหรือผันผวนจนเกินไป ซึ่ง ธปท. ประสบปัญหาการขาดทุนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา (ยกเว้นปี 2551 ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า) และยังต้องประสบปัญหารายรับดอกเบี้ยจากการลงทุนในสินทรัพย์ (เงินทุนสำรอง) ต่ำกว่ารายจ่ายดอกเบี้ย (จากการออกพันธบัตรเพื่อบริหารสภาพคล่อง) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย
ขณะที่ ธปท.ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงพอสมควร ปัญหาจึงอยู่ที่ถ้าหากปริมาณเงินในระบบมีมากจะกดให้อัตราดอกเบี้ยลดลง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ธปท.จึงต้องดูดซับสภาพคล่อง (Sterilization) ด้วยการดึงเงินบาทออกจากระบบ โดยการออก (ขาย) พันธบัตร ธปท.
หากดูงบดุลของ ธปท. จะพบว่าสินทรัพย์ที่เป็นสกุลดอลลาร์กำลังเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนี้สินซึ่งเป็นสกุลเงินบาทก็กำลังเพิ่มเช่นเดียวกัน (จากการออกพันธบัตร)
ประเด็นหลักคือ การพยายามปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท (ไม่ให้แข็งค่า) จะเปิดโอกาสให้มีเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นภาระกับ ธปท. อย่างมาก
การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษาต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าเงินในประเทศไทย
- ทำอย่างไรเพื่อหยุดวัฏจักรเงินทุนไหลเข้า : o วิธีที่หนึ่ง คือ ปล่อยเงินบาทแข็งค่าถึงขั้นขาดดุลกการค้า เพราะการแข็งค่าจะจูงใจให้เกิดการนำเข้าเพิ่มขึ้น (นำเข้าสินค้าทุนเพื่อมาใช้ประโยชน์ในการลงทุน หรือ การสั่งสินค้าฟุ่มเฟื่อยเพื่อการบริโภค) ในขณะที่การส่งออกลดลง o วิธีที่สอง คือ การทำ Capital Control คือ มีมาตรการลดกำไรของผู้นำเงินเข้ามาลงทุนในระยะสั้น เช่น มาตรการที่ประกาศใช้ในปี 2549 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเงินบาทจะแข็งค่าเร็วเท่าใด หากเฉลี่ยเดือนละ 3% อาจมีความเป็นไปได้ที่มาตรการลักษณะนี้จะถูกนำมาใช้
- เป็นไปได้หรือไม่ที่แบงก์ชาติจะลดบทบาท และปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทด้านค่าเงิน : ที่ผ่านมามีบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่ธนาคารกลางไม่แทรกแซงค่าเงิน ปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามความต้องการซื้อและขายของตลาด ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าต้องรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเต็มที่ หรือต้องบริหารความเสี่ยงเอง หากเป็นผู้ประกอบรายใหญ่ก็จะสามารถบริหารความเสี่ยงได้โดยการทำ Forward แต่สำหรับผู้ประกอบการ SMEs อาจประสบความลำบากในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น วิธีการดังกล่าวจึงต้องดูความพร้อมของผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ ด้วย
- ความเป็นไปได้ที่อเมริกาจะหาแนวทางเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ : การสร้างเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้สหรัฐซึ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของโลกลดมูลหนี้ของตนลง ทำให้เจ้าหนี้ (ผู้ถือตราสารหนี้ของสหรัฐ) ได้เงินคืนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย - แนวทางความเป็นไปได้ในการเอาทุนสำรองของประเทศมาตั้งเป็นกองทุน ไปซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ : ปัญหาคือ หากการลงทุนนั้นทำให้เกิดความเสียหาย เท่ากับเป็นการทำความเสียหายให้กับทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งมีโทษจำคุกและนี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่เกิดกองทุนดังกล่าว
- การปรับโครงสร้างในแถบภูมิภาคอาเซียน โดยรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งและลดการพึ่งพาเศรษฐกิจอเมริกา
- ทางออกที่จะไม่เกิด Capital Control แต่ทำให้ดุลการค้ากลับทิศ ความเป็นไปได้ คือ ต้องหาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่สามารถลงทุนได้เร็วและสร้างฐานความมั่งคั่งในอนาคต ดังนั้น ต้องมีการนำเข้าและระบายเงินออกสูง หากมีการใช้จังหวะนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งต้องพิจารณาโครงการที่ให้ผลตอบแทนคุ้มทุน ภาครัฐสามารถทำโครงการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน โดยเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ต้องทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ คือ รัฐบาลกู้เงินจากเงินสำรองมาทำประโยชน์ เป็นการใช้ความมั่งคั่งของประเทศมาทำให้เกิดประโยชน์
- รัฐควรมีมาตรการส่งเสริมการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศในช่วงที่สถานะการเงินของประเทศเป็นเช่นนี้
มองปัญหาเงินบาทในมุมกว้าง คอลัมน์ เศรษฐกิจต้องรู้ โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เราเผชิญกับ "ปัญหา" การแข็งค่าของเงินบาท ทำให้พยายามมองหามาตรการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือจัดการกับการแข็งค่าของเงินบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก ซึ่งเป็นการมองปัญหาที่ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าทำไมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงไม่แก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด เช่น ตรึงค่าเงินบาทเอาไว้ ผู้ส่งออกจะได้ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกัน ก็มีการเสนอให้ ธปท.หยุดปรับขึ้นดอกเบี้ย มิฉะนั้นแล้ว ก็จะมีเงินไหลเข้ามาซื้อพันธบัตรไทยเพิ่มขึ้นอีก (เพราะดอกเบี้ยโลกอยู่ที่ระดับต่ำ) และหากจะต้องมีมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน ก็อย่าทำให้กระทบกับตลาดหุ้น หรือหากจะควบคุม ก็ควบคุมเฉพาะเงินที่ไหลเข้าไปลงทุนตลาดพันธบัตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งย่อมทำให้ผู้ประกอบการในตลาดพันธบัตรรู้สึกน้อยใจว่าถูกกระทบแต่ฝ่ายเดียว แต่หากพยายามประติดประต่อพัฒนาการที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก เพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหา แล้วจะสามารถเข้าใจความท้าทายได้อย่างชัดเจนขึ้น
1.ภูมิหลังของปัญหา คนส่วนใหญ่จะสรุปว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความโลภของภาคเอกชน (โดยเฉพาะ Wall Street หรือภาคการเงินของสหรัฐ) ฮอลลีวูดจึงได้สร้างหนัง Wall Street ภาค 2 ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกลับชี้ให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐ (โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ) นั้นมีส่วนอย่างมากในการสร้างวิกฤตที่เกิดขึ้น เพราะดำเนินนโยบายกดดอกเบี้ยลงต่ำอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ปี ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อฟองสบู่ภาคธุรกิจอินเทอร์เน็ตแตกในปี 2000 ก็รีบลดดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำลงมาก แต่กลายเป็นการสร้างฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แทนที่ จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าหากเสี่ยงแล้วมีกำไรก็เก็บกำไรเอาไว้ แต่หากขาดทุนธนาคารกลางก็จะช่วยอุ้มไม่ให้ได้รับความเสียหายมากนัก เสมือนการสร้างเงื่อนไขว่าถ้าแทงหวยแล้วถูกรางวัลก็รับรางวัลทั้งหมดไป แต่ถ้าไม่ถูกเอาเงินคืนได้ครึ่งหนึ่ง
ภาคเอกชนสหรัฐจึงกล้าได้กล้าเสีย เพราะไม่ต้องกลัวเสียหายมาก และวิกฤตครั้งล่าสุด ทางการสหรัฐก็ยังมีพฤติกรรมอย่างเดิม คือกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง (ขาดดุลงบประมาณ 10% ของ จีดีพี หรือ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) และใช้นโยบายการเงินกดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ ทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลงไม่มาก ทั้งนี้ การอุ้มราคาสินทรัพย์ไม่ให้ลดลง ช่วยให้ธนาคารไม่ต้องตัดหนี้เสียมาก คือไม่ต้องเพิ่มทุนมากนั่นเอง ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับกรณีวิกฤตปี 1997 ของไทย ไอเอ็มเอฟชี้นำให้ไทยปรับขึ้นดอกเบี้ย เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (จาก 7% เป็น 10%) ทำให้ธุรกิจล้มละลาย และราคาสินทรัพย์ปรับลงอย่างมาก (จึงมีคนเคยรวยเป็นจำนวนมาก) ผลคือคนไทยสูญเสียความเป็นเจ้าของ โดยต้องยอมขายหุ้นส่วนหนึ่งให้ต่างชาติ ทำให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของธุรกิจไทยโดยเฉพาะธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง
ขณะที่สหรัฐและยุโรปกลับทำตรงกันข้าม คือพยายามอุ้มไม่ให้ราคาสินทรัพย์ลดลง เพื่อรักษาความเป็นเจ้าของ เราจึงไม่เห็นต่างชาติ เช่นเอเชียและตะวันออกกลางเข้าไปเพิ่มทุนธนาคารและบริษัทอเมริกาและยุโรปอย่างที่น่าจะเกิดขึ้น
2.การแก้ปัญหาแบบ "อมโรค" การกดดอกเบี้ยลงต่ำเกือบศูนย์นั้น เป็นการไม่ยอมรับความจริงว่าราคาสินทรัพย์ควรปรับลดลงอย่างมาก ซึ่งการพยุงให้ราคาสินทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่ำ นั่นคือกำไรต่ำ รายได้ต่ำ และจ้างงานต่ำเป็นเงาตามตัว เศรษฐกิจจึงจะไม่ฟื้น หรือฟื้นตัว อย่างเชื่องช้า ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจฟุบตัว เพราะเศรษฐกิจนั้นเหมือนการถีบจักรยาน หากถีบช้าเกินไปก็อาจล้มลงได้โดยง่าย ดังนั้น ธนาคารกลางของอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นจึงต้องการกดดอกเบี้ยลงทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาว โดยพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรทุกประเภท (ทั้งของรัฐและเอกชน) ทั้งที่เป็นพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าวน่าจะ ยืดเยื้อต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี
ดังนั้น จึงต้องเข้าใจสภาพของเศรษฐกิจโลกใหม่หลังวิกฤตเศรษฐกิจว่าเป็นสภาพที่ธนาคารกลางของประเทศหลักที่มีสัดส่วน 60% จีดีพีโลกและเป็นประเทศที่เป็นเจ้าของเงินสกุลหลักของโลก (คือดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และเยน) จะตั้งหน้าตั้งตาพิมพ์เงินออกมาอย่างไม่ลดละ เพื่ออุ้มเศรษฐกิจของ ตัวเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาทองคำปรับ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทองคำกำลังจะกลายเป็นเงินสกุลหลักของโลกชนิดเดียวที่มีอุปทาน หรือปริมาณผลิตจำกัด
3.ผลกระทบต่อไทยและเอเชีย สิ่งที่ท้าทายประเทศไทย คือเศรษฐกิจเรากำลังจะกลับไปสู่การขยายตัวปกติ เพราะเราไม่ได้เผชิญกับวิกฤตภาคธนาคารที่ต้องมีการตัดหนี้เสียและเพิ่มทุน ธปท.จึงต้องการปรับดอกเบี้ยกลับไปสู่ระดับปกติ เช่นในกรอบนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) ของ ธปท.นั้น หากเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ต่อปี ก็ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ 1.75% ไปที่ 3% แปลว่าต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1.25% แต่ในสภาวะโลกที่ดอกเบี้ยของเงินสกุลหลักอยู่ใกล้ศูนย์ก็จะกระตุ้นให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นเมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลไทย 2 ปี ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) 2.4% เปรียบเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐให้ ผลตอบแทนเพียง 0.4% ก็น่าจะสรุปได้ว่าเงินทุนจะไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยไม่ต้องกลัวความเสี่ยง เพราะกำไรแน่ ๆ ทั้งจากส่วนต่างดอกเบี้ยและเงินบาทที่มีแต่จะแข็งค่าขึ้น
ข้อสรุปคือหากโลกเขาจะกดดอกเบี้ยลงต่ำแล้วไทยจะดันดอกเบี้ยให้สูงกว่าของโลกอย่างมากได้อย่างไร
4.หากไม่ขึ้นดอกเบี้ยและแทรกแซงค่าเงินบาท หาก ธปท.ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะเพิ่มความเสี่ยงอย่างมากที่จะปล่อยให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่นในหุ้นหรือภาคอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงแรกนั้นคงไม่มีใครต่อว่า เพราะดูเสมือนทุกคนรวมทั้งรัฐบาลก็จะพอใจที่เศรษฐกิจคึกคักอย่างมาก แต่ความคึกคักจะกลายเป็นความคึกคะนองและฟุ้งเฟ้อได้ในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
และหากจะเข้าไปแทรกแซงโดยการซื้อเงินดอลลาร์และขายเงินบาทออกมาเพื่อช่วยไม่ให้เงินบาทแข็งค่าก็จะเป็นภาระอย่างมากต่อธนาคารกลาง ดังที่ผมเคยเขียนถึงมาแล้วในครั้งก่อนหน้านี้ แต่ที่สำคัญ คือจะต้องเข้าใจว่าสิ่งเกิดขึ้น คือธนาคารกลางเอเชียกำลังซื้อเงินสกุลหลักของโลกเป็น จำนวนมาก คือถือดอลลาร์ เยนและยูโรเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลตอบแทนต่ำมาก เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี ได้ดอกเบี้ยเพียง 0.4% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ (ที่ไม่ต้องการลงทุนในประเทศของตนเพราะดอกเบี้ยต่ำใกล้ศูนย์) ขนเงินมาลงทุนในไทยและเอเชียโดยได้ผลตอบแทนสูงกว่า เท่ากับว่าได้รับการอุดหนุนจากธนาคารเอเชียนั่นเอง
5.ทางเลือกอื่น ๆ หากไม่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเลย ก็จะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระทบต่อธุรกิจส่งออกของไทยอย่างมาก เพราะภาคเศรษฐกิจจริงปรับตัวได้ช้ากว่าการไหลเข้าของเงินทุนที่ทำได้โดยทันที และเกือบจะไม่มีต้นทุนในการเคลื่อนย้ายเลย การปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วย่อมจะทำให้เงินเฟ้อลดลงอย่างมาก ซึ่งมีผลให้ดอกเบี้ยจริง (ดอกเบี้ยจริงคือ ดอกเบี้ยลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ปรับขึ้น และชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจไทยคงจะต้องชะลอตัวลงอย่างมากจนกระทั่งดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ของประเทศหลักนั้นเหมาะสมกับสภาวะการชะลอตัวของไทยดังกล่าว เว้นแต่ว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะฟื้นตัวทำให้เขาต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น และดอกเบี้ยของเราก็จะสามารถปรับขึ้นตามไปด้วย
และด้วยเหตุนี้จึงได้มีการคาดการณ์ว่าในที่สุดธนาคารกลางของเอเชียอาจต้องเลือกมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน หากมีเม็ดเงินไหลเข้ามาอย่างมาก เพื่อให้สามารถปรับดอกเบี้ยภายในประเทศขึ้นได้ อันจะเป็นการรักษาวินัยทางการเงินและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวคือการเข้าไปควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนในสถานการณ์ดังกล่าว สามารถอธิบายเหตุผลได้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าแม้มีมาตรการดังกล่าว การแข็งค่าของเงินบาทก็น่าจะ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ส่งออกก็จะต้องปรับตัว เพียงแต่จะมีเวลาปรับตัวที่สมเหตุสมผลครับ
จากคอลัมน์ CMA Leader Society โดย วตท. นิตยสาร M&W ตุลาคม 2553 http://www.moneychannel.co.th/MoneyChannel/Speech/tabid/55/ newsid478/125485/Default.aspx http://bit.ly/c5yGyu http://www.moneychannel.co.th/Menu6/NewsUpdate/tabid/89/ newsid491/127048/Default.aspx http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1287034506
|