Thai Jewelry Designers : by Chuchai ต้นแบบซูเปอร์มาร์เก็ตเครื่องประดับหรู แม้ “Gempeace by Chuchai” ชื่อนี้จะได้รับการตอบรับจากไฮโซชาวไทยและลูกค้าต่างชาติในเรื่องความหรูเริ่ด อลังการ และ ไม่ธรรมดา ทั้งในแง่ของคุณภาพและดีไซน์ แต่สำหรับ ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ ผู้ที่ปั้นแบรนด์นี้มากับมือกลับมองว่า ร้านเพชร Gempeace by Chuchai ทั้ง 2 สาขา ที่ดิเอ็มโพรเรี่ยม และเพนนินซูล่า พลาซ่า อาจจะยังไม่ได้ตอบโจทย์คนอยากมีเฟอร์นิเจอร์หรูไว้ประดับกายบางกลุ่ม นี่เองจึงเป็นที่มาของร้านเพชรที่เป็นในลักษณะของสแตนอะโลน ที่ชื่อ Chuchai Gempeace และ C2 by Chuchai เอาใจคนรักเครื่องประดับที่ชอบดีไซน์ แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร แต่ราคาสบายกระเป๋า ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ เล่าว่า Gempeace by Chuchai ให้ประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับเขาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่อาจจะยังไม่ครอบคลุม ด้วยดีไซน์และมูลค่าของเครื่องประดับที่ขายอยู่ในร้านเจ็มพีซล้วนแต่เป็นของชิ้นใหญ่และราคาสูง ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างเงินหมุนเวียนในแต่ละเดือน และการขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อรองลงมา หรือกลุ่มที่มีกำลังซื้ออยู่แล้วแต่ติดด้วยดีไซน์ "ลูกค้าของ Gempeace มากกว่า 90% กลับมาซื้อซ้ำแต่ด้วยมูลค่าต่อชิ้นที่สูงทำให้การตัดสินใจซื้ออาจช้า เฉลี่ยต่อปีต่อคนอยู่ที่ประมาณ 3 ครั้ง" แต่ถ้าเป็น C2 โอกาสที่ลูกค้าจะซื้อมีบ่อยกว่ามากถึง 25-30% คิดเป็นตัวเงินก็น่าจะมีเงินหมุนเวียนในร้านเดือนละไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านบาท" นอกจากนี้จากนี้ ชูชัย ยังบอกอีกว่าข้อจำกัดของการเปิดร้านเพชรสำหรับเขาคือ ทำเล ที่ถ้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าก็มักจะถูกจัดอยู่ในทำเลที่ที่ไม่ค่อยมีคนเดิน ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตเองว่าอาจเป็นด้วยเพราะตัวสินค้าเองที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม และมีราคาสูง หากเป็นในลักษณะของตู้โชว์ซึ่งอาจได้ทำเลที่ดีกว่า แต่ก็มักจะถูกคิดค่าเช่าพื้นที่เป็นส่วนแบ่งจากยอดขาย กลายเป็นต้นทุนที่แพงเกินความจำเป็น และที่สุดหากเลือกวิธีนี้ก็จะทำให้ต้นทุนขายสินค้าต่อชิ้นต้องแพงขึ้นไปด้วย “หากต้องจ่ายส่วนแบ่งจากยอดขายที่สูงถึง 40% ต่อให้เราขายของแพงขึ้น 3 เท่า ยังได้ส่วนแบ่งน้อยกว่าห้างเลย” ชูชัย กล่าวพร้อมกับอธิบายเชิงตัวเลขว่า หากต้นทุนสินค้าอยู่ที่ 50 บาท แล้วตั้งราคาขายที่ 200 บาท จ่ายค่าพื้นที่ให้ห้างฯ 80 บาท ขณะที่ค่าไอเดียและงานฝีมือของเขาได้เพียง 70 บาท เท่ากับว่าเขายังคงน้อยกว่าห้างสรรพสินค้าอยู่ดี ขณะที่ร้านในลักษณะสแตนอะโลนเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าเช่าที่ชัดเจน และที่สำคัญไม่แพงเท่า “ถ้าทำเลดีและส่วนแบ่งที่ต้องจ่ายให้กับทางห้างสรรพสินค้าไม่แพง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เลือก แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ถือได้ว่าเป็นอีกปรากฏการณ์ของร้านเพชรในเมืองไทย” วันนี้ Chuchai Gempeace และ C2 by Chuchai เปิดรับลูกค้าย่านเอกมัย-รามอินทรามาได้ประมาณ 5 เดือนแล้ว ซึ่งกระแสตอบรับชูชัยบอกว่าเป็นที่น่าพอใจ และในเดือนสิงหาคมคาดว่าที่จะเปิดสาขา 2 ที่เจอเวนิวรัชโยธินได้ ภายใต้งบประมาณไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีแผนที่จะขยายให้ได้อย่างน้อย 10 สาขา ในอีก 3 ปี โดยจะโฟกัสที่ C2 by Chuchai เป็นหลัก เพราะเชื่อว่ากำลังซื้อกลุ่มนี้ยังมีมากในตลาด เพียงแต่ต้องตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าให้ได้ เบื้องต้นมีแนวคิดว่านอกจากในส่วนของงานดีไซน์ผลิตภัณฑ์แล้ว ยังเตรียมที่จะดีไซน์การตกแต่งร้านให้เป็นสไตล์เมืองต่างๆ ในย่านเอเชีย อาทิเช่น จีน อียิปต์ ไทย ขณะที่งบประมาณการตลาดเพื่อสร้างกระแส Chuchai Gempeace และ C2 by Chuchai อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท สำหรับสิ่งที่ ชูชัย เลือกนำเข้ามาใช้กับ C2 by Chuchai คือ สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ราคาระดับที่จ่ายได้โดยใช้ไอเดียและดีไซน์เข้ามาช่วย ทำให้ลูกค้ายังคงได้คุณภาพของสินค้าเทียบเท่า Chuchai Gempeace หรือ Gempeace by Chuchai เพียงแต่ลดขนาดลงเพื่อให้เหมาะกับความต้องการกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกันนี้ยังนำเรื่องของบริการในร้านและหลังการขาย เข้ามาสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า อาทิเช่น มารยาทของพนักงานขายในร้าน ใบรับรองคุณภาพสินค้าที่ออกให้กับลูกค้าเฉพาะบุคคล ในอนาคตเตรียมที่จะนำเรื่องระบบ GPRS เข้ามาช่วยในเรื่องของการตรวจเช็คสินค้าและจัดเก็บ เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกใจในการเลือกชมสินค้ามากขึ้น นอกจากในเรื่องของการจัดวางสินค้าที่แบ่งเป็นโซน ตามบุคลิกของลูกค้า อาทิเช่น กลุ่มเครื่องประดับเพชรดีไซน์มาตรฐาน คลาสสิก กลุ่มนี้จะใส่ได้ทุกวัน ไม่ล้าสมัยหรือหวือหวามากนัก และกลุ่มเครื่องประดับงานอาร์ต ที่เน้นดีไซน์หวือหวา และนำเทรนด์แฟชั่นที่กำลังฮิตมาเป็นส่วนหนึ่งของงานดีไซน์ “เหล่านี้จะทำให้ร้านเพชรบายชูชัย เป็นได้เหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีทุกอย่างให้เลือกช้อป อย่างสะดวกสบาย ตามสไตล์ของแต่ละบุคคล” โอกาสธุรกิจทางความคิดของ ชูชัย ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เขายังแผนที่จะขายไลน์สินค้าหลังปั้นแบรนด์ C2 by Chuchai ติดตลาดและมีสาวกพันธุ์แท้แล้วระดับหนึ่ง ซึ่งเขาตั้งเป้าไว้ที่หากสามารถเปิดร้านC2 by Chuchai ได้สักประมาณ 5 สาขา C2 by Chuchai แบรนด์นี้จะถูกต่อยอดไปสู่สินค้าและบริการอื่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม บิวตี้ และที่สุดของการปั้นแบรนด์ครั้งนี้คือ ผู้นำเทรนด์และกำหนดทิศทางแฟชั่นเครื่องประดับในประเทศไทย ข้อมูล FashionBiz gemclub.blogspot.com |