This Is Halloween
วันฮาโลวีน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บรรยากาศวันฮาโลวีนที่ผู้คนจะแต่งแฟนซีเป็นผี
เป็นงานฉลองในคืนวันที่ 31 ตุลาคม ในประเทศทางตะวันตก เด็กๆ จะแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจพากันชักชวนเพื่อนฝูงออกไปงานฉลอง มีการประดับประดาแสงไฟ และที่สำคัญคือแกะสลักฟักทองเป็นโคมไฟ เรียกว่า แจ๊ก-โอ'-แลนเทิร์น (jack-o'-lantern) การฉลองวันฮาโลวีนนิยมจัดกันในสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา และยังมีในออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์ด้วย รวมถึงประเทศอื่นในทวีปยุโรปก็นิยมจัดงานวันฮาโลวีนเพื่อความสนุกสนาน
ประวัติ
วันที่ 31 ต.ค. เป็นวันที่ชาว เคลต์ (Celt) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอร์แลนด์ ถือกันว่า เป็นวันสิ้นสุดของฤดูร้อน และวันต่อมา คือ วันที่ 1 พ.ย. เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งในวันที่ 31 ต.ค. นี่เองที่ชาวเคลต์เชื่อว่าเป็นวันที่มิติคนตาย และคนเป็นจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมาจะเที่ยวหาร่างของคนเป็นเพื่อสิง สู่ เพื่อที่จะได้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เดือดร้อนถึงคนเป็น ต้องหาทุกวิถีทางที่จะไม่ให้วิญญาณมาสิงสู่ร่างตน ชาวเคลต์จึงปิดไฟทุกดวงในบ้าน ให้อากาศหนาวเย็น และไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบรรดาผีร้าย นอกจากนี้ยังพยายามแต่งกายให้แปลกประหลาด ปลอมตัวเป็นผีร้าย และส่งเสียงดังอึกทึก เพื่อให้ผีตัวจริงตกใจหนีหายสาบสูญไป บางตำนานยังเล่าถึงขนาดว่า มีการเผา "คนที่คิดว่าถูกผีร้ายสิง" เป็นการเชือดไก่ให้ผีกลัวอีกต่างหาก แต่นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ที่ความคิดเรื่องผีสางยังฝังรากลึกในจิตใจมนุษย์ ต่อมาในศตวรรษแรกแห่งคริสตกาล ชาวโรมันรับประเพณีฮาโลวีนมาจากชาวเคลต์แต่ได้ตัดการเผาร่างคนที่ถูกผี สิงออก เปลี่ยนเป็นการเผาหุ่นแทน กาลเวลาผ่านไป ความเชื่อเรื่องผีจะสิงสูร่างมนุษย์เสื่อมถอยลงตามลำดับ ฮาโลวีนกลายเป็นเพียงพิธีการ การแต่งตัวเป็นผี แม่มด สัตว์ประหลาดตามแต่จะสร้างสรรค์กันไป ประเพณีฮาโลวีนเดินทางมาถึงอเมริกาในทศวรรษที่ 1840 โดยชาวไอริชที่อพยพมายังอเมริกา สำหรับประเพณี ทริกออร์ทรีต (Trick or Treat แปลว่า หลอกหรือเลี้ยง) นั้น เริ่มขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยชาวยุโรป ซึ่งถือว่า วันที่ 2 พ.ย. เป็นวัน 'All Souls' พวกเขาจะเดินร้องขอ 'ขนมสำหรับวิญญาณ' (soul cake) จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง โดยเชื่อว่า ยิ่งให้ขนมเค้กมากเท่าไร วิญญาณของญาติผู้บริจาคก็ได้รับผลบุญ ทำให้มีโอกาสขึ้นสวรรค์ได้มากเท่านั้น
การเล่น trick or treat ตามบ้านคน ส่วนตำนานที่เกี่ยวกับฟักทองนั้น เป็นตำนานพื้นบ้านของชาวไอริช ที่กล่าวถึง แจ๊คจอมตืด ซึ่งเป็นนักเล่นกลจอมขี้เมา วันหนึ่งเขาหลอกล่อปีศาจขึ้นไปบนต้นไม้ และเขียนกากบาทไว้ที่โคนต้นไม้ ทำให้ปีศาจลงมาไม่ได้ จากนั้นเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจ 'ห้ามนำสิ่งไม่ดีมาหลอกล่อเขาอีก' แล้วเขาจะปล่อยปีศาจลงจากต้นไม้ เมื่อแจ็คตายลง เขาปฏิเสธที่จะขึ้นสวรรค์ ขณะเดียวกันปฏิเสธที่จะลงนรก ปีศาจจึงให้ถ่านที่กำลังคุแก่เขา เพื่อเอาไว้ปัดเป่าความหนาวเย็นท่ามกลางความมืดมิด และแจ็คได้นำถ่านนี้ใส่ไว้ในหัวผักกาดเทอนิพที่ถูกเจาะให้กลวง เพื่อให้ไฟลุกโชติช่วงได้นานขึ้น ชาวไอริชจึงแกะสลักหัวผักกาดเทอนิพ และใส่ไฟในด้านใน อันเป็นอีกสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน
เพื่อระลึกถึง 'การหยุดยั้งความชั่ว' Trick or Treat เพื่อส่งผลบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับ และพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญวันปีใหม่ แต่เมื่อมีการฉลองฮาโลวีนในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกาพบว่า ฟักทองหาง่ายกว่าหัวผักกาดมาก จึงเปลี่ยนมาใช้ฟักทองแทน หัวผักกาดจึงกลายเป็นฟักทองด้วยเหตุผลฉะนี้ ในสหรัฐอเมริกาคือการละเล่นอย่างหนึ่งที่เด็กๆ เฝ้ารอคอย ในวันฮาโลวีนตามบ้านเรือนจะตกแต่งด้วยโคมไฟฟักทองและตุ๊กตาหุ่นฟางที่เป็น ส่วนหนึ่งของเทศกาลประเพณีเก็บเกี่ยว (Harvest) ในช่วงเดียวกันนั้น แต่ละบ้านจะเตรียมขนมหวานที่ทำเป็นรูปเม็ดข้าวโพดสีขาวเหลืองส้มในเม็ดเดียว กัน เรียกว่า Corn Candy และขนมอื่นๆไว้เตรียมคอยท่า ส่วนเด็กๆ ในละแวกบ้านก็จะแต่งตัวแฟนซีเป็น ภูตผีมาเคาะตามประตูบ้าน โดยเน้นบ้านที่มีโคมไฟฟักทองประดับ (เพราะมีความหมายโดยนัยว่าต้อนรับพวกเขา) พร้อมกับถามว่า "Trick or treat?" เจ้าของบ้านมีสิทธิที่จะตอบ treat ด้วยการยอมแพ้ มอบขนมหวานให้ภูตผี(เด็ก)เหล่านั้น ราวกับว่าช่างน่ากลัวเหลือเกิน หรือเลือกตอบ trick เพื่อท้าทายให้ภูตผีเหล่านั้นอาละวาด ซึ่งก็อาจเป็นอะไรได้ ตั้งแต่แลบลิ้นปลิ้นตาหลอกหลอน ไปจนถึงขั้นทำลายข้าวของเล็กๆ น้อยๆ แล้วอาจจบลงด้วยการ treat เด็กๆ ด้วยขนมในที่สุด
วันฮาโลวีนอังกฤษ
ที่ประเทศนี้ถือว่าวันฮาโลวีนนี้ เป็นวันดี เหมาะสำหรับจัดงานแต่งงาน การทำนายโชคชะตา หรือแม้แต่เรื่องความตายยังถือว่า วันนี้เป็นเพียงวันเดียวที่ภูติผีวิญญาณจะช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่คนเป็นต้อง การสามารถเป็นไปตามใจปรารถนา ประมาณเที่ยงคืนของวันฮาโลวีนสาว อังกฤษจะออกมาหว่าน และไถกลบเมล็ดป่าน พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน และท่องคาถาร้องขอให้มองเห็นภาพของว่าที่คู่ชีวิตของตนในอนาคต เมื่อสาวเจ้าเหลียวมองผ่านบ่าด้านซ้ายก็จะได้เห็นภาพนิมิตของผู้ที่จะมาเป็น สามีของตนในอนาคต
อีกประเพณีหนึ่งของชาวอังกฤษ คือ การหย่อนเหรียญ 6 เพนนีลงในอ่างน้ำ พร้อมแอปเปิ้ล ผู้ใดสามารถแยกแยะของสองสิ่งนี้ออกจากกันได้โดย ใช้ปากคาบเหรียญ และใช้ส้อมจิ้มแอปเปิ้ลให้ติดได้ในครั้งเดียว ผู้นั้นจะมีโชคดีตลอดปีใหม่ที่กำลังจะมาเยือน
วันฮาโลวีน
จาก www.yenta4.com
เดือน พฤศจิกายนในปี ค.ศ.731 พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 3 ทรงเป็นผู้กำหนดให้บรรดา คริสตัง "ฉลองนักบุญทั้งหลาย" วันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งพระองค์ทรงย้ายจากวันฉลองเดิมคือ 13 พฤษภาคม เพื่อจะอุทิศวันนี้แก่วัดนักบุญทั้งหลายอันเป็นวัดน้อยอยู่ในพระมหาวิหารนัก บุญเปโตร, กรุงโรม และ "วันฉลองนักบุญทั้งหลาย" 1 พฤศจิกายน ก็แพร่หลายไปทั่วโลกตั้งแต่ปีนั้นเอง พอในปี ค.ศ.998 นักบุญโอดิโล, อธิการอารามแห่งคลุนนี่ ในประเทศฝรั่งเศส ก็ได้เพิ่มเอาวันที่ 2 พฤศจิกายน เป็นวันระลึกถึงบรรดาวิญญาณผู้ล่วงลับทั้งหลาย ดังนั้นพระศาสนจักรคาทอลิกซึ่งมีวันฉลอง "บรรดานักบุญทั้งหลาย" แล้ว ก็ยังมีวันฉลอง "บรรดาผู้ล่วงลับ" ไปแล้วทุกคนติดกัน คือวันที่ 1 และ 2 พฤศจิกายน ตามลำดับ
ธรรมเนียมชาวฝรั่งเศส ราวศตวรรษที่ 14 หรือ 15, ในประเทศฝรั่งเศส ช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด เป็นฝีตายกันเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดประชากรในทวีปยุโรปหดหายไปครึ่งหนึ่ง บรรดาศิลปินก็จะบรรยายความน่ากลัวของ "ความตายสีดำ" ของโรคระบาดนี้ ด้วยการวาดภาพบนกำแพงสุสานเป็นภาพบรรดาปีศาจเดินนำฝูงชนที่ถูกล่ามโซ่ไว้ เป็นแถวยาวเดินลงสู่หลุมฝังศพ ภาพเหล่านี้เรียกว่า "ระบำแห่งความตาย" (Dance of Death) หรือ (The Dance Macabre) บางทีการแสดงออกของระบำความตายก็แสดงได้ด้วยการแต่งชุดเหมือนผู้ตายในวัน "ฉลองนักบุญทั้งหลาย" (1 พฤศจิกายน) ดังนั้นเราจะเห็นว่าคริสตังชาวไอริชระลึกถึงผู้ล่วงลับที่ไม่ได้รับความรอด วันสุกดิบก่อนฉลองนักบุญทั้งหลาย (31 ตุลาคม) แต่ไม่ได้แต่งตัวอะไร และคริสตังชาวฝรั่งเศสระลึกถึงความตายอันเกิดจากโรคระบาดโดยการแต่งชุด เหมือนผู้ตายในวันฉลองนักบุญ ทั้งหลาย (1 พฤศจิกายน)
การรวมธรรมเนียมทั้งสอง ที่สุดราวศตวรรษที่ 18 เมื่อคริสตังไอริชและคริสตังฝรั่งเศสที่อพยพ มาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเริ่มสร้างชาติใหม่ๆ พวกเขาได้แต่งงานกัน และก็นำธรรมเนียมทั้งสองมาผสมกันด้วยการแต่งชุดต่างๆ ในวันสุกดิบก่อนฉลองนักบุญทั้งหลาย จึงเป็นที่มาของวัน "ฮาโลวีน" ในปัจจุบันคือ 31 ตุลาคม
การปฏิบัติในคืนวัน "ฮาโลวีน"
พวกเด็กๆ จะสนุกสนานมากในคืนวัน "ฮาโลวีน" เพราะพวกเขาจะได้แต่งตัวเลียนแบบคนตาย เช่น เป็นโจรสลัด, กัปตัน, โครงกระดูก, หญิงในสมัยโบราณ หรือสุดจะคิดค้นกันขึ้นมาอย่างในสมัยปัจจุบัน และก็เดินไปเคาะประตูตามบ้านต่างๆ เพื่อขอขนม, ลูกกวาด ฯลฯ โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกฟักทองล้วงเนื้อออกเพื่อใส่เทียนเข้าวางไว้ และจะมีแสงสว่างออกมาจากรูจมูก, ลูกตาและปากที่เจาะไว้บนลูกฟักทอง ตั้งไว้หน้าบ้าน เด็กๆ จะเคาะประตูและเมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตู พวกเขาก็จะร้องทักว่า "Trick or Treat" ซึ่งเด็กๆ ทั่วไปก็เป็นเพียงคำพูดไร้เดียงสา เพื่อพูดตามธรรมเนียมการขอขนม พวกเขาไม่เข้าใจความหมายแท้จริงของมัน เพราะว่าคำว่า "Trick or Treat" คำนี้ เป็นคำคล้ายคำพูดของพวกบูชาลัทธิปีศาจ ทำนองว่า ทำสนธิสัญญาตกลงกับมันหรือไม่ก็จะมีการล่อลวงเพราะพวกเด็กๆ จะแต่งตัว เป็นผู้ล่วงลับหรือผี ก็มาขู่เจ้าของบ้าน เด็กๆ ไม่เข้าใจความหมาย แท้จริง ก็เลยพูดกันมาตามธรรมเนียม และพวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกไม่ดีอะไร เพียงแต่สนุกสนานเท่านั้น พวกเจ้าของบ้านเมื่อเอาขนม, ลูกกวาดออกมาให้แล้ว บางแห่งก็จะมีการร้องเพลงให้แก่บ้านนั้น ซึ่งบางแห่งดั้งเดิมก็จะสวดภาวนาให้แก่เจ้าของบ้าน หรืออุทิศแด่วิญญาณผู้ล่วงลับ เราไม่จำเป็นต้องทำให้เด็กเสียความรู้สึกกับคำว่า "Trick or Treat" แต่ควรสอนเด็กๆ ว่า ปีศาจซ่อนเร้นอยู่ในรูปภายนอกที่ดูสวยงามคอยหลอกลวงเรา คล้ายมันใส่หน้ากาก หลอกลวงผู้คนเพื่อปิดบังโฉมหน้าแท้จริงของมัน พระคัมภีร์กล่าวว่า "เราทั้งหลายรู้ว่า คนที่เกิดจากพระเจ้าไม่ทำบาป แต่พระบุตรของพระเจ้าได้ทรงคุ้มครองรักษาเขา และมารร้ายไม่แตะต้องเขา เราทั้งหลาย รู้ว่าเราเกิดจากพระเจ้า และโลกทั้งสิ้นอยู่ใต้อานุภาพของมารร้าย"
ธรรมเนียมการขอขนมก็มาจากประเทศอังกฤษอีกธรรมเนียมหนึ่ง คือ ธรรมเนียมวัน "กี ฟอว์เก" อันเป็นวันฉลองต่อต้านพวกคาทอลิกในประเทศอังกฤษ "กี ฟอว์เก" เป็นคนไม่รอบคอบแต่มีหน้าที่ดูแลคลังดินปืน ที่วางแผนจะระเบิดรัฐสภาของอังกฤษ และกษัตริย์เจมส์ ที่ 1 ทรงรู้เข้าเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605, นาย "กี ฟอว์เก" ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ช่วงนี้เองที่บรรดาพวกนึกสนุกก็จะสวมหน้ากากและไปเยี่ยมเยียน บ้านชาวคาทอลิกที่กำลังถูกเบียดเบียนตอนกลางคืนและขอขนมเค้กและเบียร์มาทาน กัน วัน "กี ฟอว์เก" มาถึงประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับการตั้งนิคมใหม่ของชาวอังกฤษพวกแรกบนทวีปอเมริกา กษัตริย์เจมส์ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากวิถีชีวิต แต่ธรรมเนียม ปฏิบัติยังคงสนุกสนานเกินกว่าจะลืมเลือนได้ ที่สุดเพราะวัน "กี ฟอว์เก" ซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน ใกล้กับวันฉลองนักบุญทั้งหลาย ก็เลื่อนเอาธรรมเนียมขอขนมตามบ้านตอนกลางคืนมาไว้กับวัน "ฮาโลวีน" พร้อมกับการแต่งตัวแปลกๆ ด้วยเลย
หากเราคริสตังจะจัดงานวันฮาโลวีนการรับวัฒนธรรมจากประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะแผ่มาทางภาพยนตร์, ข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต หนังสือและบทเพลง จนกระทั่งลูกหลานรับกระแสงานวัน "ฮาโลวีน" เราผู้เป็นคริสตังและผู้ใหญ่อาจจะถือว่าเป็นการสนุกรื่นเริงในบ้าน, เพื่อนบ้าน, เพื่อนๆ ของลูกๆ ใกล้หูใกล้ตาเราภายในครอบครัว ก็อาจทำได้ ซึ่งไม่ควรปล่อยลูกหลานไปจัดกันเอง หรือไปจัดกันตามสถานที่ต่างๆ เพราะเป็น เวลากลางคืนอีกทั้งเราควบคุมความปลอดภัยไม่ได้ ส่วนครอบครัวใดที่ไม่มีกระแสตะวันตก ในบ้านก็ไม่ต้องกังวลอะไรกับการจัดงานนี้อย่าลืมว่า ชาวต่างชาติที่เป็นคาทอลิก เมื่อเขาจัดงานวัน "ฮาโลวีน" (31 ตุลาคม) อันเป็นวันสุกดิบก่อนฉลองนักบุญทั้งหลายนั้น เป็นงานรื่นเริงทางสังคม มิใช่พิธีกรรมคาทอลิก แต่ควรแฝงความคิดเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายอันเป็นความเชื่อแบบคริสตังเข้า ไว้ด้วย และไม่จำเป็นที่เด็กๆ จะต้องแต่งตัวเป็นนักบุญเพียงอย่างเดียว, การแต่งตัวเป็นวิญญาณต่างๆ และตัวละครที่เกี่ยวข้องกับนรก ก็สื่อความหมายดั้งเดิม การระลึกถึงวิญญาณทุกดวงของคริสตังโบราณว่าเราไม่ลืมเขา
บทละครเล็กๆ น้อยๆ งานวัน "ฮาโลวีน" การแต่งกาย เด็กๆ แต่งตัวเลียนแบบคนอาชีพต่างๆ ที่ล่วงลับไปในอดีต เช่น ชาวตะวันตกก็มักจะแต่งเป็น พระ, ซิสเตอร์, นักบวชในอาราม, กษัตริย์, ราชินี, โจรสลัด, โครงกระดูก, ผี ฯลฯ หากจะแต่งตัว เป็นนักบุญต่างๆ ก็ทำได้แต่ต้องเน้นและสอนเด็กๆ ว่าวันฉลองนักบุญทั้งหลายตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน และนี่เรากำลังร่วมงานปาร์ตี้วันฮาโลวีน, 31 ตุลาคม และควรจะจบงานด้วยการ สวดภาวนาเข้าสู่การฉลองนักบุญ ทั้งหลาย นำมาด้วยเทียน เดินไปยังฉากที่ทำคล้ายสุสาน และมีหินสลักเทียมบนหลุมศพ 4 ก้อน ก้อนแรกสำหรับคนในครอบครัวที่จากไป, ก้อนที่ 2 สำหรับเพื่อนที่จากไป, ก้อนที่ 3 สำหรับบรรดาสมณเพศที่จากไป และก่อนสุดท้ายสำหรับผู้ตายที่ไม่มีใครคิดถึง และวัน "ฮาโลวีน" เป็นวันสุดท้ายของเดือนแม่พระลูกประคำ เราจึงอาจเริ่มด้วยการสวดสายประคำภาคเศร้าโศกหรือกล่าวถึงข้อรำพึงภาคเศร้า โศกทั้ง 5 ข้อ อุทิศแด่ผู้ล่วงลับสั่นกระดิ่งให้ทุกคนคุกเข่า แล้วสวด บทสดุดี 130 หรือบท "จากเหวลึก... ข้าพเจ้าร้องหาพระองค์" (De Profundis)
จากเหวลึก ข้าพเจ้าร้องหาพระองค์ พระสวามี โปรดฟังคำข้าพเจ้า โปรดเอียงพระกรรณสดับฟัง คำอ้อนวอนของข้าพเจ้าหากทรงระลึกถึงความผิดแล้ว พระสวามีเจ้าข้า ใครหนอจะทนไหวแต่พระองค์มีความกรุณายกบาป ก็เพื่อมนุษย์จะได้ปรนนิบัติพระองค์ด้วยความเคารพข้าพเจ้าวางใจในพระสวามี วิญญาณข้าพเจ้าวางใจในวาจาของพระองค์วิญญาณข้าพเจ้าเฝ้าคอยพระ-สวามี ยิ่งเสียกว่าคนยามคอยแสงอรุณยิ่งกว่าคนยามคอยแสงอรุณอีก ขอให้อิสราเอลจงคอยพระสวามีเพราะว่า พระสวามีทรงเมตตากรุณา พระองค์จึงจะไถ่บาปอย่างอุดมสมบูรณ์แล้วพระองค์จะไถ่อิสราเอล ให้สูญสิ้นบาปนี้แลก่อ ประทานการพักผ่อน ตลอดนิรันดรแก่เขาเถิด พระสวามีเจ้า รับ ขอให้ความสว่างตลอดนิรันดร์ทอแสงมาสู่เขาก่อ ขอให้เขาได้พักผ่อนในสันติภาพเทอญรับ อาแมน
เด็กๆ ของพระเจ้า, หนูน้อยของพระเจ้า และสมาชิกของพระศาสนจักร อันศักดิ์สิทธิ์ ข้าพเจ้ามาจากไฟชำระ เพื่อขอคำภาวนาจากพวกท่าน และขอเตือนให้พวกท่านเปลี่ยนแปลง, ปรับปรุงชีวิต ขณะที่ข้าพเจ้ามีชีวิตบนโลก ข้าพเจ้าได้หลงลืมบ้านแท้บนเมืองสวรรค์ บาปของข้าพเจ้าไม่หนักจนทำให้ตกนรกก็จริงแต่เพราะข้าพเจ้ายังมิได้รักพระ เป็นเจ้าสุดจิตใจ, สุดวิญญาณและกำลัง ดังนั้นข้าพเจ้ายังต้องรับทรมาน... (อาจร้องโหยหวน) โอ้...ทุกข์ทนที่ข้าพเจ้าต้องรับในไฟชำระนี้ เพื่อชำระล้างความรักและชำระบาป พี่น้องชาย-หญิงในพระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้า วันนี้จงเปลี่ยนแปลงชีวิต! จงเชื่อฟังพ่อ แม่ และพระศาสนจักร จงสวดภาวนา, สวดให้มาก!! โดยเฉพาะไปวัดร่วมบูชามิสซา และรับศีลมหาสนิทให้บ่อยๆ, สวดสายประคำ และสวมสายจำพวก ไว้ จงชดใช้โทษบาปของตนและบาปของเพื่อนมนุษย์ ก่อนที่ท่านจะสิ้นใจ โดยทำพลีกรรมและดำเนินชีวิตทุกวันให้เป็นพลีถวาย จงจำไว้ว่าโดยทางไม้กางเขนเท่านั้นที่เราจะเป็นเช่นพระเยซู-เจ้า, พระผู้ไถ่ของเราและสุดท้าย จงรักผู้แทนของพระองค์บนโลกนี้คือสมเด็จพระสันตะปาปาและแม่พระ ข้าพเจ้าจะต้องจากไปเพื่อรับการจองจำชั่วคราวในการทรมาน โอ้...ข้าพเจ้าอยากไปสวรรค์เหลือเกิน (อาจร้องครวญครางอีกครั้งหนึ่ง, ปิดไฟ และหลบหายไปกับความมืด)
การตกแต่งฉากหากงานปาร์ตี้อยู่ในบ้าน ขอแนะนำให้ทำห้องหนึ่งเป็นฉาก "นรก" และมีป้ายติดไว้หน้าห้องนี้ว่า "จงละทิ้งความหวัง, ทุกคนที่เข้ามาในนี้" มีผ้าปิดประตูและทำเงามืดรูปปีศาจปรากฏบนผ้าผืนนี้ด้วยไฟฉายจากในห้อง ทำเงาให้เท่าขนาดคนจริงมีการเปิดเพลงทำนองลึกลับเป็นบรรยากาศ เพื่อให้เด็กเกรงกลัวนรก, หากจัดนอกบ้าน อาจแขวนรูปปีศาจหรือโครงกระดูกเพื่อให้เด็กๆ ระลึกถึงความตายที่ละทิ้งพระเจ้า
เครื่องดื่ม
โดย ธรรมเนียมแล้ว วัน "ฮาโลวีน" เป็นวันถือศีล และไม่ดื่มสุราหรืออาหารฟุ่มเฟือย อาจมีโซลเค้ก (Soul Cake) ซึ่งเป็นขนมตามธรรมเนียมดั้งเดิมของงานวัน "ฮาโลวีน", หรืออาหารที่ไม่ใช่เนื้อ และเมื่อได้รับโซลเค้กให้สวดภาวนาแด่ผู้ล่วงลับเป็นการตอบแทน (อย่างไรก็ดี นี่เป็นละครในงานวัน "ฮาโลวีน" ไม่ใช่พิธีกรรม ดังนั้นการจัดงานเลี้ยงในบ้านเราคงจะต้องมีขนม, น้ำ และอาหารเป็นธรรมดา) ลูกฟักทองแกะสลักหน้าผี, แม่มด, แมว, ผีดิบ, ก่อกองไฟ เหล่านี้ไม่มีรากฐานความเชื่อคาทอลิกในงานวัน "ฮาโลวีน" คงเป็นสิ่งที่รับมาจากพิธีกรรมของพวกเซลติกเกี่ยวกับเทพแห่งความตายมารวบรวม วิญญาณคนชั่วช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูเก็บเกี่ยว (31ตุลาคม) หรือไม่ก็นำมาใส่ไว้ในช่วงปีหลังๆ ยุคสมัยของเรา |