1
2

"จัดพอร์ตการลงทุน" & "บริหารพอร์ตการลงทุนด้วย Dollar Cost Averaging"



ออกแบบและวางแผนการเงิน






"จัดพอร์ตการลงทุน"



โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ดร. ธีระศักดิ์ ณ ระนอง
อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินการธนาคาร
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)

เริ่มด้วยบทความสบายๆสไตล์ “ 9 สู่การลงทุน “ ขณะนี้ตามที่นักลงทุนมีความสนใจการลงทุนและวิธีการบริหารเงินรูปแบบต่างๆ มากขึ้น โดยมีจุดประสงค์คือ เพื่อกระจายและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดการลงทุนต่างๆ แต่รูปแบบของ “ การกระจายความเสี่ยง (Risk Diversification) “ ของนักลงทุนแต่ละท่านก็คงไม่เหมือนกัน นักลงทุนบางท่านอาจรับความเสี่ยงได้ไม่มาก จึงเกิดคำถามขึ้นว่า จะจัดพอร์ตการลงทุนการลงทุนอย่างไร โดยคำตอบของ “ 9 สู่การลงทุน “ จะพูดถึงรูปแบบการลงทุนที่ได้รับความนิยม พร้อมอัพเดทเรื่องราวต่างๆ กัน


1) การลงทุนใน รูปแบบของการฝากเงิน ”
โดยฝากเงินตามธนาคารพาณิชย์ เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ไม่ว่าเป็นการฝากแบบประจำต่างๆ ที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากแบบออมทรัพย์ ซึ่งเป็นวิธีที่นักลงทุนแทบจะทุกท่านลงทุนกัน และสำหรับอีกรูปแบบการลงทุน ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของผู้บริหารจัดการ (Fund Manager) ของ บลจ. ต่างๆ ก็คือ

2) การลงทุนใน “ กองทุนรวม ”
ซึ่งให้ผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงิน ก็สามารถแบ่งตามความเสี่ยงหลักๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงค่อนข้างสูง มีทั้งหมด 4 รูปแบบการบริหารเงินด้วยกัน

-การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ :
ในกรณีที่ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงและความผันผวนได้ไม่มากนัก การลงทุน ใน “ กองทุนเปิดตราสารเงิน หรือตราสารหนี้ระยะสั้น “ ซึ่งนักลงทุนมีโอกาสจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินแบบออมทรัพย์ (โดยเฉพาะในภาวะดอกเบี้ยขาลง) และยังไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย อีกด้วย นอกจากนั้นกองทุนชนิดนี้ยังเพิ่มสภาพคล่องให้นักลงทุนด้วยการเปิดให้มีการซื้อขายได้ทุกวัน โดยแนวโน้มการเจริญเติบโตของกองทุนชนิดนี้มีสูงมาก เนื่องจากมีสัดส่วนการลงทุน (asset allocation) ที่มีความเสี่ยงน้อย (ดูได้จากหนังสือชี้ชวนของแต่ละ บลจ.) โดยเน้นการลงทุนในตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี

-การลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง :
การลงทุนใน ” กองทุนเปิดตราสารหนี้ระยะกลางและยาว ” แม้ว่าอัตราผลตอบแทนของกองทุนชนิดนี้ปรับตัวลดลงอย่างมาก ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการลงทุน สำหรับกองทุนประเภทนี้มักมีการลงทุนผสมผสานระหว่างตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินหรือภาคเอกชน ซึ่งหมายความว่า “ ความผันผวนของราคาหน่วยลงทุนจะมีค่อนข้างมาก ” เช่นกัน

-การลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับค่อนข้างสูง :
การลงทุนในกองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้น หรือ “กองทุนตราสารทุน” ซึ่งมูลค่าของหน่วยลงทุน ( Net Asset Value) ก็จะเคลื่อนไหวตามการเปลี่ยนแปลงของทิศทางตลาดหุ้น บางกองทุนเน้นการลงทุนใน SET50 และบางกองทุนก็เน้นการลงทุนเฉพาะกลุ่มหุ้นบางกลุ่ม เช่น กลุ่มเทคโนโลยี นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงก็เหมาะกับการลงทุนในกองทุนประเภทนี้ (ตามทฤษฏี Risk – Return Trade-off)

- “ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำ และสามารถลดหย่อนภาษีได้ (ดูได้จากหนังสือชี้ชวนของแต่ละ บลจ.) สำหรับ LTF และ RMF จะมีทั้งกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุน และตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ และ พันธบัตร ทั้งระยะยาวและสั้น เรียกว่ามีผลิตภัณฑ์มากมายให้นักลงทุนพิจารณากัน
*** (อย่าลืมใช้วิธีการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar or Pound Cost Averaging นะครับ)

และสำหรับอีกรูปแบบการบริหารเงิน คงเป็นรูปแบบที่นักลงทุนต้องอาศัยความเข้าใจ ความชำนาญ และความสนใจติดตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งมีผลต่อรูปแบบของการลงทุนชนิดนี้ นั่นก็คือ

3) การลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งนักลงทุนก็ต้องสามารถรับความเสี่ยงได้มากเช่นกัน ได้แก่

-เลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานต่างๆ เช่น หุ้นกลุ่มพลังงาน ก่อสร้าง ฯลฯหรือเลือกลงทุนในหุ้นที่อยู่ใน SET50 ก็น่าจะเป็นการลงทุนที่ลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง

-การลงทุนใน “ SET50 INDEX FUTURES ”
ซึ่งเป็นการคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนไหวของมูลค่า SET50 INDEX ซึ่งในกรณีที่นักลงทุนมีความแน่นอนว่าราคาของ SET50 INDEX จะปรับตัวสูงขึ้นก็ไปทำ LONG FUTURES ในทางกลับกันนักลงทุนคาดว่าราคาของ SET50 INDEX จะปรับตัวลดลงก็ทำ SHORT FUTURES ไว้

-การลงทุนใน “ SET 50 INDEX OPTIONS
ก็เป็นการเสริมทัพการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ โดยการคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนไหวของมูลค่า SET50 INDEX ซึ่งในกรณีที่นักลงทุนคาดว่าราคาของ SET50 INDEX จะปรับตัวสูงขึ้นก็ไปทำ LONG CALL หรือ SHORT PUT ในทางกลับกันนักลงทุนคาดว่าราคาของ SET50 INDEX จะปรับตัวลดลงก็ทำ LONG PUT หรือ SHORT CALL (หมายเหตุ: การใช้กลยุทธ์ต่างๆนั้นก็ต้องเข้าใจปัจจัยอื่นๆ เช่น ความผันผวนของตลาด และระยะเวลาคงเหลือของสัญญา และอื่นๆอีกด้วย)

-การลงทุนใน “ THAIDEX SET 50 EXCHANGE TRADED FUND (ETF) หรือ TDEX ”
ETF เป็นการลงทุนที่แพร่หลายมากในต่างประเทศ เพราะ ETF เป็นกองทุนเปิดที่จดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนกับหุ้น สำหรับตลาดหลักทรัพย์ของเรา ETF มีนโยบายในการลงทุนเลียนแบบดัชนี SET50 INDEX

4) การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งได้แก่ การซื้อบ้าน คอนโด ทั้งเพื่อการลงทุน หรือเพื่ออยู่อาศัย ก็ถือเป็นการลงทุนระยะยาวอย่างหนึ่ง

5) การลงทุนในทองคำ
เป็นการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ มีทั้งการลงทุนโดยตรงเช่น การซื้อทองคำแท่ง หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในทองคำ



อย่างไหนดีกว่า?

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
สภาวะการณ์ในตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการพึ่งพาการฝากเงินในธนาคารเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับคู่แข่งตัวฉกาจของท่านนักลงทุนทุกๆท่านนั้นก็คือค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากในปัจจุบัน

นักลงทุนส่วนใหญ่จึงต้องแสวงหาการลงทุนอื่นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้และกองทุนตราสารหนี้จึงได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว อาจจะด้วยความเสี่ยงที่ต่ำ

และให้ผลตอบแทนที่สูง เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ท่านักลงทุนรับได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อเข้าไปในธนาคารต่างๆ ก็จะได้ยินคำว่ากองทุนๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนตราสารหนี้ภายในหรือต่างประเทศก็ตาม

กองทุนรวมตราสารหนี้ (General Fixed Income Fund)
เป็นเครื่องมือที่ใช้ระดมเงินลงทุนของนักลงทุนรายย่อย เพื่อนำเงินลงทุนดังกล่าวไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความปลอดภัยสูงทั้งในและต่างประเทศ เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือ หุ้นกู้ เช่น หุ้นกู้ปตท. เป็นต้น
โดยไม่มีการลงทุนในตราสารทุนหรือตราสารหนี้กึ่งทุน (เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ) ซึ่งกองทุนจะได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอในรูปของอัตราดอกเบี้ย

และราคาของหุ้นกู้หรือพันธบัตรมีความผันผวนไม่มากเมื่อเทียบกับหุ้นซึ่งเป็นตราสารทุน กองทุนประเภทนี้จึงเหมาะกับท่านนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ความหลากหลายของกองทุนตราสารหนี้เป็นคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยให้ท่านนักลงทุนเลือกลงทุนให้เหมาะกับความต้องการของตนเอง

โดยตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้มีทั้งระยะสั้นไปจนถึงยาว มีหลากหลายประเภทที่น่าสนใจ นักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสด หรือผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงมากนักก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนพันธบัตรที่ออกโดยรัฐ (Government bond) ในขณะที่ท่านนักลงทุนท่านอื่น อาจจะต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ในขณะเดียวกันก็อาจจะยินยอมแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นบ้าง ก็เลือกลงทุนในกองทุนหุ้นกู้ภาคเอกชน (Corporate bond) ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) สูงที่มีให้เลือกหลากหลาย

สำหรับประเด็นเรื่องระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสม มีท่านนักลงทุนหลายท่านสงสัยครับว่า แล้วควรจะลงทุนถือตราสารระยะสั้นหรือยาวดีกว่ากัน? โดนส่วนตัวแล้วนั้นผมอยากจะกราบเรียนอย่างนี้ครับว่า ผมอยากให้ท่านนักลงทุนสำรวจตัวท่านเองก่อนว่าท่านมีสภาพคล่อง ( Liquidity) ขนาดไหน?

ถ้าท่านต้องใช้เงินเร็วๆ นี้ก็ซื้อกองทุนที่อายุสั้นๆ เช่นกองทุนจำพวก Cash Management ที่สามารถซื้อขายได้ทุกวัน หรือ กองทุนที่มีอายุ 3เดือน 6เดือน หรือถ้าบอกว่าเงินเราเป็นเย็นไม่ได้ใช้อะไรสัก 1 หรือ 2 ปี ก็ลองลงทุนกับกองทุนที่มีอายุตามที่ต้องการได้ และกองทุนที่มีอายุนั้นยังใช้ระบบ Auto Redemption อีกด้วย

Auto Redemption คือ การที่บริษัทจัดการลงทุนรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุน
การขายคืนอัตโนมัติจะดีกว่าการจ่ายเป็นเงินปันผลสำหรับบุคคลธรรมดา
เพราะกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลเป็นงวดๆ ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับเงินปันผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งนี้เพราะบริษัทจัดการจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินปันผลที่ได้รับแล้วนำส่งให้แก่กรมสรรพากรก่อน

แต่ถ้าหากกองทุนไม่จ่ายปันผล และคืนเงินให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ ในลักษณะที่เหมือนกับผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทจัดการลงทุน เงินที่คืนให้นี้จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่ประการใด เพราะถือว่าเป็นกำไรส่วนเกินทุนจากการขายหน่วยลงทุนนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยากให้นักลงทุนคำนึงถึง การบริหารสัดส่วนการลงทุนเอาไว้ด้วย การบริหารพอร์ตการลงทุน เป็นอีกวิธีหนึ่งสำคัญที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนให้กับท่านนักลงทุนได้ เป็นที่รู้กันดีว่าหากเทียบระหว่างความเสี่ยงต่อผลตอบแทนแล้ว การลงทุนในหุ้นกู้และพันธบัตรมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก

ตัวอย่างเช่น การลงทุนในหุ้นกู้อาจให้ผลตอบแทนสูงมากกว่าพันธบัตรแต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากกว่า ในขณะที่การลงทุนในพันธบัตรอาจไม่ให้ดอกผลดีเท่าแต่มั่นคงกว่า


บริหารพอร์ตการลงทุนด้วย
Dollar Cost Averaging



โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
จากประสบการณ์ในการลงทุนที่นักลงทุนทุกท่านต้องเผชิญก็คือ เมื่อเวลาที่ตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์ตัวใด ราคาของหลักทรัพย์นั้นมักจะปรับตัวลดลง และเมื่อใดที่นักลงทุนตัดสินใจขายหลักทรัพย์นั้น ราคาของหลักทรัพย์ก็มักจะปรับตัวสูงขึ้น ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะดวงหรืออะไร โดยทั่วไปแล้วท่านตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์นั้นๆก็ต่อเมื่อท่านได้วิเคราะห์แล้วว่า หลักทรัพย์นั้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด แต่ก็คงไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อไรที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลง เมื่อไรที่สามารถซื้อได้ในราคาที่ต่ำที่สุด และขายในได้ราคาที่สูงที่สุด คำถามที่มักจะเกิดขึ้นในใจทุกๆคนอาจมีอยู่ว่า มีวิธีใดที่ทำให้นักลงทุนสามารถลดต้นทุนของการลงทุนในแต่ละครั้งได้บ้าง คำตอบที่อยากจะนำมาเสนอแนะจะมีอยู่ในบทความนี้

การเลือกตัดสินใจลงทุนอะไรสักอย่าง นักลงทุนทุกท่านคงต้องเลือกวิธีการและรูปแบบลงทุนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวท่านเอง และสิ่งที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจและศึกษาอย่างลึกซึ้งนั้น ควรจะเริ่มด้วยเป้าหมายก่อน ซึ่งควรอยู่บนพื้นฐานของความจริง โดยนักลงทุนต้องเข้าใจในลักษณะของความเสี่ยงและผลตอบแทนของการลงทุนนั้นๆก่อนเพื่อที่จะปรับให้เข้ากับรูปแบบการลงทุนที่ท่านรับได้ เช่น ถ้าท่านสามารถรับความเสี่ยงได้น้อยก็ควรลงทุนในตลาดตราสารเงิน ถ้าท่านสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้นก็อาจจะลงทุนในตราสารหนี้หรือตราสารทุนก็ได้

ในปัจจุบันนี้สถานการณ์ของเศรษฐกิจมีความผันผวนค่อนข้างมาก และในการที่จะสร้าง portfolio ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ควรเริ่มจาก

**1) มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม (Diversification)**
คือ เลือกที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่างกัน หรือ อีกนัยหนึ่งควรลงทุนในหลักทรัพย์หลายๆรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน การลงทุนในพันธบัตร และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

2) เน้นการลงทุนที่มีคุณค่า (Value Investing)
กล่าวคือ การลงทุนต้องมุ่งหวังผลกำไรระยะยาว และเลือกหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพหรือมีพื้นฐานที่ดี ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนที่คำนึงถึงผลตอบแทนที่มั่นคงก็อาจลงทุนในพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล หรือถ้านักลงทุนต้องการผลตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอก็ควรจะลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพ

ทั้งสองหลักการที่กล่าวมาถือเป็นการสร้างความมั่นคงสู่การลงทุนในทุกๆรูปแบบการลงทุน แต่คำถามที่ตามมาอาจเกิดขึ้นว่า “ มีวิธีใดซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายของการลงทุนที่สามารถลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ และรักษาระดับผลตอบแทนได้ ” และสามารถสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาของหลักทรัพย์ และราคาทรัพย์สินสุทธิของกองทุนต่างๆ หรือ NAV
คำตอบในสไตส์ของ “ 9 สู่การลงทุน ” ก็คือ นักลงทุนควรลงทุนอย่างมีแบบแผนด้วยการสร้างวินัยในการลงทุนโดยวิธีการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่สร้างความมั่นคงทางการเงินอย่างยั่งยืน (long-term wealth) ให้แก่นักลงทุนได้


การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging)
คือ วิธีในการลดความเสี่ยงของตลาด (market risk) จากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ โดยการสร้างวินัยในการซื้อหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส และตั้งเป้าหมายที่จำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลัก โดยแทนที่จะซื้อหลักทรัพย์เป็นก้อน (lump sum) ทีเดียว ก็ซื้อเป็นจำนวนน้อยๆและมีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนของการลงทุนและปกป้องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อราคาของหลักทรัพย์นั้นๆมีความผันผวนมากขึ้น

ขั้นตอนของการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ


1) นักลงทุนควรกำหนดเงินที่นักลงทุนคิดจะลงทุนก่อน
โดยต้องพิจารณาถึงความสามารถในการลงทุนว่าท่านมีรายได้เท่าไร และเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ควรจะลงทุนเท่าไร

2) เลือกลงทุนในหลักทรัพย์หรือกองทุนที่ท่านคิดว่าจะลงทุนระยะยาว (5-10 ปี)
ตัวอย่าง ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การลงทุนในกองทุนรวม LTF และ RMF

3) ท่านควรกำหนดช่วงเวลาให้แน่นอน
ว่าท่านสะดวกที่จะลงทุนทุกๆสัปดาห์ทุกๆเดือน หรือทุกๆไตรมาส โดยไม่สนใจว่าราคาหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนจะขึ้นหรือลง

ตัวอย่าง สมมุติว่านักลงทุนตั้งใจจะลงทุนในกองทุนตราสารทุน โดยลงทุนจำนวน 10,000 บาท ทุกๆเดือน เป็นเวลา 6 เดือน

ตามตัวอย่างจะเห็นได้ว่านักลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้มากขึ้นเมื่อราคาต่ำลง และซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยลงเมื่อราคาสูงขึ้น เมื่อคิดต้นทุนเฉลี่ยแล้วจะเห็นได้ว่าราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนจะถูกว่าการลงทุนเป็นเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว

ยิ่งถ้านักลงทุนประยุกต์การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนไปใช้กับการลงทุนกระจายความเสี่ยงในกองทุนรวมแล้ว ท่านสามารถที่จะลดความเสี่ยงได้ 2 ประเภทด้วยกัน คือ

1) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาตลาด (market risk)
ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้โดยการใช้วิธีการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) ดังที่ได้กล่าวมา

2) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากบริษัทหรือหลักทรัพย์ที่เลือกลงทุน (company specific risk)
โดยความเสี่ยงชนิดนี้สามารถลดลงได้เมื่อท่านลงทุนผ่านการบริหารจัดการของกองทุนรวมต่างๆ ซึ่งท่านสามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับ risk profile ของท่านได้

สรุป : การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) ถือเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนระยะยาวอย่างมีระเบียบแบบแผน และยังช่วยกระจายความเสี่ยงของการลงทุนที่มีต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์นั้นๆ โดยตั้งเป้าหมายที่จำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลักเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินอย่างยั่งยืนให้แก่นักลงทุน หวังว่าอีกเกล็ดความรู้ของ“9 สู่การลงทุน” ที่นำมาเสนอแนะในบทความนี้จะทำให้นักลงทุนมีความเข้าใจวิธีการบริหารเงินอีกมุมมองหนึ่ง และนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้ ถ้าท่านมีความคิดเห็นหรือคำแนะนำใดๆ ท่านสามารถส่งมาได้ที่ teerasaknrn@au.edu นะครับ


จัดสัดส่วนการลงทุน

คอลัมน์ – เงินทองต้องวางแผน-
โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
คนเราต่างมีหน้าที่ต้องจัดการอยู่เรื่อย ไม่เรื่องนั้นก็เรื่องโน้น ไม่เว้นแต่เรื่องเงินทองของเราเอง เคยมีคนถามว่าจะจัดการเรื่องเงินทองของเราเองอย่างไรกัน คำตอบง่าย ๆ ก็คือ เมื่อมีเงินก็ต้องจัดการแบ่งเงินให้เหมาะสม ให้พอเหมาะกับการใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตในวันนี้ และในวันหน้า เช่นเราต้องจัดการเงินแต่ละเดือนที่ได้มาโดยแบ่งเป็นส่วน ๆ เช่นใช้หนี้ส่วนหนึ่ง ใช้จ่ายส่วนหนึ่ง เก็บออมส่วนหนึ่ง และลงทุนส่วนหนึ่ง เป็นต้น และการที่เราต้องแบ่งเงินเพื่อการออมและการลงทุนก็เพราะต้องการได้ผลตอบแทนทำให้เงินของเราเพิ่มมูลค่ามากขึ้นเพื่ออนาคตอัน มั่นคงของเรานั่นเอง

การได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าพอใจ จึงเป็นคำตอบที่นักลงทุนทุกคนปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินในธนาคาร การลงทุนในกองทุนรวม การลงทุนในหุ้น เป็นต้น แต่ไม่เสมอไปที่นักลงทุนจะประสบความสำเร็จอยู่ตลอดเวลา สาเหตุมักจะขึ้นกับวิธีการจัดสัดส่วนการ ลงทุนของนักลงทุนแต่ละคนด้วย ดังนั้น เมื่อเรามีเงินก้อนหนึ่ง เราต้องหาที่ๆ เหมาะสมกับเงินของเราให้เงินของเรานั้นไปทำงานให้งอกเงย เราจึงควรมารู้กันว่าหลักเกณฑ์ที่นักลงทุนควรจะนำมาใช้ในการจัดสัดส่วนการลงทุนได้แก่อะไรกันบ้าง

ประการแรก ได้แก่ การกระจายความเสี่ยงอย่างมีเหตุผล นักลงทุนไม่ควรนำเงินทุน ทั้งหมดที่มี เช่นอุตสาห์เก็บเงินมานานและวันนี้มีเงินออมอยู่ 5 แสนบาทแล้ว วันนี้ตัดสินใจนำเงิน 5 แสนบาทไปลงทุนในแบบใดแบบหนึ่ง แต่ควรเลือกที่จะลงทุนในหลากหลายรูปแบบหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและให้มีความหลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในกรณีที่หากการลงทุนในแบบใดแบบหนึ่งประสบปัญหา เช่น เราแบ่งส่วนหนึ่งไปฝากธนาคาร ส่วนที่สองไปซื้อพันธบัตร ที่เหลืออาจจะไปลงทุนในหุ้น เพื่อหากเมื่อวันนี้ตลาดพันธบัตรได้ผลตอบแทนลดลง ก็ยังได้ผลตอบแทนจากเงินฝาก หรือ หุ้นด้วย

ประการที่สอง ไม่ควรกระจายการลงทุนให้กระจัดกระจายเกินไป เพราะจะทำให้ยากต่อการติดตามดูแล รวมทั้งต้นทุนการลงทุนอาจสูงเกินความจำเป็น ตัวเราเองก็จะงงไปด้วยถ้าเราไม่ได้ชำนาญในการลงทุนหรือมีหน้าที่โดยตรงที่จะติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหว ดังนั้นนำเงินไปลงทุนในสิ่งที่เรามีความรู้ความชำนาญที่ไม่กระจัดกระจายจะช่วยให้เราดูแลเงินเราให้เกิดผลงอกเงยได้เป็นอย่างดี

ประการที่สาม ควรมีสัดส่วนการลงทุนที่ เหมาะสม ทั้งที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนแน่นอนสม่ำเสมอ กับ ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ทั้งนี้แล้วแต่ระดับการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคนที่จะยอมรับได้ รวมไปถึงช่วงอายุของผู้ลงทุนแต่ละคนด้วย ซึ่งผลตอบแทนที่ได้อาจไม่แน่นอน เพราะสามารถทำกำไร หรือ ขาดทุนจากการลงทุนได้ตลอดเวลา

ประการสุดท้าย การจัดสัดส่วนการลงทุนควรมีลักษณะยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ตามภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ ได้ หากสามารถลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาได้ ก็จะช่วยให้การลงทุนของท่าน เป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพได้ไม่ยาก

อย่าลืมที่จะนำหลักเกณฑ์เหล่านี้ไปใช้ เรื่องเงินทองเป็นเรื่องที่ต้องจัดการเช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ เช่นกัน



สิบขั้นตอนออมเงินเพื่อวันข้างหน้า


คอลัมน์ – เงินทองต้องวางแผน-
โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
แนวทางนำไปปฏิบัติได้ง่าย 10 ขั้นตอนดังนี้

1. ตั้งเป้าหมาย

ลองคิดดูว่าเป้าหมายของตนเองต้องใช้เงินประมาณเท่าไร และอย่าลืมคำนวณเผื่อเงินเลี้ยงชีพตลอดชีวิตที่เหลือไว้ด้วย

2. เริ่มวันนี้

คนที่เพิ่งเริ่มทำงานอาจคิดว่าอีกไกลกว่าจะถึงเวลาใช้เงิน เลยเลื่อนแผนการเก็บเงินของตนเองไปเรื่อยๆ จนลืมนึกไปว่ายิ่งเริ่มช้างานยิ่งหนัก

3. รู้จักกับเครื่องมือการลงทุน

พันธบัตร เงินฝาก หุ้น กองทุนรวม ฯลฯ เหล่านี้คือเครื่องมือการลงทุนประเภทต่างๆ ที่จะทำให้เงินของเราออกดอกออกผลมากขึ้น ศึกษาให้ดีแล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารน้อยนิด

4. รู้ขีดจำกัดความเสี่ยงของตัวเอง

ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงถูกกำหนดด้วยปัจจัยสองตัว คืออายุ และความชอบ พิจารณาแล้วว่าเป็นสัดส่วนที่สบายใจ จะได้ไม่ต้องนั่งเฝ้าเงินตัวเองอยู่ตลอดเวลา

5. กระจายความเสี่ยงไปที่ต่างๆ เราไม่ควรเอาเงินทั้งหมดไปลงทุนในที่ๆ เดียว

ควรมีการกระจายความเสี่ยงไปหลายๆ ที่ คำว่าหลายๆ ที่ ไม่เฉพาะประเภทของเครื่องมือการลงทุนหลายๆ ประเภทอย่างเช่น พันธบัตร หุ้น (Security Types) แต่รวมไปถึงแยกลงไปในธุรกิจประเภทต่างๆ (Business Sectors) หรือ กระจายไปหลายๆ ประเทศได้ยิ่งดี

6. ใช้ “เวลา” ให้เป็นประโยชน์

เวลามีส่วนช่วยให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นได้มากกว่าที่คิด ด้วยเงินเริ่มต้นเท่ากัน อัตราผลตอบแทนเท่ากัน ในระยะเวลาออมที่นานกว่าไม่กี่ปี อาจทำให้เงินต้นงอกเงยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เพราะผลของดอกเบี้ยทบต้นทำงานร่วมกับเวลา

7. ต้องอดทนและมีวินัยในการออม

นึกเอาไว้ว่าเงินก้อนนี้เอาไว้ใช้ตอนเราไม่ทำงานแล้ว ถือเป็นการลงทุนที่หวังผลในอีกหลายๆ ปีข้างหน้า

8. ทำตามแผนที่วางไว้

ถ้าตั้งใจว่าช่วงปีนี้จะต้องออมเดือนละ 1,000 บาทก็ต้องเก็บ 1,000 บาทมาออม ไม่เฉพาะเท่านั้นถ้าตั้งใจไว้ว่าจะแบ่งเงินครึ่งหนึ่งไปลงทุนในหุ้น และอีก 20% ไปลงในตราสารหนี้ เพราะคิดแล้วว่าพอดีกับอายุและความชอบของเราก็ให้ทำตามนั้น อาจจะทำใจลำบากโดยเฉพาะเมื่ออัตราผลตอบแทนหรือสภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน แต่ถ้าคุณได้ทำใจเผื่อรับความเสี่ยงเหล่านั้นไว้แต่ต้นแล้ว ประกอบกับอายุก็บอกว่าเสี่ยงได้ ก็ให้ทำตามแผนเพราะผลตอบแทนมีลงก็ย่อมมีขึ้น

9. อย่ายืมเงินตัวเอง

ไม่ได้หมายความว่าต้องไปยืมเงินคนอื่น แต่หมายความว่าพยายามอย่าแตะเงินออมก้อนนี้

10. สำรวจบัญชีเงินออมของตัวเองทุกปี

ระยะเวลา 1 ปีเป็นช่วงเวลาที่กำลังพอดีสำหรับดูแผนการออมเงินของตนเองว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และทบทวนสำหรับการลงทุนว่าเรารับความเสี่ยงได้มากขึ้นหรือน้อยลง ควรจะจัดสรรเงินลงทุนใหม่แล้วหรือยัง ไม่จำเป็นต้องตรวจดูทุกวันเพราะคุณจะเห็นผลการลงทุนของคุณแกว่งขึ้นแกว่งลง และทำให้คุณเฉไฉออกนอกแผนได้ง่าย

ขั้นตอนก็จะเป็นแค่ขั้นตอนและไม่เกิดประโยชน์ถ้า
“ไม่ลงมือทำ”







1
2

Wish You Happinessss

Success is not the key to happiness. Happiness is the key to success. 
If you love what you are doing, you will be successful. 

~ Albert Schweitzer ~

 คัมภีร์ 5 ห่วง  วิถีแห่ง "ซามูไร" วิถีแห่งนักรบ "บูชิโด"   แนวคิดของตัวเม่น   GOOD LUCK สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความสำเร็จ ในชีวิตและธุรกิจด้วยตัวคุณเอง    Why complicate life ?   3 x 8 = เท่าไหร่ ?????   "ฉันชื่อ..โอกาส"

Wish You Happinessss