ความสุข (Happiness)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความสุข หรือ สุข พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยามว่า
"น. ความสบายกายสบายใจ..." คือความรู้สึกหรืออารมณ์ประเภทหนึ่ง มีหลายระดับตั้งแต่ความสบายใจเล็กน้อยหรือความพอใจจนถึงความเพลิดเพลินหรือเต็มไปด้วยความสนุก มีการใช้แนวความคิดทางปรัชญา ศาสนา จิตวิทยา ชีววิทยาอธิบายความหมายของความสุข รวมถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข
แนวความคิดทางปรัชญาและศาสนามักจะกำหนดนิยามของความสุขในความหมายของการดำรงชีวิตที่ดี หรือชีวิตที่มีความเจริญ โดยไม่จำกัดความหมายว่าเป็นเพียงอารมณ์ประเภทหนึ่ง
มุมมองทางศาสนา
"สุข" เป็นหัวข้อที่ผู้นับถือศาสนาพุทธให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหาเพื่อให้ได้พบกับเสรีภาพและการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง การสอนของศาสนาพุทธใช้หลักธรรมที่เรียกกันว่ามรรค หรือหนทาง 8 ประการในการดับทุกข์เพื่อนิพพาน สุขสูงสุดสามารถมีได้ด้วยการเอาชนะตัณหาทุกรูปแบบ ส่วนสุขจากทรัพย์สินหรือความมั่นคงในชีวิตและการมีมิตรภาพที่ก็เป็นที่ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่มีคุณค่าสำหรับบุคคลทั่วไป
มรรค
คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้
มรรคมีองค์ 8
มรรค (ภาษาสันสกฤต : มรฺค; ภาษาบาลี : มคฺค) คือ หนทางถึงความดับทุกข์
เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ (เรียกว่า มัคคสัจจ์ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ) และนับเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยหนทาง 8 ประการด้วยกัน เรียกว่า "มรรคมีองค์แปด" หรือ "มรรคแปด" (อัฏฐังคิกมรรค) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ
หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
2.สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ
หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
3.สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ
หมายถึงการพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
4.สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม
ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
5.สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน
6.สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม
ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
7.สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ
จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
8.สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ
สงัด จากกิเลศ นิวรณ์อยู่เป็นปกติ
อริยมรรคมีองค์แปด เป็นปฏิปทางสายกลาง คือทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
มรรคมีองค์แปด สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา
ข้อ3-4-5 เป็น ศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)
ข้อ6-7-8 เป็น สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
ข้อ1-2 เป็น ปัญญา (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ)
จากหนังสือ The Conquest of Happiness
สาเหตุแห่งความทุกข์ 7 ประการ
1. ทุกข์ที่เกิดจากการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับ
2. ทุกข์ที่เกิดจากความเบื่อหน่ายในชีวิต ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มผู้มีฐานะดี สาเหตุที่เบื่อหน่ายก็เนื่องจาก
ไม่มีความบันเทิงใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตมากเท่าที่ต้องการ ทำให้ชีวิตเหงาหงอย และขาดพลังชีวิต
3. ทุกข์ที่เกิดจากความเหนื่อยอ่อน คือเหนื่อยใจ มิใช่การเหนื่อยกาย ที่เหนื่อยใจ เนื่องจาก ไม่รู้จักการ แบ่งแยกว่าเรื่องใด ควรคิดในเวลาใด เช่นทำงานอยู่อย่างหนึ่ง กลับคิดถึงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ทำอยู่ เป็นต้น
4. ทุกข์ที่เกิดจากการอิจฉาริษยา มักเกิดกับเด็กที่เติบโตมาโดยไม่ได้รับความรักความอบอุ่นเท่าที่ควร
5. ทุกข์ที่เกิดจากความรู้สึกว่า ตนเองทำผิดตลอดเวลา คือ คิดถึงแต่อดีตที่ผิดพลาด
6. ทุกข์ที่เกิดจากวิตกจริต คือจิตที่คิดฟุ้งซ่าน คิดเกิน คิดขาด และมองโลกไม่ตรงตามความเป็นจริง
7.ทุกข์ที่เกิดจากความกลัว กลัวว่าคนอื่นจะไม่ยอมรับ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเราไม่รู้จักตัวเองดีพอ
4 วิธีการเพื่อชีวิตที่มีความสุข
1. มีความกระตือรือร้น (Zest)
คนที่มีบุคลิกกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น แสดงว่าคนๆ นั้นค่อนข้างมีความสุข
เนื่องจาก ความกระตือรือร้นนั้น สะท้อนให้เห็นถึง สภาวะจิต ว่าในจิตนั้นมีเรื่องที่เขา อยากรู้อยากเห็น และอยากศึกษาอีกมากมาย คนเหล่านี้ เมื่อเจอปัญหา มักจะไม่ย่อท้อ เพราะจากการที่เขาสนใจเรื่องต่างๆ หลายด้าน ทำให้มีทักษะในการแก้ปัญหามากกว่าคนอื่นๆ และมองปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา
จิตของคนที่มีเรื่องที่เขาสนใจนั้นไม่ต่างไปจากจิตของแมวที่จ้องจะจับหนู คือเป็นจิตที่มีพลังชีวิต มีอารมณ์ มีความรู้สึก ทั้งนี้คนที่จะมีความกระตือรือร้นได้จะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะกายกับจิตนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง จึงจะมีพลังชีวิตได้
ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า Energy ของความกระตือรือร้นนั้นมีมากกว่า Energy ที่คนๆ หนึ่งทุ่มเทให้กับงานงานหนึ่งด้วยซ้ำเพราะความกระตือรือร้นเป็นพลังขับเคลื่อนที่คิดว่าตนเองมีค่า ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความกระตือรือร้น ที่ก่อให้เกิดพลังชีวิตนั้นต้องไม่ได้เกิดขึ้นจากการหลบหนีปัญหาอย่างหนึ่ง แล้วแกล้งทำเป็น Active ในอีกเรื่องหนึ่งเพราะ การเป็นเช่นนี้จะเรียกว่า จิตหลอกจิต ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดพลังชีวิตอย่างแท้จริง
2. รู้จักคำว่า ความรัก (Affection)
ความรักในที่นี้คือ การให้ความรักแบบไม่หวังผลตอบแทน น้ำใจไมตรี ที่ท่านให้กับผู้อื่น โดยหวังผลตอบแทนนั้น เป็นความคิดที่ไม่มีพลังในตัวเอง แต่ถ้าท่านให้ความรักกับผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแล้วไซร้ ผู้ที่ได้รับก็จะเกิดความรู้สึกซาบซึ้งในตัวท่าน ซึ่งจะทำให้ท่านเกิดพลังชีวิต
ผู้เขียนได้ให้แง่คิดที่น่าสนใจว่าการจะรักและช่วยคนใดนั้น ควรช่วยคนที่มีสภาวะปกติ ไม่ใช่ช่วยคนที่กำลังเดือดร้อน เพราะการช่วยคนที่กำลังเดือดร้อนนั้นจะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเราเป็น Hero ทำให้ความเป็นตัวกูของกูมีมากขึ้น ดังนั้นการจะแสดงความรักกับใคร ให้แสดงอย่างจริงจัง และเพียรพยายาม ต้องจริงใจ และจริงจัง กับอีกฝั่งหนึ่งโดยไม่หวังว่าเขาจะให้ความรักตอบกับเรา
3. ทำงาน (Work)
การทำงานจะนำมาซึ่ง ความสุข คนที่ไม่มีงานทำจะเหงาหงอย โดยธรรมชาติของมนุษย์อย่างน้อยที่สุด จะต้องมีสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้เกิดพลังชีวิต บรรดาลูกคนรวยที่วันๆ ไม่ต้องทำอะไรนั้น พวกเขาจะไม่มีความทะเยอทะยานมากนัก เขาจะไม่มีจุดมุ่งหมาย แต่จะมีชีวิตอยู่เพื่อแสวงหาความสุข ในขณะเดียวกันก็มักจะมีคำว่า เบื่อออกมาจากปากเขาตลอดเวลา
ผู้เขียนให้แง่คิดว่าคนที่มีงานทำแม้จะไม่รวยมากนัก แต่ก็มีพลังชีวิต เพราะสำหรับคนทำงานแล้ว วันหยุดจะเป็นวันที่มีค่ามาก สำหรับเขา คนที่มีงานทำจึงจะรู้ค่าของวันหยุด คนที่ไม่มีงานทำจะทำให้เกิดความขี้เกียจ และความเบื่อหน่ายในชีวิตก็จะตามมา งานใดๆ ก็ตามที่เป็น งานสร้างสรรค์ และสามารถทำให้ความฝัน ซึ่งเป็นนามธรรมกลายเป็นรูปธรรมได้นั้น จะทำให้เราเกิด ความชื่นชมในฝีมือเราเอง และทำให้เรามีความสุขในการทำงาน พลังชีวิตก็เกิดขึ้น
การทำงานให้มีความสุขที่สุดคือ การเป็นนายตัวเอง คือมีธุรกิจของตนเอง ให้เรารับผิดชอบเอง 100% แต่ทั้งนี้การทำงานก็ต้อง เริ่มจากการทำงานเล็กๆ ก่อน ต้องเริ่มจากการเป็นลูกจ้างก่อนเพื่อเรียนรู้ระบบ
4. มีความรักให้กันภายในครอบครัว (Family)
พลังขับเคลื่อนสูงสุดที่สามารถ ทะลายปัญหาต่างๆ และทำให้เราเข้มแข็ง ขึ้นได้ก็คือ พลังความรักที่พ่อแม่มีให้ลูก และพลังความรักที่ลูกมีตอบให้พ่อแม่ เนื่องจากความรักในครอบครัว เป็นความรักที่มีมาก และเข้มข้นที่สุด และความรักในครอบครัวนี่เองที่มีพลังขับเคลื่อนมหาศาล แต่ทั้งนี้ความรักที่พ่อแม่ให้ลูกนั้น ลูกจะต้องรับรู้ และ ปฏิบัติดีต่อพ่อแม่ตอบ แล้วพลังชีวิตจึงจะเกิดขึ้น คนในครอบครัวต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันแล้ว ก็จะทำให้ความรุนแรงในการโต้เถียงกันภายในครอบครัวลดน้อยลง
สูตรแห่งความสุข...ตำราชีวิตประจำวัน
By สุทธิชัย หยุ่น
พรรคพวกส่งจดหมายเวียนผ่านอีเมล์มาให้...บอกว่าเป็น “สูตรแห่งชีวิตประจำวัน” ที่ควรจะส่งต่อไปให้คนที่เรารัก, ห่วงใยและต้องการให้เขาหรือเธอมีความสุขทั้งกายและใจ... ทำนองเดียวกันที่ชาวชีวจิตมีความห่วงหาอาทรต่อกันอย่างไม่ลดละ เพื่อนเรียกสูตรนี้ว่าเป็น Lifebook หรือเป็น “ตำราแห่งชีวิต” ซึ่งผมคิดว่าเหมาะเจาะกับเนื้อหา และคำแนะนำที่น่าสนใจยิ่ง ทั้งง่ายและตรงไปตรงมา, ใครจะทำก็ได้, ไม่ทำก็ได้, เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล, ไม่บังคับยัดเยียดกัน, ไม่ต่อว่าต่อขานกัน, แต่ถ้าหากมีความมุ่งมั่นจะทำอะไร ให้กับชีวิตของตนเอง, ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าส่งเสริมสนับสนุน สมควรที่จะให้กำลังใจแก่กันและกันอย่างยิ่ง
สูตรที่ว่านี้มีง่าย ๆ อย่างนี้
๑. ดื่มน้ำให้มาก
๒. กินอาหารเช้าเหมือนราชา, รับประทานอาหารเที่ยงเหมือนเจ้าชายและเมื่อถึงอาหารเย็น, ให้วาดภาพว่าตัวเองเป็นแค่ขอทาน (แปลว่ากินมือหนักที่สุดตอนเช้า, และกลาง ๆ ตอนเที่ยง และตกเย็นแล้ว, ทำตัวเป็นยาจก, ไม่มีอะไรจะกิน...สุขภาพจะเป็นอย่างเทวดาทีเดียวเชียวแหละ)
๓.กินอาหารที่โตบนต้นและบนดิน, พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ผลิตจากโรงงาน