มีทฤษฎีซึ่งอธิบายการที่คนเราชอบตัดสินกันที่เปลือกว่า การตัดสินกันที่เปลือกอาจเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของเราที่ฝังรากมาแต่ดึกดำบรรพ์ในรูปของสัญชาตญาณ บรรพบุรุษยุคหินของเราใช้ชีวิตในป่า มักมีเวลาเพียงเสี้ยววินาทีตัดสินสิ่งที่เห็นว่าเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือไม่ ภาพประทับแรกบอกว่าสิงโตตัวนั้นจะกินเราหรือไม่ ผลไม้พันธุ์นั้นมีพิษหรือเปล่า คนป่าอีกเผ่าหนึ่งที่สวนทางกันจะทำอันตรายเราไหม อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสัญชาตญาณ love at first sight หรือ hate at first sight จะมาจากไหนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ความจริงคือตราบใดที่มนุษย์มีนัยน์ตา เราก็มักตัดสินเรื่องต่างๆ ที่เปลือกนอก นี่มิได้ชี้แนะว่า การตัดสินคุณค่าของคนหรือวัตถุที่เปลือกนอกเป็นสิ่งดี แต่การเข้าใจกระบวนการทำงานของสมองด้าน first impression อาจช่วยให้เราไม่บ่นเมื่อถูกคนอื่นปฏิเสธ มันทำให้เราเข้าใจว่าเราถูกปฏิเสธที่เปลือกนอกล้วนๆ ไม่ใช่ที่จิตวิญญาณของเรา เราอาจถูกมองว่าไร้ค่า ทว่ามีแต่เราคนเดียวในโลกเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าเราไร้ค่าหรือไม่ เราไม่จำเป็นต้องเสียอารมณ์เพราะถูกคนอื่นปฏิเสธเพราะเปลือกนอก สิ่งที่เราทำได้ก็คือข้ามพ้นการมองของคนอื่นโดยไม่ยี่หระ หรืออาจพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเรามีดีภายใน
คมคำคนคม Don’t be over self-confident with your first impressions of people. จงอย่ามั่นใจเกินไปกับภาพประทับแรกของคน
สุภาษิตจีน Almost everyone will make a good first impression, but only a few will make a good lasting impression. คนเกือบทั้งหมดสร้างภาพประทับใจแรก แต่น้อยคนนักสามารถสร้างภาพประทับใจที่ดำรงอยู่เนิ่นนาน Sonya Parker