ง่ายๆ - ป้าง
มองโลกง่ายง่ายสบายดี
โดย ... หนุ่มเมืองจันท์
<} Positive Thinking {>
ในสิ่งเดียวกันเราสามารถมองได้ 2 แบบ ทั้งทางลบ และทางบวก
... เรานำกระดาษขาวแผ่นหนึ่ง จุดสีดำลงที่กลางกระดาษ
ลองถามเพื่อนสิครับว่า เห็นอะไรในกระดาษบ้าง
ส่วนใหญ่จะบอกว่าเห็นจุดสีดำ
ทั้งที่ “จุดดำ” นั้นเป็นจุดเล็กๆ นิดเดียวบนกระดาษขาว
มีน้อยคนที่จะตอบว่า เห็นกระดาษสีขาว
ทั้งที่สีขาวมีเนื้อที่มากกว่าจุดสีดำหลายร้อยเท่า
แก้วน้ำใบหนึ่งมีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว คนหนึ่งเห็นบอกว่ามีน้ำ “แค่” ครึ่งแก้ว อีกคนบอกว่ามีน้ำ “ตั้ง” ครึ่งแก้ว
น้ำครึ่งแก้ว
เหลือแค่ครึ่ง................มีอีกตั้งครึ่ง
ขาด......................................เหลือ
หากมองในแง่ลบ จะเห็นเฉพาะส่วนที่ขาด
หากมองในแง่บวกเรา จะเห็นค่าของสิ่งที่เหลือ
มองอย่างเข้าใจ มองให้เห็นความจริง
เราจะเห็นความสุข และรู้คุณค่าของสิ่งที่มี
บริษัทรองเท้าในอิตาลี 2 แห่งส่งเซลล์แมนไปเกาะแห่งหนึ่ง คนบนเกาะไม่มีใครใส่รองเท้าเลย
เซลล์แมนคนแรกบอกเจ้านายว่า
“นายครับ ไม่ต้องมาอีกแล้วครับ คนในเกาะไม่มีใครใส่รองเท้าเลย”
เซลล์แมนคนที่สองบอกเจ้านายด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า
“นายครับ โอกาสขายมีมากเลยครับ เพราะคนในเกาะไม่มีใครใส่รองเท้าเลย”...
คนหนึ่งเห็น “ปัญหา” คนหนึ่งเห็น “โอกาส”
โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ แห่งพานาโซนิคเคยกล่าวไว้ว่า
“การเล็งเห็นแต่สิ่งไม่ดี และคิดในเชิงลบ ไม่อาจแก้ปัญหาต่างๆ ได้”
... ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อมไร้ข้อบกพร่อง แต่ละคนมีทั้งข้อดี และข้อเสีย แต่ละคนมีทั้งความแข็งแกร่ง และอ่อนแอ
คำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมถึงไม่ใช้ “จุดแข็ง” ของเขาให้เป็นประโยชน์ ทำไมมุ่งตำหนิติเตียนต่อ “ความผิดพลาด” ต่างๆ ของเขาเป็นด้านหลัก
หลายปีที่ล่วงมา ผมพบเห็นนักธุรกิจผู้มีความสามารถพิเศษหลายคนล้มเหลวในการเป็นผู้จัดการ เพราะเขากระทำต่อพนักงานราวกับเป็นความบกพร่องมากกว่าเป็นทรัพยากรอันมีค่าขององค์กร
<} ไอน์สไตน์ {>
วาทะของ “ไอน์สไตน์” ในเรื่องต่างๆ หลายแง่มุม มีหลายประโยคที่อ่านแล้วยิ้ม
อย่างเช่น “ข้าพเจ้าไม่เคยกังวลเกี่ยวกับอนาคตเลย เพราะมันมาถึงเร็วพออยู่แล้ว”
ทฤษฎีสัมพันธภาพนั้นถือเป็นการปฏิวัติวงการฟิสิกส์โลก เป็นทฤษฎีที่โด่งดัง แต่ยากจะเข้าใจ แต่ “ไอน์สไตน์” กลับอธิบายทฤษฎีที่ยากแสนยากด้วยประโยคสั้นๆ ให้เลขานุการของเขาฟัง
“หนึ่งชั่วโมงที่นั่งกับสาวสวยบนม้านั่งในสวนผ่านไปเหมือน 1 นาที แต่ 1 นาทีที่นั่งบนเตาร้อนๆ ดูเหมือน 1 ชั่วโมง”
“ไอน์สไตน์” นั้นเป็นคนถ่อมตัว เวลาคนฉลาดถ่อมตัวนั้นดูน่ารัก
วันหนึ่งมีคนจะไปปรึกษา “ไอน์สไตน์” เกี่ยวกับทฤษฎีบางอย่างที่เขาติดขัดอยู่ ใครไปคุยกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกถ้าไม่สั่นก็เกินไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่ก็เหมือนกัน เขาอธิบายแนวคิดและเขียนสมการบนกระดาษด้วยอาการตื่นเต้น แต่พอเขาขยับมือ “ไอน์สไตน์” ก็บอกว่า “เขียนช้าๆ หน่อยนะ ฉันเป็นคนเข้าใจอะไรไม่เร็วนัก”
“ไอน์สไตน์” ยังเป็นคนเชื่อมั่นในพลังแห่งจินตนาการ เขาบอกว่า “จินตนาการสำคัญยิ่งกว่าความรู้ เพราะความรู้นั้นจำกัด แต่จินตนาการนั้นอยู่ล้อมรอบโลก”
ประโยคเสียดสีของนักวิทยาศาสตร์ของโลก... “ข้าพเจ้ารอดตายมาจากสงคราม 2 ครั้ง ภรรยา 2 คน และฮิตเลอร์” ไม่แน่ใจว่า “ไอน์สไตน์” หมายความว่า ภรรยา 2 คนของเขานั้นน่ากลัวเทียบเคียงกับสงครามและฮิตเลอร์ หรือว่าสิ่งที่น่ากลัวในชีวิตของเขาคือฮิตเลอร์ สงคราม 2 ครั้ง และการมีภรรยาพร้อมกัน 2 คน !!!
<} ความล้มเหลว {>
“บิล เกตต์” ชอบจ้างผู้ประกอบการที่เคยล้มเหลวมาก่อนมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของ “ไมโครซอฟท์”
เหตุผลง่ายๆ ก็คือ มีแต่ผู้ที่เคยล้มเหลวเท่านั้นที่รู้ดีว่าเส้นทางของความล้มเหลวมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และความล้มเหลวนั้นเจ็บปวดเพียงใด
ด้วยประสบการณ์ดังกล่าว จะทำให้เขาไม่นำพาองค์กรไปเส้นทางนี้อีก
... คนที่รบชนะติดต่อกัน 100 ครั้ง การรบครั้งที่ 101 จะอันตรายที่สุด...
ความสำเร็จทำให้คนเชื่อมั่น และนำพาไปสู่ความประมาท
ตำราพิชัยสงครามซุนวู กล่าวไว้ว่า
ขุนศึกที่รบชนะติดต่อกันร้อยครั้ง
การรบครั้งที่ 101 จะอันตรายที่สุด
เพราะเขาจะเชื่อว่าการรบครั้งที่ 101 คงเหมือนกับ 100 ครั้งที่ผ่านมา
“ความประมาท” ก็จะเดินมาหาคนนั้นโดยมี “ความพ่ายแพ้” แอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง
“โธมัส อัลวา เอดิสัน” นักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟคนแรก ... ครั้งหนึ่งผู้ช่วยของเขา บ่นกับเขาว่า “เราทำการทดลองเรื่องนี้มา 700 ครั้งแล้ว เรายังไม่พบอะไรเลย”
“เอดิสัน” หัวเราะ แล้วบอกว่า “เราไม่ได้ล้มเหลว แต่เราได้เรียนรู้อะไรต่างๆ เพิ่มมากขึ้น... อย่างน้อยที่สุดตอนนี้เราเรียนรู้แล้วว่ามี 700 วิธีที่ไม่ควรทำ”
บางครั้งความล้มเหลว ก็กลายเป็นความสำเร็จได้… “โคลัมบัส” ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นคนล้มเหลวที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก เพราะเป้าหมายแท้จริง “โคลัมบัส” ตั้งใจจะไปอินเดีย !!!
<} แม้ “ทุกข์” ยัง “สุข” {>
คนเราส่วนใหญ่ที่มี “ความทุกข์” เพราะเราชอบเปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่า
ทำไมรวยไม่เท่าคนนี้
ทำไมสวยสู้คนนี้ไม่ได้
ทำไมเพื่อนคนนี้ได้งานดีกว่าเรา ฯลฯ
เพราะเลือกที่จะเปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่า ความรู้สึกต่ำต้อยจึงเกาะกุมใจ
แต่ถ้าทุกครั้งในชีวิตเมื่อมี “ความทุกข์” มาประจันหน้า เรามองมันอย่างเข้าใจ และเทียบกับคนที่ทุกข์กว่า เราจะรู้สึกว่าความทุกข์ของเราเล็กน้อยเหลือเกิน
หากวันนี้ใครมี “ความทุกข์” ผมแนะนำให้อ่านหนังสือ “เอดส์ไดอารี่” เป็นเรื่องราวของเด็กสาวที่เป็นเอดส์ในช่วงวัยที่กำลังสดใส เธอเผชิญหน้ากับ “ความตาย” ที่รออยู่เบื้องหน้าด้วยความเข้าใจ สร้างมุมมองใหม่ให้กับชีวิต เป็นมุมมองที่ไม่ทุกข์
<} เขาใหญ่ - เราเล็ก {>
ความยิ่งใหญ่ของ “ป่า” ทำให้มนุษย์ตระหนักว่าเราเป็นเพียงผู้อาศัย มิใช่ “เจ้าของ” โลกใบนี้ ...
โลกในป่าหมุนช้ากว่าโลกในเมือง ความช้าทำให้เราพิถีพิถันกับทุกสิ่งมากขึ้น
โลกแห่งป่าทำให้เรามีเวลามองและสังเกต คิดและสรุป ป่าตะโกนสอนธรรมะเราอยู่ตลอดเวลา
ใน “ป่า” ก็มีอารมณ์ขัน... ทุกวันที่วนเวียนอยู่ในเขาใหญ่ เราจะเจอกับเจ้าลิงน้อยเป็นประจำ คงเป็นเพราะมีคนมาให้อาหารมันเป็นประจำ ทำให้ “เจี๊ยกน้อย” เรียนรู้การนั่งรอรับผลไม้จากคน เสียสัญชาตญาณสัตว์ป่าหมดเลย บางตัวเรียบร้อยหน่อยก็นั่งเฉยๆ แต่บางตัวก็ทะลึ่งหันก้นให้
“หนูรู้แล้วว่าทำไมลิงชอบกินผลไม้” เด็กน้อยที่ร่วมขบวนทะลุกลางป้องขึ้นมา
“ทำไมล่ะ” ผมถาม
“เพราะลิงท้องผูก” เป็นคำเฉลยที่ทะแม่งพิกล
“รู้ได้ไงว่าลิงท้องผูก” ผมยังสงสัย
“ดูสิคะ ก้นแดงทุกตัวเลย มันคงอึไม่ออก พ่อแม่เลยสอนให้กินผลไม้เย
อะๆ”
<} คมคิด “คนดัง” {>
แจ๊ค เวลซ์ : “จงเปลี่ยนแปลง ก่อนถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง”
เทียม โชควัฒนา : “ใครทำดีกับเราให้จำ แต่ทำดีกับใครให้ลืม”
บิล เกตส์ : “จงอย่าเปลี่ยนใจกลับไปกลับมา แต่จงใช้เวลาและคิดให้ดีเพื่อตัดสินใจให้เด็ดขาด โดยไม่ต้องย้อนคิดถึงเรื่องเดิมหากไม่จำเป็น”
แจ๊ค เวลซ์ : “การลงโทษในความล้มเหลว จะทำให้ไม่มีใครกล้าทำสิ่งใด”
อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยบอกว่าปรัชญาของทีมแมนยูฯ นั้นเรียบง่ายอย่างยิ่ง “จงยิงประตูมากกว่าคู่แข่ง 1 ประตู”
<} วัฒนธรรม {>
ฝรั่งคนหนึ่งไปทานข้าวกับเพื่อนชาวจีน
เขาเห็นเพื่อนคนจีนกินไก่แล้วคายกระดูกออกมาไว้ข้างจาน
ในขณะที่ตัวเองเขี่ยกระดูกไก่ไว้ในจานตัวเอง
แม้จะรู้สึกสกปรก แต่ก็ไม่กล้าเอ่ยปากกับเพื่อน ทุกครั้งที่กินข้าวด้วยกัน
ฝรั่งคนนี้จะเก็บความรู้สึกนี้ไว้ในใจ
จนกระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนชาวจีนกลับเป็นฝ่ายเอ่ยปากก่อน
“ขอโทษนะเพื่อน ถ้าสิ่งที่เราถามทำให้เพื่อนไม่พอใจ” เขาทำท่าเกรงใจ
“ถามจริงๆ เถอะ เวลาทานอาหารแล้วเอาเศษอาหารหรือกระดูกไว้ในจาน
เพื่อนไม่รู้สึกว่าสกปรกบ้างหรือ”
ฝรั่งฟังแล้วยิ้ม นึกขำในใจ ขณะที่เขารู้สึกว่าการคายกระดูกไว้ข้างจานสกปรก
เพื่อนชาวจีนก็รู้สึกเหมือนกันว่า การทิ้งกระดูกไว้ในจานสกปรก
... นี่คือมุมมองที่แตกต่าง จากรากฐานวัฒนธรรมที่แตกต่าง ...
<} ความสุข “วันนี้” {>
หนังสือของพระไพศาล วิสาโล
มีตอนหนึ่งท่านเล่าเรื่อง “นักธุรกิจพันล้าน” คุยกับ “ชาวประมง”
นักธุรกิจเจอชาวประมงคนหนึ่ง นอนเอกเขนกอยู่ข้างเรือจึงพูดขึ้น
“ทำไมลุงไม่ออกไปจับปลาล่ะ”
“ผมจับได้มากพอแล้ว” ชาวประมงตอบ
“แล้วทำไมไม่ไปจับให้มากขึ้นล่ะ”
“จับมากๆ ทำไมกัน” เขาสงสัย
“จับมากๆ จะได้มีเงินไปซื้อเครื่องยนต์ติดเรือไปจับปลาในทะเลลึกๆ ได้”
“เพื่ออะไร”
“เพื่อลุงจะได้มีเงินมากขึ้น และซื้อเรือเพิ่มขึ้นจนเป็นกองเรือประมงเลย”
“มีทำไมกองเรือประมง” ลุงถามต่อแบบงงๆ
“อ้าว ลุงจะได้เป็นเศรษฐี นั่งเล่นนอนเล่น ไม่ต้องทำอะไรน่ะสิ” นักธุรกิจอธิบาย
ชาวประมงฟังแล้วก็หัวเราะ “นั่งเล่นนอนเล่น... “
เขาทวนคำ “ก็ผมกำลังทำอยู่แล้วไงตอนนี้”
<} แง่งามของการเดินช้า {>
จากหนังสือ “ร่มไม้เรือนใจ” ของพระไพศาล วิสาโล
เรื่อง “ต้นน้ำแห่งอุดมคติ” ... ต้นน้ำที่แท้จริงเป็นเพียงน้ำหยดเล็กๆ ที่ล้นจากรากไม้ใหญ่น้อยในป่า จากหยดน้ำนี้ได้กลายมาเป็นแม่น้ำใหญ่ ...
พระไพศาลนำปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้มาอธิบายการเคลื่อนตัวจาก “อุดมคติ” สู่ “ขบวนการ” ดังนี้
1. แม่น้ำอันกว้างใหญ่ไพศาลล้วนมีจุดกำเนิดจากหยดน้ำกระจิริด บ้างก็ซึมจากดิน บ้างก็หล่นจากฟ้า
2. ความยิ่งใหญ่และความอัศจรรย์ของธรรมชาตินั้นไม่ได้เกิดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ หากเกิดจากการประสานกันของสิ่งต่างๆ จนเป็นเครือข่าย ต้นน้ำนั้นอยู่กระจายไปหมด ตรงนี้ก็ใช่ ตรงนั้นก็ใช่ ไม่มีตรงไหนผูกขาดความเป็นต้นน้ำได้เลย
3. น้ำกว่าจะกลายเป็นกระแสใหญ่ก็ต้องเจือจางอะไรต่อมิอะไรเข้าไปมิใช่น้อย บางช่วงหมองคล้ำด้วยมลพิษ ตรงกันข้ามกับต้นน้ำ ที่แม้จะแบบบางและดูเล็กน้อย แต่ก็บริสุทธิ์ใสสะอาด
การเป็นขบวนการที่ใหญ่โตนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องประนีประนอมและเจือจางความเข้มข้นลงไป
ถ้ารักจะสร้างขบวนการขึ้นมา ต้องรู้จักยืดหยุ่นและไม่ยึดติดกับอุดมคติเกินไป อุดมคติดั้งเดิมต้องเจือจางไป ไม่มากก็น้อย แต่ถ้ายืดหยุ่นเกินไป ก็ต้องกลายเป็นมลพิษในที่สุด
4. ทั้งต้นน้ำและแม่น้ำต่างก็มีความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็มีบทบาทต่างกันด้วย
เราแต่ละคนสามารถเลือกได้ว่าตนเองรักจะเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีพลังในทางจิตใจและสติปัญญา หรือเป็นกำลังสำคัญของขบวนการอันยิ่งใหญ่ที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลง
ปรัชญาแห่งธรรมชาติ ปรัชญาแห่งต้นไม้บอกว่า ...
“เมื่อต้นไม้ถูกหักกิ่ง มันไม่เคยเสียเวลาให้กับความเจ็บปวดท้อแท้ หากแต่พยายามยืดแทงหน่อขึ้นมาใหม่ แล้วปล่อยกิ่งแห้งนั้นให้ตกลงดินกลายป็นปุ๋ยโอชะให้แก่ราก เพื่อเป็นอาหารหล่อเลี้ยงลำต้นต่อไป”
ความทุกข์ยากวันนี้มาเพื่อที่จะผ่านเลยไป อย่ายึดมันเอาไว้ และก็อย่าปล่อยมันผ่านไปเฉยๆ เก็บบางเสี้ยวมาแปรเปลี่ยนเป็น “อาหาร” แก่ปัญญาและจิตใจเราบ้าง
ทุกครั้งที่เผชิญกับ “ปัญหา” และ “ความทุกข์” ขอให้คิดว่าเราเป็น “ต้นไม้” ยามถูกหักกิ่ง
การเดินทางที่เหน็ดเหนื่อยและยากลำบากคงคล้ายๆ กับการขึ้นเขาสูงชัน
... กลวิธีที่ชาวเขาทั้งหลายสอนคนพื้นราบในการขึ้นเขาสูง คือการเดินช้าๆ ...
ในเวลาขึ้นเขานั้น เราไม่ได้สู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกเท่านั้น หากยังจะต้องต่อสู้กับนิสัยความเคยชินของตนเองอีกด้วย
... “ความเคยชิน” ก็คือ “กรอบประสบการณ์” ในอดีตของแต่ละคน ...
คนที่เดินขึ้นเขาอย่างรวดเร็วไม่มีโอกาสได้เห็นความงามสองข้างทาง มีแต่คนเดินช้าเท่านั้นที่แลเห็น และสัมผัสความงามได้อย่างอิ่มเอิบใจ
... ลุยงานหนักเพื่อหวังได้พักเมื่อเสร็จงาน ... ความสุขและการผ่อนคลายฝากไว้กับอนาคต ทั้งๆ ที่เราสามารถจะสัมผัสสิ่งนั้นได้ในปัจจุบัน ท่ามกลางงานที่เราทำอยู่ขณะนี้
<} มองโลกง่ายง่าย สบายดี {>
ผมไม่แปลกใจที่โลกใบนี้จะมีมหาเศรษฐีจำนวนมากหน้าตาขยุกขยุย ไม่รู้จักรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่อีกมุมหนึ่ง คนเก็บขยะหัวเราะเสียงดัง
คนส่วนใหญ่ที่ทุกข์ระทมเพราะแก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ มักเชื่อว่าเพราะปัญหามันยิ่งใหญ่เกินแก้ไข
โดยลืมไปว่าต้นเหตุแท้จริงคือเราตั้งโจทย์อย่างไรให้กับตัวเราเอง
โจทย์ที่เรารู้สึกว่ามันแก้ไม่ได้
บางทีปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราแก้โจทย์ไม่ถูกต้อง
แต่เป็นเพราะเราตั้งโจทย์ให้กับชีวิตตนเองยากเกินไป
ลองหัดตั้งโจทย์ง่ายๆ ให้กับชีวิตบ้าง บางที “ความสุข” อาจไม่ไกลเกินไขว่คว้า
โจทย์ยากก็เหมือน “กางเกงยีนส์” โจทย์ง่ายก็เหมือน “กางเกงวอร์ม”
“กางเกงวอร์ม” ถอดง่ายกว่า “กางเกงยีนส์”
|