VIDEO
ยืนให้ได้ ไม่มีล้ม
โดย : บุญชัย ปัณฑุรอัมพร
มีร้านหนังสือเล็ก ๆแห่งหนึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านของผมเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม เพราะปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่เสมอในห้วงเวลาสิบปีที่ผ่านมา
ที่ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน
ผมได้เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง การเจริญเติบโตของร้านเล็กๆ แห่งนี้มาตลอดระยะเวลาเกือบสิบปี ผมไม่เพียงแต่เป็นลูกค้าขาประจำ แต่ยังแอบชื่นชมวิธีการจัดร้านที่ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอๆ
เมื่อแรกเริ่ม ร้านจะมีชั้นวางหนังสือมากมายหลายตัวที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ แต่กลับให้ความรู้สึกเกะกะทางเดินไปหมด เนื่องด้วยพื้นที่อันคับแคบ แถมยังมีมุมที่เป็นเคาน์เตอร์ เป็นโต๊ะสำหรับห่อปกหนังสือ เป็นที่วางถุงเพื่อหยิบหนังสือใส่ถุงให้ลูกค้า และยังเป็นที่วางเครื่องแคชเชียร์ มีที่นั่งสำหรับพนักงาน 2 ที่ ที่หนึ่งสำหรับแคชเชียร์ อีกที่หนึ่งสำหรับพนักงานบริการ
การปรับปรุงครั้งแรก ที่ผมสังเกตเห็นคือ ความรู้สึกโล่งสบายขึ้นเมื่อภาพสวยงามตามกำแพงถูกรื้อออก เปลี่ยนเป็นชั้นวางหนังสือยาวตลอดผนัง และจำนวนชั้นวางหนังสือ แบบเคลื่อนที่ได้ถูกนำออกไปเกือบครึ่ง การวางถุง กระดาษห่อหนังสือต่างๆ ตลอดจนสินค้าประเภทเครื่องเขียนก็ถูกจัดวางเป็นแนวตั้งทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดพื้นที่ใช้สอย แต่กลับเพิ่มพื้นที่ให้กับหนังสือและสินค้าที่สามารถเพิ่มยอดขายได้
การปรับปรุงครั้งที่สอง ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี มุมเคาน์เตอร์ที่มีบานพับให้พนักงานเปิดเข้าออกถูกรื้อถอนทิ้ง เครื่องแคชเชียร์ถูกจัดวางหันเข้าหากำแพง ที่นั่งของพนักงานบริการถูกถอดออกเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการโชว์สินค้าเพื่อการจำหน่ายมากขึ้นไปอีก และการปรับปรุงครั้งล่าสุด พื้นที่สำหรับจัดการเรื่องหีบห่อถูกรื้อถอนออกไป ที่นั่งสำหรับพนักงานแคชเชียร์ก็หายไปแต่มีชั้นวางหนังสือเพิ่มกลับเข้ามาสองตัว ทางเดินก็ยังโล่งโปร่งสบาย
ผมแอบถามพนักงานขายที่เมื่อก่อนมี 3 คน แต่ตอนนี้มี 2 คนว่า “เดี๋ยวนี้ไม่ห่อปกให้แล้วหรือ ?”
น้องคนขายจึงเล่าให้ฟังว่า “ ลูกค้าขี้เกียจรอ แต่ขอปกกลับไปห่อเอง และส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจอยากจะให้ห่อ มันไม่ใช่เรื่องใหม่อีกแล้ว ใครๆก็ทำกัน หนูเลยบอกให้พี่เจ้าของร้านเปลี่ยนเอาชั้นวางหนังสือมาเพิ่มอีกสองตัวดีกว่า”
ผมถามต่อว่า “แล้วไม่มีเก้าอี้นั่ง ไม่เมื่อยขาหรือ?”
น้องคนขายบอกต่อว่า “หนูเป็นคนเอาออกเองค่ะ เพราะขายดีขึ้น งานมากขึ้น มีเก้าอี้ไว้ก็ไม่ได้นั่ง เอาเก้าอี้ออกเปลี่ยนเป็นชั้นวาง ทำให้ขายได้มากขึ้นดีกว่า”
น้องพนักงานแคชเชียร์พูดแทรกแบบไม่ยอมน้อยหน้าว่า “หนูก็เอาเก้าอี้ออกเองนะพี่ เห็นเขาเอาออก หนูก็ไม่อยากเอาเปรียบ อีกอย่างหนูก็ได้ฝึกขาย ไม่เอาแต่นั่งรอรับทอนเงินนะ เวลายุ่งๆ วันหนึ่งๆ มันก็ผ่านไปเร็วดี ไม่เบื่อ อีกอย่างนะ พี่เจ้าของร้านเขาก็ใจดี เห็นพวกหนูไม่นั่ง ก็ให้เวลาพักบ่อยมากขึ้น เป็นทุกๆสองชั่วโมงผลัดกัน ตอนกลางคืนก็ให้ปิดร้านเร็วขึ้นกว่าเดิมหนึ่งชั่วโมง หนูได้กลับบ้านเร็ว ตอนนี้ดีใจมากเพราะรายได้ดีขึ้น พื้นที่การขายเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าคอมของพวกหนูก็เพิ่มตาม เพื่อนคนหนึ่งออกไป เดี๋ยวนี้เหลือสองคน พวกหนูก็รับปากจะทำงานให้กับพี่เขาเต็มที่ ไม่ต้องจ้างใหม่ เราสองคนเอาอยู่ ลำพังค่าเช่าที่พี่เขาถูกเก็บเพิ่มทุกปี กับพวกเปอร์เซ็นต์ส่วนลดจากสินค้าก็ได้น้อยลงเรื่อยๆ พี่เขาก็แทบจะไม่มีอะไรเหลือ”
น้องคนขายเสริมต่อ “พวกเรา ปรับตัวกันมาได้สามเดือนแล้ว เดี๋ยวนี้รายได้เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ให้เอาเก้าอี้กลับมาหนูก็ไม่เอาแล้ว”
คุยกับน้องพนักงานทั้งสองเสร็จ ในใจผมได้แต่ชื่นชมทั้งพนักงานและพี่เจ้าของร้านอย่างบอกไม่ถูก
There is no limit to how far human wisdom can be developed. Within the company, we continually aim to achieve mutual understanding, fulfill mutual responsibilities, and combine the power of our individual employees. “Respect for people” is the attitude that regards people’s ability to think most.
“สติปัญญาของมนุษย์สามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่องค์กรของเรา เรามุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน ตลอดจนการรวมพลังของพนักงานแต่ละคนเข้าด้วยกัน “การเคารพในความเป็นคน” เป็นทัศนคติที่จะผลักดันความสามารถในการคิดค้นของผู้คนให้กลั่นออกมาให้ได้มากที่สุด”
จากบอร์ดขนาดใหญ่หน้า Hall of Fame
ในโรงงานผลิตรถยนต์ Toyota เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น
ทุกครั้งที่ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนสูงขึ้น จนราคาสินค้าไม่สามารถแข่งขันกับราคาสินค้าในตลาดโลกได้ (Less Competitiveness) การลดต้นทุน จะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวกันอย่างจริงจังอยู่เสมอ
แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า การลดต้นทุนจะกลายเป็นกิจวัตรที่ต้องคอยบริหารจัดการกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยภายนอกที่องค์กรไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภาวะซบเซาของตลาดสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงก่อน Subprime ปัญหาภาระหนี้สินที่เริ่มในประเทศกรีซ
กระทั่งส่งผลกระทบต่อตลาดยุโรปโดยรวม ปัญหาค่าเงิน ดอกเบี้ย ตลอดจนค่าแรงขั้นต่ำที่ถกเถียงกันยังไม่สะเด็ดน้ำ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดขององค์กร
วันนี้ การยืนเย็บ (Standing Sewing) ในอุตสาหกรรมการเย็บเสื้อผ้าได้เป็นที่ยอมรับ และนำมาใช้เพื่อเป็น การเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นได้ถึง 30-40% จากผลผลิตเดิม Higher Efficiency
ความต้องการพนักงานต่อไลน์ผลิตลดลงถึงหนึ่งเท่าตัว
ส่งผลให้เพิ่มไลน์ผลิตใหม่ได้โดยแบ่งพนักงานครึ่งหนึ่งมาจากไลน์ผลิตเดิม
พื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้นถึง 35%
จากการลดพื้นที่ของการจัดวางเก้าอี้ ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ Lower Investment
การผลิตกระชับขึ้น ใช้เวลาสั้นลง Shorten Lead Time
บางขั้นตอนของการผลิตถูกจัดรวมกันเป็นขั้นตอนเดียว
พนักงานเกิดการเรียนรู้งานมากขึ้น Multi Skill
ลดรอยต่อของการส่งงาน Lower Waiting Time
การส่งต่องานก็กระฉับกระเฉงขึ้น Motion Change
การตรวจสอบด้านคุณภาพก็จับวัดกันได้ไวขึ้นจากกระบวนการที่ถูกตัดทอนให้ สั้นลง Quality Checking on Process
ปริมาณงานที่ค้างรอการผลิต Work in Process ก็จะลดลงตามไปด้วย
ส่งผลให้รอบในการป้อนวัตถุดิบสั้นลง
แต่ต้องทำงานให้ไวขึ้นในลักษณะ Just in Time
การบริหารจัดการทางการเงินก็จะดีขึ้นเมื่อการซื้อลดลงตาม
ความต้องการของการผลิตที่เป็นจริงมากขึ้น Better Cash Flow
นวัตกรรมยืนเย็บกับซาบีน่า
(ชมการยืนเย็บที่ YouTube พิมพ์ “นวัตกรรมยืนเย็บกับซาบีน่า”
หรือเข้า http://www.youtube.com/watch?v=Jrm_9ex_S1k)
พนักงานได้รายได้เพิ่มมากขึ้นตามที่ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น คุณภาพชีวิตดี ขึ้นจากชั่วโมงทำงานที่ลดลง ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น รอยต่อของงานน้อยลง ส่งผลให้พนักงานรักกัน ไม่ต่อว่ากัน
ในเรื่องคุณภาพเนื่องจากหลายๆขั้นตอนถูกรวบให้อยู่ในขั้นตอนเดียวกัน เสียเวลาในการแก้งานน้อยลงไม่กระทบกับรายได้และเวลาในการผลิตงานชิ้นต่อไป ที่สำคัญ สุขภาพดีขึ้นด้วย การยืน พุงหาย น้ำหนักลด
บทวิจัยเผยยืนเพื่อสุขภาพ
(ชม http://www.youtube.com/watch?v=DFxWcZ-jaQ8
งานวิจัยในอเมริกาที่กล่าวถึงผลพลอยได้จากการยืนทำงาน)
ร้านหนังสือเล็กๆ ยังรู้จักการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น
แบบไม่มีวันสิ้นสุด Continuous Improvement ระหว่างเจ้าของร้านกับลูกน้องสองคนด้วยความรักความเคารพที่มีต่อกัน
วันนี้ SME เล็กๆที่มีจำนวนมากในประเทศไทย ต้องรีบยืนขึ้น ยืนเพื่อ อนาคต และยืนให้ได้ก่อนมกราคมปีหน้านะครับ
http://bit.ly/oycG2s