ผ่านมาให้แค่จำ : Peet Peera [Full Song]
เทคนิคเพิ่มความจำ
โดย : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
สัปดาห์นี้ดิฉันขอแนะนำเทคนิคเพิ่มความจำซึ่งได้ไปฟังการสัมมนา โดยคุณ เอรัน คัทซ์ (Eran Katz) ชาวอิสราเอล เป็นผู้ทำสถิติเรื่องการจำในกินเนสส์บุ้คอิสราเอล ซึ่งจัดโดยสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันพัฒนาประชากรศาสตร์ และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
คุณเอรัน ตระเวนไปบรรยายเกี่ยวกับเทคนิคเพิ่มความจำมาแล้วทั่วโลก เขาชอบมาเมืองไทยค่ะ และถือว่าเมืองไทยเป็นบ้านด้วย จึงยินดีมาบรรยายบ่อยๆ
เข้าเรื่องเลยดีกว่า ไม่ว่าใครๆ ก็สามารถลืมอะไรหลายๆ อย่างได้อย่างน่าประหลาดใจ ท่านเคยเดินไปอีกห้องหนึ่งเพื่อทำอะไรสักอย่างแล้วก็ลืมไปว่ามาทำอะไรไหมคะ แล้วท่านแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนใหญ่จะเดินกลับไปที่เดิม เพื่อย้อนไประลึกว่าเมื่อครู่นี้คิดจะไปทำอะไรในห้องนั้น
คุณเอรันบอกว่า เราจำไม่ได้เพราะเราไม่ได้ให้ความใส่ใจต่างหาก เทคนิคต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านมีความจำเพิ่มขึ้นค่ะ
เทคนิคแรกคือ ให้ตั้งใจ (Pay Attention)
หากเราตั้งใจ เราก็จะจำได้ดี
วิธีเพิ่มความตั้งใจ เพื่อไม่ให้เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า ฉันล็อกประตูรถแล้วหรือยังนะ คือให้พูดกับตัวเองว่าได้ทำสิ่งนั้นแล้ว เช่น พอล็อกประตูรถเสร็จ ทดสอบจนแน่ใจว่าล็อกแล้ว ก็พูดกับตัวเองว่า ฉันล็อกประตูรถแล้ว จะช่วยเตือนความจำในสิ่งที่ทำ
คุณเอรันบอกว่า สมองของคนเรารับได้ทีละเรื่องเท่านั้น เราจึงต้องทำทีละอย่าง การทำหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ทำให้เราจำไม่ได้ดี (คล้ายกับเรื่องสติ ของศาสนาพุทธ ว่าเราจะทำอะไร เราต้องมีสติ) การตั้งใจจึงเป็นเทคนิคที่จะทำให้เราไม่ลืม
เทคนิคที่สอง คือ สนใจ (Be Interested)
คุณเอรันบอกว่า เราจะจำในสิ่งที่เราสนใจ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะจำชุดสวยที่เห็นคนอื่นใส่แล้วชอบได้ เพราะสนใจ แต่ผู้ชายส่วนใหญ่จะจำชุดที่คนอื่นใส่ไม่ได้ เพราะไม่ให้ความสนใจ
วิธีฝึกความสนใจคือ ต้องมีความกระตือรือร้น (Enthusiasm)
อันนี้คล้ายกับที่ดิฉันเคยเขียนไว้ ว่าเด็กๆ มีความกระตือรือร้นมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะสิ่งที่พบเห็นในชีวิต เป็นเรื่องใหม่ๆ ทั้งสิ้น เราจึงรู้สึกไปเองว่าเราจำได้ดีเมื่อเราเป็นเด็ก แต่ผู้ใหญ่จะทำอะไรก็รู้สึกว่าซ้ำๆ แล้ว จึงไม่ค่อยกระตือรือร้น และทำให้ไม่ได้สังเกต ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้จำไม่ได้ หากมีความกระตือรือร้นแล้วจะจำได้มากขึ้นค่ะ
นั่นเองคือเหตุผลว่า เวลาต้องการพักผ่อน เราต้องไปสถานที่ใหม่ๆบ้าง เพื่อให้เรามีความกระตือรือร้น แล้วก็จะเกิดความเพลิดเพลิน ความสดชื่น พร้อมจะกลับมารับมือกับงานหนัก กับปัญหา และกับความวุ่นวายต่างๆในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
คุณเอรันบอกว่า การมีความกระตือรือร้น จะทำให้ความจำดีขึ้น คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นด้วย
คนอิสราเอลจะฝึกเด็กให้ช่างซักถาม ถามว่า ...
ทำไมเป็นเช่นนี้ (Why this?)
ทำไมไม่เป็นเช่นนี้ (Why not this?)
และถามต่อไปว่า
ฉันจะเปลี่ยนสิ่งนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร (How can I change it better?)
ฟังอย่างนี้แล้ว ดิฉันไม่สงสัยเลยว่า ทำไมประเทศอิสราเอลซึ่งมีประชากรจำนวนน้อยนิด จึงสามารถผลิตนักคิด นักวิทยาศาสตร์ หรือนักการเกษตร ที่เยี่ยมๆ ได้จำนวนมาก เยาวชนที่ช่างซักช่างถาม จะรู้จักค้นคว้าหาคำตอบ ในขณะที่เด็กไทยหากถามมากๆ นักจะถูกดุเอาบ่อยๆ เงียบๆ น่า อย่าถามมาก
เทคนิคที่สาม คือ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ (Make Association)
การเชื่อมโยงจะทำให้เราจำได้มากขึ้น ทำให้เราไม่ลืม ไม่ว่าจะเชื่อมโยงกับกลิ่น กับเสียง กับภาพ หรือกับมโนภาพ ดังนั้น เวลาต้องการจำอะไรที่ซับซ้อน ให้พยายามผูกเรื่องราวเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นไว้ด้วยกัน แม้ฟังดูแล้วจะไม่ค่อยเข้าท่า หรือดูแปลกๆ ไม่ไปด้วยกัน แต่มันจะช่วยให้เราไม่ลืมค่ะ
หลายท่านคงใช้เทคนิคนี้อยู่ ดิฉันก็ใช้ แต่ที่คุณเอรันแนะนำ เป็นการใช้จินตนาการที่มากกว่าปกติ เช่น หากต้องจำคำว่าปลาและพรม ก็อาจจะต้องนึกภาพว่ามีปลาตัวโตอยู่บนพรม เป็นต้น
การเชื่อมโยงนี้ อาจใช้สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเราเป็นจุดอ้างอิง เช่น ใช้ห้องที่เรายืนอยู่ให้เป็นประโยชน์ จะนึกถึงเรื่องแมวตกลงมาจากตึกสูง ก็ให้นึกถึงภาพแมวห้อยลงมาจากเพดาน จะจำให้ได้ถึงเรื่องเรือไททานิค ก็ให้นึกภาพเรือไททานิคโผล่ออกมาจากผนัง หรือจะจำเรื่องสุนัขดัลเมเชี่ยน ก็ให้นึกถึงลายจุดอยู่บนกำแพง เป็นต้น
เทคนิคที่สี่คือ การจัดระเบียบ (Organize)
ซึ่งแต่ละคนต้องไปหาวิธีการจัดระเบียบเพื่อให้ตัวเองจำได้เอาเอง ผู้อ่านท่านใดมีเทคนิคการจัดระเบียบ ช่วยสงเคราะห์ดิฉันหน่อยนะคะ ดิฉันมีจุดอ่อนเรื่องนี้มากเลยทีเดียว
เทคนิคที่ห้าคือ ใช้ตัวย่อ หรือใช้เทคนิคเข้าช่วย
ที่คุณเอรันใช้ในการจำตัวเลข คือ แปลงตัวเลขให้เป็นตัวอักษร และผสมสระเข้าไปเพื่อให้เป็นคำ เช่น เลข 1 ใช้แทนด้วยตัว T เลข 2 แทนด้วยตัว N (มี 2 มุม) เลข 3 แทนด้วยตัว M (มี 3 มุม)
เช่น 3112 ก็แทนด้วย Mo Ta Ta Ni เป็นต้น
เทคนิคสุดท้ายคือ ทำงานที่ใช้สมองในเวลาที่ดีที่สุดของแต่ละคน
คุณเอรันบอกว่า เวลาที่ดีที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่นคุณเอรัน จะสมองแล่นช่วงกลางคืน ขณะที่ตอนเช้าสมองจะไม่เปล่งศักยภาพมากนัก (ตอนบรรยายก็เป็นช่วงเช้า แต่ดิฉันไม่เห็นว่าสมองของคุณเอรันแสดงอาการไม่แล่นแต่อย่างใด)
การมีออกซิเจนเข้าไปในร่างกายจะช่วยให้สมองทำงานได้ดียิ่งขึ้น มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า สมองที่ได้รับออกซิเจนมาก จะทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่า คุณเอรันแนะนำให้เดินไปคิดไป หรือเดินไปอ่านหนังสือไป เพื่อให้เลือดหมุนเวียน นำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น
ดิฉันเองต้องการออกซิเจนเลี้ยงสมองมาก เวลาอยู่ในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือไม่มีแสงธรรมชาติ ดิฉันจะหัวทึบ คิดไม่ค่อยออก ความคิดสร้างสรรค์ไม่เกิดเลยค่ะ วิธีที่ดิฉันช่วยให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้นคือการหาวค่ะ ให้ออกซิเจนเข้าทางปากอีกทางหนึ่ง เข้าทางจมูกอย่างเดียวไม่พอ ช่วยได้เหมือนกันนะคะ อย่างน้อยก็ชั่วคราว
ท้ายที่สุด คุณเอรันฝากข้อคิดไว้ว่า
เราไม่สามารถจดจำทุกสิ่งทุกอย่างได้
เราควรจะจำในสิ่งที่อยากจำ และลืมในสิ่งที่อยากลืม
เช่น จำช่วงเวลาแห่งความสุข ความสำเร็จ ความรัก ความอบอุ่น ฯลฯ และ ลืมความล้มเหลว ลืมความเจ็บปวด ลืมความขมขื่น ลืมประสบการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตฯลฯ
ดิฉันหวัง และเฝ้าภาวนา อยากให้คนไทยทุกคน ลืมความขมขื่น ความแตกแยก ความเกลียดชังที่มีต่อกันและกัน เพียงเพราะมีความคิดที่แตกต่างกัน และจดจำช่วงเวลาแห่งความรัก ความสามัคคีกลมเกลียว ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความมีน้ำใจ ความอบอุ่น และความเอื้ออาทร ที่เราเคยมีให้กันและกัน เพื่อให้เมืองไทยเป็นเมืองไทยที่น่าอยู่ของเราตลอดไปค่ะ
หมายเหตุ: สนใจแบบฝึกความจำ สามารถหาอ่านและฝึกได้จากหนังสือของคุณเอรัน Secrets of a Super Memory แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ พัฒนาความจำสู่ความเป็นอัจฉริยะ โดยสำนักพิมพ์ Inspire ในเครือนานมีบุ๊คส์
|