แนะ 6 ขั้นตอน สร้างครอบครัวสุขสันต์




บ้านของหัวใจ -Lipta ละอองฟอง เบน ชลาทิศ



แนะ 6 ขั้นตอน สร้างครอบครัวสุขสันต์

ส่วนใหญ่ปัญหาของครอบครัวมักเกิดจากความไม่เข้าใจกันในเรื่องที่เล็กน้อย การปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล จนบางครั้งกลายเป็นการจุดประกายให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ผิดใจกันสร้างความร้าวฉานของความสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้านให้ลดน้อยลง วันนี้ทีมงาน Life& family จึงมีคำแนะนำดีๆ ในการสร้างครอบครัวสุขสันต์มาฝากกันค่ะ

กับประเด็นนี้ "พญ. วิมลรัตน์ วันเพ็ญ" รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวให้ความรู้ว่า คงจะเป็นเรื่องที่ไม่เข้าไม่ออกบ้านใคร เพราะมันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่สมาชิกต่างคนต่างใช้ความคิดของตัวเองในการตัดสินหรือบังคับคนอื่น

ยกตัวอย่างเช่น การแสดงความต้องการว่า ทำไมคุณถึงไม่รู้จักกลับบ้านให้เร็วขึ้น ทำไมคุณถึงไม่เลิกดูฟุตบอลแล้วมาช่วยเลี้ยงลูกบ้าง ทำไมลูกถึงไม่รู้จักกินข้าวให้หมดจาน ทำไมคุณถึงไม่ทำแบบนั้น ไม่ทำแบบนี้ ทำไมเอาแต่ช้อปปิ้ง ทำไมชอบคุยโทรศัพท์กับเพื่อนนานๆ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำให้ความทุกข์ของครอบครัว หากยิ่งปล่อยให้เป็นเช่นนี้มันก็จะกลายเป็นความทุกข์สะสมไปเรื่อยๆ

ถึงตอนนั้น ครอบครัวอาจจะหาคำว่า "ความสุข" ไม่เจอเลย เพราะต่างคนต่างแสดงความต้องการของตัวเองออกมา โดยไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ฯ ท่านนี้ บอกว่า ทางออกที่ดีที่สุดของปัญหานี้ หากมีการพูดคุยกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนของทุกฝ่ายที่พยายามกันอย่างเต็มที่แล้ว แต่มันก็ยังไม่ตรงใจของอีกหนึ่ง สิ่งที่ควรทำคือ กลับมาเปลี่ยนที่ความคิดและสร้างความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นในตัวเองก่อน

อย่างไรก็ดี การคลี่คลายความทุกข์จะต้องทำให้อารมณ์ของแต่ละฝ่ายอยู่ในความสงบและพร้อมที่จะพูดคุยกันด้วยเหตุผล เพราะนี่เป็น "จุดเริ่มต้น" ของการสร้างครอบครัวสุขสันต์ โดยยึดหลักการปฏิบัติตามที่ พญ.วิมลรัตน์ แนะนำ 6 ขั้นตอน สร้างครอบครัวสุขสันต์ ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหา
ลองคิดว่าตัวเราเองเคยทำอะไรที่ไม่ดีกับคนอื่นบ้าง แม้บางครั้งจะเกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจก็ตาม ถ้ามีให้ทุกคนเริ่มกลับไปเปลี่ยนในข้อบกพร่องตรงนั้น และให้คิดว่ามีอะไรบ้างที่คนอื่นทำดีกับเราโดยที่ไม่ได้คาดหวัง แล้วนำทั้ง 2 ข้อกลับไปเขียน บางคนอาจจะตกใจ เพราะสิ่งที่คนอื่นทำให้เรารู้สึกดีมีมากกว่าสิ่งที่เราทำไม่ดีกับคนอื่นอีก เพราะฉะนั้นความรู้สึกมันจะหักร้าง และทำให้เรากลับไปคิดได้ว่า ตัวเราเองจะเป็นทุกข์ไปทำไม ในเมื่อเราก็ได้รับสิ่งที่ดีๆ มากกว่าความรู้สึกไม่ดีเสียอีก

2. การสื่อสาร
ซึ่งความจริงแล้วน่าจะจัดให้เป็นขั้นตอนแรกในการจัดการกับความทุกข์และสร้างความสุขให้กับคนในครอบครัว เพราะการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราจะพูดคุยกันอย่างไรให้ชีวิตคู่อยู่กันยืดยาว คุณแม่จะใช้คำพูดอย่างไรกับลูกที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่ใช่คำบ่น ซึ่งมีหลักการสื่อสารที่ถูกต้องง่ายๆ สามารถทำได้โดยการคิดก่อนพูด และควรหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่ขึ้นต้นว่า ทำไมไม่ทำแบบนั้น ทำไมไม่เป็นแบบนี้ เพราะมันจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเป็นการบังคับขู่เข็ญ

3. รู้จักบทบาทของตัวเอง
เพราะบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนในครอบครัวย่อมแตกต่างกันไป ฉะนั้นครอบครัวจะอยู่กันอย่างมีความสุขได้ ทุกคนจะต้องรู้จักและรับผิดชอบในบทบาทของตัวเองในดีที่สุด เช่น คุณพ่อคุณแม่ต้องแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูลูกบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณแม่เพียงคน หรือน้องอาจจะต้องยอมพี่บ้างในบางครั้ง ไม่ใช่ให้พี่เป็นผู้เสียสละเพียงฝ่ายเดียว

4. การจัดการกับอารมณ์
ลองนึกดูเวลาที่มีอารมณ์โกรธหรือโมโห เรามีการจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นอย่างไร เช่น เงียบไม่คุยกับใคร โวยวาย หรือพร่ำพรรณนา แต่มันก็ไม่แปลกมากนักที่จะรู้สึกโกรธหรือรู้สึกแย่กับบางเรื่อง ซึ่งไม่สามารถห้ามอารมณ์ความรู้สึกของใครได้ แต่ในช่วงเวลาที่โกรธหรือหงุดหงิดฉุนเฉียวจะต้องไม่ทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น และข้าวของต่างๆ ในบ้าน หรืออีกทางหนึ่งสามารถบอกความรู้สึกกับคนในบ้านได้ว่า ตอนนี้กำลังรู้สึกโกรธและโมโหมาก

"ทุกคนสามารถระบายความโกรธหรือหงุดหงิดได้ด้วยการ ตะโกนอยู่ในบ้าน แต่ต้องไม่พูดคำหยาบ เช่นเดียวกับการที่เด็กร้องไห้ ซึ่งเป็นการระบายอออกทางอารมณ์ที่ดี อาจจะชกหมอน เตะฟุตบอล หรือฉีกกระดาษ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในขอบเขตหรือความเหมาะสม โดยอาจจะทำในพื้นที่ที่จำกัดแล้วเก็บกวาดด้วย นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันในช่วงเวลามราต่างกันต่างอารมณ์ร้อนหรือโมโหสุดขีด" พญ. วิมลรัตน์อธิบาย

5. สร้างความผูกพันทางอารมณ์
ให้ทุกคนนึกถึงช่วงเวลาที่รู้สึกดีต่อกัน โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่เวลาที่คบหาดูใจกันในตอนแรกๆ จะรู้สึกว่าตัวติดกัน ไปไหนต้องไปด้วยกัน ความผูกพันลึกซึ้งก็มีมากจนล้นออกมา แต่พอผ่านไปนานวัน ความเบื่อหน่ายเริ่มเข้ามาแทนที่กลายเป็นความรำคาญใจ อยากได้เวลาส่วนตัวมากขึ้น บางคนก็ต่างคนต่างอยู่ โดยไม่มีความรู้สึกว่าผูกพันกัน แม้จะไม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง แต่ก็ไม่ได้มีความรักและความห่วงใยให้แก่กันเลย หรือบางคู่อยู่ด้วยกันจนเกิดความเคยชินในการทำตามหน้าที่ ใครอยากทำอะไรก็ทำไป ความผูกพันมันก็จะเริ่มลดลงเรื่อยๆ จนจืดจางลงในที่สุด

"ความจริงแล้ว การสร้างความรักความผูกพันควรต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม และที่สำคัญตัวเราเองต้องมีเวลาส่วนตัวบ้าง ไม่ใช่ทุ่มเทให้กับครอบครัวเพียงอย่างเดียว เพราะชีวิตมันจะเกิดอาการเหนื่อยล้ามากจนไม่อยากจะทำอะไรต่อไป แม้ช่วงแรกๆ เราและคนรอบข้างจะรู้สึกดีกับการกระทำดังกล่าว ฉะนั้นทุกคนในครอบครัวอาจจะต้องคอยเติมเต็มความรักความผูกพันให้แก่กัน โดยต้องไม่ให้มีมากเกินไปหรือมีน้อยจนเกินไป"

6. การจัดการพฤติกรรม
เป็นขั้นตอนที่ส่วนใหญ่จะใช้กับลูก ซึ่งมีหน้าที่คล้ายๆ กับกฏหมาย เนื่องจากทุกๆ บ้านจะต้องมีการตั้งกฏระเบียบขึ้นมา เพื่อสร้างเสริมพฤติกรรมที่ดีของสมาชิกในบ้านและต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากเราตั้งกฏของมาบังคับใช้แล้วปล่อยให้มีการละเมิดไม่ปฏิบิตตามข้อบังคับ ความเป็นระเบียบเรียนร้อยในบ้านก็จะไม่เกิด ตรงข้ามก็จะมีแต่ความวุ่นวาย ส่งผลให้เกิดการทะเลาะ ถกเถียงหรือขัดใจกันได้

เห็นไหมว่า ไม่ใช่เรื่องยากเลย หากทุกคนเริ่มเปลี่ยนจากตัวเองให้ได้ก่อน หรือยึดปฏิบัติตาม 6 ขั้นตอนดังที่กล่าวมาจะสามารถสร้างความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัวได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น เชื่อได้เลยว่าครอบครัวจะสุขสันต์อย่างแน่นอนค่ะ

http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000003084

" บ้าน "
" บ้าน " เป็นที่ๆ อยู่แล้วสบายใจ ไม่ว่าเราจะมีทุกข์มาจากที่ไหน
เมื่อกลับบ้าน...บ้านก็จะเป็นที่ๆ ให้เราพักพิงใจ อยู่แล้วสุขใจ อบอุ่นใจ
เพราะฉะนั้น ทุกคนในบ้าน มาช่วยกันทำ บ้าน (HOUSE)
ให้เป็น " บ้าน (HOME) " นะคะ...
" HOUSE IS HOME "
ด้วยความปรารถนาดีจาก Happinessss