นิทาน ...หิ่งห้อย...



นิทานหิ่งห้อย-ดีเจ บ๊อบบี้

สุภัทรา อินทรภักดี - นิทานหิ่งห้อย



นิทาน.....หิ่งห้อย



เด็กน้อยได้ยินเรื่องราว กล่าวขานมานาน
ว่าหากใครได้นจับหิ่งห้อย มาเก็บเอาไว้ใต้หมอน
นอนคืนนั้นจะฝันดี จะฝันเห็นดวงดาวมากมาย
ฝันเห็นเจ้าชายเจ้าหญิง ฝันแสนสวยงาม
เด็กน้อยนั่งตักคุณยายไต่ถามความจริง ยายยิ้มกินหมาก
หนึ่งคำไม่ตอบอะไรส่ายหัว ใจเด็กน้อยอยากเห็นจริง
อยากเห็นดวงดาวมากมาย อยากเห็นเจ้าชายเจ้าหญิง
อยากฝันสวยงาม หิ่งห้อยนับร้อยนับพัน


ส่องแสงระยิบระยับกัน สว่างไสวไปทั้งต้นลำพู
เด็กน้อยแอบออกมา ไล่คว้าแสงน้อยมาดู
ใส่ไว้ในกล่องงามหรู ซ่อนไว้ใต้หมอน แล้วนอนคอยฝันดี
ตื่นเช้าพอได้ลืมตา มองเห็นคุณยาย
มาแกล้งถามว่าเจอะอะไร สนุกแค่ไหนที่ฝัน
ใจเด็กน้อยจึงทบทวน ไม่ฝันเห็นอะไรมากมาย
รีบค้นเร็วไวใต้หมอนเปิดฝานั้นดู
หิ่งห้อยในกล่องตอนนี้เหมือนหนอนตัวหนึ่ง ไม่สวยดังซึ่งตอนอยู่
ใต้ต้นลำพูส่องแสง ยายยิ้มแล้วสอนตาม จะมองเห็นความจริง


อย่าขังความจริงที่เห็น อย่างขังความงาม
หิ่งห้อยนับร้อยนับพัน ส่องแสงระยิบระยับกัน
สว่างไสวไปทั้งต้นลำพู เด็กน้อยถือกล่องออกมา เปิดฝา แล้วแง้มมองดู
หนอนน้อยในกล่องงามหรูก็เปล่งแสงสุกใสบินไปรวมกัน
เด็กน้อยนอนหลับสบายอมยิ้มละไม ใต้หมอนไม่มีกล่องอะไร
ไม่มีสิ่งใดถูกขัง นอนคืนนั้นจึงฝันดี ได้ฝันเห็นดวงดาวมากมาย
ฝันเห็นเจ้าชาย เจ้าหญิง ฝันแสนสวยงาม







รำลึกถึงหิ่งห้อย
กันตวิชญ์
บรรยากาศของหน้าหนาว ชวนให้รำลึกถึงสมัยยังเรียนอยู่ชั้นประถมที่ต่างจังหวัด วันไหนอากาศหนาวมากๆ ครูประจำชั้นจะพาพวกเราถือสมุดดินสอไปนั่งเรียนกลางแดด พวกเราต่างชอบกันมากเพราะนอกจากทำให้อบอุ่นแล้ว สายตา (และสมาธิ) ยังแวบไป
กับสิ่งรอบตัว ซึ่งไม่ได้มีเพียงกระดานดำ และโต๊ะเรียนเท่านั้น




ตามปกติเวลาเรานั่งกลางแดด ร่างกายจะรู้สึกอบอุ่นก่อน แล้วเริ่มรู้สึกร้อนขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรือเวลาเรานั่งข้างกองไฟ เราก็รู้สึกร้อนเช่นกัน การที่เรารู้สึกเช่นนั้นเพราะแสงเป็นพลังงานชนิดหนึ่งที่สามารถแปรรูปเป็นพลังงานความร้อนได้ ร่างกายเราจึงรู้สึกร้อน
ทราบไหมว่า 1 ใน 3 ส่วนของพลังงานที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยเป็นพลังงานแสง ส่วน 2 ใน 3 เป็นพลังงานความร้อน กรณีของหลอดไฟฟ้าจากพลังงานไฟฟ้าที่หลอดได้รับ 90% ถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อน และ 10% เป็นพลังงานแสง ดังนั้น เวลาอยู่กลางแดดหรือเวลาเอามือจับหลอดไฟ เราจึงรู้สึกร้อน นักวิทยาศาสตร์เรียกแสงประเภทนี้ว่า “แสงร้อน” ซึ่งตรงกันข้ามกับ “แสงเย็น” ที่ออกมาจากหิ่งห้อย


ในกรณีของหิ่งห้อย 90% ของสารเคมีในตัวหิ่งห้อยถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานแสง และ 10% ที่เหลือถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน นั่นหมายความว่า ถ้าเราต้องการจะให้
แสงจากหิ่งห้อยร้อนเท่าแสงจากหลอดไฟ เราต้องใช้หิ่งห้อยถึง 1,000 ตัว!!




มนุษย์เห็นหิ่งห้อยมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ และคงคิดว่ามันเป็นแมลงมหัศจรรย์ เพราะสามารถเปล่งแสงได้ หลายๆ คน คุ้นเคยกับหิ่งห้อยบริเวณต้นลำพูจากนิยายอมตะของทมยันตีเรื่องคู่กรรม ในสารานุกรมไทยได้อ้างอิงถึงนิยายปรัมปราอีกเรื่องที่เล่าว่า พระยาหิ่งห้อยหลงรักลูกสาวพระยาลำพู จึงยกพวกมาเป็นขบวน ประดับไฟสวยงาม เพื่อมาขอเจ้าสาว

หิ่งห้อยเป็นแมลงที่เจริญเติบโตโดยเริ่มจากไข่ หนอน ดักแด้ จนโตเต็มที่ มีปีก 2 ชุดที่ซ้อนทับกันคือ ปีกนอกแข็ง สำหรับป้องกันตัว ส่วนปีกในนุ่มกว่า ตาหิ่งห้อยประกอบด้วยเลนส์ขนาดเล็กมากมายเรียงรายทำให้สามารถเห็นได้หลายทิศทางพร้อมกัน หนวดของหิ่งห้อยช่วยในการดมกลิ่น เวลาหิ่งห้อยตัวเมียวางไข่ มันจะวางครั้งละหลายร้อยฟองบนดิน กิ่งไม้หรือใบหญ้าในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม และเมื่อวางไข่แล้ว หิ่งห้อยตัวเมียจะไม่หวนกลับมาดูแลไข่อีก ไข่หิ่งห้อยเรืองแสงได้เล็กน้อย เมื่อเวลาผ่านไปราว 3 สัปดาห์ ไข่จะฟักเป็นหนอน หนอนที่รอดชีวิตจะอยู่นิ่งในเวลากลางวัน และออกหากินในเวลากลางคืน โดยมันจะกินอาหารนาน 1-2 ปี เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นดักแด้ จากนั้นจึงฝังตัวใต้ดินเพื่อพักผ่อน และงอกปีก เมื่อปีกสมบูรณ์หิ่งห้อยจะออกจากที่ซ่อนเป็นหิ่งห้อยเต็มตัว พฤติกรรมประหลาดอย่างหนึ่งของหิ่งห้อยที่โตเต็มที่คือ การไม่กินอาหาร นอกจากน้ำค้างบนใบหญ้าใบไม้ ดังนั้น ชีวิตหิ่งห้อยจึงสั้นคืออยู่ได้นานเพียง 3 อาทิตย์ แล้วมันก็ตาย



หิ่งห้อยที่พบเห็นบ่อยมักให้แสงสีเหลือง เขียว เหลืองฟ้า และแดงส้ม หิ่งห้อยที่เราเห็นบินว่อนตามพุ่มไม้ มักเป็นหิ่งห้อยตัวผู้ ส่วนหิ่งห้อยตัวเมียชอบเกาะนิ่งตามกิ่งไม้และใบไม้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า หิ่งห้อยใช้แสงกะพริบสื่อสารกับเพศตรงกันข้าม เพื่อบอกความพร้อมในการสืบพันธุ์และตำแหน่งที่มันอยู่ โดยตัวผู้กะพริบแสงก่อน หากตัวเมียเห็นแสง เห็นลีลาการกะพริบ หรือเห็นความถี่ในการส่งสัญญาณ และมันพอใจ มันจะส่งสัญญาณตอบกลับเพื่อให้ตัวผู้รู้ และบินไปหามันได้ถูก

หิ่งห้อยต่างชนิดกัน มีวิธีการสื่อสารไม่เหมือนกัน เช่น กะพริบแสงเร็วช้าต่างกัน จังหวะการกะพริบแสงยังขึ้นกับอุณหภูมิด้วย เช่น ที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส มันกะพริบนาทีละ 8 ครั้ง เวลาอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 28 องศาเซลเซียส กะพริบ 15 ครั้งต่อนาที เป็นต้น นอกจากนี้ แสงที่เปล่งออกมาก็อาจเปลี่ยนสีได้ตามตำแหน่งที่มันอยู่


ความสามารถในการเรืองแสงได้ของหิ่งห้อย เกิดจากเอ็นไซม์ชนิดหนึ่ง (ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง) ที่มีชื่อเรียกว่า ลูซิเฟอเรส (Luciferase) ทำหน้าที่เปลี่ยนสารตั้งต้นคือ ลูซิเฟอริน (Luciferin) ให้เป็นสารผลิตภัณฑ์อื่นโดยในระหว่างกระบวนการดังกล่าวอาศัยออกซิเจนช่วย ซึ่งในที่สุดได้สารผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ออกซีลูซิเฟอริน (Oxyluciferin) พร้อมให้พลังงานแสงออกมาด้วย
นักวิทยาศาสตร์พบว่า นอกจากหิ่งห้อยแล้ว สิ่งมีชีวิตอื่น เช่น แมงกะพรุน แบคทีเรีย แพลงตอนทะเล ปลาหมึกทะเล ก็ให้แสงเย็นผ่านกระบวนการทำงานของเอ็นไซม์เช่นกัน แต่เป็นเอ็นไซม์ต่างชนิดกัน สารตั้งต้นที่ใช้ และสารผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็ต่างกัน


ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เก่งถึงขนาดที่ว่า นำความรู้เรื่องการเรืองแสงในสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ปลาม้าลายเรืองแสงที่สร้างขึ้นเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งร่นระยะเวลาและลงทุนน้อยกว่าการใช้หนูทดลอง หนูและหมูเรืองแสงที่สร้างขึ้นเพื่อศึกษาสเตมเซลล์ สเปิร์มเรืองแสงที่สร้าง

ขึ้นเพื่อติดตามศึกษายีนที่ทำให้เป็นหมัน เป็นต้น





หิ่งห้อย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทิ้งถ่วง หรือ หิ่งห้อย (Firefly Glow-wormLighteningbug) เป็นชื่อเรียกแมลงปีกแข็งในวงศ์แลมพายริดี้ (Lampyridae) อันดับโคลีออบทร่า (Coleoptera) ทั่วทั้งโลกมีทิ้งถ่วงประมาณ 2,000 ชนิด
คำว่า “หิ่งห้อย” นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้สั้นๆ ว่า แมลงชนิดหนึ่ง มีแสงเรืองๆ ที่ก้น

การให้แสงของหิ่งห้อย
ทิ้งถ่วงมีอวัยวะทำแสงอยู่บริเวณส่วนท้องด้านล่าง เพศผู้มีอวัยวะทำแสง 2 ปล้อง เพศเมียมี 1 ปล้อง แต่บางชนิดตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างลักษณะคล้ายหนอน มีอวัยวะทำแสงด้านข้างของลำตัว เกือบทุกปล้องแสงของทิ้งถ่วงเกิดจากปฏิกิริยาของสารลูซิเฟอริน (Luciferin) ที่อยู่ในอวัยวะทำแสงกับออกซิเจน มีเอนไซม์ลูซิเฟอเรส (Luciferase) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และมีสารอดีโนซีนไตรฟอสเฟต (Adenosine Triphosphate,ATP) เป็นตัวให้พลังงานทำให้เกิดแสง ทิ้งถ่วงกระพริบแสงเพื่อการผสมพันธุ์และสื่อสารซึ่งกันและกัน
หิ่งห้อยชนิด "ลูซิโอลา อะควอติลิส" ที่ค้นพบโดย ดร.อัญชนา ท่านเจริญ นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ มีวิธีสื่อสารด้วยแสงได้ถึง 4 แบบ

หิ่งห้อยในประเทศไทย
หิ่งห้อย นับว่าเป็นแมลงที่มีคุณลักษณะพิเศษ คือสามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของธรรมชาติได้ โดยเฉพาะมีคุณสมบัติที่สามารถใช้เป็น “ตัวห้ำ” ในการควบคุมศัตรูพืชตามหลักการทางชีวภาพ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การเกษตรกรรม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตหลักของคนไทย
หิ่งห้อยนี้ในระยะที่เป็นตัวหนอนจะกินหอยเล็กๆ เป็นอาหาร ซึ่งหอยเหล่านั้นเป็นพาหะนำโรคหลายชนิดมาสู่มนุษย์และสัตว์ เช่น โรคพยาธิใบไม้ในลำไส้โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น นอกจากนั้น หิ่งห้อย ยังเป็นตัวห้ำ ทำลายหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญกัดกินทำลายต้นข้าวในระยะลงกล้าและระยะปักดำใหม่ๆ หิ่งห้อยจึงเป็นแมลงที่มีความสำคัญทั้งในด้านการแพทย์และการเกษตร

ในกรุงเทพฯนี้ ในอดีตบริเวณปากคลองบางลำพู เคยมีหิ่งห้อยเป็นจำนวนมาก แต่ก็หมดไป เมื่อวิถีชีวิตของผู้คนแถบนั้นเปลี่ยนไป เมื่อ พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรร่วมกับกรุงเทพมหานครได้บูรณะป้อมพระสุเมรุและบริเวณจัดสร้างเป็นสวนสาธารณะสันติชัยปราการ และสร้างพระที่นั่งสันติชัยปราการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าพักผ่อนหย่อนใจน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล ได้มีการปลูกต้นลำพู และเลี้ยงหิ่งห้อย เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์ เป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิตบางลำพูในอดีตด้วย
สถานที่ชมหิ่งห้อยที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น ที่ริมคลองตลาดน้ำอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เกาะลัด อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม ควรเลือกชมในคืนเดือนมืด เพราะเห็นแสงของหิ่งห้อยได้อย่างชัดเจน





หิ่งห้อยตัวน้อยตัวนิด



ลิ่กษณะทั่วไปของหิ่งห้อย
หิ่งห้อย (Firefly , Lightening bug) แมลงแสง แมลงคาเรือง หรือ แมลงทิ้งถ่วง ทั่วโลกมีหิ่งห้อยประมาณ 2,000 ชนิด หิ่งห้อยตัวเต็มวัยเพศผู้มีปีก ส่วนเพศเมียมีทั้งปีกและไม่มีปีก บางชนิดมีปีกสั้นมาก (Brachypterous) ชนิดที่ไม่มีปีก มีรูปร่างลักษณะคล้ายตัวหนอน หนอนของหิ่งห้อยเป็นตัวห้ำกินหอยฝาเดียว ไส้เดือน กิ้งกือ และแมลงตัวเล็กๆเป็นอาหาร หิ่งห้อยมีลักษณะเด่น คือสามารถทำแสงได้ทั้งระยะหนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัย ส่วนระยะไข่ทำแสงได้เฉพาะบางชนิดเท่านั้น

การทำแสงของหิ่งห้อย
หิ่งห้อยมีอวัยะทำแสงอยู่บริเวณส่วนท้องด้านล่าง เพศผู้มีอวัยวะทำแสง 2 ปล้อง เพศเมียมี 1 ปล้อง แต่บางชนิดตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างลักษณะคล้ายหนอนมีอวัยวะทำแสงด้านข้างของลำตัวเกือบทุกปล้อง แสงของหิ่งห้อย เกิดจากปฏิกริยาของสาร Leciferin เป็นตัวเร่งปฏิกริยาและมีสาร Adenosine Triphosphate (ATP) เป็นตัวให้พลังงาน ทำให้เกิดแสง หิ่งห้อยทำแสงเพื่อการผสมพันธุ์และสื่อสารซึ่งกันและกัน ความถี่การกะพริบแสงของหิ่งห้อยแตกต่างกันตามชนิดของหิ่งห้อย



แหล่งอาศัยของหิ่งห้อย
หิ่งห้อยมีแหล่งอาศัยแตกต่างกัน บางชนิดอาศัยอยู่บริเวณแหล่งน้ำจืด แต่บางชนิดอาศัยอยู่บริเวณน้ำกร่อย หรือป่าชายเลน และมีอีกหลายชนิดอาศัยอยู่บริเวณสวนป่าที่มีสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ซึ่งไม่เคยถูกทำลายมาก่อน

วงจรชีวิตของหิ่งห้อย
หิ่งห้อยมีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ (Complete metamorphosis) คือมีระยะไข่ , ระยะหนอน , ระยะดักแด้ , ตัวเต็มวัย โดยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบพืชน้ำ เช่น ใบจอกหรือวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ตามพื้นดินที่ชุ่มชื้น แล้วแต่ชนิดของหิ่งห้อย ไข่เมื่อฟักออก
เป็นตัวหนอนมีการลอกคราบ 4-5 ครั้ง จึ่งเข้าดักแด้ แล้วออกเป็นตัวเต็มวัย




ประโยชน์ของหิ่งห้อย
1. การกะพริบแสงระยิบระยับของหิ่งห้อยจำนวนมาก ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นเกิดความสวยงามตามธรรมชาติในยามค่ำคืน สามารถจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ เช่น การลงเรือชมหิ่งห้อยที่ จังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี และ ตราด
2. หิ่งห้อยเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อม
3. ระยะหนอนของหิ่งห้อย เป็นตัวทำลายหอย ซึ่งเป็นสัตว์อาศัยตัวกลางของพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และพยาธิใบไม้ในสำไส้คน
4. นักวิทยาศาสตร์ กำลังสนใจศึกษาค้นคว้า สารลูซิเฟอริน ในหิ่งห้อยซึ่งเชื่อว่า
สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์และ ด้านพันธุวิศวกรรม





ข้อแนะนำสำหรับการชมหิ่งห้อย
• ช่วงเวลาหรือฤดูกาลที่เหมาะสม โดยปกติแล้วหิ่งห้อยจะมีตลอดทั้งปี แต่จะมากในฤดูร้อน และฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – ตุลาคม
• เลือกช่วงเวลาที่เป็นข้างแรม เนื่องจากแสงของหิ่งห้อยมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเป็นเวลาข้างขึ้น ท้องฟ้าจะสว่าง ทำให้เห็นแสงของหิ่งห้อยไม่ชัดเจน จึงควรเลือกวันที่ท้องฟ้ามืดมิด
• เลือกช่วงเวลาที่น้ำมาก จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเล น้ำจะขึ้น-ลง อยู่ตลอดเวลา ควรจะเลือกวันที่น้ำมาก เพราะเรือสามารถเข้าไปใกล้กับต้นลำพูซึ่งหิ่งห้อยเกาะอยู่ ทำให้สามารถเห็นแสงของหิ่งห้อยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
• เลือกผู้ให้บริการ การล่องเรือชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืน เรือจะวิ่งไปตามแม่น้ำและลำคลองที่มืด หิ่งห้อยจะมีอยู่เป็นจุดๆ ในบริเวณที่แตกต่างกัน ถ้าหากผู้ให้บริการไม่มีความชำนาญในเส้นทางและรู้แหล่งที่อยู่ หรือให้บริการในเส้นทางที่สั้นเกินไป ย่อมทำให้นักท่องเที่ยวเห็นหิ่งห้อยได้น้อย ซึ่งควรตรวจสอบระยะทางการล่องเรือชมหิ่งห้อยกับผู้ให้บริการเสียก่อน


ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก http://www.maeklongtoday.com
http://th.wikipedia.org/wiki/