ยิ่งน้อยยิ่งมาก ( Less is more )


ความสุขเล็กๆ



ยิ่งน้อยยิ่งมาก 


Less is more
น้อยแต่มาก / ทำน้อยแต่ได้มาก / ง่ายแต่งาม

Robert Browning

สำนวน less is more นั้นปรากฏครั้งแรกในศตวรรษที่19 ในบทกวีของกวีเอกชาวอังกฤษ ‘โรเบิร์ต บราวนิ่ง’ 

"Less is more", a phrase from the 1855 poem "Andrea del Sarto, called 'The Faultless Painter'" by Robert Browning


ลุดวิก มีส แวน เดอร์โรห์ (1886-1969)

นอกจากนี้ในวงการออกแบบก็มี ‘ลุดวิก มีส แวน เดอร์โรห์’ สถาปนิกชาวเยอรมันที่เป็นผู้บุกเบิกนำปรัชญาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบอาคาร โดยงานของเค้าส่วนใหญ่เรียบง่ายแต่พิถีพิถัน การใช้แผ่นกระจกแทนผนังปูนทำให้ภายในตัวอาคารดูโปร่งโล่งสบายตา

ศิลปะแบบ less is more หรือสำนัก Minimalism นี้มีหลักคิดคือ “การใช้ส่วนประกอบที่น้อยแต่ได้ผลมาก ตัดทอนสิ่งไม่จำเป็นออกไป” ซึ่งศิลปะญี่ปุ่นถือเป็นอีกหนึ่งในแม่แบบของแนวคิดนี้ ตรงที่เน้นความเรียบง่าย แสดงสัจจะของธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมา

แม้แต่ในวงการเพลง ศิลปินหลายคนก็ให้ความสำคัญกับแนวคิด less is more อย่างเช่น “ฟลี” มือเบสพระกาฬของวงร็อค Red Hot Chili Peppers เคยเผยว่าในชุด Blood Sugar Sex Magik ที่ทำให้พวกเค้าดังถล่มทลายขึ้นมานั้น พวกเค้าได้ปรับแนวทางการเล่นจากเดิมที่ใส่ไม่ยั้ง (ฟังแล้วรก) ก็เพลาลง หันมาเล่นให้มันง่ายขึ้นและน้อยลง(น้อยแต่เน้นๆ) หรือแม้แต่ศิลปินป็อบอย่างแม่สาวแสบ “บริทนีย์ สเปียร์” เองก็เคยออกมายอมรับทีหลังว่าในอัลบั้มที่สี่ In The Zone นั้นมันเยอะไป ถ้าย้อนกลับไปได้เธอจะทำให้มันน้อยๆลงหน่อย




ยิ่งน้อยยิ่งมาก 

Ludwig Mies van der Rohe
หนึ่งในปรัชญาการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่ผมร่ำเรียนมาคือ "Less is more" (ยิ่งน้อยยิ่งมาก) ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายจากงานของสถาปนิก ลุกวิก มิส แวน เดอ โรห์ 

โดยการออกแบบอาคารแบบเรียบง่าย เป็นกล่องโล่ง ไม่รกรุงรัง ปรัชญานี้เรียก Minimalism ปรากฏในงานศิลปะสายต่างๆ ฟังดูคล้ายๆ ปรัชญาเต๋าหรือเซน 

และเช่นเดียวกับปรัชญาเต๋ากับเซน ไม่ทุกคนที่เข้าใจมันอย่างถ่องแท้ และแม้จะเข้าใจ ก็ไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่ายดาย 

การออกแบบอาคารและศิลปะด้านอื่นๆ จำนวนมากมายที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ จึงยังเต็มไปด้วย 'ความมาก' (อย่างที่อาจารย์วิชาออกแบบมักใช้คำว่า 'รกรุงรัง' ) ที่เรียกว่า 'การออกแบบชั้นเลว' ห่างไกลจากประโยค Less is more หลายโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเพราะคนออกแบบไม่เข้าใจปรัชญานี้ หรือเพราะจงใจไม่เข้าใจปรัชญานี้ หรือเพราะระบบพาณิชย์ที่สอนให้เชื่อว่า 'ยิ่งมากยิ่งคุ้ม' 

ความจริง "ยิ่งน้อยยิ่งมาก" ไม่เป็นเพียงปรัชญาในการออกแบบ แต่เป็นวิถีการใช้ชีวิตด้วย 




ชีวิตของหลายๆ คนเป็นการออกแบบที่รกรุงรัง ปะทับด้วยองค์ประกอบมากมายที่ไม่จำเป็น บางคนซื้อบ้าน 6-7 ห้องนอน เป็นเจ้าของรถยนต์ 3-4 คัน ทั้งที่มีสมาชิกในบ้านเพียงสองคน บางคนเก็บสะสมเงินเป็นหมื่นล้าน แต่ยังโลภขึ้นเรื่อยๆ บางคนไม่หิวแต่ก็สั่งอาหารเต็มโต๊ะ ฯลฯ 

ในโลกที่นิยมความใหญ่ ความมาก ความสูงสุด อะไรๆ ก็มักเกินความพอดี และกลายเป็นการออกแบบชั้นเลวไปอย่างง่ายดาย 

หนังลงทุนสูงมิแน่นักว่าจะเป็นหนังดี คนมีบ้านใหญ่โตไม่แน่ว่าจะมีความสุข สะสมทรัพย์สินร้อยล้านพันล้านหมื่นล้าน ก็ไม่ได้รับประกันว่าชีวิตจะราบรื่น 

ตรงกันข้าม พวกเขาเหล่านั้นอาจทุกข์กว่าคนยากไร้ด้วยซ้ำ เพราะบางครั้งทรัพย์สินก็เช่นไขมันชั้นเลว มักตามมาด้วยโรคต่างๆ : ความหวาดระแวง ความกลัว ความโลภ ฯลฯ 


มองในมุมมองของธรรมชาติ ทุกชีวิตสร้างมาจากความน้อยที่สุด จำนวนเซลล์น้อยที่สุดที่ทำงานได้ อวัยวะน้อยที่สุดที่ทำให้ร่างกายเดินหน้าได้ 

มีแต่คนที่ลองใช้ชีวิตจริงๆ จะพบว่า ยิ่งน้อยยิ่งดี ยิ่งรัดกุมยิ่งมีประสิทธิภาพ 

ในทางการใช้ชีวิตด้วยความพอเพียงพอดี ต่างหากคือการออกแบบชั้นดี 

เช่นเดียวกับสารเคมีแห่งความแจ่มใสที่เกิดจากการออกกำลังกาย ฮอร์โมนที่เกิดจากการใช้ชีวิตพอเพียงคือความสุขใจ 



สุขจากเรื่องเล็กๆ 
บทสรุปการวิจัยของสถาบันศึกษาแห่งหนึ่งในยุโรปไม่นานมานี้เผยว่า ผู้คน 64 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าตนเองมีความสุข ใช้ชีวิตกับพ่อแม่ คู่รัก เพื่อน เสมอๆ พวกเขาบอกว่า แสงแดดและจุมพิตจากคนที่รักช่วยได้มาก 

ผลวิจัยยังชี้ว่า คนที่ไม่มีความสุขใช้เวลากับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ตัวเลขคือ 69 เปอร์เซ็นต์ท่องอินเทอร์เน็ต 45 เปอร์เซ็นต์ผ่านเวลาหน้าจอโทรทัศน์ 

เห็นชัดว่าความสุขมักไม่เกิดมาจากความ 'ครบ' ในทางวัตถุ 

ความสุขมักไม่เกิดจากเรื่องใหญ่ ไม่ใช่ล็อตเตอรีรางวัลที่หนึ่ง แจ็คพ็อตหลายสิบล้านบาท ไม่ใช่บ้านใหญ่โตบนพื้นที่หลายสิบไร่ 




ความสุขเป็นเรื่องเล็กๆ เกิดจากสิ่งเล็กๆ 
เรียบง่าย สมส่วน ลงตัว ไม่มากเกิน ไม่น้อยไป 
ความสุขเกิดจากการมองโลกในเชิงบวก คิดด้านลบให้น้อยเข้าไว้ 

อย่าคาดหวังว่าคนอื่นจะทำให้เราสุข เราสุขด้วยตัวเราเอง ความสุขเป็นเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบหามาเอง 

อย่าได้อิจฉาริษยาเพื่อนที่เก่งกว่า ร่ำรวยกว่า เพราะไม่ว่าคุณจะเก่งกาจเลอเลิศแค่ไหน ก็จะมีคนอื่นที่หน้าตาดีกว่าคุณ ฉลาดกว่าคุณ เก่งกว่าคุณเสมอ (และที่น่าช้ำใจคือ มีแฟนหน้าตาดีกว่าแฟนของคุณด้วย!) 

สรีระไม่ใช่สิ่งที่เรากำหนดได้ แต่เราออกแบบชีวิตของเราเองได้ 
จะเลือกออกแบบให้ 'รกรุงรัง' หรือ 'ยิ่งน้อยยิ่งมาก' ก็แล้วแต่เรา 

วินทร์ เลียววาริณ



Less is more 
เลือกใช้ให้ถูกที่ จังหวะ และเวลาที่เหมาะสม ชีวิตจะมีความสุข
แต่ในบางกรณียิ่งมากยิ่งดี เช่น เรียนรู้มาก ก็ยิ่งเห็นมาก 
Learn more. See more.