เจ็ดวิธีตีหิน “คิด” แบบประภาส ชลศรานนท์


เจ็ดวิธีตีหิน “คิด” แบบประภาส ชลศรานนท์


ประภาส ชลศรานนท์ หรือที่เรารู้จักกันในฐานะของนักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง ผู้กำกับการแสดง และผู้สร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ระดับรางวัล และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) มาเล่าถึงวิธีการคิดของเขาให้ได้ทราบกันในงานชุมนุมทางความคิด Creativities Unfold, Bangkok 2008 ด้วยการพูดคุยอย่างเป็นกันเองแบบไม่ต้องผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์


“คน เราคิดอยู่ตลอดเวลา ทุกคนเป็นนักคิดหมด” ประภาสบอกผู้ร่วมสัมมนา แล้วยกตัวอย่างทฤษฎีที่เขาคิดขึ้นมาเองเกี่ยวกับความคิดของคนมาเล่าให้ฟัง ว่า 


คนเรามีวิธีการคิด 3 แบบ ได้แก่ คิดแบบเป๊ะๆ คิดแบบกะๆ และคิดแบบทางเลือก 
โดยความคิดแบบทางเลือกเกิดจากการคิดสองแบบข้างต้นมารวมกัน แล้วเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ การมีความคิดแบบทางเลือกคือการมีจินตนาการและจากการเป็นนักคิดมากประสบการณ์ นี่เอง ที่เขาได้รวบรวม “วิธีคิด” และไม่ลังเลที่จะนำมาแบ่งปันกับผู้ฟัง และนั่นคือสิ่งที่ประภาสตั้งชื่อว่า “เจ็ดวิธีตีหิน” นั่นก็คือ


1. ทำลายกรอบลวงตา 
ประภาสบอกว่าเขาขอค้านคนที่พยายามบอกให้คิดนอกกรอบ และยืนยันว่า เพราะมีกรอบคนเราจึงคิดออกได้ ทุกอย่างล้วนมีกรอบ แต่กรอบมันใหญ่กว่านั้นมาก เพียงแต่ว่าคนเรามักสร้างกรอบความเคยชินขึ้นมาเอง ทำให้คิดไม่ออก ประภาสยังบอกอีกว่า เขาคิดออกได้เพราะมีกรอบมาเป็นโจทย์ให้คิด เพียงแต่ต้องทลายกรอบลวงตานั้นให้ได้


* L I S T E N * 
* S I L E N T *

เนื้อร้อง ประภาส ชลศรานนท์
ทำนอง จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน
เสียงในความเงียบ ขับร้อง คิว วงฟลัวร์
2. มองย้อนศร 
ประภาสยกตัวอย่าง จอห์น เคจ คีตกวีชาวอเมริกัน ซึ่งเล่นคอนเสิร์ตด้วยความเงียบ โดยบอกว่าโน้ตเพลงของเขาทั้งหมดเป็นตัวหยุดนี่คือการคิดในมุมกลับ หรืออย่างคำว่า LISTEN (ฟัง) กับคำว่า SILENT (เงียบ) สองคำนี้มีตัวอักษรพยัญชนะที่เหมือนกัน เพียงแต่สลับที่กันเท่านั้น ความหมายก็เปลี่ยนไป


3. หนามยอกเอาหนามบ่ง 
เช่น ชาวเอสกิโมเอาน้ำแข็งมาสร้างเป็นบ้านเพื่อป้องกันความหนาวเย็น นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของวิธีการคิดอย่างสร้างสรรค์


4. เรื่องเล็กรอบตัว 
ประภาสได้ความคิดที่เป็นจุดกำเนิดของรายการแฟนพันธุ์แท้มาจากการฟังเพื่อนคุยกันเรื่องสิ่งเล็กๆน้อยๆ รายละเอียดปลีกย่อยที่เขาไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะรู้ แต่ก็มีคนรู้ และสร้างความสนุกสนานจากการฟังคนที่รู้คุยกันนั่นเอง

เอเต้ ไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวาน
5. จับคู่ผสมพันธุ์ 
เป็นเรื่องเล็กไม่ใหญ่มาก แต่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ ประภาสได้ยกตัวอย่างการนำหลายสิ่งมาประสมกันแล้วทำให้เกิดความคิดหรือสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ iPhone พระที่นั่งจักรีหรือที่เขาได้ไปพบมาล่าสุดที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งคือไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวาน ซึ่งเขาคิดว่านี่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ แต่ไม่ทราบว่าจะขายดีหรือไม่ เพราะเขาเองก็ไม่ได้ลองชิม


6. สมมุตินะสมมุติ 
เป็นวิธีการคิดที่ประภาสนำมาใช้มากที่สุดเวลาเขียนหนังสือหรือเขียนเพลง 
อาทิ เพลงที่มีเนื้อร้องว่า “ถ้าโลกนี้มีเราเพียงสองคน...” การสมมุติอาจจะทำให้เราคิดถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วทำให้มันเป็นไปได้ เพียงแค่ลองทำดู



7.ขีดไปก่อน เขียนไปก่อน 
ประภาสใช้วิธีการนี้ในการสร้างสรรค์ผลงานหลายอย่าง 
ที่ยกตัวอย่างมาให้ฟังก็คือเพลง เจ้าภาพจงเจริญ ประภาสเล่าว่า แต่เดิมชื่อเพลง เจ้าหนี้จงเจริญ “ขอให้เจ้าหนี้จงเจริญ ร้อยละ 5ร้อยละ 10 ขอให้เจ้าหนี้จงเจริญ...” แล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ก็พยายามแก้ไขจนได้เพลง เจ้าภาพจงเจริญ ขึ้นมา

เขาว่าการคิดต้องเขียนไปก่อน แล้วค่อยพยายามแก้ไขจนกว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดออกมา เหล่านี้ล้วนเป็น “ทางเลือก” ของวิธีคิด ที่พาเราออกจากกรอบของความเคยชิน 


ประภาสเชื่อว่า กรอบความเคยชินเป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัสกับความคิดสร้างสรรค์ อะไรในโลกนี้ล้วนไม่มี Original หรือความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ทุกอย่างเป็นการต่อยอดทางความคิด เช่นเดียวกับที่ความคิดของประภาส อาจจะต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้กับผู้ที่มาฟังการสัมมนาก็เป็นได้


ทัศนะของประภาส ชลศรานนท์ อาจทำให้ใครหลายคนมองว่าเขาเป็นนักคิดตัวฉกาจ เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา สำหรับประภาสแล้ว เขากลับไม่คิดเช่นนั้น ประภาสได้ถามคำถามกลับมายังผู้ฟังการสัมมนาว่า “ผมดูเป็นคนคิดออกตลอดเวลาเหรอ?” พร้อมกับปิดท้ายการพูดคุยในวันนั้นด้วยการตอบคำถามที่ว่า จะทำอย่างไร ถ้าหากคิดอะไรไม่ออก “ผมคิดไม่ออก... ตอนนี้ผมก็คิดไม่ออกเหมือนกัน”


บท ความสรุปการบรรยาย โดยประภาส ชลศรานนท์ งานชุมนุมทางความคิดประจำปี Creativities Unfold, Bangkok 2008 3 ตุลาคม 2551 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ