ดูละครแล้วย้อนดูตัว



ส่องกระจก - Hum




ดูละครแล้วย้อนดูตัว
ในฐานะวิทยากรและที่ปรึกษา ดิฉันโชคดีที่ได้สัมผัสผู้ที่มีความสามารถมากมายในหลากหลายสาขาวิชาชีพ


ท่ามกลางความแตกต่างและช่วงห่างทางความคิด สิ่งหนึ่งที่ดิฉันเห็นว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้มีความละม้ายคล้ายกันคือ ท่านเรียนรู้จากการดูตนเอง


ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าท่านไม่นำพาซึ่งความคิดผู้อื่น หรือละเลยที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผันผ่านรอบตัว


แต่หมายถึง ความลึกซึ้งที่ต่างพร้อมที่จะ “ดูละครแล้วย้อนดูตัว” อย่างมีใจเป็นกลาง เปิดกว้างพอที่จะเห็นทั้งจุดเก่งและจุดเกินของตน

Dr. Daniel Goleman กูรูต้นแบบเรื่อง EQ ฟันธงว่า การตระหนักรู้ตัวตนเช่นนี้ ถือ เป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของคนฉลาดอารมณ์


กระบวนการหนึ่งซึ่งบุคคลเหล่านี้ใช้เป็นวิธีมองส่องตน คือ การให้เวลาตนเอง เพื่อตั้งสติ และมีสมาธิในการไตร่ตรองมองตนอย่างไร้อคติทุกวัน ว่าวันนี้ฉันทำอะไรดีอะไรร้าย และมีอะไรที่แก้ไขให้ดีขึ้นได้ในวันพรุ่งนี้

ทุกวันจึงเป็นเวลาของการเรียนรู้ ทุกเช้าสามารถเป็นย่างก้าวใหม่ที่พัฒนาได้เสมอ
ฝรั่งเรียกวิธีการพิจารณาตนเองนี้ว่า Self Reflection
ท่านที่ทำงานองค์กรญี่ปุ่น คงคุ้นกับพฤติกรรมใกล้เคียงกัน ที่เรียกว่า Hansei


ตัวอย่างบทเรียนหนึ่งที่ได้จากการไตร่ตรองใคร่ครวญหวนดูตนเอง คือสิ่งที่คุณ Tony Schwartz ประกาศว่าเป็นบทเรียนที่ได้จากช่วง 60 ปีของชีวิตตน


คุณ Tony เป็นผู้สื่อข่าวชั้นแนวหน้าของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายค่ายของสหรัฐอเมริกา และเป็นนักเขียนดัง ซึ่งมีผลงานต่อเนื่องในนิตยสารและสื่อของมหาวิทยาลัย Harvard


เขาฉลองวันเกิดครบ 60 ปีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเล่าให้ผู้อ่านฟังถึง บทที่เขาได้เรียนรู้ ได้เป็นครูของตนเอง โดยการหันกลับไปไตร่ตรองมองชีวิต มีเรื่องให้คิดหลายข้อ ขอเล่าให้ฟังบางส่วนค่ะ


 1.ยิ่งเรารู้ลึกซึ้งถึงตัวตนของเราเท่าไร เรายิ่งสามารถพัฒนาตนให้เป็นคนดีขึ้นได้เท่านั้น 
เรามักมีกลไกอัตโนมัติในการปัดความดีเข้าตัว ปัดความชั่วความผิดพลาดให้ไปไกลๆ
ผลคือ เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร
อย่างน้อยต้องตั้งตนที่ รู้ว่าไม่รู้อะไร ถือว่ายังไม่หมดหนทางพัฒนา


 2.กรุณามองหาจุดดีในชีวิต คนส่วนใหญ่ สุขยาก ทุกข์ง่าย 
บางครั้งมีอะไรตั้งมากมายก่ายกอง แต่มองได้มองดีกับสิ่งที่ขาดหายไป จึงนั่งช้ำใจไปวันๆ ว่าทำไมฉันช่างโชคร้าย
วิธีแก้ คือ ฝึกตนให้มองหาสิ่งดีๆ รอบกายที่มีอยู่หลากหลายทุกวัน
มองหา จะมองเห็น


 3.อย่าหวังนั่งรอของตาย 
ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ต้องไม่ยึดติดสนิทแน่นกับสิ่งใด ไม่ว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือร้าย ของตายไม่มีขาย อยากได้อะไรต้องขวนขวายหา เมื่อได้มาก็ต้องถนอมรักษา และเตรียมใจว่า ในที่สุดก็ยื้อยุดมันไว้ไม่ได้ตลอดไป


 4.ต้องยุติวงจรอุบาทว์ของการเบียดเบียนใครๆ เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เราต้องการ 
ได้มาก็ต้องเสียไปในที่สุดโดยเฉพาะเมื่อผู้สูญเสียไม่หยุด ขอเอาคืน
ถือว่า ชนะเพื่อแพ้โดยแท้จริง


 5.เราสามารถโดดเด่นเป็นอะไรก็ได้ 
หากไม่มั่นใจในตนเอง กรุณามั่นใจได้ว่า ยากจะหาคนที่มั่นใจในตัวเรา
อย่างไรก็ตาม สิ่งดีๆ ที่อยากมีอยากได้ ต้องใช้ความทุ่มเท อดทน มุ่งมั่น มานะ จึงจะได้ อะไรที่ได้มาง่ายๆ คนมักไม่เห็นคุณค่า


 6.ต้องช้าลง 
ความเร็ว เร่ง และรีบ เป็นอุปสรรคหลักกับแทบทุกสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพ ความเอื้ออาทร และความสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่มนุษย์พึงมีต่อกัน


 7.ต้องรู้จักพอ 
คนที่กระหายอยากมีอยากได้ไม่สิ้นสุด จะไม่รู้จุดของความอิ่มเอมและความเต็มในชีวิต
หากไม่รู้จักหยุด มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ทั้งชีวิตจึงต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนทุรนทุราย


 8.ให้โลกมากกว่าที่เอาจากเขา 
ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรที่จับต้องได้ หรือสิ่งดีๆ อื่นใดในชีวิต อาทิเช่น โอกาส ความรู้ มิตรภาพ ความเมตตา ความดีเหล่านี้ ยิ่งให้ ยิ่งได้กลับคืน

 9.ชื่นใจกับทุกนาทีที่มีอยู่ 
เพราะแต่ละนาทีที่ผ่านไปในชั่วพริบตา...เขาไปแล้วไปลับ ไม่กลับมาอีกเลย

ท่านผู้อ่านละคะ ยามมีโอกาส Self Reflect ได้ละเลียดพินิจพิจารณาถึงช่วงเวลาที่ผ่านไปในชีวิต มีบทเรียนใดให้ตนเองบ้าง