ข้อคิดจากมด, เห็นมดเท่าช้าง



MV.REBIRTH/CLASH
 


เห็นมดเท่าช้าง

ชายคนหนึ่งที่เดินไปตามทางเท้าริมอพาร์ตเมนท์หลังหนึ่ง ยามหัวค่ำแสงสว่างจากภายในห้องพักห้องหนึ่งส่องให้เห็นเงาร่างของชายในห้องมือหนึ่งถือปืนจ่อหัวตัวเอง อีกมือหนึ่งถือซองจดหมายลาตายด้วยความตกใจเขารีบตามตำรวจมาทันที ตำรวจมาถึงก็รีบพังประตูเข้าไปเพื่อห้ามชายคนนั้นฆ่าตัวตาย 


ปรากฏว่าเบื้องหน้าเป็นภาพชายเจ้าของห้องกำลังถือไดร์เป่าผมอีกมือหนึ่งถือแผ่นกระจกสี่เหลี่ยม! หากเรื่องนี้เป็นเพียงขำขันก็คงไม่เป็นไร แต่ทว่าในชีวิตจริงมนุษย์จำนวนมากชอบมองอะไรเป็นเรื่องร้ายไว้ก่อนอย่างนี้เสมอ

เห็นกิ่งไม้เป็นงูเขียว เห็นงูเขียวเป็นงูเหลือม
เวลาปวดท้อง ก็คิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปวดหัวก็สงสัยว่าตัวเองอาจเป็นมะเร็งสมองขั้นสุดท้าย
เห็นฟ้าแลบก็กลัวว่าจะถูกฟ้าผ่าตาย
ทำข้อสอบเสร็จ ก็บอกว่าตัวเองต้องสอบตกแน่ๆ ฯลฯ
อันที่จริงการมองโลกในด้านร้ายไว้บ้างทำให้ระมัดระวังตัว
เช่นเดินในที่เปลี่ยวก็ระวังคนร้าย หรือเดินที่พงรกก็ระวังงูกัด
เป็นสัญชาตญาณการรักษาชีวิตของตน
ทำแต่พอดีก็ไม่เป็นไร

แต่หากใช้ชีวิตแบบ 'เห็นมดเท่าช้าง' ตลอดเวลา ย่อมทำให้ไม่มีความสุข หากเป็นการทำธุรกิจก็อาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาด การเห็นปัญหาใหญ่เกินจริงหรืออาการ 'เห็นมดเท่าช้าง' เกิดขึ้นบ่อยๆ และทำให้แก้ปัญหาผิดทาง


ในตำนานเรื่องสามก๊ก มักมีฉากการรบที่กองทัพฝ่ายหนึ่งส่งเสียงโห่ลั่นสนั่นทุ่งเพื่อลวงให้ฝ่าย ศัตรูตกใจ และหลงเชื่อว่าฝ่ายตนมีกำลังมากกว่าหลายเท่า เมื่อตกใจก็มักสูญเสียความฮึกเหิมในการรบ อาจตามมาด้วยความปราชัย ทั้งนี้เพราะมนุษย์มักมีนิสัยแย่อย่างหนึ่งที่ชอบมองเรื่องเล็กให้เป็น เรื่องใหญ่การบอกต่อข่าวสารใดๆ จึงมักเป็นการขยายเรื่องเกินจริง


พุทธปรัชญาสอนให้มองทุกข์ที่ต้นเหตุ มองทุกอย่างที่ความเป็นจริงมองด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อมีข้อมูลที่ถูกต้องก็สามารถตัดสินแก้ปัญหาได้ตรงจุด 


หากยืมหลัก  อริยสัจสี่ (ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค) มาประยุกต์ใช้ เราก็สามารถถอดชิ้นส่วนของปัญหาออกเป็นสี่ขั้น คือ ปัญหา ต้นเหตุของปัญหา การสิ้นสุดของปัญหา และทางไปสู่การสิ้นสุดของปัญหา


หลักการแก้ปัญหานี้ง่ายนิดเดียว : มองปัญหาที่สาเหตุ มองสาเหตุให้ชัดเจน แล้วแก้ตรงจุดนั้น แต่การตามล้างตามเช็ดปัญหามิสู้การป้องกันไว้ก่อนนั่นคือ มองว่าปัญหาอาจไม่ใช่ปัญหา เพราะชีวิตของคนเรานั้นอาจหนีไม่พ้นปัญหาก็จริง


แต่ปัญหาที่แย่ที่สุดคือปัญหาที่เราคิดว่ามันเป็นปัญหาเป็น ‘สัตว์ร้าย’ ที่เราสร้างขึ้นมาเอง มันทำให้เราเสียเวลา พลังงาน และทรัพยากรโดยไม่จำเป็นเพื่อจะจัดการมันเงาในน้ำ มักมีขนาดใหญ่กว่าของจริงเสมอ


บทความโดย...วินทร์ เลียววาริณ


 อริยสัจ 4
มีความจริงอยู่ 4 ประการคือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า อริยสัจ 4


1. ทุกข์
คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์


2. สมุทัย
คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง


3. นิโรธ
คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน


4. มรรค
คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้

 มรรคมีองค์ 8 
มรรค (ภาษาสันสกฤต : มรฺค; ภาษาบาลี : มคฺค) คือ หนทางถึงความดับทุกข์
เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ (เรียกว่า มัคคสัจจ์ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ) และนับเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยหนทาง 8 ประการด้วยกัน เรียกว่า "มรรคมีองค์แปด" หรือ "มรรคแปด" (อัฏฐังคิกมรรค) โดยมีรายละเอียดดังนี้


1.สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ
หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา

2.สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ
หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม

3.สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ
หมายถึงการพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม

4.สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม
ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง

5.สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน

6.สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม
ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม

7.สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ
จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ

8.สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ
สงัด จากกิเลศ นิวรณ์อยู่เป็นปกติ


อริยมรรคมีองค์แปด เป็นปฏิปทางสายกลาง คือทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

 มรรคมีองค์แปด สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา
ข้อ3-4-5 เป็น ศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)
ข้อ6-7-8 เป็น สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
ข้อ1-2 เป็น ปัญญา (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ)


ข้อคิดจากมด







Ants tales by Andrey Pavlov







 

เราจะผ่านมันไปด้วยกัน^^