แว่นตาดำ
เพลงฮิตหนึ่งที่ผมฟังสมัยยังเป็นเด็กคือเพลงชุด ผู้ใหญ่ลี ที่โด่งดังมากคือ :
"สายัณห์ตะวันร้อนฉี่ ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจ้อน แดดฮ้อนๆ ใส่แว่นตาดำ ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกฮำ ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกฮำ ถอดแว่นตาดำ ฟ้าแจ้งจางปาง..."
เพลงนี้อาจฟังดูเชยมากในมุมมองของคนสมัยนี้ แต่ในสมัยที่เมืองไทยเริ่มรู้จัก
เพลงชุดผู้ใหญ่ลีนั้น แว่นตาดำยังเป็นของใหม่
จึงไม่แปลกที่เพลงบอกเล่าคนที่สวมแว่นตาดำแล้วเข้าใจว่าฝนจะตก
เมื่อสวมแว่นตาดำ มองไปทางไหนก็เห็นทุกอย่างมืดกว่าที่เป็นจริง
แต่มนุษย์จำนวนมากก็นิยมสวม 'แว่นตาดำ' มิใช่หรือ?
ก่อนเข้าห้องสอบก็มองว่ามีคนจำนวนมากสอบตกวิชานั้นมาแล้ว จะไหวหรือ?
ปวดหัวก็คิดว่าตนเป็นเนื้องอกในหัว ปวดท้องก็คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นมะเร็ง
เครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ ก็ถามว่า "ตายกี่คน?" แทนที่จะถามว่า "รอดกี่คน?"
ได้ยินข่าวเพื่อนสาวแต่งงาน ก็ตั้งข้อสงสัยว่าเพื่อนคนนั้นตั้งท้อง
แว่นตาดำมีกรอบหลายแบบ แบบที่นิยมก็คือ การตีตนก่อนไข้ การเห็นมดเป็นช้าง
และการมองโลกในแง่ร้าย
การสวม 'แว่นตาดำ' นานๆ ครั้งไม่ใช่เรื่องเลวร้าย อาจช่วยทำให้ระวังตนในระดับหนึ่ง แต่สวมบ่อยๆ อาจทำให้ตาไม่เคยชินกับความสว่าง อยู่ในช่วงที่น่าจะมีความสุขก็ไม่เป็นสุข อยู่ในช่วงเวลาทุกข์ก็ทุกข์กว่าที่ควรเป็น
วิลเลียม เจมส์ นักปรัชญา-จิตวิทยาชาวอเมริกัน กล่าวว่า
"โดยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ด้านในของจิต มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงด้านนอกของชีวิตของพวกเขา"
การมองเห็นโลกสว่างหรือมืดขึ้นอยู่กับคำคำเดียวคือ ทัศนคติ
มองว่าดีก็ดี มองว่าไม่ดีก็ไม่ดี ง่ายๆ เช่นนั้น!
การมีความสุขไม่ใช่เรื่องยากเกินเอื้อม
เริ่มที่การถอด 'แว่นตาดำ' ออกก่อน มองโลกตามความเป็นจริง
บางทีโลกอาจไม่มืดมนอย่างที่คิด และหากมันมืดจริง
ก็รับรองว่าไม่มืดเท่าเมื่อสวมแว่นตาดำ
บทความโดย....วินทร์ เลียววาริณ
|
|