มาตั้งกฎสามข้อของตัวเองกันเถอะ


ห้ามทิ้ง (Bossanova Version) Sweet Sunday [Official MV]


มาตั้งกฎสามข้อของตัวเองกันเถอะ
โดย ธงชัย โรจน์กังสดาล (@thongnet)
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่เรียนสายวิทยาศาสตร์คงคุ้นเคยกับ กฎการเคลื่อนที่สามข้อของเซอร์ ไอแซค นิวตัน กันบ้างนะครับ แต่ไม่ใช่เฉพาะในวิชาฟิสิกส์เท่านั้นที่มีกฎสามข้อ 


ไอแซค อาซิมอฟ (ภาพประกอบจาก Wikipedia)
ในวงการอื่นก็มีกฏสามข้อเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ไอแซค อาซิมอฟ (Issac Asimov)นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ผลงานของเขามีมากมาย แต่ผลงานที่เป็นรู้จักกันอย่างแพร่หลายได้แก่ นิยายวิทยาศาสตร์ชุดสถาบันสถาปนา (Foundation) และนิยายหุ่นยนต์ เขาได้ตั้งกฎสามข้อของหุ่นยนต์ไว้ดังนี้ครับ


1. หุ่นยนต์ มิอาจกระทำการอันตรายต่อมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้


2. หุ่นยนต์ ต้องเชื่อฟังคำสั่งจากมนุษย์ เว้นแต่ว่าคำสั่งนั้นขัดแย้งกับกฎข้อแรก


3. หุ่นยนต์ ต้องปกป้องสถานะของตัวเองไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง


ไอแซค อาซิมอฟได้บรรยายกฎสามข้อของหุ่นยนต์อย่างละเอียดในนิยายวิทยาศาสตร์ของเขามากมาย


ผลงานบางเรื่องของเขาที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว คือ I,Robot และ Bicentennial Man ก็กล่าวถึงกฎสามข้อของหุ่นยนต์ไว้เช่นกันครับ



อาเธอร์ ซี คล้าก (ภาพประกอบจาก Wikipedia)
นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังทัดเทียมกับไอแซค อาซิมอฟ คือ อาเธอร์ ซี คล้าก (Arthur C. Clarke) คล้ากก็ได้ตั้งกฎสามข้อของตัวเองขึ้นมา โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ


1. เมื่อใดก็ตามที่นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงแต่อาวุโสบอกว่า บางอย่างเป็นไปได้ เขาน่าจะพูดถูก ถ้าเขาพูดว่าบางอย่างเป็นไปไม่ได้ เขาน่าจะผิด


2. หนทางเดียวในการค้นหาขีดจำกัดของความเป็นไปได้ คือ การก้าวข้ามอีกเล็กน้อยไปสู่ความเป็นไปไม่ได้


3. เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากจะไม่แตกต่างไปจากเวทย์มนต์


ผมก็เลยเกิดไอเดียว่า เราน่าจะลองตั้งกฏสามข้อของเรากันบ้าง ผมก็เลยคิดกฎสามข้อเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาดังนี้ครับ


1. เมื่อใดก็ตามที่ประตูหนึ่งปิดแล้ว จงอย่าเสียเวลาอ้อนวอนขอให้ประตูนั้นเปิดออก แต่จงหาประตูใหม่ หรือสร้างประตูของตนเอง


ผมมีประสบการณ์หลายครั้งที่ไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ เพราะสถานการณ์ กฎ ระเบียบไม่เอื้ออำนวยหรือไม่เป็นใจ แต่ก็สามารถทำสิ่งอื่นแทน ซึ่งอาจเกิดประโยชน์หรือเป็นผลดีกว่าเดิมเสียอีก 


ดังนั้น แทนที่จะมัวรอโอกาส (ประตู) จากผู้อื่น เราจงสร้างโอกาสหรือประตูของเราเองดีกว่าครับ


2. เป็นร้านขายข้าวมันไก่อย่างเดียวที่อร่อยมาก ดีกว่าเป็นร้านอาหารตามสั่งที่ขายทุกอย่างแต่ไม่อร่อยสักอย่าง


ความหมายของข้อนี้คือ ถ้าจะเก่งหรือเชี่ยวชาญอะไร ก็ขอให้เก่งจริงสักเรื่องหรือโฟกัสในเรื่องที่เชี่ยวชาญที่สุดสักหนึ่งเรื่อง แทนที่จะรู้หลายเรื่อง แต่ไม่เก่งอะไรสักอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่รู้เรื่องอื่นเลย เราควรต้องมีความรู้ด้านอื่นด้วย เพียงแต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้ลึกซึ้งเท่ากับเรื่องที่เราเชี่ยวชาญ 


นอกจากนี้ เราควรรู้จักคนที่รู้จริงหรือผู้เชี่ยวชาญในด้านสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของเราเพื่อที่ว่า เราจะได้ขอคำปรึกษาจากพวกเขาได้ในกรณีจำเป็น แต่ตัวเราก็ต้องเป็นที่ปรึกษาให้คนอื่นได้เช่นกันครับ


3. ไม่มีไอเดียใดที่ไร้ประโยชน์ มีแต่ไอเดียที่ไม่เหมาะกับเวลาหรือสถานการณ์


ทุกไอเดียย่อมมีประโยชน์ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าอาจจะยังไม่เหมาะกับสถานการณ์หรือเวลาในช่วงนั้น ตัวอย่างก็คือบทความเรื่องนี้ครับ ผมคิดหัวข้อและเขียนเนื้อหาบทความนี้คร่าว ๆ มาหลายเดือนแล้ว แต่ยังสรุปกฏสามข้อของตัวเองไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้คิดกฎสามข้อของตนเองครบ จึงเขียนต่อได้จนจบ ดังนั้นเราควรมีสมุดบันทึกไอเดียของเรา และจดบันทึกความคิดหรือไอเดียต่าง ๆ ที่คิดได้ เผื่อในอนาคต เราสามารถใช้ประโยชน์จากไอเดียที่เราเคยคิดไว้ครับ


หลังจากที่อ่านกฎสามข้อของหลายคนแล้ว ผมอยากให้ผู้อ่านลองคิดกฎสามข้อของตนเองขึ้นมา เกี่ยวกับอะไรก็ได้ที่ถนัด เช่น การท่องเที่ยว ความรัก การเมือง การเงิน หรืออะไรก็ตาม แล้วลองเผยแพร่ไป ใครจะไปรู้ กฎสามข้อของคุณอาจมีชื่อเสียงดังไปทั่วโลกก็ได้ครั