แรงบันดาลใจหากันได้ที่ไหน


แรงบรรดาลใจ-เอิ้น,แอน,แอร์


แรงบันดาลใจ


แรงบันดาลใจหากันได้ที่ไหน

ไอน์สไตน์ เคยพูดไว้ว่า “จินตนาการสำคัญยิ่งกว่าความรู้” คำพูดนี้มีความนัยเรื่องเสรีภาพครับ เราจะจินตนาการอะไรไม่ได้เลยหากขาดเสรีภาพ จินตนาการไม่ใช่ห้วงคำนึงที่เกิดขึ้นเมื่อเสรีภาพขาดหายไป อย่างเช่นเมื่อเรามีความกลัวอะไรสักอย่างและเรากังวลคิดไปต่างๆ นานาว่าสิ่งร้ายๆ กำลังจะเกิดขึ้น เช่นนี้เป็นภาพหลอนและไม่ใช่จินตนาการ


คนไทยเราชอบให้กำลังใจกัน เราชอบบอกกันและกันว่า สู้ๆ นะเพื่อน เราเป็นกำลังใจให้นาย ผมอยากให้กำลังใจนี่สามารถให้กันได้จริงๆ เหมือนการถ่ายเทพลังงานในวิชาฟิสิกส์ให้กันได้ หรือถ่ายทอดลมปราณพลังยุทธ์ดั่งนิยายจีนกำลังภายใน แต่ก็อย่างที่รู้กันครับว่ากำลังใจนั้นเราถ่ายทอดให้กันวิธีนั้นไม่ได้ สำหรับผมแล้วเมื่อมีคนบอกผม (อย่างจริงใจ) ว่า “เราเป็นกำลังใจให้นายนะ” จริงๆ แล้วมันน่าจะแปลว่า


“สิ่งที่นายทำนะ ดีแล้ว เราเห็นด้วย ชื่นชมกับสิ่งที่นายทำอยู่ และ เฮ้ย เพื่อน นายไม่ได้อยู่คนเดียวนะ เราอยู่ฝ่ายนายเสมอ เราสนับสนุนนาย” 


ดังนั้นการให้กำลังใจกันจึงเป็น “การชื่นชมยินดีเห็นด้วย” และเป็นการบอกว่าถ้าเราเผชิญปัญหาอะไร ก็มีเขาที่เต็มใจจะช่วยเราคือเป็น “กำลังเสริมสำรอง” และทำให้เรารู้สึกว่า “ไม่โดดเดี่ยว”


ดังนั้นการให้ “กำลังใจ” ก็คือการให้ “การชื่นชมยินดีเห็นด้วย + กำลังเสริมสำรอง + ความรู้สึกที่ไม่ต้องโดดเดี่ยว” กำลังใจที่ให้กันก็คือการมีส่วนร่วมยินดีและความหวังดีของคนที่ให้ต่อกันและกัน


และเมื่อได้รับกำลังใจ ความรู้สึกถูกต้องชอบธรรมในการกระทำสิ่งนั้นมันจะตามมาด้วยพร้อมๆกัน


แต่มันยังมีอะไรที่มนุษย์เราต้องการมากไปกว่านั้น ตอนนี้หลายๆ คน แม้มีกำลังใจที่พ่อ แม่ พี่ น้องและเพื่อนๆ คอยให้กำลังใจอยู่ก็ยังรู้สึกขาดอะไรอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “แรงบันดาลใจ” ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยการจุดชนวนทางความคิดหรือการจุดประกาย “ในตัวเราเอง”


แรงบันดาลใจ เป็นเหตุการณ์ปรากฎอุบัติขึ้นเองของจิตใจเราเอง มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวเท่านั้นที่ถามหาสิ่งที่เรียกกันว่าเหตุผลและความหมาย ต่างจากสัตว์อื่นๆ ที่ใช้ได้มากที่สุดก็เพียงเหตุผล ผมเคยเรียนวิชาตรรกวิทยาสมัยปริญญาตรีเมื่อนานมาแล้ว อาจารย์ท่านบอกว่า มนุษย์ คือ เวไนยสัตว์ 


เวไนยสัตว์ ก็คือ สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล มาถึงตอนนี้มีการค้นพบมากมายแล้วว่าสัตว์อื่นๆ หลายชนิดใช้เหตุผลในระดับเบื้องต้นได้เช่นพวกลิงชั้นสูงหรือปลาโลมา ดังนั้นผมจะขอ update นิยามของมนุษย์ใหม่ในแบบของผมเองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่เข้าถึงซึ่งเหตุผลและความหมาย และเหตุผลและความหมายเป็นองค์ประกอบสำคัญของศิลปวิทยาการและอารยธรรม


ศิลปวิทยาการและอารยธรรมของมนุษย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มเพาะปลูกเป็น เริ่มเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นแหล่งอาหารได้ จึงทำให้ท้องอิ่มอยู่ตลอดโดยไม่ต้องออกไปล่าสัตว์หรือหาของป่า และได้ประโยชน์อื่นๆ จากการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกเช่น ได้เครื่องนุ่งห่มและเครื่องมือ เป็นต้น มนุษย์จึงเริ่มมีเวลาเหลือมากขึ้นและเมื่อท้องอิ่ม พักผ่อนพอ มีปัจจัยสี่ครบ จึงมีเสรีภาพเหลือ มีเวลาอยู่กับตัวเอง และมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรสิ่งต่างๆที่เป็นจุดกำเนิดของศิลปวิทยาการขึ้น


ลองมาคิดเรื่่องการเกิดขึ้นของ ความรัก ดูบ้าง ความรักกับอะไรสักอย่าง (คนรัก สัตว์เลี้ยงตัวโปรด งานอดิเรก เสียงเพลง ความรู้) ที่ไม่ใช่ความรักตามสายเลือดเช่นความรักของพ่อแม่ มักเกิดขึ้นในจิตใจส่วนที่เป็นตัวตนของเราเอง เมื่อเรามีความเป็นตัวของตัวเราเองมากที่สุดโดยไม่เสแสร้งแกล้งทำกับสิ่งๆ นั้น และใช้ความเป็นตัวตนของเราเองปฏิสัมพัทธ์กับสิ่งนั้น ไม่ว่าจะด้วยวิธีที่เปิดเผยหรือแอบรักอยู่ในใจก็ตามที ความรักย่อมเกิดจากการปฏิสัมพัทธ์ระหว่างความเป็นตัวตนของเรากับสิ่งนั้นๆเสมอ 


ดังนั้น ความรัก จึงเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นเรื่องที่รู้สึกได้โดยปัจเจกบุคคล เมื่อเรามีความรักกับใครสักคนมันจะมีแรงบันดาลใจให้เราทำอะไรดีๆ กับคนๆ นั้นได้เสมอได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องแสร้งทำ หรือต้องจำกันว่าต้องทำ (ต้องจำวันเกิดคนรัก จำของที่ชอบกิน ฯลฯ)


แรงบันดาลใจ มันมาพร้อมๆ กับ ความรัก ถ้าจะรักและมีแรงบันดาลใจกับอะไรสักอย่างละก็ ก็ต้องให้ความเป็นตัวเองกับสิ่งๆนั้นให้มากที่สุด เป็นธรรมดาสามัญมากที่สุดกับสิ่งนั้น


และแน่นอนว่าเราต้องมีสติและรู้จักตัวเองให้ดีก่อนจะรักอะไรสักอย่าง เพราะบางอย่างมันไม่ได้วัดกันด้วยการใช้สมองคือเรื่องของเหตุผล คือมันไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรมข้อห้าม แต่ด้วยความเป็นมนุษย์มีหัวใจที่รู้สึกถึง “ความหมาย” เราจะรู้ได้เองว่าอะไรบางอย่างนั้นเราไม่อาจทำได้เพราะมัน “ไม่งาม” (คือไม่สมควร) ในบริบทนั้นๆ ดังนั้นก่อนที่จะรักอะไรหรือทำอะไรสักอย่างเราคงจะต้อง


“use your brain, but follow your heart”
เพื่อไม่ให้ความรักเป็นเพียงความหลง


ความรัก นั้นสุดวิเศษ เพราะเมื่อเรามีรัก เราก็จะมีแรงบันดาลใจในสิ่งๆ หนึ่งทำให้เราทำสิ่งๆ หนึ่งที่หลายคนอาจเห็นว่ามันเป็นเรื่องเหนื่อยหน่ายและลำบากได้ โดยที่เราไม่รู้สึกอยากจะหยุดทำ เลิกทำได้เลย


เมื่อหลายคนถามผมว่าทำไมผมเลือกเป็นนักฟิสิกส์ ทั้งๆ ที่หลายคนเห็นเป็น“วิชาลำเค็ญ” นั่นก็เพราะว่าผมรักมัน และก็ไม่ใช่ว่าผมรักมีรักเดียวกับวิชานี้ ผมยังรักและชอบอีกหลายวิชาและรักงานอดิเรกอีกหลายอย่าง และก็มีอีกหลายวิชา หลายเรื่่องหลายประเด็นที่ผมไม่รัก ไม่ชอบเอาเสียเลย (เช่น การเมืองในปัจจุบัน) ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านก็คงเป็นเช่นเดียวกันกับผม


ถึงตอนนี้ผมก็ยังเห็นด้วยกับไอน์สไตน์ดังคำกล่าวข้างบนและก็อยากเพิ่มต่อไปอีกว่า
“แรงบันดาลใจสำคัญยิ่งกว่าจินตนาการและจินตนาการสำคัญยิ่งกว่าความรู้”


เอาละครับเราเมื่อเรามีแรงบันดาลใจแล้ว แรงบันดาลใจทำให้เราประสบความสำเร็จได้อย่างไร ก่อนอื่นคำถามมีอยู่ว่า “ความสำเร็จนั้นหรือคืออะไร” แปลความกันตามภาษาไทยที่ผมเข้าใจความสำเร็จน่าจะแปลว่า การบรรลุซึ่งเป้าหมายหรือประสงค์บางอย่าง และเป้าประสงค์ของแต่ละคนนั้นมันก็เฉพาะเจาะจงแตกต่างกันออกไปตามบริบท ตามสถานการณ์และตามทัศนะของแต่ละคน


สำหรับผมแล้ว ความสำเร็จคือความสุข (แน่นอน เงินไม่ใช่ความสุข แต่เงินทำให้เกิดความสุขในบางเรื่องได้) ทีนี้ “ความสุขคืออะไร” จะวัดกันได้อย่างไร



ความสุขของผมรวมเอาสิ่งทั้งหมดที่พูดมาก่อนนี้ซึ่งนั่นก็คือ
(1)แรงบันดาลใจซึ่งเกิดจากความรัก
(2)กำลังใจซึ่งเป็นความชื่นชมยินดี มีมิตรภาพ ไม่โดดเดี่ยว และ
(3)เสรีภาพซึ่งรวมความถึงการมีกินมีอยู่ มีสิ่งประทังชีวิตที่พอเพียงและมีสิทธิ์ที่จะคิดและทำภายใต้เหตุผลและความหมาย


เห็นด้วยกับผมหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ท่านผู้อ่านครับ สำหรับผมเองแล้วสมการความสำเร็จก็คือสมการการได้มาซึ่งเป้าหมาย สมการนี้ก็คือสมการความสุขนั้นเองครับ สมการความสุขของผมเขียนได้ง่ายๆ ดังนี้


Success = Love + Joy + Freedom


(พูดในใจให้ได้ยิน: ผมกำลังฟุ้งเรื่องกลศาสตร์ของความรู้สึกหรือนี่.......ฟิสิกส์ไปทั่วจริงๆ ผมได้ยินคำพูดว่า Success is love, joy and freedom นี้มาจากหนังวัยรุ่นอเมริกันเรื่องหนึ่งที่ผมได้ดูแค่ตอนจบเรื่องในรายการทีวีเมื่อเร็วๆ นี้ มันตรงกับที่ผมคิดก็เลยเขียนเรื่องนี้ให้อ่านกันครับ)




เกี่ยวกับผู้เขียน

บุรินทร์ กำจัดภัย
สำเร็จการศึกษาด้านฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาจากประเทศอังกฤษ
มีอาชีพเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ปัจจุบันทำงานวิจัยและสอนในฐานะอาจารย์ประจำที่สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐานหรือ IF มหาวิทยาลัยนเรศวร


Perspective 7 เป็นบทความเกี่ยวกับทรรศนะของตัวผู้เขียนเองซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต่อธรรมชาติ สังคม และปรัชญา ทรรศนะเหล่านี้นำเสนอในหลายประเด็นผ่านหลายเรื่องราวจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองโดยผ่านเลนส์ตาของวิทยาศาสตร์ “สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าศีลธรรมและจารีต คือสติและการรู้จักตัวตนของตัวเอง"