มารู้จักกับ "ซิเนมากราฟ" ภาพถ่ายเคลื่อนไหวที่ไม่ไร้ชีวิต (Cinemagraphs)




มารู้จักกับ "ซิเนมากราฟ" 
ภาพถ่ายเคลื่อนไหวที่ไม่ไร้ชีวิต
(Cinemagraphs)

นับเป็นเทรนด์ภาพถ่ายที่กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างมากมายเลยทีเดียว สำหรับซิเนมากราฟ (Cinemagraphs) หรือ ภาพถ่ายที่สามารถเคลื่อนไหวได้ ที่เพิ่งจะเป็นที่รู้จักในบ้านเราเมื่อปีที่แล้ว และได้กลายเป็นภาพถ่ายรูปแบบใหม่ที่ทำให้ใครๆ เห็นแล้วก็ต้องทึ่งในความแปลกของมัน เพราะมันเคลื่อนไหวในความนิ่งราวกับเป็นภาพถ่ายมีชีวิต หรืองานศิลปะชั้นดี


เทคนิคภาพแบบซิเนมากราฟริเริ่มโดยสองผู้สร้างสรรค์ชาวสหรัฐฯ ได้แก่ เจมี่ เบ็ค วัย 28 ปี ช่างภาพหญิงมืออาชีพ และเควิน เบิร์ก ช่างภาพ และช่างตัดต่อภาพกราฟฟิกวัย 30 ปี ที่นำความเป็นมืออาชีพของการถ่ายภาพและทักษะการตัดต่อภาพมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ในลักษณะของการกำหนดพื้นที่ส่วนหนึ่งในภาพ เป็นภาพเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างนิ่มนวลเป็นธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่แปลก หากภาพเหล่านี้จะให้ความรู้สึกเหมือนกับมีสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ในภาพนิ่งนั่นเอง

ก่อนหน้าที่ทั้งสองจะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในบางโอกาส เบิร์กจะนำคลิปที่เขาถ่ายไว้จากรายการทางโทรทัศน์ มาดัดแปลงเป็นภาพแอนเมชันเคลี่อนไหว โดยมีแบ็คกราวน์เป็นภาพนิ่ง ซึ่งกลายเป็นภาพต้นแบบของงานชิ้นแรกอย่างเป็นทางการของทั้งคู่ ที่ชื่อ “Les Tendrils” ที่ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และหลังจากภาพชุดนี้นี่เอง เบ็คกล่าวว่า แทบจะไม่มีใครจ้างเธอให้ถ่ายภาพนิ่งแบบเดิมอีก ในทางกลับกัน เธอได้รับการร้องขอให้ถ่ายภาพ"ที่มีการเคลื่อนไหว" ดังนั้นทั้งสองจึงจำเป็นต้องบัญญัติศัพท์สำหรับการถ่ายภาพแนวใหม่นี้ขึ้น


ในการสร้างสรรค์ภาพแนวนี้ ทั้งสองจำเป็นต้องหาจุดโฟกัสสำหรับทำเป็นภาพเคลี่อนไหว อาทิ การทำให้วัตถุที่ต้องการเคลื่อนไหว หรือการทำให้ผมหรือเสื้อผ้าของผู้ถ่ายแบบพลิ้วไหวไปมาโดยใช้พัดลม โดยเบ็คจะเป็นผู้ถ่ายภาพโดยใช้กล้องแคนนอน ดี5 มาร์กทู ขณะที่เบิร์กจะเป็นผู้ควบคุมอุปกรณ์ในฉาก เมื่อเสร็จสิ้น ทั้งสองจะนำภาพที่ได้เข้าไปดัดแปลงโดยใช้โปรแกรม"อโดบี้ โฟโต้ช็อป" และ "อัฟเตอร์ เอ็ฟเฟ็กต์"

How to Make a Cinemagraph
วิดีโอสอนการสร้างภาพซิเนมากราฟ



ภาพซิเนมากราฟ ก็คือภาพที่เรียกว่า Gif Animation แบบธรรมดานั่นเอง ซึ่งมีวิธีการทำที่ไม่ยากนัก ซึ่งมีวิธีการทำแบบง่ายๆคือ

วิธีแรกคือการถ่ายภาพแบบมัลติช็อต (Multi Shot) แล้วนำไฟล์มาเรียงต่อกันทำเป็นไฟล์ Gif ซึ่งวิธีการทำก็เหมือนการทำไฟล์ Gif ทั่วไป วิธีที่สอง คือการนำไฟล์วิดีโอมาดัดแปลง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้โปรแกรมโฟโต้ช็อป ส่วนวิธีสุดท้าย คือการนำรูปภาพธรรมดารูปเดียว มาก๊อปปี้ ตกแต่ง และตัดต่อ ให้เป็นภาพเคลื่อนไหวทีละช๊อต ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องใช้เทคนิคเฉพาะตัวสูงมาก และมีขั้นตอนที่ซับซ้อน จึงไม่ค่อยมีใครใช้วิธีนี้นัก


สำหรับคนที่รักการถ่ายภาพ แต่ยังเป็นมือสมัครเล่นในเรื่องโปรแกรมตกแต่งรูป และนึกอยากลองทำภาพถ่ายธรรมดาให้กลายเป็นงานที่ไม่ธรรมดา อาจจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้โปรแกรมตกแต่งภาพเข้าช่วยสักหน่อย เพราะภาพแบบซิเนมากราฟ ต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคการตกแต่งพอสมควร