7 วิธีการทำแบรนด์ ให้คน 'ว้าว!' ต้อนรับปี 55




Crescendo-ดีกว่าเดิม.



7 วิธีการทำแบรนด์ ให้คน 'ว้าว!' ต้อนรับปี 55
โดย : ดร.ฐิติพร สงวนปิยะพันธ์

การจะประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจวันนี้ มีความท้าทายสูงเพราะไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปแบรนด์อะไรที่เคยตอบโจทย์ผู้บริโภคในอดีต


ปัจจุบันความคิดที่ขอแค่ได้เงินจากกระเป๋าของลูกค้าหรือการแค่ตอบโจทย์นั้น ล้าสมัยไปแล้วคุณต้องทำให้ลูกค้าประทับใจที่สุด เกิดความพึงพอใจสูงสุดและมีความสุขด้วยเช่นกัน จะสิ้นปีแล้วดิฉันขอรวบรวมวิธีการทำการตลาดที่สำคัญที่ได้เคยเขียนไว้ในปีที่ผ่านมา มาเป็น 7 วิธีการทำแบรนด์ให้สำเร็จและทำให้คนต้องร้องว้าว!!! ต้อนรับปีใหม่นี้กันนะคะ




 1.ปลดล็อกมูลค่าสูงสุดสู่ใจลูกค้า 
นักการตลาดในปัจจุบันจำเป็นต้องเข้าใจวิถีชีวิตและความต้องการของผู้บริโภคอย่างถ่องแท้การดูพฤติกรรมของผู้บริโภคก่อน โดยมีการคำนึงถึงการแก้ปัญหาให้กับลูกค้า หรือหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าให้เจอ เพื่อค้นหาว่ามีช่องทางใหม่ๆ หรือช่องทางใดบ้างที่จะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าเดิมจะสามารถสร้างโอกาสและดึงมูลค่าสูงสุดในตัวลูกค้าออกมาได้


 2.สร้างกับดักทางการตลาดใหม่ๆ 
ทุกวันนี้ลูกค้าของเรานอกจากจะชอบการให้ และรับข้อมูลแล้วเขาต้องการมีส่วนร่วมเขาต้องการแสดงตัวตนของตัวเอง และฉลาดในการเลือกรับสิ่งมีคุณค่าของตัวเองทั้งในยุคดิจิทัลเครือข่ายเพื่อนฝูงของผู้บริโภคนับได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามหาศาล ดังนั้นเจ้าของสินค้าจึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดกิจกรรมที่จะทำให้ผู้บริโภคได้ใกล้ชิดและมีประสบการณ์ที่ดีกับสินค้าและบริการของตนเพื่อที่ผู้บริโภคนั้นจะได้กลายเป็นกระบอกเสียงที่เผยแพร่ข้อมูลประสบการณ์หรือความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับแบรนด์หรือสินค้าหรือบริการเหล่านั้นต่อไป


 3.สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค 
มูลค่าสูงสุดของผู้บริโภคนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงยอดซื้อสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมูลค่าหลังการขายเช่นความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวระหว่างแบรนด์สินค้าหรือบริการกับตัวผู้บริโภค และความสามารถที่ผู้บริโภคจะกลายเป็นสื่อในการสร้างความสัมพันธ์หรือมีอิทธิพลความคิดตลอดจนเป็นผู้สร้างเนื้อหาข้อมูลรวมทั้งบริการและประสบการณ์ที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญสูงมากในปัจจุบัน สร้างความสัมพันธ์ด้วยการบริหารข่าวสารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างคงเส้นคงวาชัดเจนแม่นยำสู่กลุ่มเป้าหมายปรับง่ายต่อการเข้าใจ และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการที่เหมาะสมไม่ใช่ยัดเยียดให้ผู้บริโภคตามที่องค์กรต้องการ


 4.เน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 
การสร้างมูลค่าเพิ่มจากไอเดีย ทำสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมในทางที่ดีขึ้น ปัจจุบันการใช้อินเทอร์เน็ตและการใช้สื่อดิจิทัลเป็นเรื่องง่ายใครๆ ก็ใช้ทั่วไปการจะสร้างความสำเร็จในโลกดิจิทัลจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าถึงสื่อดิจิทัลหรือไม่แต่เป็นเรื่องของไอเดียความคิดสร้างสรรค์ และเนื้อหาข้อมูลที่โดนใจผู้บริโภคเราต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้สื่อเหล่านี้และกำหนดกลยุทธ์ที่จะทำให้เรามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคกลยุทธ์และกิจกรรมที่เราทำจะต้องมีความโดดเด่นใน 2 ด้านพร้อมกันคือการสร้างสรรค์และประสิทธิภาพจึงจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ในยุคนี้


 5.เน้นความรู้สึกและประสบการณ์แบบว้าวๆ 
ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดขององค์กรคือพนักงานเพราะเขามีปฏิสัมพันธ์ทุกวันกับเพื่อนร่วมงานลูกค้าผู้ส่งวัตถุดิบกระทั่งคู่แข่งรวมถึงครอบครัวและเพื่อนฝูงเขาจึงเสมือน Brand Ambassadors ด้วยการพูดปากต่อปาก (Word-of-mouth) วิธีการที่จะช่วยสร้างพนักงานเป็น Brand Ambassadors คือการฝึกอบรมให้มีความรู้อย่างเพียงพอในแบรนด์โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจความเชื่อของเขาโดยกำหนดให้พนักงานทุกคน (ทุกตำแหน่งไม่มีการยกเว้น) ต้องเข้าร่วมฝึกอบรมประจำปีทุกปีเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ขององค์กร


 6.สร้างระบบการส่งมอบคุณค่าที่ถูกต้องให้ผู้บริโภคแบรนด์
คือคำมั่นสัญญาซึ่งทำให้ทุกคนมีความคาดหวังจากองค์กรดังนั้นควรเน้นรายละเอียดในการส่งมอบคุณค่าตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ระบบการบริการที่ถูกต้องและมั่นใจได้ว่าผู้บริโภคได้รับความเอาใจใส่จริงๆ จากระบบภายในซึ่งสอดคล้องกับความคาดหวังจากภายนอกทุกจุดที่เขาสัมผัสได้


 7.การปรับปรุงอย่างอดทนและพร้อมที่จะลงมือเปลี่ยนแปลง 
สภาวะการแข่งขันในธุรกิจเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาองค์กรจึงควรประเมินผลและปรับปรุงแบรนด์อย่างสม่ำเสมอให้มีความแตกต่างและมีความสามารถในการตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างคงเส้นคงวาแบรนด์ที่เข้มแข็งมักจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยผู้นำที่ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการยกระดับความสามารถของตนเองตลอดเวลา 


ดังคำกล่าวของ Winston Churchill ที่ว่า 
“To improve is to change; to be perfect is to change often”



* วินสตัน เชอร์ชิลล์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


เซอร์วินสตัน เลโอนาร์ด สเปนเซอร์-เชอร์ชิลล์ (อังกฤษ: Sir Winston Leonard Spencer-Churchill) (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417 - 24 มกราคม พ.ศ. 2508) 
เป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรที่มีชื่อเสียงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขายังได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อ พ.ศ. 2496
เชอร์ชิลล์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระแรกระหว่าง พ.ศ. 2483-พ.ศ. 2488 โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากเยอรมนีบุกฝรั่งเศส เชอร์ชิลล์นำสหราชอาณาจักรฝ่าวิกฤตสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นหนึ่งในผู้นำที่สำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตรร่วมกับประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา และโจเซฟ สตาลิน ผู้นำของสหภาพโซเวียต
เชอร์ชิลล์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งโดยนำพรรคอนุรักษ์นิยม เอาชนะพรรคแรงงาน เมื่อ พ.ศ. 2494 และเขาได้ลาออกเมื่อ พ.ศ. 2498

http://bit.ly/u3yWXg