10 ข้อผิดพลาด ที่ควรหลีกเลี่ยงในการลงทุน (10 Investment Blunders to Avoid)



KnomJean - เสี่ยงมั้ย (Risk) [Official MV]

 
10 ข้อผิดพลาด ที่ควรหลีกเลี่ยงในการลงทุน

(10 Investment Blunders to Avoid) 

เชื่อว่าช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนหน้าใหม่ๆเริ่มเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ตั้งแต่ก่อนเริ่มลงทุนจนถึงระดับเซียน บนแผงหนังสือล้วนแล้วแต่ติดอันดับหนังสือขายดีทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามไม่นานมานี้ตลาดกลับผันผวนอย่างหนักและปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนทั้งหน้าใหม่เก่าขาดทุน และเกิดอาการเครียด ไปจนถึงขั้นกลัวการลงทุน


หากคุณเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ถูกพาดพิง ผลขาดทุนดังกล่าวคงจะโทษว่าเป็นความผิดของตลาดอย่างเดียวคงจะไม่ถูกต้องนัก แต่ความผิดพลาดเกิดจากตัวคุณเองด้วยที่มีการลงทุนอย่างไม่เหมาะสม 


ดังนั้นเมื่อคุณก้าวเข้ามาลงทุน ความผิดพลาดจากการลงทุนสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก และในบางครั้งก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ได้ ผู้เขียนจึงขอเล่าถึงบทความนี้ที่ได้นำมาจากหนังสือ Asset Allocation for Dummies โดย Jerry Miccolis, CFA, CFP®, FCAS, MAA ที่ได้สรุปให้เห็น 10 ข้อผิดพลาดและวิธีการที่จะสามารถเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นกับการลงทุนของคุณ



การไม่สนใจการจัดสรรการลงทุน
(Ignoring asset allocation in the first place)
การไม่สนใจการจัดสรรการลงทุน เป็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เรียกว่าการลงทุนกับการเก็งกำไร การลงทุนนั้นอยู่บนหลักการของการจัดสรรสินทรัพย์ และการวิเคราะห์ด้วยวิธี Top-down Analysis ถึงแม้ว่าวิธีการนี้อาจจะดูน่าเบื่อไปบ้าง แต่การจัดสรรสินทรัพย์จะเป็นองค์ประกอบหลักที่จะนำไปสู่เป้าหมายทางการเงินของคุณ



เชื่อในเรื่องการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
(Believing that diversification is enough)  
เชื่อในเรื่องการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม หลายคนสับสนและเข้าใจผิดว่าการจัดสรรสินทรัพย์ คือการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ให้หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ที่จริงแล้วการกระจายการลงทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถดูแลจัดการได้จึงจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง

 
ลืมปรับพอร์ตการลงทุน
(Forgetting to rebalance) 
ลืมปรับพอร์ตการลงทุน หลังจากที่ตั้งเป้าหมายและทำการกระจายสินทรัพย์เรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ว่าปล่อยนิ่งๆแล้วเงินจะงอกตามที่วาดฝันไว้ คุณต้องตระหนักเสมอว่าจะต้องปรับปรุงพอร์ตของคุณให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอให้เข้ากับสถานการณ์ อย่างเช่น มองว่าเศรษฐกิจไม่ดี หุ้นมีทิศทางไปในเชิงลบ อาจจะต้องปรับพอร์ตมาถือเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่องให้มากขึ้น



อย่าปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ 
(Indulging your emotions)
อย่าปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ ถึงแม้บางครั้งอาจโชคดีบ้างบางครั้งจากอารมณ์ ”โลภ” แต่ในระยะยาวแล้วคุณไม่อาจใช้อารมณ์ในการสร้างผลกำไรที่คุณต้องการได้ตลอด ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นวันนี้คงเป็นเครื่องยืนยันได้ในระดับหนึ่ง



ไม่มีการวางแผนระยะยาว 
(Not having a long-term plan) 
ไม่มีการวางแผนระยะยาว เชื่อว่าทุกคนทราบว่าการมีแผนระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญ แต่การทำมันให้สำเร็จคุณอาจจะต้องทำอะไรบางอย่างให้ได้มันมาด้วย เริ่มด้วยการรู้เป้าหมายและแหล่งที่มาของรายได้ของตนเอง 


จากนั้นทำการวางแผนว่าในอีก 10 ปี 20 ปี และ 30 ปีข้างหน้าว่าคุณอยากจะอยู่ที่ตรงไหน อยากมีเงินเท่าไร นอกจากนี้จะต้องรู้ระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับ และต้องทำการจัดสรรสินทรัพย์ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการเขียนแผนการออกมาทำเป็นเอกสารที่ชัดเจน จะช่วยเตือนสติว่าวันนี้คุณเดินออกนอกแผนหรือไม่



ให้ความสนใจกับสื่อมากเกินไป
(Paying too much attention to the financial media) 
ให้ความสนใจกับสื่อมากเกินไป อย่าพยายามทำตามคำแนะนำในการลงทุนระยะสั้นๆ เพราะเหตุการณ์บางอย่างเกิดจากอารมณ์นักลงทุนระยะสั้นๆเท่านั้น แต่ให้ใช้ข่าวเพื่อทำความเข้าใจแนวโน้มและปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนในระยะยาว แล้วนำมาปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม



พยายามไล่ล่าหาผลตอบแทน 
(Chasing performance) 
พยายามไล่ล่าหาผลตอบแทน หลายคนน่าจะเข้าใจคำว่า “ติดดอย” ว่าความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร 

ดังนั้นไม่ควรไปไล่ตามซื้อหุ้น กองทุน หรืออุตสาหกรรมที่กำลังติดกระแส แต่ให้อยู่กับแผนการลงทุนระยะยาวของคุณเป็นหลัก


วัฏจักร แมลงเม่า

ชอบคิดว่าตัวเองสามารถเอาชนะตลาดได้
(Thinking you can outsmart the market) 
ชอบคิดว่าตัวเองสามารถเอาชนะตลาดได้ คุณไม่ควรตกไปอยู่กับการพยายามจับจังหวะตลาด และอย่าเดิมพันอนาคตทางการเงินกับ “ดวงและการเสี่ยงโชค” แต่ควรให้ความสำคัญการจัดสรรสินทรัพย์และการปรับพอร์ตให้สมดุลมากกว่า



ไม่ใส่ใจเรื่องภาษี 
(Ignoring taxes) 
ไม่ใส่ใจเรื่องภาษี อย่าลืมใช้เวลาพิจารณาดูว่าในปีนี้ต้องเสียภาษีเป็นเงินเท่าไร และส่วนที่คุณสามารถลดหย่อนภาษีลงได้หากคุณทำการปรับแต่งพอร์ตการลงทุนของคุณ ไม่ว่าจะด้วยกองทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่าง กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกันชีวิต เป็นต้น



ไม่ใส่ใจเรื่องเงินเฟ้อ
(Disrespecting inflation) 
ไม่ใส่ใจเรื่องเงินเฟ้อ ความมั่งคั่งสามารถดูได้จากความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเงินเฟ้อจะทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยนี้ลดลง 


ดังนั้นคุณต้องมั่นใจว่าพอร์ตการลงทุนของคุณสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้สูงกว่าเงินเฟ้อ


หากพบว่าคุณมีข้อผิดพลาดในการลงทุน ลองนำเอาคำแนะนำข้างต้นมาปรับปรุงวิธีการลงทุนให้เข้ากับเป้าหมาย และความเสี่ยงที่เหมาะสมของตัวคุณเอง อย่างน้อยคุณจะสนุกและมีความสุขกับการลงทุนมากขึ้น
ที่มา: www.fpanet.org
พิชญา ซุ่นทรัพย์
บลจ.บัวหลวง