รู้ ตัวตน คนอาเซียน ก่อนเปิดสนาม AEC


เส้นทางสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนของไทย
ตอนที่ 1 เจรจา ทูตแห่งการค้าเสรี


เส้นทางสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนของไทย
ตอนที่ 2 เจรจา พาตะลุยอาเซียน


เส้นทางสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนของไทย
ตอนที่ 3 มุ่งหน้าสู่ AEC ไปด้วยกัน


เส้นทางสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนของไทย
ตอนที่ 4 ประตูสู่ AEC ปี 2558


เส้นทางสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนของไทย
ตอนที่ 5 ก้าวไปข้างหน้ากับเจรจา


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

อาเซียน
เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 โดยมีสมาชิกแรกเริ่ม 5 ประเทศได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่อมามีบรูไนฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 2527 เวียดนามเข้าร่วมในปี 2538 พม่า และลาวในปี 2540 และสุดท้ายกัมพูชาเข้าร่วมในปี 2542 ซึ่งวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งคือ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความก้าวหน้า ของภูมิภาคในทุกๆด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และวิชาการ

AFTA
ในปี 2535 ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนได้เริ่มจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนขึ้น (ASEAN Free Trade Area) ซึ่งวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งก็เพื่อ สร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าอาเซียนในตลาดโลก ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างอำนาจต่อรองในเวทีการค้าโลก โดยมีเป้าหมายคือลดภาษี และอุปสรรคข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อให้อำนวยต่อการค้าเสรี และได้มีการทำข้อตกลงดังนี้

1. ประเทศสมาชิกเดิม 6 (ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน) จะลดภาษีสินค้าในบัญชี Inclusion List (IL) ให้เหลือ 0-5% ภายใน วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2546 และจะลดให้เป็น 0 % ในปี พ.ศ. 2553
2. ประเทศสมาชิกใหม่ทั้ง 4 ประเทศจะพยายามลดภาษีลงเหลือ 0-5% ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปี 2549สำหรับเวียดนาม, ปี 2551 สำหรับลาวและพม่า, และปี 2553สำหรับกัมพูชา
3. ประเทศสมาชิกใหม่ทั้ง 4 ประเทศจะต้องจะลดภาษีลงเหลือ 0% สำหรับสินค้าทุกรายการภายในปี 2015

ASEAN Community
ประชาคมอาเซียน ในปี 2546 ได้มีการประชุมผู้นำอาเซียน ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาบาหลี (Bali Concord II) เห็นชอบให้มีการรวมตัวของอาเซียนไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 โดยการประกาศใช้ กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) คือการปรับองค์กรในการทำงานแบบ การรวมกลุ่มที่มีกฎเป็นฐานสำคัญ สมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะต้องปฏิบัติตามพันธะข้อตกลง มีการกำหนดกลไกระงับข้อพิพาท พร้อมกับสร้างอาเซียนให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล มีการปรับให้เป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางทำให้เกิดประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มมากขึ้น ทำให้เกิดกระบวนการตัดสินใจ จากการประชุมระดับผู้นำ ซึ่งจะปรากฏเป็นคณะมนตรีหรือ(Councils) ของอาเซียนขึ้นทำหน้าที่เป็น 3 เสาหลัก ได้แก่ เสาหลักทางด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เสาหลักที่สำคัญทั้ง 3 เสา สรุปได้ดังนี้

ASEAN Security Community เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียน
มีจุดมุ่งหมายให้ประเทศในภูมิภาคอยู่อย่างสันติสุขแก้ไขปัญหาภายในภูมิภาคโดยสันติวิธี และยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน โดยใช้เอกสารทางการเมืองและกลไกของอาเซียนในการเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทภายในภูมิภาค รวมทั้งการต่อต้านการก่อการร้ายการลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ และการขจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมทั้งริเริ่มกลไกใหม่ๆ ในการเสริมสร้างความมั่นคง ทั้งนี้ ความร่วมมือต่างๆ จะไม่กระทบต่อนโยบายต่างประเทศและความร่วมมือทางทหารของประเทศสมาชิกกับประเทศนอกภูมิภาค

ASEAN Socio-Cultural Community เสาหลักทางสังคมและวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียน
ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ร่วมกันในสังคมที่เอื้ออาทร ประชากรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีความมั่นคงทางสังคม โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ

ASEAN Economic Community เสาหลักทางด้านเศรษฐกิจ
มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ โดยมุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า การบริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี 2020 มุ่งที่จะจัดตั้งให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและเป็นฐานการผลิต โดยจะริเริ่มกลไกและมาตรการใหม่ๆ ในการปฏิบัติตามข้อริเริ่มทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาและช่วยให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมในกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในนโยบายด้านการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ตลาดการเงิน และตลาดเงินทุน การประกันภัยและภาษีอากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม กรอบความร่วมมือด้านกฎหมาย การพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตร พลังงาน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาฝีมือ ทั้งนี้ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบให้เร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญจำนวน11 สาขา ให้เป็นสาขานำร่อง ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์เทคโนโลยีสารสนเทศ (e-ASEAN) การบริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศ

แนวทางการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และบรรลุการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของอาเซียนนั้น มีพันธกรณีสำคัญดังนี้

1.การเปิดเสรีการค้าสินค้า

การลด / ยกเลิกภาษี
  • ประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน จะต้องยกเลิกอัตราภาษีสินค้าทุกรายการเหลือ 0%ในปี 2553 ยกเว้นสินค้าอ่อนไหว
  • ประเทศสมาชิกใหม่ทั้ง 4 ประเทศได้แก่เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา จะต้องยกเลิกอัตราภาษีสินค้าบางรายการเหลือ 0% ในปี 2558 และสินค้าบางรายการจำนวนไม่เกินร้อยละ 7 ของสินค้าทั้งหมดจะลดอัตราภาษีเหลือ 0% ในปี 2661
การขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษี
  • ประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ต้องยกเลิกมาตรการที่มีใช่ภาษีภายในปี 2553
  • ประเทศฟิลิปปินส์ ยกเลิกมาตรการที่มีใช่ภาษีภายในปี 2555
  • ประเทศสมาชิกใหม่ทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ต้องยกเลิกมาตรการที่มีใช่ภาษีภายในปี 2558-2561
โดยปฏิบัติตามภายใต้ WTO ในเรื่องอุปสรรคทางเทคนิคมาตรฐานสุขอนามัย และการขออนุญาตนำเข้า รวมทั้งพัฒนาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าวสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อนำไปสู่การลด/เลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้า

การกำหนดกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า
มีจุดมุ่งหมายที่จะปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าให้มีความโปร่งใส มีมาตรฐานที่เป็นสากล และอำนวยความสะดวกให้แก่เอกชนมากขึ้น อาทิ การจัดทำกฎการได้แหล่งกำเนิดสินค้าโดยวิธีการแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation) และกฎการได้แหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนแบบสะสมบางส่วน (Partial Cumulation Rule of Origin) มาใช้เป็นทางเลือกสำหรับการคำนวณแหล่งกำเนิดสินค้า

2. การเปิดเสรีการค้าบริการ
มีการตั้งเป้าหมายการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการอย่างชัดเจน เพื่อให้การค้าบริการของอาเซียนเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น และพัฒนาระบบการยอมรับร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบวิชาชีพในสาขาบริการ รวมทั้งส่งเสริมการร่วมลงทุนของอาเซียนไปยังประเทศที่สาม

3. การเปิดเสรีการลงทุน
มีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มและรักษาระดับความสามารถในการดึงดูดให้ต่าประเทศมาลงทุนในอาเซียน และการลงทุนในอาเซียนโดยอาเซียนเอง และเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย อาเซียนได้ปรับปรุงความตกลงด้านการลงทุนที่มีอยู่ (AIA) ให้เป็นความตกลงใหม่คือ ASEAN comprehensive Investment Agreement : ACIA ซึ่งมีขอบแขตที่กว้างขึ้นและเปิดเสรี พันธกรณีความตกลงของ ACIA นั้นจะครอบคลุมประเด็นหลักใหญ่ๆ 4 ประเด็น คือ การเปิดเสรี การส่งเสริม การอำนวยความสะดวก และการคุ้มครองการลงทุน โดยครอบคลุมทั้งการลงทุนทางตรง และการลงทุนในหลักทรัพย์

4. การเปิดเสรีด้านเงินทุน
จะดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนดโดยรัฐมนตรีคลังของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น โดยประเทศสมาชิกยังสามารถมีมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศได้

5. การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี
มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนของแรงงานมีฝีมือ และอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานมีฝีมือที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนดให้สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในกลุ่มประเทศสมาชิกได้ง่ายขึ้น
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีความสำคัญกับประเทศไทย เนื่องจาก

1. อาเซียนเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความใกล้ชิดไทยมากที่สุด
ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน มีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึง มีพฤติกรรมการบริโภคคล้ายๆ กัน มีสินค้าและบริการที่สามารถเสริมซึ่งกันและกันได้ หรือมีสินค้าบริการที่คล้ายคลึงกันซึ่งหากสามารถร่วมมือกัน ก็จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งในด้านอำนาจการต่อรอง อันจะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจการค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง


2. การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้เกิดตลาดในภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่
โดยสามารถนำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาเสริมกับจุดแข็งของประเทศไทยเพื่อสร้างประโยชน์
สูงสุดในการผลิต ส่งออกและบริการ ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่าง
เสรีมากขึ้น นอกจากนี้ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยให้ประเทศสมาชิกมีความเป็น
ปึกแผ่นและช่วยสร้างอำนาจการต่อรองในเวทีต่าง ๆ มากขึ้น

3. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในด้านการค้าและการลงทุนของไทย
เนื่องจากการผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะก่อให้เกิดการยกเลิกหรือลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรค์ด้านภาษีหรือมาตรการทางการค้าอื่น ๆ ที่มิใช่ภาษี ประเทศสมาชิกจะแสวงหาความร่วมมือเพื่อลด/ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านั้น รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

4. ประชาคมเศรษฐกิจจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เริ่มปรับตัวและเตรียมความพร้อมกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและใช้โอกาสที่เกิดจากการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสาขาที่ไทยมีความพร้อมและมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
สำนักพัฒนาการตลาดระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก



รู้ ตัวตน คนอาเซียน ก่อนเปิดสนาม AEC
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

ก่อนประตูสู่เออีซี จะถูกเปิดออกในปี 2558 ยังพอมีเวลาให้ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้ ตัวตนคนอาเซียน รู้เขารู้เราเพื่อสร้างแต้มต่อที่เหนือกว่า

อาเซียนเป็นเหมือนเค้กก้อนใหญ่ แต่อย่ามองเป็นเค้กก้อนเดียวแล้วรีบกระโจนเข้าไป เพราะอาจจมก้อนเค้กตายได้ง่ายๆ !!

นี่คือหนึ่งในมุมคิด จากนักวิชาการ ผู้ประกอบการและที่ปรึกษาองค์กรชั้นนำ ที่มาร่วมแชร์ไอเดีย มุมมองที่กำลังบอกเราว่า ผู้บริโภคอาเซียน แท้จริงแล้วไม่ได้มีความ เหมือน แต่ยังมีส่วน ต่าง กันอยู่เยอะมาก

Asian is not Asian เราอย่าหมายรวมว่าคน 680 ล้านคน จะเหมือนกันหมด เราเหมือนกันในบางส่วนนั่น ใช่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกันเยอะมาก เรามีเชื้อชาติที่หลากหลาย วิถีชีวิตที่แตกต่าง ระบบการบริโภคที่ต่างกัน อาเซียนไม่ใช่อาเซียน เพราะแค่รายได้ ก็แตกต่างกันแล้ว ฉะนั้นจงอย่าเหมารวม

ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ฉายความจริงให้ฟัง ก่อนที่ผู้ประกอบการไทยจะหลงระเริงไปกับความยิ่งใหญ่ของตลาดอาเซียน จนลืมคิดไปว่าการผลิตสินค้าให้ โดนใจ คนทั้งตลาดที่สุดแตกต่าง

...ไม่ใช่เรื่องง่าย

มีอะไรน่าสนใจ ในความเป็นอาเซียน ณ วันนี้ ดร.การดี เปิดภาพ เทรนด์ผู้บริโภค ในภาคใหญ่ให้ฟังว่า เจเนอเรชั่นที่จะกลายเป็นผู้บริโภคหลักในอีก 5 ปี ข้างหน้า คือ กลุ่มคนที่เกิดมาบนความสะดวกสบาย มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก เลือกชอปปิงออนไลน์กันมากขึ้น ติดต่อสื่อสารกันมาก รู้จักผู้คนมากมาย ทว่าไม่ขอใกล้ชิด (อารมณ์มีเพื่อนเต็มเฟซบุ๊คแต่ไม่ได้สนิทไปเสียทุกคน) มีความอดทนน้อยลง เก่งเทคโนโลยี มีทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ดีมาก

แต่สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ ไอคิว และ อีคิว ที่กลับน้อยลง

เราต้องออกแบบโปรดักท์ ที่ ง่าย โง่ และสะดวก อย่าทำอะไรที่มันซับซ้อนและย่อยยาก

ขณะที่วิถีชีวิตผู้คนก็เปลี่ยนไป คนจะอยู่ในเมืองกันเยอะขึ้น และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนท้องถนน ผู้บริโภคยุคนี้ มีความเข้าใจเรื่อง “สังคมสีเขียว” มากขึ้น มีความคิดที่ให้ต่อสังคมมากเช่นเดียวกัน คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะซื้อสินค้าหรือบริการที่อาจจะมีราคาแพงกว่า ถ้ามีผลกระทบทางสังคมที่ดีกว่า

และที่ดูจะเหมือนกันทั่วอาเซียน คือการก้าวสู่สังคม ผู้สูงอายุ คนทำงานนานขึ้น เกษียณช้าลง

นี่เป็นความคล้าย แต่ในความคล้ายก็ยังแตกต่างไปในแต่ละประเทศ อย่างผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น แต่สิงคโปร์ก็มีการใช้เงินในสินค้าหรือบริการแบบหนึ่ง บ้านเราก็เป็นอีกแบบ เวียดนามก็อีกแบบ จะต่างกัน นั่นคือสิ่งที่ ดร.การดี บอกกับเรา

เวลาเดียวกับเทรนด์ในภาพใหญ่ ยังมีเทรนด์ยิบย่อยของผู้บริโภคอาเซียนโดยเฉพาะ ไลฟ์สไตล์ คนยุคนี้ ที่มีความน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่น คนแต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูก จึงเลือกเลี้ยงสัตว์เติมเต็มความสุขให้ชีวิต ที่น่าสนใจคือ สัตว์พื้นๆ อย่างสุนัขและแมวอาจจะดูเอาท์ไปแล้วสำหรับคนยุคนี้ เมื่อพวกเขานิยมเลี้ยงสัตว์แปลกๆ กันมากขึ้น

หลายสถานที่มีป้ายต้อนรับสัตว์เลี้ยง เพราะเขารู้ว่าเทรนด์แบบนี้มีมากขึ้น บ้าน คอนโดไม่มีที่เดิน ผู้คนก็มาเดินห้างฯ ที่ต้อนรับสัตว์เลี้ยง

ผู้คนจะหันมาขับรถกันเยอะขึ้น เพราะบ้านอยู่นอกเมือง แต่ทำงานในเมือง สินค้าที่ใช้ระหว่างเดินทางจึงน่าจะขายดี ขณะที่คนส่วนหนึ่งอยู่บ้าน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้องทำให้ราคาถูกลง เพื่อใช้ในบ้าน ใช้เพื่อความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

นอกจากนี้จะเกิด “เพศทางเลือก” ที่เปิดมากขึ้น สินค้าที่สนองใจคนกลุ่มนี้จะขายดี ผู้หญิงยุคใหม่วัย 35-45 ปี เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ มีอิสระทางการเงิน จะเป็นที่สนใจของตลาดมากขึ้น

เกิดกลุ่ม คุณพ่อมือใหม่ ที่อายุมาก โดยคนรุ่น 40-50 ปี อาจแต่งงานช้า หรือแต่งงานเป็นครั้งที่ 2 ที่ 3 กลายเป็นคุณพ่ออายุเยอะ ที่มีลูกน้อยวัยเตาะแตะ

วันนี้เวลาซื้อ car seat สำหรับเด็กที่นั่งในรถ เราจะเริ่มเห็น car seat ยี่ห้อ เฟอร์รารี่ หรือ BMW ที่มี car seat เป็นของแถม เรียกว่าทำสินค้า ขายคุณพ่อกันมากขึ้น

กลุ่มคนมีลูก ที่พื้นที่ในการเล่นรอบบ้านลดลง จะเกิดการนัดกันเพื่อไปทำกิจกรรมของคนมีลูก ไปเล่นในสถานที่ที่มีการจัดวางไว้ให้มากขึ้น ให้ลูกได้รู้จักกัน ผู้ปกครองก็สนิทสนมกันตามไปด้วย เกิดกลุ่มคนชอบอะไรเหมือนๆ กัน อย่าง แก๊งคนรักจักรยาน คนรักสัตว์ และสารพัดกลุ่มก้อนที่จะมีมากขึ้น

เกิดนิยามใหม่ของคำว่า Luxury ความหรูหราที่ถูกให้ความหมายใหม่ จากอดีตที่เคยจินตนาการถึงเหล่าแบรนด์เนมเท่านั้น แต่ในวันนี้คนหิ้วแบรนด์เนม อาจถูกเรียกได้ว่าพวก เศรษฐีใหม่ เพราะเดี๋ยวนี้คนส่วนหนึ่งหันมาใช้ ของแพงแต่ไม่ใช่แบรนด์ที่เกร่อตลาด ส่วนหนึ่งยอมจ่ายแพงให้กับของดีที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ของที่เกี่ยวกับสุขภาพดี และของที่ช่วยเปลี่ยนโลก

ประเทศที่มีคนจนเยอะอยู่ เขาก็จะยังชอบแบรนด์เนม เหมือน เวียดนาม อินโดนีเซีย อาจยังชอบอยู่ แต่สิงคโปร์จะหลุดไปชอบแบรนด์ที่แตกต่างเยอะขึ้น มองของที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในไทยเองจากการประเมินของนักการตลาดเรายอมจ่ายแพงให้กับของที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และมีความฝันที่จะเปลี่ยนโลก

ดร.การดี ชี้ความน่าสนใจให้เห็นว่า แม้เทรนด์เหล่านี้จะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ แต่มีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนโอกาสในการทำธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการซึ่งไม่อยากจมอยู่กับน่านน้ำสีเลือด ได้ฉีกตัวเองมาทำสินค้าหรือบริการเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์ของคนเหล่านี้

ความแตกต่างหลากหลายของคนอาเซียน สอดคล้องกับแนวคิดของ สรณ์ จงศรีจันทร์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท ยังก์ แอนด์ รูบิแคม แบรนด์ ที่บอกเราว่า อาเซียนก็เหมือนจังหวัดใหม่ของไทย นับจากนี้ไทยจะไม่มีเพียง 77 จังหวัด แต่จะมีอีก 9 จังหวัดใหม่ เข้ามาสร้างโอกาสในธุรกิจ

9 จังหวัดที่แตกต่างและซับซ้อน ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ทัศนคติ และพฤติกรรมผู้บริโภค

สมัยก่อนแนวคิดการตลาดที่เราใช้ คือ One size fits all เราผลิตอะไรออกมาแล้วแต่ ผู้บริโภคต้องใช้ เขาเหมือนถูกจับเป็นตัวประกัน แต่วันนี้ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว ผู้บริโภคมีสิทธิ์ มีเสียง มีบทบาท ในการเป็นผู้บริโภคอย่างแท้จริง สิ่งที่เขาต้องการ คือ One size fits one เพราะแต่ละคนแตกต่างกัน

แนวคิดไม่ง่ายที่จะผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองลูกค้าเป็นรายคน ในขณะที่กระบวนการผลิตจะต้องมีต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป ดร.การดี ร่วมยกแนวคิดเรื่อง Mass Customization หรือการผลิตสินค้าที่มีความคล้ายกันจำนวนมากๆ แต่เมื่อถึงมือผู้บริโภคสามารถปรับใช้ให้เข้ากับสิ่งที่ผู้บริโภคแต่ละคนต้องการได้

อย่าง Build-A-Bear Workshop ที่การผลิตตุ๊กตาทำในระบบ Mass Production คือผลิตจำนวนมาก ต้นทุนน้อย แต่เวลาคนซื้อย่อมไม่อยากได้ตุ๊กตาที่เหมือนๆ กัน เข้าสู่กระบวนการของ Customization เมื่อเด็กๆ สามารถทำตุ๊กตาได้ด้วยตัวเอง เลือกเครื่องแต่งตัวที่จะสร้างความต่างให้กับ ตุ๊กตาหนึ่งเดียวในโลก แบบฉบับของพวกเขาได้

บุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซาบีน่า เจ้าสโลแกน คับที่อยู่ได้ คัพ A อยู่ยาก เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าไปชิมลางในน่านน้ำอาเซียน ทั้งสิงคโปร์ เวียดนาม พม่า ลาว และ กัมพูชา

เขาบอกว่า คนแต่ละชาติล้วนมีสรีระแตกต่างกัน กระทั่งระดับรายได้ นำมาสู่ความต้องการในสินค้าซาบีน่าที่แตกต่างกันออกไป

ซาบีน่า ดูม ดูม เป็นชุดชั้นในที่มีแถบหนาสำหรับคนคัพ เอ จะขายดีในพม่า แต่ขายไม่ดีในเวียดนาม ที่ต้องทำแบบหนาน้อยกว่าปกติเกินครึ่ง ประเทศที่เศรษฐกิจดีอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ชุดชั้นในสำหรับเด็กจะขายไม่ดี และประเทศเหล่านี้เขาจะคำนึงถึงเรื่อง กรีนโปรดักท์ สินค้ารักษ์โลกจะขายดีมาก เราต้องปรับสินค้าให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เพราะมีความหมายมากต่อการทำธุรกิจในอาเซียน

ด้าน เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ยังเชื่อมั่นว่า งานครีเอทีฟของไทย ที่เรียกได้ว่าเป็น “พี่เบิ้ม” ในตลาดอาเซียน ประเทศรอบบ้านเหล่านี้ยังมองไทยเป็นมาตรฐาน ทำให้ผู้ประกอบการนี้ในไทยยังสามารถตั้งราคาที่พอใจได้ ไอเดียง่ายๆ ที่เคยทำแล้วไม่เวิร์คในไทย ก็อาจไปเวิร์คในอาเซียน...

แต่อย่าชะล่าใจเพราะเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นยังมีให้ ลุ้น อีกมาก

ที่ผมเป็นห่วง คือเวลาเรามองตลาดใหญ่ แล้วมองเป็นตลาดเดียว อันนี้น่ากลัวมาก เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่เหมือนกันเราชอบเห็นเค้กก้อนใหญ่ แล้วกระโจนเข้าไป สุดท้ายก็ไปจมอยู่ในเค้ก ไม่ได้กิน แต่ไปจม ทุนที่มีก็หายไปหมด

เกรียงไกร บอกว่า ผู้ประกอบการไทยต้องคิดให้เยอะกว่าเดิม และปรับตัวให้เร็ว เพราะถ้าไม่ปรับ ก็เหนื่อย ผู้บริโภค ณ วันนี้ เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แม้แต่คนไทยยังเปลี่ยนจากเดิมไปชัดเจน ทุกประเทศในอาเซียนก็เปลี่ยนไปเช่นกัน
ยังมีอะไรอีกหลายๆ อย่าง ที่ส่งสัญญาณความ ไม่ง่าย ในสนามอาเซียน ผู้บริหารอินเด็กซ์ย้ำว่า อย่าฝันไกลเกินไป ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับความพร้อมของตัวเอง ที่ต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เจ๋ง ให้โดน เป็นที่ต้องการของตลาดอาเซียน รวมถึงต้องศึกษากฎระเบียบของประเทศต่างๆ ให้ดีพอ

เมื่อเตรียมตัวพร้อม...รู้จักตัวตนคนอาเซียนให้ลึกซึ้ง ไม่ยากนักที่เราจะทำคะแนนนำในสนามนี้


เคล็ดไม่ลับ รู้จักตัวตนคนอาเซียน

เหล่ากูรูฝากวิธีรู้ตัวตน คนอาเซียนอย่างง่ายๆ

ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ บอกว่า ไม่มีโอกาสไปประเทศเพื่อนบ้าน ก็ลองเปิด อาเซียนทีวี เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค เริ่มดูละครของประเทศต่างๆ ดูไลฟ์สไตล์ของคนบ้านเขา เวลาเดียวกันก็พยายามหาเครือข่าย หาพาร์ทเนอร์ในประเทศนั้นๆ อย่าไปคนเดียว หรือคิดเองเออเอง อาจดูตัวอย่างจากคนที่เขาไปมาแล้วก็ได้

หนึ่งในวิธีคิดที่น่าสนใจของการรู้พฤติกรรมคนบ้านเขา คือ เราไม่จำเป็นต้องเอาสินค้าไปขายโดดๆ แต่สามารถไปเชื่อมโยงเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนอาเซียนได้ อย่างวิถีชีวิตเขาเป็นอย่างไร กินอยู่อย่างไร เช่น พิซซ่าที่ต้องทานคู่กันโค้กหรือเป๊ปซี่ ชามะตูมต้องดื่มในสปา ซูชิ ต้องทานกับเหล้าบ๊วย เหล่านี้เป็นต้น

แค่รู้ว่าคนอาเซียนทำอะไร แล้วดีไซน์ผลิตภัณฑ์ของเราไปรวมกับสิ่งที่เขามีอยู่ได้ ไม่ต้องแข่งขัน แต่เป็นการร่วมมือ เพื่อสร้างโอกาสที่เหนือชั้นกว่า

วิธีของ บุญชัย ปัณฑุรอัมพร ผู้บริหาร ซาบีน่า เขาบอกว่าเริ่มจากไปหาข้อมูลจากสถานทูตไทยและประเทศต่างๆ ที่จะเข้าไปทำการค้า หน่วยงานเหล่านี้จะมีข้อมูลผู้ซื้อในอุตสาหกรรมต่างๆ จากนั้นก็เรียนรู้ว่าประเทศนั้นๆ มีใครบ้างที่ไปมาแล้ว ลองโทรเข้าไปพูดคุย สอบถามขอคำแนะนำ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ กระทั่งร้านอาหารไทยเล็กๆ ที่อยู่ที่นั่น ก็สามารถเก็บเกี่ยวเป็นทุนความรู้ได้ ที่สำคัญไม่ต้องจ่ายเงินมหาศาลไปกับ ค่าที่ปรึกษา

เรียกว่าเป็นการได้มาซึ่งคำตอบที่คุ้มค่าสุดๆ แล้ว