6 วิธี "คิด" อย่างมีสุขภาพ (จิต) ดี โดย ท่าน ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย


คมธรรม : คิดบวก

ท่าน ว.วชิรเมธี
ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

6 วิธี "คิด" อย่างมีสุขภาพ (จิต) ดี

อาจกล่าวได้ว่า "ความคิด" นั้น มีผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตและความสุขในการดำรงชีวิตของแต่ละคน สังเกตง่าย ๆ หากวันนี้ "คิดบวก" หรือ "มองโลกในแง่ดี" โลกก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

ในขณะที่วันไหน ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์แสนสาหัส มองไปที่ไหนก็มีแต่ความขัดใจ ฟังใครพูดจาก็ขัดหู ใครยืนอยู่ตรงหน้าก็ขวางหูขวางตาเต็มไปหมด ลองพิจารณาใจของคุณดูว่า วันนั้นคุณ "คิดลบ" หรือ "มองโลกในแง่ร้าย" อยู่หรือเปล่า

เห็นได้ว่า ความคิดสัมพันธ์กับอารมณ์ ความรู้สึก และสามารถทำให้คุณดูอ่อนวัย หรือแก่เกินวัยได้เช่นเดียวกัน วันนี้ทีมงาน Life & Family มีเรื่องราว "การคิด" ตามศาสตร์ในโลกตะวันออกผ่านแนวคิดทางพระพุทธศาสนาของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัยมาฝากกัน โดยพระนักคิดท่านนี้ได้กล่าวถึง วิธี "คิด" อย่างมีสุขภาพดีตามหลักพุทธธรรมไว้ 6 แบบ คือ

1. คิดแบบอริยสัจ หรือคิดแบบแก้ปัญหา
เป็นวิธีคิดที่เป็นสากล ใช้ได้ตลอดกาล และเป็นวิธีคิดที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยกย่องพระพุทธเจ้ามาก โดยวิธีคิดแบบ อริยสัจมี 4 ขั้นตอน คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ถ้าเกิดปัญหาขึ้นในชีวิตให้กำหนดรู้ว่า ความทุกข์ที่เราเจออยู่นี้คืออะไรแน่ ทุกข์เราต้องกำหนดรู้ต้องศึกษา แต่คนส่วนใหญ่ เมื่อเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ขึ้นมา กลับหลอมรวมตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แทนที่ทุกข์จะมีไว้สำหรับเห็น ก็กลับกลายเป็นทุกข์มีไว้สำหรับเป็น เมื่อมีความทุกข์ควรจะศึกษาให้ชัดว่า ที่ว่าทุกข์ ทุกข์นี้คืออะไรแน่ เมื่อกำหนดชัดแล้ว ศึกษาต่อไปว่าสาเหตุมันอยู่ที่ตรงไหน ตามไปดูให้รู้ถึงสาเหตุ และเมื่อค้นพบสาเหตุแล้ว ดูว่าจะแก้มันอย่างไร ลองตั้งสมมติฐานขึ้นมา นี่คือนิโรธ เมื่อตั้งสมมติฐานแล้วตั้งค้างไว้ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นต้องลงมือแก้ทุกข์ จากนั้นก็ลงมือแก้ทุกข์ นั่นคือมรรค 8 ตามที่เราทราบกัน

****************************
อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่
๑. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
๒. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ
๓. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
๔. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น


อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน


****************************

2. คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
ความคิดในลักษณะนี้ อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ปรากฏการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกและชีวิตของเราล้วนมีที่มา ทุกสิ่งที่เราประสบพบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ มีที่มาทั้งหมด แต่เรามักไม่ค่อยคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย

เพราะคนส่วนใหญ่จะคิดแบบผิด ๆ 3 วิธีคือ คิดแบบแล้วแต่กรรมเก่า คิดแบบแล้วแต่พระเจ้าบันดาล และคิดแบบแล้วแต่โชคชะตาจะพาให้เป็นไป

ทั้ง ๆ ที่ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์เรา สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ทั้งหมด ถ้าเราเข้าใจวิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย มนุษย์ทุกคนที่มีความทุกข์ มีศักยภาพที่จะพ้นทุกข์อย่างทัดเทียมกัน

3. คิดแบบมองโลกในแง่ดี
หลาย ๆ ท่านคงได้ยินกันบ่อยกับคำว่า positive thinking เพราะมีคนพูดถึงกันมาก
แต่การมองโลกในแง่ดีนี้มีอยู่ 2 แบบ คือ มองโลกในแง่ดีแบบคนโง่ และมองโลกในแง่ดีแบบคนฉลาด

ทั้งนี้ การมองโลกในแง่ดีแบบคนโง่ คือ สอบตกก็สอบใหม่ได้ไม่เห็นเป็นไร เรียนนาน ๆ ความรู้ยิ่งแน่น มองแบบนี้มันก็ไม่ทุกข์ สอบตกก็ยังร้องเพลงได้ มันไม่ทุกข์ในปัจจุบัน แต่มันจะทุกข์ในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้า

ซึ่งแท้ที่จริงการมองโลกในแง่ดีต้องมองด้วยสติ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระอานนท์ในกรณีของนางจิญจมานวิกาว่า "อานนท์ เธอก็คิดสิว่าเราเกิดมาอยู่ในสังคม เธอ ฉัน คนทั้งโลก เราเปรียบเสมือนช้างศึกก้าวสู่สงคราม ต้องพร้อมที่จะยอมรับศาสตราวุธจากทิศทั้งสี่ เมื่อเราก้าวสู่สงครามชีวิต" เพราะฉะนั้น สุข ทุกข์ สมหวัง ผิดหวัง เศร้าเสียใจ เราต้องเจอแน่

4. คิดแบบอยู่กับปัจจุบัน
วิธีการอยู่กับปัจจุบัน คือ การฝึกสติตามแนววิปัสสนากรรมฐาน พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างที่ดี ครั้งหนึ่งทรงนั่งสมาธิอยู่กับปัจจุบันอย่างสงบใต้โคนต้นไม้ ใกล้ ๆ บริเวณนั้น มีฟ้าผ่าโคชาวนาตายไป 7 ตัว พอฝนซาฟ้าสว่างมีคนไปกราบถามพระพุทธองค์ว่า ทรงได้ยินเสียงฟ้าผ่าไหม ทรงตอบว่า “ไม่ได้ยินเลย” เหตุที่พระพุทธองค์ไม่ได้ยิน เพราะพระองค์ไม่ได้ส่งใจออกไปตามเสียงฟ้าเสียงฝน แต่เก็บใจไว้ในที่ที่ควรอยู่ นั่งนิ่ง ๆ แต่เป็นการนิ่งอย่างตื่นรู้ คนที่มีสติอยู่กับปัจจุบัน ข้างนอกยุ่งอย่างไร ใจเขาก็มีความสุข

5. คิดแบบรู้ทันธรรมดา
ธรรมดาของโลกนี้เป็นสิ่งสากล คนทั่วโลกจะพบเหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดมาบนกองเงินกองทอง หรือเกิดมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ สัจธรรมนี้ไม่เคยมีใครหนีพ้น นั่นคือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ ไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่แท้ ซึ่งมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในตัวของเราและครอบงำไปทั่วโลก เราจะต้องรู้จักคำ “รู้ทันธรรมดา” แล้วท่องไว้ในใจ

6. คิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม
เราอยู่ในโลกนี้ เราเสพบริโภคปัจจัยสี่ ปัจจัยสี่ที่เราบริโภคจะมีอยู่ 2 คุณค่า คือ คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม เวลาพระจะฉันภัตตาหาร พระพุทธเจ้าจะให้ท่องหรือพิจารณา ท่านเรียกว่าบทปฏิสังขาโย บทนี้เป็นบทพิจารณาปัจจัยสี่ ถ้าเราพิจารณาอย่างมีปัญญา เราจะบริโภคปัจจัยสี่อย่างเห็นคุณค่าที่แท้ เช่น เวลาเราบริโภคอาหารท่านก็ให้พิจารณาว่า อาหารนี้ที่เรารับประทานเข้าไป ไม่ใช่เพื่อเล่นเพื่อสนุกสนาน เพื่อเมามัน เพื่อเกิดพลังทางกาย แต่เรากินเพื่อกำจัดความหิว กินเพื่อให้ร่างกายมีแรงศึกษาธรรมะ กินเพื่อบำบัดเวทนาเก่า และป้องกันเวทนาใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น และเมื่อมีเรี่ยวแรง แล้วก็ไม่ใช่เพื่อเมามัน หรือเพื่อความสวยความงาม แต่เพื่อจะได้ทำประโยชน์ต่อไป นี่คือคุณค่าแท้ในการกินอาหาร

ดังนั้น ในเชิงของพระพุทธศาสนา ความคิด เป็นเรื่องของการมีสัมมาทิฏฐิ หรือการคิดชอบ ที่เปรียบเป็นนาวาที่พาชีวิตให้ไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องและมีความสุขได้ การคิดดีนำไปสู่การมีอารมณ์ดี สะท้อนถึงสุขภาพจิตที่ดี การลดความโกรธ ความเครียด สร้างทัศนคติในเชิงบวก ก็จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และอายุที่ยืนยาว ทั้งตัวเราและคนในครอบครัวก็พลอยจะมีความสุขตามไปด้วย