วิถีดีไซเนอร์ New Gen !


ตะกายดาว-คน ค้น คน-สักวันต้องได้ดี-รักเธอมากกว่า



วิถีดีไซเนอร์ New Gen !
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

“ศิรนาฎ คมกล้า” กับ “ฉัตรมณี แต้สุนทรไพเราะ” ผู้ชนะ FIC PLUS 2011

ความฝันของคนยุคนี้เชื่อว่ามีไม่น้อยที่ฝันอยากมีแบรนด์ของตัวเองเพื่อแสดงตัวตนนำคนโนเนมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเช่นเดียวกับเส้นทาง "ดีไซเนอร์"

หนึ่งนักวิทยาศาสตร์และอีกหนึ่งผู้ประกอบการฝึกหัด คือ นักออกแบบอิสระ “ทีม Breeze” ผู้ชนะเลิศในเวที FIC PLUS 2011 พิชิตโจทย์การออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าเพื่อ “ผลิตจริง ขายจริง” ได้อย่างเยี่ยมยอด!

เรากำลังพูดถึง “บัว -ศิรนาฎ คมกล้า” นักวิทยาศาตร์ผู้พัฒนาสูตรเครื่องสำอางค์ ผู้หลงใหลแฟชั่นและการออกแบบ กับ “ใหม่ -ฉัตรมณี แต้สุนทรไพเราะ” ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ "5th" ที่เปิดตัวในตลาดมาได้ประมาณ 2 ปี

ใครที่มีความฝันอยากเป็น “ดีไซเนอร์” อยู่ลึกๆ ลองเรียนรู้จากความพยายามของพวกเธอ

ห้องทดลองวิทยาศาสตร์แคบๆ หาได้ปิดกั้นความฝันของ “บัว-ศิรนาฎ” สิ่งเดียวที่ติดตัวเธออยู่ตลอด คือ

“รู้ว่าชอบแฟชั่น แม้จะเลือกเรียนสายวิทย์ แต่ก็ไม่ทิ้งความฝันและสิ่งที่อยากทำ คือ อยากเป็นดีไซเนอร์”

บัว ไม่ได้ออกจากงานที่ทำ เธอยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี เวลาเดียวกันก็เลือกเติมเต็มความฝันของตัวเอง ด้วยการหาเวลาไปหาความรู้ด้านการออกแบบเสื้อผ้า ที่ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI) และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสที่เกิดขึ้นกับเธอในวันนี้

ขณะที่ “ใหม่-ฉัตรมณี” ก้าวเร็วกว่าบัวไปอีกขั้น เมื่อเธอมีหน้าร้านเล็กๆของตัวเอง “5th” บริเวณ โซน Mob-F สยามเซ็นเตอร์ และเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดมาประมาณ 2 ปี แต่เส้นทางของใหม่ก็ไม่ได้ต่างจากบัว ใหม่ไม่ได้เรียนมาทางด้านการออกแบบ แต่เรียนบริหาร เอกธุรกิจระหว่างประเทศ ที่เอแบค

เมื่อรู้ตัวตลอดว่าชอบงานออกแบบ จึงเลือกทำงานเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ โจทย์ที่ได้ฝึกคิดตั้งแต่ต้นคือ “รับบรีฟลูกค้ามา ทำงานในงบที่ลูกค้ามี”

งานของใหม่ต้องออกพบลูกค้าอยู่ตลอด บวกกับความชอบแต่งตัวเป็นทุนเดิม เธอเลยสนุกที่จะหาแอคเซสเซอรี่ประเภท “ชิ้นเดียวในโลก” มาประดับตัวก่อนออกจากบ้าน ที่ต้องบอกว่าเป็นแค่ชิ้นเดียวไม่ซ้ำใครก็เพราะเธอทำเครื่องประดับใส่เอง วิธีการก็คือไปซื้อเครื่องประดับราคาถูก มาขึ้นแบบใหม่ให้เป็นสไตล์ที่เธอชอบ เธอว่า “ก็ที่มีอยู่ในตลาด ไม่ใช่สิ่งที่ชอบ”

นั่นดูจะทำให้เธอเห็นอะไรได้มากกว่าความต้องการของตัวเอง เพราะเชื่อว่าต้องมีใครอีกหลากคนที่อยากได้เครื่องประดับแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่มีในตลาด โอกาสเข้ามาเมื่อวันหนึ่งเธอตัดสินใจเดินเข้าไปในร้านขายเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในสยาม แล้วถามเจ้าของร้านเล่นๆ ว่า ต่างหูที่เธอใส่มาที่ร้านชอบไหม เมื่อคำตอบคือ “ชอบ” เธอจึงกลับมาทำต่างหูแฮนด์เมดสไตล์ใหม่ แล้วไปฝากขายที่ร้าน ปรากฏว่าของขายหมดในเวลาไม่นาน และนำมาสู่ออเดอร์ต่อเนื่องในเวลาต่อมา

แค่ต่างหูก็พัฒนามาสู่เครื่องประดับอื่นๆ จนมาเป็นแฟชั่นเสื้อผ้า รับตลาดวัยรุ่นและคนทำงาน ในแบรนด์ “5th” และ “ฉัตร” ในวันนี้

ใหม่ ก็ไม่ได้มีความรู้ด้านการออกแบบมาก่อน จุดร่วมเดียวที่เธอมีเหมือนบัว คือ รู้ตัวว่ามีความฝันและ “กัดไม่ปล่อย”

ทั้งสองคนมีโอกาสเติมเต็มความรู้ด้านการออกแบบเสื้อผ้า จากการลงเรียนที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI) และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้รู้จักกัน จนมีโอกาสร่วมทีมส่งผลงานเข้าประกวด ในเวที FIC PLUS 2011 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ( THTI ) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

การรวมตัวของเด็กที่เก่งด้านโครงสร้าง วางคอนเซ็ปท์ และทำงานอย่างมีตรรกะ มาผสานนักเก็บรายละเอียด ที่มีประสบการณ์ในสนามจริงมาแล้ว กลายเป็นทีมที่ “เข้าขา” และ “ลงตัว” พร้อมสู่เวทีประกวดครั้งแรก

“เราเริ่มจากต้องมาระดมความคิดเห็นกันก่อน แน่นอนว่า แต่ละคนมีความเก่งกันคนละอย่าง แต่เราต้องลดตัวตนของตัวเองลงให้ได้ เพื่อหาจุดตรงกลางร่วมกัน ได้ผลงานที่พอใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งการยอมรับฟังซึ่งกันและกัน อันนี้สำคัญมาก”

โจทย์ที่ยากไปกว่าการออกแบบให้สวย ดีไซน์เจ๋ง ก็คือต้อง “ผลิตจริง ขายจริง” ให้ได้ ในตลาดค้าส่ง หลังฝ่าด่าน 42 ทีม ในรอบแรก มาสู่ 15 ทีมที่จะผลิตจริงในเวทีประกวด ทั้งสองคนมีโอกาสได้ทำเวิร์คช้อปกับเหล่ากูรู ทั้งรุ่นพี่ดีไซเนอร์ และผู้ประกอบการในตลาดค้าส่ง ตัวจริงเสียงจริง ผู้ช่วยชี้แนะและให้เทคนิคต่างๆ ไว้ใช้ทำงาน

หลังประมวลความรู้ ก็มาสู่ขั้นตอนลงมือทำ ทั้งสองเลือก นำเสนอชุดสไตล์ Casual Wear สนองใจ “คนเมือง” ได้อยู่หมัด กับวิถีชีวิตที่เร่งรีบประเภท “ทำงานกลางวัน ปาร์ตี้สังสรรค์กลางคืน” นำมาสู่การออกแบบเสื้อผ้าให้มีฟังก์ชั่นที่หลากหลาย เรียกว่าชุดเดียวแต่ “แปลงร่าง” ได้หลายสไตล์ อย่างกางเกงที่รูดเป็นกระโปรงได้ เสื้อกั๊กที่รูดเป็นกระเป๋าได้ง่ายๆ เนื้อผ้าสวมใส่สบายให้เหมาะกับเมืองร้อน และคำนึงถึงการผลิตที่ง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน

“เราทำงานบนความเป็นจริง ชุดที่ทำออกมาต้องสามารถสวมใส่ในชีวิตจริงได้ แม้จะเห็นว่ามีการแปลงร่างเยอะมาก และแต่ละร่าง เราจะสื่อสารง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ทุกคนเข้าใจสินค้าตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น ที่สำคัญคือ ผลิตได้ไม่ยาก คิดง่ายๆ คือ ทุกขั้นตอนตั้งแต่การคิด จนขึ้นตัวแบบ กระทั่งผลิตจริง เราใส่ใจทุกรายละเอียด และทดลองใช้จริง จะไม่แค่ “คิดว่า ทำได้” แต่ต้องมั่นใจว่า มันทำได้จริงและขายได้แน่นอน

จะออกแบบให้ไปตอบโจทย์ “ตลาด” สองสาวบอกเราว่า แค่หากลุ่มเป้าหมายให้ได้ ให้ชัด รู้จักตัวตนของเขาและวิถีชีวิตเขา แล้วคิดงานไปตอบโจทย์

การทำงานเป็นทีมเวิร์ค เข้าขา นำไปสู่ผลงานที่ “ได้ดั่งใจ” และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนทำงาน ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น ยังสามารถนำ “รางวัลชนะเลิศอันดับ 1” มาครอบครองได้สำเร็จ

ทั้งสองคนบอกเราว่า ยังหวังว่างานที่ออกแบบไว้จะถูกนำไปต่อยอดเป็นผลงานอีกมากมายในตลาดนับจากนี้

แม้การแข่งขันสิ้นสุดลงแล้ว แต่เส้นทางดีไซเนอร์ของพวกเธอยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ ขณะที่ธุรกิจของใหม่ กำลังก้าวข้ามจากผู้ประกอบการฝึกหัด ไปเป็นดีไซเนอร์ที่เชี่ยวงาน บัวเองก็กำลังทำแบรนด์เสื้อผ้าเล็กๆ ของตัวเอง ในชื่อ “dressmydress” โดยเริ่มจัดแสดงผลงานผ่านหน้าเว็บไซต์ ด้วยความหวังที่ว่าจะเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในวันหนึ่ง

ทั้งสองคนเชื่อว่า ยังมีช่องว่างให้ดีไซเนอร์หน้าใหม่แจ้งเกิดในวงการเสมอ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่แสวงหาความเป็นตัวตนที่แตกต่างมากขึ้น

สำหรับคนที่อยากก้าวมาสู่เส้นทางเดียวกัน บัวบอกว่า เธอเองก็เป็นคนมีความฝันมาก่อน และพยายามทุกทางที่จะพิชิตความฝันนั้น ใครที่อยากเป็นแบบเธอ มีความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่อยากให้เก็บไว้ ต้องลองหาเวทีให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการประกวด หรือ ออกมาเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อต่อยอดงานของตัวเอง มุ่งมั่นให้สุดกำลัง ก็ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

ส่วนใหม่ที่มีชั่วโมงบินสูงกว่า บอกเราว่า ต้องรู้ก่อนว่าตัวว่าชอบอะไร อย่ากลัวที่จะแพ้ เส้นทางแห่งชัยชนะก็จะอยู่ไม่ไกล

“ จงอย่ากลัวที่จะก้าวเข้าไปหาความฝันของตัวเอง
ไม่ใช่ก้าวแรกแล้วเราจะสำเร็จตลอด
เพราะการเดินทางมันยาวไกล
พลาดแล้วก็ลุก ลุกแล้วก็เดิน
สักวันหนึ่งความสำเร็จก็จะมาถึงเราเอง
เราต้องตั้งเป้าหมายในชีวิต
และเดินตามความฝัน โดยไม่กลัวที่จะแพ้ ”

เพื่อจะไปถึงเส้นชัย ในวิถีดีไซเนอร์ New Gen เหมือนกับพวกเธอได้ในวันหนึ่ง


Key to success :
ดีไซน์ให้ “ขายได้”
๐ ตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้
๐ ทำงานคุณภาพ ใช้งานได้จริง
๐ ตั้งราคาที่ลูกค้ารู้สึก “ซื้อแล้วคุ้ม”
๐ อาร์ทแค่ไหนอย่าลืมว่าลูกค้าไม่ง่าย
๐ มีไอเดียสร้างสรรค์ตลอดเวลา
๐ ดูแลลูกค้าด้วยความรับผิดชอบสูงสุด