03 - รากไทย - อรธนา พงษ์ประสิทธิ์
"ทองคำทำมือ" ในยุคลูกสาวบ้านช่างทอง
เกิดจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่า... ทำไมคนในยุคปัจจุบันไม่ยอมใส่ทองเป็นแฟชั่นเหมือนเครื่องประดับอื่นๆ
สรสิดา ชานนประภาส์ ทายาทรุ่นที่ 3 บ้านช่างทอง ซึ่งวันนี้เป็นนักธุรกิจเลือดใหม่ต่อยอดกิจการเครื่องประดับทองคำ แบรนด์ “โกลด์เดอรี่” เครื่องประดับทองคำแฮนด์เมดสไตล์ไทยโมเดิร์น ซึ่งพอมองเข้าไปนอกจากการซื้อทองไว้เก็งกำไรแล้ว พบว่าทองคำในตู้ตามร้านขายทองเกือบทุกร้านมีรูปแบบที่เรียบๆ ไม่มีดีไซน์ ไม่มีเรื่องราวคุณค่าของงานศิลป์ที่สวยงาม จะเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ซื้อมาแล้วขายไปเท่านั้น
สรสิดา จึงมองเห็นช่องทางสร้างสรรค์เครื่องประดับทองคำที่มีลวดลายประยุกต์ โดยใช้จุดเด่นของช่างทองโบราณแต่ละกลุ่มมาผสมผสานกัน จะได้งานที่มีทั้งเรื่องราว มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ ใส่ในชีวิตประจำวันได้โดยไม่เชย และเก็บเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของยุคสมัยนี้ได้อีกด้วย ดีไซน์ศิลปะงานหัตถศิลป์ของไทยกลายเป็นเอกลักษณ์ “โกลด์เดอรี่” และเพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์มรดกของชาติให้อยู่เคียงคู่สังคมยุคใหม่ นายหญิงโกลด์เดอรี่ จึงเชิญ นิพนธ์ ยอดคำปัน ช่างทองหลวงประจำสำนักพระราชวัง และอาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเครื่องประดับอัญมณี กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง ร่วมเสวนาพูดคุยเรื่อง ตำนานเครื่องประดับทอง งานหัตถศิลป์ชั้นสูงมรดกของชาติ ณ ห้องสระบัว โรงแรมสยามเคมปินสกี้
นิพนธ์ ยอดคำปัน ช่างทองหลวงประจำสำนักพระราชวัง อ.นิพนธ์ กล่าวว่า ในอดีตการสวมใส่เครื่องประดับต่าง ๆ มีเพียงพระมหากษัตริย์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่สามารถสวมใส่ได้เท่านั้น ตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยกฎหมายตราสามดวงของไทย เพราะเครื่องประดับแต่ละชิ้น บ่งบอกถึงฐานะศักดิ์และลาภยศ ทำให้เครื่องประดับทองเป็นของชั้นสูง เนื่องจากตามตำนานที่สืบทอดกันมาเครื่องประดับทองเกิดจากความเชื่อในการบูชาและเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะการสวมใส่เครื่องประดับทองช่วยส่งเสริมให้มียศถาบรรดาศักดิ์ และมีพลังอำนาจบารมี แต่ถ้าไม่เคารพเครื่องประดับหรือสวมใส่อย่างไม่เหมาะสม อาจส่งผลให้เสื่อมลาภยศอำนาจได้ จึงเห็นได้ว่าในอดีตชาวบ้านไม่มีโอกาสสวมใส่เครื่องประดับดังกล่าวเลย กระทั่งวันเวลาผ่านไปการปกครองเปิดกว้างมากขึ้น ผู้คนสามารถซื้อหาเครื่องประดับทองมาสวมใส่ได้
ช่างทองหลวงประจำสำนักพระราชวัง กล่าวต่อว่า ฝีมือของช่างทองไทยเป็นการสืบทอดมาจากต้นตระกูลสู่ลูกหลานไม่สามารถเอาไปให้ใครได้ เนื่องจากมีการสาปแช่งไว้ จึงไม่มีเครื่องทองที่ไหนในโลกทำได้สวย ประณีต ละเอียด เท่าประเทศไทย ปัจจุบันข้าราชการตำแหน่งช่างทองหลวงในประเทศไทยมีอยู่เพียง 20 คนเท่านั้น
แต่ยังมีช่างทำทองที่อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 6 สกุล ได้แก่
ช่างทองศรีสัชนาลัย (จ.สุโขทัย)
ช่างทองเพชรบุรี
ช่างทองอยุธยา
ช่างทองถมนคร (จ.นครศรีธรรมราช)
ช่างทองล้านนา (จ.เชียงใหม่)
และช่างทองสุรินทร์
โดยที่ ช่างทองหลวง ถือว่าเป็นแหล่งรวบรวมเอกลักษณ์ของช่างทองทั้ง 6 สกุลไว้ แต่โดดเด่นด้วยความประณีตละเอียดอ่อนกว่าช่างทองทุกสกุล
ทั้งนี้ช่างทองแต่ละสกุลก็มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นแบบฉบับของตัวเอง อาทิ
การขึ้นโครงขดลวดทองของช่างเพชรบุรี
งานเก็บรายละเอียดของช่างทองอยุธยา
การลงยาแบบฉบับศรีสัชนาลัย
การถมยาถมเงินเอกลักษณ์ภาคใต้ของช่างทองถมนคร
การสลักดุนฝีมือช่างทองล้านนา
และความงดงามแบบศิลปะขอมงานของช่างทองสุรินทร์
แต่ในปัจจุบันช่างทำทอง สืบทอดศิลปะไทยเหลือน้อยลง จึงจำเป็นต้องให้มีการสานต่องานหัตถศิลป์นี้อย่างเร่งด่วน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้งานเครื่องประดับทองได้รับความสนใจทั้งจากช่างและผู้คนน้อยลง อ.นิพนธ์ บอกว่า เป็นเพราะการทำเครื่องประดับทองเป็นงานที่ต้องทำด้วยใจรัก และมีความสุขกับการได้รังสรรค์ชิ้นงานที่ละเอียดอ่อนจริงๆ เป็นงานฝีมือที่มีคอสท์ค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งช่างน้อยคนจะมีใจรักในการทำเครื่องประดับทอง ขณะที่ผู้ซื้อก็เห็นว่าเป็นงานที่ราคาสูง และยังมองว่าดูเชยโบราณ จึงทำให้งานศิลปะด้านนี้ค่อยๆ เสื่อมถอยไปเรื่อยๆ
การมองเห็นถึงความสำคัญของงานหัตถศิลป์ชั้นสูงนี้ เครื่องประดับทอง โกลด์เดอรี่ จึงพยายามสืบสานงานฝีมือของช่างทองสกุลต่างๆ เอาไว้ โดยถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานผ่านคอลเลคชั่นต่างๆ โดย สรสิดา ทายาทรุ่นที่ 3 บ้านช่างทอง เผยว่าผลงานหัตถศิลป์อันล้ำค่ายังเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ช่างทำทองไม่เกิดการพัฒนารูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อไม่ให้เครื่องประดับทองสูญหายไปกับกาลเวลาและเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์ คือการพัฒนารูปแบบบวกกับงานดีไซน์ที่ทันสมัย ลบทัศนคติการสวมใส่เครื่องประดับทองในวงแคบ เพื่อรักษาและสืบทอดงานหัตถศิลป์ให้คงอยู่สืบไป
และสำคัญที่สุดคือ รักษาและพัฒนาช่างทำทองให้มีคุณภาพ เพราะชิ้นงานแต่ละชิ้นจะออกมางดงามและมีพลังอำนาจ ช่างทำทองต้องใช้ใจที่บริสุทธิ์ในการสร้างสรรค์ผลงานออกมา
http://bit.ly/qKI7Rr
|