เปิดฝาสมองผู้ชนะ






เปิดฝาสมองผู้ชนะ



จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาด้านการบริหาร HR และการพัฒนาภาวะผู้นำในระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปี
โดย... รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาด้านการบริหาร HR และการพัฒนาภาวะผู้นำในระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปี ทำให้สังเกตเห็นว่า 23 ปีที่ผ่านมานี้ เริ่มมีแนวโน้มที่ นักวิทยาศาสตร์ ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscientist) หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “นักประสาทวิทยาศาสตร์” เข้ามานำเสนอการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้าง และพัฒนาการของสมองมนุษย์มากขึ้น ซึ่งนักประสาทวิทยาศาสตร์เหล่านี้พยายามนำเสนอแนวคิดว่า หากเรามีความเข้าใจว่าสมองของมนุษย์นี้ มีโครงสร้างอะไรบ้าง และชิ้นส่วนต่างๆ ในสมองทำหน้าที่อย่างไร และปัจจัยอะไรที่มีความสำคัญต่อการควบคุมการพัฒนาการของสมอง เราก็สามารถที่จะพัฒนาสมองของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเล่าเรียน หรือการบริหารงานและบริหารคน ...ซึ่งนี่ก็คือประเด็นหลักของเรา

เมื่อไม่นานมานี้ Jeff Brown นักจิตวิทยาการรู้การคิดและพฤติกรรม (Cognitive–Behavioral Psychologist–ใครสามารถหาคำแปลภาษาไทยได้ดีกว่านี้ช่วยกรุณาชี้แนะด้วยจะขอบพระคุณยิ่ง) แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Harvard ได้ร่วมมือกับ Mark Fenske ผู้เป็นอาจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Guelph ในแคนาดา และ Liz Neporent นักเขียนระดับเบสต์เซลเลอร์ (Bestseller) แห่งนิวยอร์ก



ได้ออกหนังสือเรื่อง “The Winner’s Brain” (สมองของผู้ชนะ) พื่อนำเสนอ 8 กลยุทธ์ไม้เด็ดในการพัฒนาสมองของเราให้มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ “ผู้ชนะ” ให้ได้

ทั้งนี้ นิยามของมันสมองของผู้ชนะ (The Winner’s Brain) คือสมองที่มีความสามารถในการปรับตนเองให้หลุดออกจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย แล้วแสวงหาหนทางที่ดีที่สุดในการพุ่งพลังความสนใจให้กับภารกิจสำคัญที่สุดเพื่อที่จะทำงานนั้นให้ได้ผลดีที่สุด

พูดง่ายๆ ด้วยภาษาชาวบ้านก็คือ บุคคลที่มีสมองของผู้ชนะที่ประสบผลสำเร็จในกิจการงานทั้งหลายจะต้องมีสมาธิแน่วแน่ดิ่งกับการทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งโดยที่สิ่งอื่นๆ ไม่สามารถดึงความสนใจให้วอกแวกหรือไขว้เขวไปได้

จากการสำรวจและศึกษาสมองของบรรดาเหล่า “Winners” หรือผู้ชนะที่มาจากวงการอาชีพต่างๆ ทำให้ค้นพบลักษณะที่ตรงกันอยู่ 5 ประการ ซึ่ง Jeff และคณะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ระบุว่าคือ



คุณสมบัติหรือเครื่องมือ (Tool) สำคัญ 5 ประการที่นำไปสู่ความสำเร็จซึ่งได้แก่

เครื่องมือลำดับ 1 เรดาร์จับหาโอกาส (ทอง) (Opportunity radar)
ยกตัวอย่างเช่น บางคนได้ไปชิมชาเขียวของญี่ปุ่น ชิมแล้วก็แล้วกันไป แต่บางคนมองเห็นโอกาสที่จะเปิดตลาดชาเขียวในประเทศไทยแล้วก็เริ่มลงทุนผลิต โฆษณา และจัดจำหน่ายชาเขียวจนกำไรเป็นล่ำเป็นสัน เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่ามีสมองที่ฉับไวมองเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่างๆ

เครื่องมือลำดับที่ 2 มีความระแวดระวังจับสัญญาณอันตรายอย่างทันท่วงที ในขณะที่มองเห็นโอกาสได้ไวกว่าคนอื่น (Risk gauge)
บรรดา Winners ก็มีสมองที่จับสัญญาณอันตรายและความเสี่ยงต่างๆ ได้ทัน ทำให้พวกเขาป้องกันตนเองจากการสูญเสียได้ทันเวลา

เครื่องมือลำดับที่ 3 มีเป้าหมายที่คมชัด มาก (Gold Laser)
ประมาณลำแสงเลเซอร์จากดาบของเจได (Jedi) ในเรื่องสตาร์วอร์สยังไงยังงั้นเลย ไม่เชื่อก็ลองพลิกประวัติบุคคลที่ประสบผลสำเร็จในชีวิตอ่านดูสิคะ

หนึ่งในคุณสมบัติที่ทำให้พวกเขาประสบผลสำเร็จก็คือการมีเป้าหมายที่ชัดเจน พวกเขารู้ว่าเขาต้องการอะไรในชีวิต

เครื่องมือลำดับที่ 4 มีพลังเร่งพื่อบรรลุจุดหมาย (Effort accelerator)
การมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นเพียงการเริ่มต้นที่ดี แต่การจะบรรลุเป้าหมายต้องอาศัยแรงจูงใจที่เกิดจากจิตวิญญาณภายในของตนเองโดยไม่ต้องอาศัยแรงผลักดันจากภายนอก Winners

อย่างเช่น Tony Tsieh แห่ง Zappos.com บี้ เดอะสตาร์ หรือนักเทนนิสชื่อดังอย่าง ราฟาเอล นาดาล ล้วนมีแรงขับ (Drive) จากภายในที่ต้องการ “ชนะ” เป็นทุนก้อนใหญ่ของตัวเองอยู่แล้ว

เครื่องมือลำดับที่ 5 รู้ตัวว่า “พรสวรรค์” ของตัวเองคืออะไร (Talent meter)
เครื่องมือชิ้นนี้ Jeff และคณะบอกว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากสำหรับการที่จะเริ่มต้นเดินทางในถนนสาย The Winner คนที่ไม่สามารถค้นพบว่าตนเองมีความถนัดหรือความสามารถที่แท้จริงในด้านใดเป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะเขาต้องหลงทางเสียเวลากับการทำภารกิจที่เขาไม่ถนัด และยากที่จะทำให้ได้ดี

อย่างไรก็ตามแม้เราจะรู้ว่า เครื่องมือทั้ง 5 ที่ช่วยให้คนธรรมดาๆ กลายเป็นผู้ชนะในเส้นทางสายอาชีพคืออะไรแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราพัฒนาตัวเราให้เป็นผู้ชนะได้ Jeff และคณะจึงได้นำเสนอกลยุทธ์อีก 8 ประการที่จะลับสมอง ให้เป็น Winner’s Brain ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาพูดคุยเรื่องกลยุทธ์ เหล่านี้ต่อไปในสัปดาห์หน้าค่ะ สัปดาห์นี้เตรียมเคลียร์สมองของเราก่อน แล้วคราวหน้าค่อยลับสมองกันนะคะ


The Winner's Brain 8 Strategies
1: การรู้จักตน (Self awareness)
2: แรงจูงใจ (Motivation)
3: มุ่งมั่นไปที่จุดมุ่งหมาย (Focus)
4: สมดุลทางอารมณ์ (Emotional Balance)
5: ประสบการณ์จากความทรงจำ (Memory)
6: มีความยืดหยุ่น ล้มแล้วต้องลุกได้ (Resilience)
7: การปรับตัว (Adaptability)
8: การดูแลบำรุงสมอง (Brain Care)

• Reshape your brain to achieve
• Make emotions work in your favor
• Activate your memory
• Spot hot prospects disguised as problems
• Tune out distractions
• Choose the right risks for higher rewards
• Cultivate your drive to win
• Keep your brain healthy

1: การรู้จักตน (Self awareness)
การเข้าใจความรู้สึกของตนเอง และจุดมุ่งหมายของชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจน การรู้จักจุดเด่นจุดด้อยของตนเองอย่างไม่ลำเอียงเข้าข้างตนเอง”

“การรู้จักตน (อัตตัญญุตา) หมายถึง การพิจารณาเข้าใจตนเอง ได้แก่ การรู้จักฐานะที่ตนเองเป็นอยู่ การประพฤติตนให้เหมาะสมกับฐานะของตน การปฏิบัติหน้าที่เหมาะสมกับตำแหน่งของตนไม่ก้าวก่ายสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่น”

สรุปง่ายๆ คือ การรู้เป้าหมายตนเอง ว่าจริง ๆ แล้วตัวเองอยากจะทำอะไร อยากจะเป็น อะไร เช่นอยากจะเรียนจบชั้นไหน อยากจะทำงาน ประสบความสำเร็จแค่ไหน ในด้านไหน เป็นต้น

2: แรงจูงใจ (Motivation)
สิ่งซึ่งควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ อันเกิดจากความต้องการ (Needs) พลังกดดัน (Drives) หรือ ความปรารถนา (Desires) ที่จะพยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจจะเกิดมาตามธรรมชาติหรือจากการเรียนรู้ก็ได้

แรงจูงใจเกิดจากสิ่งเร้าทั้งภายใน และภายนอกตัวบุคคลนั้น ๆ เอง
ภายใน ได้แก่ ความรู้สึกต้องการ หรือขาดอะไรบางอย่าง จึงเป็นพลังชักจูง หรือกระตุ้นให้มนุษย์ประกอบกิจกรรมเพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหรือต้องการนั้น

ส่วน ภายนอกได้แก่ สิ่งใดก็ตามที่มาเร่งเร้า นำช่องทาง และมาเสริมสร้างความปรารถนาในการประกอบกิจกรรมในตัวมนุษย์

ซึ่งแรงจูงใจนี้อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายในหรือภายนอก แต่เพียงอย่างเดียว หรือทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ อาจกล่าวได้ว่า แรงจูงใจทำให้เกิดพฤติกรรมซึ่งเกิดจากความต้องการของมนุษย์

ซึ่งความต้องการเป็นสิ่งเร้าภายในที่สำคัญกับการเกิดพฤติกรรม นอกจากนี้ยังมีสิ่งเร้าอื่น ๆ เช่น การยอมรับของสังคม สภาพบรรยากาศที่เป็นมิตร การบังคับขู่เข็ญ การให้รางวัลหรือกำลังใจหรือการทำให้เกิดความพอใจ ล้วนเป็นเหตุจูงใจให้เกิดแรงจูงใจได้

3: มุ่งมั่นไปที่จุดมุ่งหมาย (Focus)
คือสิ่งที่จะทำให้เราไปสู่เป้าหมายได้แน่นอน

What Does FOCUS Means To You??
F - Find A Project
O - Occupy Yourself With This Project
C - Concentrate All Your Time On This Project
U - Understand That Nothing Is More Important Than This Project
S - Succeed With This Project

4: สมดุลทางอารมณ์ (Emotional Balance)
ความสมดุล และความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ให้รับกับสถนการณ์ต่างๆได้

5: ประสบการณ์จากความทรงจำ (Memory)
เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นำความสำเร็จ และผิดพลาดมาเป็นบทเรียน เพื่อประโยชน์ต่อไปในอนาคต

6: มีความยืดหยุ่น ล้มแล้วต้องลุกได้ (Resilience)
Resilience เป็นทั้งกระบวนทัศน์ในการดำเนินชีวิตที่ต้องสามารถมองโลกในแง่ดี มองเห็นโอกาสของชีวิต พร้อมที่จะแพ้เมื่อถึงเวลา และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ได้อีกเมื่อโอกาสเปิด

คุณลักษณะสำคัญของบุคคลที่มีความหยุ่นตัวนั้นคือ มีจิตใจเข้มแข็งมั่นคงและมีมุมมองชีวิตทางบวก คนที่มีความหยุ่นตัวจะทุกข์ใจไม่นานและจะปรับตัวปรับใจดำเนินชีวิตต่อไปได้ แต่บางคนมีจิตใจที่ ไม่เข้มแข็งนักประกอบกับเหตุการณ์รุนแรงทำให้ขาดสติ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ คิดอะไรไม่ออก บางครั้งไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไป หรือหาทางออกผิดๆ ซึ่งคนที่มีพื้นฐานจิตใจไม่เข้มแข็งจะมีบาดแผลทางใจและใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวมาดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปได้ การมีความรู้ในเรื่องการปรับตัวในสถานการณ์ยากลำบากนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

7: การปรับตัว (Adaptability)
ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับบุคคล สถานการณ์ หรือลักษณะงานที่แตกต่างกันหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยปฏิบัติ โดยใช้ระยะเวลาในการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม พบว่าผู้ที่ปรับตนเองได้ย่อมเป็นผู้ที่มีความสุขและสุนกไปกับการทำงาน พร้อมเผชิญและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์

แต่มีหลายต่อหลายคนปรับตนเองต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ บางคนถึงขนาดต่อต้านไม่ยอมทำตามหรือปรับเปลี่ยนตนเอง เหตุเพราะว่า

ความกลัว : กลัวการสูญเสียอำนาจ บารมี ตำแหน่งงาน บางคนกลัวเสียหน้าถ้าตนเองไม่สามารถปรับตนเองได้
ความเคยชิน : เมื่อก่อนเคยทำแบบนี้ ก็ยังอยู่ได้ ไม่เห็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
ความเกียจคร้าน : ไม่อยากเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ไม่ต้องการรับภาระงานเพิ่มขึ้น แค่งานประจำยังทำแทบไม่ทันใจหัวหน้างานอยู่แล้ว
ความเชื่อที่ผิด ๆ : พวกที่คิดไปเองว่าการเปลี่ยนแปลงคือการลดบทบาทของตน การเปลี่ยนแปลงคือการปลดพนักงานออก การเปลี่ยนแปลงคือการจ้องจับผิด

ดังนั้นขอให้คุณปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของตนเองเสียใหม่ ต้องคิดเสมอว่าผู้ได้เปรียบคือ ผู้ที่สามารถปรับตนเองเพื่อสร้างความพร้อมของตนเองให้ทันต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

8: การดูแลบำรุงสมอง (Brain Care)
เรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาสมอง การพักผ่อน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย